เมื่อโลกหันมาให้ความสนใจกับเงินดิจิทัล แบรนด์แฟชั่นก็เปิดให้ผู้คนสามารถซื้อสินค้าได้ด้วยเหรียญคริปโตฯ และพอ ‘มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก’ (Mark Zuckerberg) ประกาศจะสร้างเมตาเวิร์ส เหล่าแบรนด์ในวงการแฟชั่นก็เตรียมทำคอลเลคชั่นเสื้อผ้าแบบดิจิทัลเพื่อจะเข้าสู่เมตาเวิร์ส ล่าสุด เมื่ออุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มใช้ระบบบล็อกเชนเข้ามากำกับการซื้อขายและดำเนินธุรกิจ แบรนด์แฟชั่นก็พร้อมจะใช้ระบบบล็อกเชนด้วยเช่นเดียวกัน ว่าแต่บล็อกเชนจะเกี่ยวข้องกับแฟชั่นได้อย่างไร?
ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจระบบบล็อกเชนก่อนว่ามันคืออะไร บล็อกเชนก็คือเทคโนโลยีว่าด้วย ‘ระบบการเก็บข้อมูล’ แต่เป็นการจัดเก็บข้อมูลในระบบดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง และสามารถติดตามข้อมูลต่างๆ แบบสาธารณะหรือเปิดเผย โดยมีผู้ตรวจสอบข้อมูลนั้นๆ ได้หลายคน และข้อมูลต่างๆ ที่ถูกบันทึกบนบล็อกเชนจะไม่สามารถถูกแก้ไขได้ เมื่อมีการอัปเดตข้อมูลใดๆ สำเนาข้อมูลในฐานเดียวกันก็จะอัปเดตตามไปด้วยทันที และที่สำคัญ เมื่อตัดตัวกลางทิ้งไปก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
ว่าแต่แบรนด์แฟชั่นจะจัดเก็บข้อมูลประเภทไหน แล้วเพื่ออะไรล่ะ? ถ้าหากเรามองแฟชั่นไอเท็มต่างๆ เช่น กระเป๋าของ Louis Vuitton หรือ Chanel เป็นทรัพย์สิน นี่คือข้อมูลที่แบรนด์แฟชั่นต้องการจัดเก็บด้วยระบบบล็อกเชน ยกตัวอย่างง่ายๆ ในตอนนี้ตลาดของแบรนด์เนมมือสองกำลังเติบโตอย่างสูง แต่เราก็มักจะพบเจอการขายของปลอมปะปนมาด้วย เช่น กระเป๋า ซึ่งบางครั้งเราอาจจะแยกด้วยตาเปล่าไม่ออกว่าของจริงหรือของปลอม บางร้านมีการขายพร้อมอุปกรณ์ที่มีแต่ใบเซอร์ (certificate) แต่ไม่มีใบเสร็จ หรือแม้กระทั่งใบเสร็จก็อาจจะเป็นของปลอมได้ ทำให้ของแบรนด์เนมที่กลายมาเป็นทรัพย์สินที่ขายต่อกันเป็นทอดๆ มีความเสี่ยงในการเป็นปลอมเกิดขึ้นสูง
หลายแบรนด์แก้ปัญหานี้ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ระบบฝังไมโครชิป’ ที่ Chanel เริ่มทำในกระเป๋ารุ่นใหม่ๆ แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น การจะตรวจสอบว่ากระเป๋าจริงหรือปลอมโดยเอากระเป๋าไปสแกนไมโครชิปก็ใช่ว่าจะทำได้ทันที มันเป็นเรื่องของแบรนด์ที่ทำได้เท่านั้น คนทั่วไปไม่สามารถนำกระเป๋าไปพิสูจน์ว่าเป็นของจริงหรือปลอมได้ ในปัจจุบันจึงใช้วิธีส่งไปตรวจสอบกับสถาบันที่เชื่อถือได้ (ดังเช่นกรณีกระเป๋า Hermes สรพงศ์ ที่เป็นข่าว) ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายไม่น้อย และใช่ว่าทุกคนจะเก็บใบเสร็จของแบรนด์เนมเอาไว้เป็นอย่างดีเพื่อรอวันขายต่อทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ถ้าแบรนด์แฟชั่นหันมาใช้ระบบบล็อกเชน การบันทึกข้อมูลทางดิจิทัลเหล่านี้ก็จะติดไปกับตัวกระเป๋า และถูกจัดเก็บไว้ในฐานระบบบล็อกเชนตั้งแต่วันที่สินค้าออกจากช็อป และไม่ว่ากระเป๋าจะเปลี่ยนมือ เปลี่ยนเจ้าของไปกี่คน ก็จะยังสามารถแทร็กข้อมูลการเปลี่ยนแปลงเจ้าของได้ โดยที่เจ้าของ ผู้ขาย และผู้ซื้อสามารถตรวจสอบกันได้เอง ทำให้การซื้อขายสินทรัพย์ของแบรนด์เนมมือสองปลอดภัยจากการนำของปลอมมาขายต่อกัน และไม่จำเป็นจะต้องเรียกหาไบเซอร์ฯ หรือใบเสร็จเหมือนการซื้อขายในตอนนี้อีกแล้ว
Photo credit: GtxSport, Prada Group
