ในเมืองอันเป็นศูนย์กลางความเจริญอย่างกรุงเทพฯ แม้จะสามารถหารับชม ‘หนังนอกกระแส’ ได้จากโรงภาพยนตร์เพียงไม่กี่แห่ง แต่ก็เรียกได้ว่ามีพื้นที่มากพอที่จะให้ผู้ที่มีความสนใจและรักในความนอกกระแสได้หาชมกันอย่างไม่ยากนัก แต่หากจะพูดถึงพื้นที่ต่างจังหวัดแล้วล่ะก็ ดูจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากเสียเหลือเกิน
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘เต้ย – กษิดิ์เดช มาลีหอม’ ผู้ก่อตั้ง ‘ลพรามา’ กลุ่มจัดกิจกรรมและเทศกาลฉายหนังอิสระในจังหวัดลพบุรี ซึ่งถือเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการขับเคลื่อนและเป็นฟันเฟืองให้เกิดวัฒนธรรมการรับชมภาพยนตร์ที่มีความหลากหลายในพื้นที่บ้านเกิด
ลพรามา นับว่าเป็นกลุ่มฉายหนังอิสระน้องใหม่ที่ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 โดยมีกิจกรรมฉายหนังที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดนับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นจาก ‘Flee’ ภาพยนตร์อนิเมชั่นแนวสารคดี บอกเล่าเรื่องราวของผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานที่พยายามหลุดพ้นจากความบ้าคลั่งของสงคราม ซึ่งจัดฉายควบคู่ไปกับ ‘ไกลบ้าน’ สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ นักเขียนผู้ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ
ในครั้งถัดๆ มาเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘The Worst Person in the World’ ‘Memoria’ และล่าสุดกับ ‘Beyond Animation’ เทศกาลหนังอนิเมชั่นสัญชาติฝรั่งเศสที่เพิ่งจบไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ซึ่งนอกจากการจัดงานฉายหนังแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการ โดยคุณเต้ยกล่าวเสริมว่านิทรรศการครั้งนี้เปรียบเสมือนดั่งการต้อนรับ ‘กลับบ้าน’ และ ‘โบกมือร่ำลา’ เป็นครั้งสุดท้ายให้แก่คุณวัฒน์ วรรลยางกูร ในฐานะของการเป็นคนลพบุรีที่เคยมีชีวิต และความทรงจำอยู่ ณ พื้นที่แห่งเดียวกัน
“เรารู้สึกว่าทำไมคนที่นี่ถึงไม่มีตัวเลือกอื่นนอกจากการที่ได้ดูหนังพากษ์ไทยในโรงหนังที่จังหวัด มันควรจะมีตัวเลือกที่มีความหลากหลายมากกว่านี้ เราเลยคิดว่าการเอาหนังนอกกระแสมาฉายในพื้นที่ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นหนังอินดี้หรือหนังอาร์ตก็ตาม เป็นแค่หนังที่ไม่ได้อยู่โรงภาพยนตร์ต่างจังหวัด มันก็เป็นอะไรที่สำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง”
จุดประกาย ‘ลพรามา’ รากเหง้าแห่งวัฒนธรรม
