“รัก” คำเล็กๆ แต่ความหมายยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ใครต่อใครสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คิด ทั้งเป็นกำลังใจ เป็นแสงนำทาง และเป็นแรงผลักดันให้ชีวิตก้าวต่อไป เหมือนเช่นที่ “พี่แวว - สายสุนีย์ จ๊ะนะ” ตำนานแห่งทัพนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ ที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยมานานกว่า 20 ปี ได้เล่าให้เราฟังในวันนี้ว่า
“การที่จะยอมรับความพิการของตัวเองได้มันยากมาก เพราะเราไม่ได้พิการแต่กำเนิด แต่สุดท้ายก็มาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เพราะความรักที่มีต่อครอบครัว”
รัก บทที่ 1
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน คนที่มีร่างกายแข็งแรงอย่างพี่แวว เกิดจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิต ต้องกลายเป็นผู้พิการที่ร่างกายช่วงล่างใช้งานไม่ได้ เนื่องจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้ความฝันที่อยากทำให้ชีวิตครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้นต้องหยุดชะงักลงไป กว่าจะเริ่มดูแลตัวเองให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ เธอใช้ไปเกือบ 7 ปี
“ตอนนั้นพี่ใช้ชีวิตรอวันตายไปวันๆ จมอยู่กับความรู้สึกผิดที่กลายเป็นภาระของครอบครัว เพราะเรารับตัวเองไม่ได้ มองไปทางไหนก็ไม่เห็นว่าคนพิการจะทำอะไรได้ อย่าว่าแต่ประกอบอาชีพเลย แค่ใช้ชีวิตประจำวันยังยาก ทางลาดหรือสิ่งอำนวยความสะดวกแทบจะไม่มี แต่พอเราเป็นแบบนี้นานๆ ไปครอบครัวก็ยิ่งแย่ลง พ่อแม่ต้องทำงานหนักหาเช้ากินค่ำ เพื่อเลี้ยงดูทั้งเราและน้องสาว จนพี่มีโอกาสได้ไปสถานฝึกอาชีพคนพิการ เจอหลายคนที่เขาหนักกว่าเรา เช่น ตาบอด หรือไม่มีแขนทั้งสองข้าง แต่พวกเขาก็ยังดูแลตัวเองและครอบครัวได้ นั่นเลยทำให้เรารู้ว่าไม่ได้มีแค่เราคนเดียวในโลกที่เป็นแบบนี้นะ เมื่อเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน ถ้าอยากให้ครอบครัวดีขึ้น พี่ก็ต้องเปลี่ยนความคิดตัวเอง”
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่แววฮึดสู้กับโชคชะตา และสามารถพาตัวเองเข้าสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติด้วยจุดมุ่งหมายเดียวคือ “ชัยชนะ” จึงทำให้คว้าเหรียญรางวัลระดับนานาชาติมาได้มากมาย เช่น 1 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง จากการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ ณ กรุงเอเธนส์, และ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง ในรายการไอวาส วีลแชร์ เวิลด์ คัพ ที่ประเทศโปแลนด์ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าความรักที่มีต่อครอบครัวนั้น ทำให้เธอมาไกลและสามารถบรรลุทุกเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ คือ ทำให้ครอบครัวสบาย น้องสาวได้เรียนจบปริญญาตรี ทุกคนได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันเป็นครอบครัวใหญ่ รวมถึงเธอเองก็มีครอบครัวและลูกสาวที่น่ารักเป็นของตัวเองด้วย
รัก บทที่ 2
แน่นอนว่ากว่าจะถึงจุดนี้ไม่ง่ายเลย เพราะเมื่อก่อนสภาพสังคมไทยยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ พี่แววเล่าให้เราฟังถึงเส้นทางการเป็นนักกีฬาทีมชาติว่า ต้องมาอยู่ในกรุงเทพคนเดียวเป็นเวลา 4 ปี เพื่อฝึกซ้อมจนประสบความสำเร็จได้เหรียญทองจากพาราลิมปิกเกมส์ที่เอเธนส์ ตอนนั้นต้องทำทั้งงานประจำ งานเสริม และมากสุดคือต้องกินข้าววัด เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการใช้ชีวิตและส่งให้ที่บ้าน การจะเดินทางไปไหนมาไหนก็ต้องทนใช้แท็กซี่เป็นหลัก ซึ่งค่ารถแพงมาก แต่ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้
