เพลงลูกทุ่งนั้นแทรกซึมอยู่ในจังหวะชีวิตของผู้คนมาโดยตลอด ความนิยมของเพลงลูกทุ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยจางหายไปจากสังคม เรื่องราวที่ถูกร้อยเรียงผ่านท่วงทำนองและสำเนียงการร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของเพลงลูกทุ่ง ท่วงทำนองติดหูที่แฝงนัยยะเอาไว้ ตัวอย่างเช่นความขบถของเพศหญิงที่เพลงลูกทุ่งได้ทำหน้าที่เป็น Soft Power ในการปลดแอดการกดขี่ผู้หญิงจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ ที่มีส่วนสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมได้ไม่มากก็น้อย จากบทบาทของผู้หญิงในเพลงลูกทุ่งจากภาพผู้หญิงที่อ่อนหวาน ไม่มีสิทธิต่อรอง และเป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียวในอดีต ถูกสลัดทิ้งไปกลายเป็นผู้หญิงที่พกความมั่นใจมาเต็มร้อย พร้อมที่จะเฉิดฉายและกลายเป็นผู้นำเกม
บทบาทของผู้หญิงในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากอดีตเป็นอย่างมาก จากหญิงสาวที่ต้องจำยอมต่อผู้ชาย อยู่ในโอวาส หรือแม้แต่การกดขี่ทางความสัมพันธ์ที่บังคับให้ฝ่านหญิงจำยอมต่ออีกฝ่าย เห็นได้จากตัวอย่างเพลง เช่น เพลงรู้ให้เขาหลอก ของศิรินทรา นิตยกร มีเนื้อร้องว่า “ถึงเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก ยิ้มข้างนอกช้ำใน น้ำคำหวานที่รินรดใจ เขาหลอกใช้ก็รู้” หรือเพลงคนดีที่อ้ายบ่ฮัก ของบุญตา เมืองใหม่ มีเนื้อร้องว่า “มาก่อนแต่ต้องทำใจ ยอมเจ็บเก็บไว้ข้างใน อ้ายว่าน้องดี” ล้วนเป็นตะกอนความคิดแบบยุควิคตอเรียนที่ตกค้างอยู่ในสังคมตะวันออก จากช่วงล่าอาณานิคม
บทเพลงลูกทุ่งนั้นได้สะท้อนภาพของผู้หญิงผ่านค่านิยมในแต่ละยุคสมัยที่ผ่านไปของสังคม หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาบั่นทอนระบบชายเป็นใหญ่ก็คือทุนนิยมที่ให้พื้นที่ของผู้หญิงในการทำงาน เพื่อเลี้ยงตัวเอง และเป็นอิสระไม่ต้องพึ่งพิงผู้ชาย จึงทำให้ผู้หญิงมีความคิดที่อิสระและกล้าตัดสินใจมากขึ้น ครูเพลงหลายคนได้รับอิทธิพลของแนวคิดนี้เช่นกัน ทำให้รูปแบบผู้หญิงที่มาพร้อมกับความมั่นใจและความอิสระมากขึ้น กลายเป็นสิ่งสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของค่านิยมในสังคมไทยได้อย่างดี
ผลพวงของทุนนิยมยังทำให้ผู้หญิงกล้าที่จะตอบโต้และวิพากษ์ฝ่ายชายกลับไปได้อย่างถึงเนื้อถึงหนัง เช่น เพลงนั่งมอเตอร์ไซนุ่งสั้น ของสุนารี ราชสีมา มีเนื้อร้องว่า “นั่งมอเตอร์ไซค์นุ่งสั้น เรื่องของฉันมันไม่ใช่เรื่องของใคร … สมัยนิยมแล้วย่ะ ไม่เกะกะทำให้ฉันหุ่นเก๋ อวบ อั๋น เข้าขั้นโอเค” ที่กล้าจะเรียกร้องสิทธิของตัวเองในเนื้อตัวร่างกาย การสวมใส่เสื้อผ้า #DontTellMeHowToDress ฉันอยากนั่งคร่อมมอเตอร์ไซต์ ฉันใส่กระโปรงสั้น มันเรื่องของฉัน เธอไม่มีสิทธิมาพูดหรือวิจารณ์อะไรฉัน นับว่าเป็นแนวความคิดที่ล้ำหน้าเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับสภาพสังคมในปีพ.ศ. 2535