ย้อนไปในอดีต เมืองลพบุรีมีโรงภาพยนตร์แบบ ‘แสตนด์อโลน’ (Stand Alone) อยู่หลายแห่ง ซึ่งเป็นสถานที่สร้างความบันเทิงและเพลิดเพลินให้แก่ผู้มีใจรักในการชมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น ‘นารายณ์ประสิทธิ์’ ‘มาลัยรามา’ ‘ลพบุรีเธียเตอร์’ ‘โรงภาพยนตร์ทหารบก’ ซึ่งในปัจจุบัน โรงภาพยนตร์เหล่านี้ได้ปิดตัวลง เหลือไว้เพียงชื่อเล่าขานตำนานบทเก่า นับเป็นอนุสรณ์ของวัฒนธรรมการดูหนังอันรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นในอดีตของเมืองลพบุรี จากกระแสการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยที่มักจะมีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่สิ่งเก่า
“พื้นที่ในเมืองนี้เป็นเมืองที่คนเคยดูหนังมาก่อน ดูหนังเยอะมาก มีโรงหนังหลายแห่ง เราเลยคิดว่าทำไมล่ะ ถ้าเราจะรื้อฟื้นวัฒนธรรมและบรรยากาศเดิมๆ ที่คนเมื่อก่อนดูหนังและทำกิจกรรมอื่นรวมกัน มันจะไม่สามารถทำได้ในยุคนี้เหรอ เราเลยอยากลองทำดู ประกอบกับว่าตัวเราเองต้องอยู่ที่นี่ต่อไป ก็ต้องอยากอยู่กับเมืองที่เราอยากอยู่ ทำในสิ่งที่เราพอจะทำได้ตามความชอบที่ถนัด ก็คือการฉายหนังนอกกระแสและหนังที่มีความหลากหลายมากขึ้น มันเป็นการดีลกับพื้นที่ ฉันทำสิ่งนี้ ฉันก็อยู่กับพื้นที่นี้ได้มากขึ้นด้วย”
“มันค่อนข้างเป็นการปรับตัวของเราระดับหนึ่ง จากการที่อยู่กรุงเทพฯ แล้วกลับมาอยู่ลพบุรี แม้จะเกิด เติบโต เรียนประถมจนถึงมัธยมที่นี่ มันก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตในวัยเด็กจะมาช่วยเราขนาดนั้นในตอนที่อายุเท่านี้ เราก็ต้องทำอะไรบางอย่างที่รู้สึกว่าเมืองนี้อีกสัก 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีที่เราและลูกหลานอยู่ต่อไป เราจะอยู่กับมันยังไง ก็เลยทำสิ่งนี้ขึ้นมา
ซึ่งกลุ่มอื่นๆ เขาก็มีแนวคิดคล้ายกัน คือไม่อยากเห็นลพบุรีเป็นเมืองแห้งแล้ง (หัวเราะ) อยากเห็นลพบุรีเป็นเมืองที่มีสีสัน มีความคิดที่สดใหม่ มีอะไรเพิ่มเข้าไปบ้าง เพื่อให้เกิดความสนุกขึ้น ไม่อยากให้เป็นเมืองที่คนมาแล้วก็ผ่านไป หรือว่าคนรู้จักแต่ทุ่งทานตะวันกับพระปรางค์สามยอด อยากให้รู้ว่าคนที่นี่หรือว่าพื้นที่ที่นี่มีทรัพยากรทางความคิด มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานศิลปะอย่างจริงจัง แล้วก็ทำได้ดีด้วย แต่ว่ามันยังไม่ถูกพูดถึงเท่าไหร่ เพราะคนยังฟรีซเมืองนี้ไว้แค่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีโบราณสถานอยู่”
เหตุผลที่ต้องเป็น ‘การดูหนัง’