“ตลอดเส้นทางนี้มีเรื่องให้ท้อเยอะมาก เพราะสมัยก่อนยังไม่มีงบประมาณสนับสนุนนักกีฬาพิการ ค่าเช่าห้อง ค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ เราต้องจ่ายเองทั้งหมด ทำให้ในหนึ่งปีเรามีโอกาสแข่งเก็บคะแนนเพื่อลุ้นไปพาราลิมปิกแค่ครั้งเดียว เป็นอะไรที่เสี่ยงและกดดันมาก ถ้าคะแนนไม่ถึงก็หมดสิทธิ์แข่งไปเลย หรือจะเป็นการท้อใจในช่วงซ้อม ที่ตั้งใจซ้อมมากๆ แล้ว แต่ก็มีบ้างที่ทำได้ไม่ดีอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ และล่าสุดกับช่วงโควิดที่กระทบต่อสภาพจิตใจหนักมาก เพราะเราตระเวนแข่งเก็บคะแนนสะสมมาตลอด 4 ปีเต็ม และพร้อมเต็มที่แล้วที่จะสู้ศึกพาราลิมปิกเกมส์ แต่ทุกอย่างต้องเลื่อนออกไป ยอมรับว่าช่วงแรกเราเสียกำลังใจในการฝึกซ้อมไปเลย แต่พี่บอกกับตัวเองเสมอนะว่าท้อได้ ร้องไห้ได้ แต่ห้ามบ่อย เพราะถ้ามัวแต่ท้อใจ ทุกอย่างที่หวังไว้ก็อาจเป็นศูนย์ ช่วงหลังเลยฟิตซ้อมจนเติมเต็มเหมือนเดิมแล้ว”
รัก บทที่ 3
กลับมาสู่ปัจจุบัน ... พี่แววก็ยังคงเป็นเบอร์หนึ่งของกีฬาวีลแชร์ฟันดาบหญิงทีมชาติไทย โดยกำลังเตรียมตัวแข่งขันในรายการชิงแชมป์เอเชีย เดือนพฤษภาคม 2021 นี้ เพื่อชิงตั๋วไปพาราลิมปิกเกมส์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งเราแอบสงสัยว่าหนึ่งปีเต็มที่ไม่ได้ลงแข่งขันเลย คนที่มุ่งมั่นในชัยชนะมากๆ อย่างพี่แวว จะมีอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน
เธอบอกกับเราว่า เริ่มเล่นวีลแชร์ฟันดาบมาตั้งแต่ปี 1999 ด้วยเป้าหมายสูงสุดที่อยากให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองติดทีมชาติและได้เหรียญทองเท่านั้น “ตอนนั้นมันคือความรู้สึกที่ต้องทำให้ได้เท่านั้น ถ้าทำไม่ได้ต้องตายแน่ ๆ (หัวเราะ) ซึ่งปัจจุบันเป้าหมายก็ยังเหมือนเดิม คือต้องชนะในแมทซ์ชิงแชมป์เอเชียและพาราลิมปิกส์ แม้จะต้องเจอคู่แข่งสำคัญอย่างประเทศจีนก็ตาม แต่ความรู้สึกมันต่างออกไปแล้ว เพราะประสบการณ์ได้สอนเราว่าบางครั้งความหวังมันอาจจะผิดพลาดได้ ขอแค่ทำให้ดีที่สุดในทุกการแข่งขัน ขยันฝึกซ้อมตามตาราง และถ้าถึงที่สุดแล้วมันจะไม่ชนะก็ต้องยอมรับมันให้ได้ แล้วเดินหน้าต่อ”
รัก บทที่ 4
“ถึงรักกีฬาแค่ไหน แต่ตั้งใจว่าจะไม่ไปเป็นโค้ช!”
เสียงยืนยันอย่างหนักแน่นจากปากของพี่แวว หลังจากที่เปิดเผยเป้าหมายต่อไปว่า จะเล่นวีลแชร์ฟันดาบจนถึงพาราลิมปิกเกมส์ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นรายการสุดท้าย และล่ำลาวงการด้วยวัย 50 ปี เธอยืนยันว่าจะไม่ผันตัวไปเป็นโค้ชแน่นอน เพราะกว่าจะถึงวันนี้เธอได้ทุ่มเทเวลากว่าครึ่งชีวิตเพื่อรับใช้ชาติแล้ว หลังจากนี้จึงอยากทุ่มเทให้กับการดูแลลูกสาวเป็นหลัก แต่ถึงอย่างไรก็จะไม่ทิ้งกีฬาแน่ ๆ หากอนาคตมีโอกาสก็ยินดีจะกลับไปเป็นที่ปรึกษาของสมาคมฯ เพื่อถ่ายทอดเทคนิคดีๆ ผ่านความรักในกีฬาของเราไปยังน้องๆ นักกีฬารุ่นใหม่
บทสรุปของ “รัก”
“ความรักและวีลแชร์ฟันดาบ คือส่วนผสมที่ทำให้ชีวิตพี่สมบูรณ์ขึ้น จากครอบครัวที่ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย ก็กลายเป็นมีพร้อมทุกอย่าง มีบ้าน มีที่ดิน มีรถ มีธุรกิจ และมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ทุกคนไม่ต้องลำบากแล้ว และสิ่งสำคัญคือกีฬานี้ทำให้พี่มีชีวิตที่แข็งแรงกว่าคนพิการในวัยเดียวกัน สามารถอยู่กับคนที่เรารักไปได้อีกนาน”
ซึ่งก่อนจากการครั้งนี้ พี่แววได้ฝากข้อคิดดีๆ มาถึงเพื่อนคนพิการด้วยว่า ตอนนี้สังคมเปิดรับคนพิการมากขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกและกฎหมายรองรับมากมาย ทั้งในเรื่องการทำงาน การเป็นนักกีฬา และการใช้ชีวิตประจำวันก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ทุกคนประสบความสำเร็จและใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้ คือ “การยอมรับตัวเอง” เราต้องมีความรักและเห็นคุณค่าในตัวเองเสียก่อน แล้วสิ่งดีๆ จะตามมาเอง
เส้นทางชีวิตของพี่แวว เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ทำให้เราได้เห็นถึงมุมมองที่ยิ่งใหญ่ของคำว่า “รัก” ได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนหวังว่าเรื่องราวอันน่าประทับใจนี้จะช่วยให้หลายๆ คนกล้าที่จะเผชิญกับโชคชะตา
แล้วนำเอา “รัก” มาผลักดันตัวเองให้เดินหน้าต่อไปได้
- ด้วยรัก -