ตอนนี้เริ่มมีแบรนด์ (ที่ยังไม่ใช่แบรนด์ไฮแฟชั่น) เริ่มใช้ระบบบล็อกเชนแล้ว ซึ่งก็คือรองเท้าสนีกเกอร์ของ Beastmode เฉพาะตัวลิมิเต็ดเอดิชั่น The Great x Beastmode 2.0 Royale Chukkah ซึ่งใช้ระบบสมาร์ทแท็กที่เชื่อมต่อกับระบบบล็อกเชน และสำหรับแบรนด์ไฮแฟชั่นที่มีการซื้อขายในตลาดมือสองทั่วโลกก็ใช่ว่าจะนิ่งนอนใจ เพราะ LVMH, Prada Group และ Cartier ก็ได้ร่วมกันสร้าง ‘Aura Blockchain Consortium’ ซึ่งเป็นองค์กรที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการตรวจสอบของแท้ที่มาจากแบรนด์ดังกล่าว (คาดว่าผู้ซื้อจะต้องนำไปลงทะเบียนเอง เพราะการที่แบรนด์จะให้สินค้าทุกไอเท็มอยู่ในระบบบล็อกเชน ก็ต้องมีการลงทุนจำนวนมหาศาล และแน่นอนว่าราคาสินค้าต้องถูกปรับขึ้นอีก) และคาดว่าในอนาคต ของหรูจากแบรนด์ไฮแฟชั่นจะใช้ระบบบล็อกเชนทั้งหมด เพียงแต่ว่ามันจะสำเร็จเมื่อไหร่ และราคาจะขึ้นไปอีกกี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง
และอีกหนึ่งสินค้าหรูที่กำลังจะเข้าสู่ระบบบล็อกเชนอย่างแน่นอนก็คือ ‘เพชร’ ที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันบ่อยๆ และจะดีกว่า หากเรารับรู้และมั่นใจได้ว่าเพชรเหล่านั้นเป็นของจริง และใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของ เปลี่ยนมือมาเท่าไหร่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถช่วยได้ โดยตอนนี้บริษัทขายเพชรในลอนดอนชื่อ Everledger ก็ได้เริ่มนำระบบบล็อกเชนมาใช้กับการขายเพชรแล้ว โดยเพชรมากกว่า 1.6 ล้านเม็ดของบริษัทที่จะถูกขายออกไป จะมีการจัดเก็บข้อมูลบนบล็อกเชน โดยในข้อมูลนั้นจะมีทั้งข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพ สี กะรัต และเลขที่ใบรับรอง เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยในการซื้อขายต่อไปในอนาคต
นอกจากจะช่วยในเรื่องการป้องกันของปลอมแล้ว บล็อกเชนยังสามารถช่วยวงการแฟชั่นในเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย อย่างที่รู้กันว่าตอนนี้กำลังมีการรณรงค์เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ในอุตสาหกรรมแฟชั่น แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เสื้อผ้าหรือแฟชั่นไอเท็มที่ซื้อมามีความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อเราไม่รู้เลยว่ามันถูกผลิตมาได้อย่างไร และแบรนด์แฟชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไฮแบรนด์หรือฟาสต์แฟชั่นก็ใช้ซัพพลายเชนมากมายทั่วโลก
เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถช่วยได้ ถ้าทุกซัพพลายเชนถูกบรรจุเป็นข้อมูลอยู่ในระบบบล็อกเชน ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้ว่าของที่ซื้อมานั้นมาจากสายพานการผลิตไหนบ้าง และแต่ละที่มีข้อมูลด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจการซื้อของสิ่งนั้น โดยเฉพาะสำหรับผู้บริโภคสายอนุรักษ์ และคาดว่าเรื่องนี้มีความเป็นไปได้สูงในอนาคต เพราะเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการผลิตสินค้าแฟชั่นกำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ของโลก
Photo credit: Fashion Critic Network, Peppermint Magazine
โดยตอนนี้ก็มีโครงการที่ชื่อว่า ‘#WhoMadeMyClothes’ ขององค์กร ‘Fashion Revolution’ ที่พยายามชูประเด็นเรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมแฟชั่น กับบริษัทที่ต้องการเปิดเผยความโปร่งใสของซัพพลายเชนของตัวเองเพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และมีการใช้ระบบบล็อกเชนเป็นตัวช่วย
แม้ทั้งหมดจะฟังดูเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และควรทำ แต่อย่างที่บอกว่าการจัดการในเรื่องนี้ หรือการที่บริษัทเจ้าของแบรนด์แฟชั่นและสินค้าหรูทั้งหลายจะหันมาใช้ระบบบล็อกเชนกับสินค้าของแบรนด์ตนเอง ก็ต้องมีการจัดการและใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีก และแน่นอนว่าต้นทุนในการจัดการนั้นจะถูกนำมาบวกเพิ่มในราคาการขายสินค้าให้พุ่งสูงขึ้นแน่นอน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเหล่าสาวก Chanel, Louis Vuitton, Dior, Cartier, Bvlgari ฯลฯ จะยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้นเพื่อให้แบรนด์นำระบบบล็อกเชนเข้ามาใช้หรือไม่ หรือว่ายืนยันจะใช้ระบบใบเซอร์ฯ กับใบเสร็จแบบเดิม