“ก็อย่างที่บอกไปตอนแรกครับ เพราะว่ามันไม่มีทางเลือกให้เราสักเท่าไหร่กับโรงหนังที่นี่ ขนาดซับไทยยังไม่ค่อยมีเลย เราอยากให้มันเกิดพื้นที่รองรับของคนที่คิดเห็นและชอบดูหนังแบบเรา อย่างน้อยเขาก็มีเพื่อน เหมือนเราเป็นหมู่บ้าน ‘ลพรามา’ ที่มาดูหนังด้วยกัน หรือจะเป็นคนจากนอกหมู่บ้านมาดูด้วยกันก็ได้ พูดง่ายๆ คืออยากสร้างวัฒนธรรมการดูหนังมากกว่า เพราะว่าพอพูดถึงหนังแล้ว มันค่อนข้างเป็นอะไรที่มีความหลากหลายมาก นอกเหนือจากสิ่งที่อยู่ในโรงหนังของจังหวัดเท่านั้น”
“ซึ่งทุกวันนี้เราก็ยังไปไม่ถึงจุดของคำว่ามากตรงนั้นเลย ยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะมาก เราก็เลยอยากจัดฉายหนัง อย่างน้อยก็เริ่มจากหนังนอกกระแสที่คนรู้จักหรือคนกรุงเทพฯ นิยมดูก่อน เพื่อที่จะประนีประนอมกับคนที่นี่ เริ่มจากหนังที่ย่อยง่ายไปก่อน ไม่ได้เป็นหนังอาร์ตที่มันดูยากๆ”
เสน่ห์แห่ง ‘ความนอกกระแส’
“จริงๆ มันไม่ควรถูกเรียกว่าหนังนอกกระแส ถูกเรียกแบบนี้เพราะว่าไม่ได้อยู่ในโรงใหญ่ที่มีคิวฉายเยอะ บวกกับไม่ได้มีเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจของคนทั่วไปมากเท่ากับหนังที่ทำเงินตามสูตรสำเร็จในแบบที่นายทุนยอมซื้อ มันควรถูกมองเป็นหนังประเภทหนึ่ง จะเป็นแนวดราม่า แอคชั่นหรืออะไรก็ได้ แต่คนก็เรียกว่านอกกระแสเพราะว่าคนไม่ได้ไปสนใจมันมากนัก
ซึ่งหนังนอกกระแสที่เราเรียกกันมันดียังไง สำหรับคนที่ชอบดูหนัง มันทำให้เราได้ปลดล็อกตัวเองในระดับหนึ่ง จากการดูและทำความเข้าใจหนัง การนำเสนอ ถ่ายทอด เรียบเรียงของคนหลายๆ กลุ่มเขามีความคิดแบบไหน อย่างเช่น มีเทศกาลหนังสั้นของเด็กมหาวิทยาลัย เราก็ได้เห็นว่าเขามีความต้องการที่จะสื่อสารอะไรกับผู้คนและสังคม ผ่านสื่อที่เรียกว่าภาพยนตร์ให้คนได้เห็น มันก็จะเห็นว่าเขาอึดอัดต่อสังคมยังไง เขาอยากบอกคนรอบข้างเขายังไง เขามีการต่อสู้กับภายในของตัวเองยังไง ซึ่งหนังมันก็เล่าเรื่องพวกนี้ได้”
“หนังนอกกระแสมันเล่าเรื่องของคนตัวเล็กตัวน้อยได้ เรื่องของความคิดนอกกรอบที่เราไม่เคยเห็นในหนังกระแสหลัก ความคิดที่คนกล้าคิด กล้าทำ และนำเสนอสิ่งนี้ออกมา ทั้งที่มีคนหลายคนไม่ยอมกินมัน เราคิดว่าคนที่ได้ดูก็ดีตรงที่ว่าจะได้เปิดโลกของตัวเอง”
หนังนอกกระแสที่เป็นเหมือนดั่งประตูบานแรก
“มนต์รักทรานซิสเตอร์นี่ถือว่านอกกระแสไหมนะ ชีวิตมหา’ลัยที่เราเริ่มชอบหนังนอกกระแส เริ่มจากเราชอบคุณ ‘เป็นเอก รัตนเรือง’ ก็เลยคิดว่าหนังของเป็นเอก มนต์รักทรานซิสเตอร์นี่แหละ ดูง่าย แล้วก็สะท้อนปัญหาสังคมได้ง่ายด้วย”
ภาพยนตร์ในฐานะ ‘วิชาแนะแนว’ แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่
