Culture

Lorem Ipsum พื้นที่ทดลอง และก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงหาดใหญ่ในรูปแบบใหม่

เมื่อกล่าวถึงหาดใหญ่หลายคนอาจนึกถึงหัวเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของภาคใต้และแน่นอนว่า ไก่ทอดเป็นอีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของเมืองนี้ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ พื้นที่ของหาดใหญ่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากการระบาดของโควิด - 19 ทั้งความคึกคักในการจับจ่ายใช้สอย ความแน่นเนืองของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจจากฝั่งมาเลเซียและสิงคโปร์ที่หายไป ส่งผลให้หาดใหญ่ไม่เหมือนเดินอีกต่อไป 

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณ นอร์ท - เรวัฒน์ รักษ์ทอง สถาปนิก และดีไซเนอร์ที่ออกแบบงานอีเวนต์ คอนเสิร์ต รวมถึงงานบูรณะบ้านเก่า หนึ่งในหุ้นส่วนของร้าน “Lorem Ipsum” สเปซที่เปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ได้แสดงออก ไปพร้อมๆ กับการเป็นพื้นที่เริ่มต้นในการสร้างเมืองหาดใหญ่ให้เกิดความยั่งยืน 

“Lorem Ipsum เป็น Dummy Text ข้อความจำลองภาษาลาตินที่ไร้ความหมาย เป็นเท็กซ์สมมุติเวลาเราเลือกฟอนต์ ซึ่งเหมือนกับสเปซเราที่จำลองขึ้นมา เพื่อรอผู้คนที่จะเข้ามาเติมเต็ม และเพิ่มความหมายให้มันเข้าไป”

จุดเริ่มต้นของ Lorem Ipsum

Lorem Ipsum ร้านที่เรียกตัวเองว่าเป็นสเปซ (Space) จุดเริ่มต้นมาจากหุ้นส่วนของร้านที่นำภาพยนตร์จาก Doc Club มาฉายตามร้านกาแฟและสเปซต่างๆ แม้ว่าผลตอบรับดี แต่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ค่อนข้างมาก กลุ่มที่จัดกิจกรรมร่วมกันประมาณ 3-4 คนจึงได้ตกลงสร้างพื้นที่ของตัวเองขึ้นมา

“จุดเริ่มต้นคือ การที่เราอยากได้สเปซๆ นึง ที่ให้คนในพื้นที่ได้มีที่ปล่อยของ จริงๆ เราอยากใช้คำว่าสเปซมากกว่าคาเฟ่ เราสร้างตรงนี้มาเพื่อเป็นสเปซที่ทำกิจกรรม เป็นแกลลอรี เป็นที่ฉายหนัง เป็นจุดศูนย์รวมของคน มากกว่าที่จะขายกาแฟและขนม เพียงแต่ว่าให้ตัวที่เป็นโปรดักต์ของเราเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้มีทุนหล่อเลี้ยงตัวเองและสร้างสรรค์กิจกรรมต่อไป”

ย่านเมืองเก่าหาดใหญ่

ร้าน Lorem Ipsum ตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่าของหาดใหญ่ที่มีประวัติความเป็นมากว่าร้อยปี เดิมทีก่อนเลือกตั้งร้านอยู่บริเวณนี้ ได้ตระเวนหาพื้นที่ที่ตั้งบริเวณอื่นๆ มาก่อน คุณนอร์ทเล่าให้เราฟังว่า

“ผมเป็นคนตัดสินใจที่นี่ ตอนแรกพี่ๆ เขาก็ไปดูที่ต่างๆ ไปดูบ้านที่สามารถทำเคาน์เตอร์และขายกาแฟได้เลย ผมคิดว่าทำอย่างนั้นก็ไม่ต่างจากที่อื่น มันก็ยังเป็นสเปซแต่ยังขาดอัตลักษณ์ที่มีความเป็นหาดใหญ่ คือตั้งแต่เด็กชอบวิ่งเล่นอยู่แถวนี้ บ้านอยู่แถวนี้อยู่แล้ว ที่นี่ช่วงนั้นมันรกร้าง มันเงียบเหงามาก มีคนไร้บ้านและขโมยขึ้นทุกบ้านเลย และผมก็คิดว่าตรงนี้เป็นเส้นวัฒนธรรม ถนนสายแรกของเมืองเลย เป็นย่านคหบดีเก่า มีประวัติศาสตร์ เราทำตรงนี้ เราได้สิ่งที่ไม่สามารถใช้เงินซื้อได้คือ ช่วงเวลาและประวัติศาสตร์ คิดว่าสิ่งพวกนี้สำคัญมากกว่า แล้วเริ่มตัดสินใจรีโนเวท โดยไม่ใส่ดีไซน์อะไรเลย ใส่แค่ฟังก์ชันอย่างเดียว เอาสิ่งที่เติมแต่ง เสริมแต่งออกไปหมด คงเหลือไว้แก่นแท้ของสเปซ พูดถึงบ้านหลังนี้มีอายุ 103 ปีแล้ว ทางสถาปนิกเรียกเขาจะเรียกบ้านแนวนี้ว่า Eclectic Style สไตล์ที่ผสมผสานทุกวัฒนธรรม มลายู จีน และไทย คนสร้างมาจากอิโปห์ (เมืองหลวงของรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย) ฟาซาดแบบนี้หายากที่สุดแล้ว ถ้าเกิดศึกษาดีๆ มันสร้างในสมัยพระราชินีอังกฤษเฉลิมฉลองการครองราชย์ ฟาซาดชุดนี้เรียกว่า Jubilee มีที่นี่ แล้วก็นราธิวาส และปีนัง”

Photo credit: Museum Thailand

“ที่นี่เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่กำลังตั้งไข่ ต่างจากสงขลาที่เขาไปไกลแล้ว ตอนนี้หาดใหญ่กำลังหัดเดิน เริ่มบ่มเพาะรสนิยม และความหลากหลายด้านวัฒนธรรม”

หาดใหญ่เมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ แต่ขาดอัตลักษณ์!