ผ่านมาเกือบ 30 ปี เราเริ่มได้ยินเพลงที่ผู้หญิงเต็มไปด้วยความก๋ากั๋นอย่าง “รกอก รกอก โอ๊ยผู้ชายแบบนี้สอบตก ไม่อยากคบให้มันรกอก” - เพลงเช็ดแล้วทิ้ง (รกอก) “ มีทองทั่วหัวรึใหญ่เท่าหัว ไม่มีผัวก็ได้ ไม่ตายหรอกน่า…ถ้าไม่มีผัว” - เพลงมีทองท่วมหัว ไม่มีผัวก็ได้ หรือจะเป็น “ว่าหนูไม่เด็ดเคยเสร็จหนูยัง พี่ได้กับหนูกี่ครั้งลองเล่าให้ฟังหน่อยสิ ที่บอกกับใครว่าหนูไม่ดีแล้วพี่เคยได้หนูยังอ่ะ” - เพลงว่าหนูไม่เด็ดเคยเสร็จหนูยัง จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 เพลงนี้ เป็นการพลิกขั้วอำนาจอย่างกลับหัวกลับหาง ตั้งแต่เรื่องบนเตียง ความสัมพันธ์ จนถึงเรื่องเศรษฐกิจ ให้กลับมาอยู่ในมือของฝ่ายหญิงอย่างชัดเจน
จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเพลงลูกทุ่งได้ทำหน้าที่เป็น Soft Power ในการบั่นทอนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจผู้ชายเป็นใหญ่เหนือผู้หญิง นับเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ล้างภาพความเป็นหญิงที่ถูกผลิตซ้ำทำให้วงการการเพลงลูกทุ่งมีความหลากหลายและความสนุกเพิ่มมากขึ้น
นอกจากบทบาทของเนื้อเพลงที่ถูกปรับเปลี่ยนไปแล้ว ภาพลักษณ์ของนักร้องลูกทุ่งหญิงก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ภาพลักษณ์ของผู้หญิงลูกทุ่งกับความมั่นใจ ความเปรี้ยวซ่า ท้าทายชุดความเชื่อของสังคม ก็มีออกมาให้ได้ฟังกันอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เช่น เพลงคันหู เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับจ๊ะ อาร์สยาม มีเนื้อร้องว่า “คันจริงมันคันอยู่ข้าง คันหูทีไร ขนลุกทุกที” เพลงนี้เคยเกือบโดนแบนจากกระทรวงวัฒนธรรมแบนเนื่องจากเนื้อหาและท่าเต้นไม่เหมาะสม หรือเพลงโป๊ (ใจมันเพรียว) ของใบเตย อาร์สยาม มีเนื้อร้องว่า “เอะอะ เอะอะก็โป๊ ของดีมีโชว์จะเก็บไว้ทำไมคะ”
กระแสวิพากษ์ต่างๆ ของนักร้องลูกทุ่งหญิงยุคใหม่หลายครั้งถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม (และไปยียวนกระตุกต่อม) จากกลุ่มอนุรักษ์นิยม สร้างพื้นที่ของการตั้งคำถาม เกิดการถกเถียงและตั้งคำถามกับชุดความคิดเดิมที่มีต่อผู้หญิงที่ปรากฏในเพลงหรือภาพลักษณ์ของนักร้องลูกทุ่ง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของผู้หญิง ปลุกพลังให้แก่ผู้หญิงจำนวนมากเพื่อก้าวเดินตามเส้นทางของตัวเอง และทำให้วงการเพลงลูกทุ่งมีความสนุกมากขึ้น ไม่แน่ในอนาคตเราอาจจะเห็นบทบาทผู้หญิงในวงการเพลงลูกทุ่งที่แปลกใหม่และก้าวข้ามทุกข้อจำกัดมากกว่าเดิมก็ได้!