“เพราะเราเองก็เคยเป็นคนรุ่นใหม่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วในเมืองนี้ รู้สึกว่าทุกอย่างมันไม่ได้มีวัตถุดิบทางความคิดให้กับเรามากนัก เราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย นอกจากวิชาการในห้องเรียนที่ต้องเรียนพิเศษ ถึงในยุคเราที่ต้องนั่งรถตู้ไปเรียนที่กรุงเทพฯ ก็เป็นความลำบากอย่างหนึ่ง แล้วมองอีกด้านหนึ่ง ด้านที่เด็กต้องเรียนรู้การใช้ชีวิต พวกเขาไม่มีพาร์ตนั้นในชีวิตที่เมืองนี้
ซึ่งเราคิดว่า การที่จะตั้งตนให้เป็นเหมือนวิชาแนะแนวให้เด็กนักเรียนในจังหวัดได้มาทำความรู้จักมุมมองต่อโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านเรื่องศิลปะในภาพยนตร์ ดนตรีในภาพยนตร์ หรือว่าการศึกษาในภาพยนตร์ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เราเคยเจอมา”
“วิชาแนะแนวในโรงเรียนมันไม่พอ มันไม่ใช่แค่การบอกว่า โควต้ามหา’ลัยนี้ว่างพอนะ ไปสอบไหม หรือว่ามีสอบตรงที่นั่นที่นี่นะ มันต้องการสิ่งที่คอยชี้แนะเขาด้วยว่า คุณชอบอะไร คุณอยากโตไปเป็นอะไร เรียนรู้ที่จะหาชีวิตให้ตัวเอง แล้วก็ไม่กดดันตัวเอง เราคิดว่ามันถ่ายทอดผ่านหนังได้”
“ตอนนี้เราอยากอยู่กับคนรุ่นใหม่ก่อน เพราะว่าอนาคตเขาก็ต้องกลับมาเป็นพี่ เป็นเพื่อน เป็นใครสักคนที่คงต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ก็เลยเป็นสิ่งที่เราตั้งใจไว้”
คอมมูนิตี้ที่ซุกซ่อนตัว
“พอกลับมาบ้านมันก็น่าตื่นตาตื่นใจดี ตรงที่ว่ามันก็มีอะไรที่เราไม่เคยได้เห็น แต่พอกลับมาอยู่จริงๆ จากเพื่อนคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ทำให้ได้รู้ว่าไม่ใช่แค่เราที่มาทำตรงนี้ มันมีคนที่ทำงานศิลปะและมาถางทางกันก่อนแล้ว เช่น มีกลุ่มคนที่พ่นกราฟฟิตี้ตามพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดชื่อว่ากลุ่ม Lopburui เขาก็ทำมานานมาก แล้วก็มีน้องๆ ที่ทำแกลเลอรีชื่อว่า Lopburi Art Gallery เป็นเหมือนสตูดิโอทำงานศิลปะที่มีชื่อเสียงกันทุกคนด้วย
ถึงบอกว่าเรากลับมาแล้วก็ตกใจว่ามันมีคนขนาดนี้อยู่ เป็นชุมชนที่น่าสนใจมากๆ เป็นเหมือนกลุ่มหนึ่งที่จะช่วยเกื้อหนุนกัน พึ่งพากันได้ ซึ่งตัวเราก็มาถ่ายทอดศิลปะในรูปแบบของภาพยนตร์แทน”
กว่าจะได้หนัง 1 เรื่องมาฉาย