“จริงๆ หาดใหญ่เป็นเมืองที่พร้อมไปทุกอย่าง มองดูดีๆ เรามีสนามบิน มีชุมทางรถไฟ มีขนส่งมวลชน เรามีครบเกือบทุกอย่าง หาดใหญ่ขาดแค่อย่างเดียวคือ “อัตลักษณ์” สิ่งที่จะเอามาขาย ศักยภาพที่หาดใหญ่พยายามปกป้องมาหลายสิบปี การค้าขายอะไรไปอยู่พื้นที่ด่านนอกหมดแล้ว หาดใหญ่ตอนนี้เลยกลายเป็นเมืองท่าที่คนมาลงเครื่อง มาต่อรถไฟ ไปเที่ยวที่อื่น หาดใหญ่ต้องหาตัวตนและพรีเซนต์ตัวตนออกมา เสน่ห์ของหาดใหญ่มีเยอะมากทั้งอาหาร หาดใหญ่นี่เป็นทั้งจุดวาร์ปของเยาวราช เส้นนี้เป็นแพลนของห้างสรรพสินค้าแนวราบสมัยก่อน เหมือนเมืองปีนัง มีลักษณะถนนตัดกันเป็นตารางหมากรุก พื้นที่นี้ยุคแรกเป็นของคหบดีปีนังที่สร้างบ้านและอาศัยอยู่ ยุคที่สองพอมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็จะมีหมอมาอยู่ หาดใหญ่ประวัติศาสตร์เยอะมาก เราต้องถอดรหัสดีๆ”

“หาดใหญ่เป็นเหมือนไฟล์ RAW ที่ยังไม่ถอดรหัส และมันก็ไม่มี Blueprint ที่เอาไปทำงานต่อยอดได้”

ความเปลี่ยนแปลงของหาดใหญ่

เนื่องจากคุณนอร์ทเกิดและเติบโตในพื้นที่แห่งนี้ เราจึงถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน คุณนอร์ทบอกกับเราว่า 

“มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เมื่อก่อนหาดใหญ่ดูคึกคัก วุ่นวาย เหมือนเมืองเรามีปาร์ตี้ตลอดเวลาเลย รถก็ติด มีพหุวัฒนธรรมที่จังหวัดรอบๆ ไม่สามารถมีแบบเราได้เลย แต่ตอนนี้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือความหลากหลายมันหายไป เมืองเปราะบางมากขึ้นยังหาทิศทางไม่ถูก เมืองไม่มีการคุมโทนและการเล่าเรื่อง หาดใหญ่ยังมองตัวเองเป็นเมืองที่ค้าขายเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว นอกจากนี้คนหาดใหญ่ก็ไม่ได้ใช้จ่ายกับคนในท้องถิ่นแล้ว เพราะเรามีห้างสรรพสินค้าที่เยอะแยะมาก ธุรกิจท้องถิ่นเลยอยู่ยาก”

“หาดใหญ่โปรเจกผิดทาง ภาพจำของเรามัวแต่จะขายชาวต่างชาติ พอเกิดวิกฤตขึ้นก็ไปต่อไม่ได้ ตอนนี้เราอยากจะสร้างคาแรคเตอร์หาดใหญ่ให้เหมือนสงขลา อยากสร้างคนในชุมชนทำเป็นคาแรคเตอร์”

คอมมูนิตี้ของคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็น

คุณนอร์ทเล่าให้เราฟังว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พื้นที่หาดใหญ่มีคนเริ่มกลับมาทำสิ่งต่างๆ ในพื้นที่เพิ่มมากกว่าเมื่อก่อน ต่างจากสมัยก่อนเราจะเห็นเด็กที่จบใหม่ส่วนใหญ่จะกลับมารับธุรกิจช่วงต่อที่บ้าน หรือไม่ก็ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ 

“เราอยากเห็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคิด อยากทำอะไรกับเมืองให้ดีขึ้น อยากเห็นธุรกิจเก่าๆ ได้รับการฟื้นฟู กลับมาให้เกิดการบริโภคข้างในได้ อยากให้โตโดยไม่ต้องอาศัยคนนอกพื้นที่ เราสามารถเติบโตโดยใช้คนในเมืองของเราเอง ได้ และผมอยากให้ทางภาครัฐสนับสนุนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของคนท้องถิ่น อาจไม่ต้องช่วยเรื่องงบประมาณก็ได้ แต่ช่วยเรื่องการอำนวยความสะดวก”

Photo credit: Lorem Ipsum

อนาคตของ Lorem Ipsum

“เราอยากจะส่งเสริมและสนับสนุนพื้นที่ให้กับงานศิลปะแขนงต่างๆ มากยิ่งขึ้น รวมถึงอยากเปิดพื้นที่กับศิลปินไม่ว่าแขนงไหน ได้มีโอกาสจัดแสดงงานของตนเอง โดยที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย อยากให้คนมีโอกาสเข้ามาสัมผัสพื้นที่แห่งนี้ คุณอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แค่เดินมาแล้วสัมผัส สิ่งต่างๆ มันจะไปบ่มเพาะอยู่ในหัวของคุณ”

ติดตามและอัปเดตกิจกรรมทั้งหมดของร้านได้ที่ Lorem Ipsum