“การหาโปรเจคเตอร์มาฉายน่าจะยากสุด (หัวเราะ) แต่ขั้นตอนการติดต่อฉายหนังนี่ไม่ได้ยากเลยครับ อย่างแรกคือเราต้องรู้ว่าใครเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ในไทย แล้วก็ติดต่อเขาไป แค่นั้นเลยครับ ก็แนะนำตัว คุยกันว่าฉันต้องการจะฉายหนังคุณนะ คุณมีค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ต้องจำกัดรอบไหม จำกัดที่นั่งยังไงบ้าง หรือระบบการฉายเป็นยังไง โปรเจคเตอร์ขนาดเท่าไหร่ เครื่องเสียงขนาดเท่าไหร่ เป็นรายละเอียดพวกนั้น แค่ติดต่อไปทางผู้จัดหรือว่าผู้ถือลิขสิทธิ์ เขาก็ไม่ได้มีวิธียุ่งยากอะไร จริงๆ แล้วเราเชียร์นะ ใครที่อยากลองฉายหนังเองในพื้นที่ จะลองฉายก็ฉายได้ในพื้นที่ของตัวเองเลย ถ้ามันมีคนทำเพิ่มขึ้นอีกในลพบุรี เราก็มีความรู้สึกที่ดีมากเลยนะ เพราะไม่ได้อยากทำสิ่งนี้แค่คนเดียว เราอยากเห็นคนอื่นส่งต่อวัฒนธรรมนี้ต่อกันไปมากกว่า”
“อย่าง 2 สถานที่แรกก็เป็นส่วนพื้นที่ในบ้านกับร้านของพาร์ทเนอร์ที่เคยทำมาด้วยกัน แล้วก็จัดที่แกลเลอรีกับโรงภาพยนตร์ SF ด้วย เราไปเหมาโรงฉายเรื่อง Memoria เพราะว่าเขามีเกณฑ์เรื่องระบบเสียง ระบบภาพ อย่างที่บอกไป รายละเอียดพวกนี้ก็ต้องคุยกับทางผู้ถือลิขสิทธิ์ต้นทางว่ามีอะไรบ้างที่ต้องทำให้เขา”
‘ลพรามา’ ในวันข้างหน้า
“การมีพื้นที่ฉายหนังเป็นของตัวเองก็เป็นเป้าหมายสูงสุดที่อยากจะทำ แต่ตอนนี้เราอยากทำตัวเป็นหนังเร่ก่อน ไปตามสถานที่ต่างๆ เพราะว่ายังอยู่ในช่วงแนะนำตัวเอง ต้องพาตัวเองไปแนะนำกับคนในพื้นที่ให้รู้จักเรามากขึ้น อนาคตก็คงไม่ได้อยู่แค่ในตัวอำเภอเมือง จะไปอำเภอข้างเคียงที่เขามีความสนใจด้วย ถ้าผู้ใหญ่ตรงนั้นอยากให้เราไปฉายหนังให้เด็กดูก็ยินดีเหมือนกัน เพราะเรารู้สึกว่าถ้าจำกัดตัวเองแค่อำเภอเมือง มันก็ไม่ต่างอะไรจากกรุงเทพฯ ถ้ามีโอกาสได้ไปต่างอำเภอเราก็ไป”
หลังจากที่ผู้เขียนกับคุณเต้ยพูดคุยกันมานานแรมชั่วโมง ก็ดูจะถึงเวลาอันสมควร ก่อนจากกันจึงให้คุณเต้ยได้ทิ้งท้าย แนะนำภาพยนตร์ที่เป็นดั่งแนวทางการใช้ชีวิตที่สามารถให้แง่คิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
“ถ้าเป็นหนังเกี่ยวกับวัยรุ่น เราชอบเรื่อง ‘Virgin Suicides’ เกี่ยวกับกลุ่มวัยรุ่นผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ต้องถูกกักขังภายใต้กฎระเบียบที่พ่อแม่สร้างขึ้นในช่วงวัยที่พวกเธอควรจะโบยบินอย่างอิสระ ตอนจบก็เศร้าหน่อย แต่มันเป็นเหมือนบทเรียนบทหนึ่งที่เป็นฉากเล่าให้กับการใช้ชีวิตร่วมกันทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่น
อีกเรื่องก็ ‘Good Will Hunting’ เป็นเรื่องของอาจารย์กับลูกศิษย์ที่คุยกัน โดยเนื้อหาสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของคนต่างวัย แนวคิดการใช้ชีวิต รวมไปถึงเรื่องการทำความเข้าใจผู้อื่นด้วย”
ติดตาม ‘ลพรามา’ ได้ที่
Facebook: ลพรามา
Instagram: