Culture

Walking Sustainability: ‘Maddy Hopper’ รองเท้าผ้าใบที่อยากให้คนได้ใส่ (ใจ) โลกใบนี้

ถ้าพูดถึงรองเท้าผ้าใบดีๆ สักคู่หนึ่ง สำหรับคุณมันต้องเป็นอย่างไร? ต้องนุ่ม ใส่สบาย ต้องสวย หรือต้องดีกับสิ่งแวดล้อม? วันนี้ EQ อยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘Maddy Hopper’ แบรนด์รองเท้าผ้าใบที่ออกแบบมาเพื่อคน และเพื่อสิ่งแวดล้อมจาก ‘ชาญ’ – ชาญ สิทธิญาวณิชย์ และ ‘ป๊อป’ – ภาคิน โรจนเวคิน สองเพื่อนซี้ที่พาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘รองเท้าธรรมดา’ ที่ซ่อนความรัก (โลก) เอาไว้ข้างใน

The Friends’ Experimental Project

จากไอเดียของเพื่อนที่คุยกันได้ทุกเรื่อง และความต้องการรองเท้า ‘ธรรมดา’ สักคู่ ทำให้เกิดเป็น Maddy Hopper แบรนด์รองเท้า Sustainable นี้ขึ้นมา

“เริ่มต้นจากเราเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกันอยู่แล้ว แล้วเราก็คุยกันทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องธุรกิจ ก็คือ ชอบคิดไอเดียนู่นนี่นั่น ก็มาเจอไอเดียเรื่องรองเท้า เหมือนตอนนั้นผมก็อยากได้รองเท้าพอดี อยากได้รองเท้าธรรมดาๆ คู่หนึ่งที่ไม่แพงเว่อ แล้วก็ใส่สบาย ไม่ต้องคิดมาก คือ รองเท้าธรรมดาอันนั้นมันหายาก อย่างผมเป็นคนเท้าบานหน่อย ใส่บางคู่แล้วรู้สึกแข็งไป รู้สึกว่าเจ็บ บางอันถ้าดีหน่อยมันก็แพงไปเลย หาตรงกลางไม่เจอ เราก็เลยคุยกันว่า มันน่าจะมีอะไรอย่างนี้ ซึ่งถ้าเกิดว่าจะมีทั้งที มันก็ควรจะต้องมีความรับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย อันนี้เป็นสองโจทย์ที่เราตั้งขึ้นมาตอนแรกเลยว่า ถ้ามันมีรองเท้าลักษณะนี้ ใส่ง่าย ใส่สบาย ใส่ได้ทุกวัน แล้วยังตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย มันน่าจะดีนะ ซึ่งตอนนั้นมันก็มีของแบรนด์ต่างประเทศ ซึ่งราคาก็อาจจะเข้าถึงยาก หรือว่าหายาก ซื้อที่นี่ไม่ได้ มันน่าจะมีอะไรที่เป็นของไทยนะ ก็เลยลองตั้งคำถาม แล้วก็หาคำตอบไปเรื่อยๆ มันเป็นไปได้ไหม ตอนนี้มันทำอย่างไรได้ มันก็ค่อยๆ มาเป็น Maddy Hopper” ชาญเล่าที่มาที่ไปของแบรนด์

“ก่อนมันจะประกอบมาเป็นแบรนด์รองเท้า มันก็เต็มไปด้วยคำถาม ที่เราต้องหาคำตอบ” ป๊อปเสริมขึ้น ก่อนอธิบายต่อว่า “ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้คิดว่า เราจะขาย หรือว่าเราทำแบรนด์อะไร มันเหมือนเป็นโปรเจกต์สนุกๆ ของเพื่อน 2 คนมากกว่า ว่าเราทำมันได้หรือเปล่า เราก็เริ่มจากทำโลโก้แบรนด์ โดยที่เราก็ไม่ได้บอกกันว่า เฮ้ย มันจะต้องออกมาเป็นโปรดักต์ หรือว่ามันจะต้องทำออกมาขายนะครับ แต่ว่าเราแค่เหมือนเล่นเกมของตัวเองแบบสนุกๆ ทำด้วยกัน ได้โลโก้แล้วก็ลองหาซัพพลายเออร์ ณ โมเมนต์แรกที่เราต้องตัดสินใจจริงๆ ว่าเราจะทำหรือเปล่า คือโมเมนต์ที่เราต้องเริ่มจ่ายเงินกับอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งมันก็เป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่งที่เรายอมจ่ายเพื่อทดลองโปรเจกต์นี้ ก็ออกรองเท้ามาจำนวนหนึ่ง ไม่เยอะมาก แล้วก็เทสไปเลยพร้อมกับลูกค้า เราก็รู้ไปพร้อมกับลูกค้าว่า เขารู้สึกอย่างไร เราก็ค่อยๆ พัฒนาต่อมาเป็นอย่างที่เห็นครับ”

พอได้ฟังทั้งคู่เล่าแบบนี้ เราเลยสงสัยว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ของพวกเขาได้อย่างไร? ซึ่งชาญก็ตอบเราว่า “อย่างที่บอกว่าเราคุยกันทุกเรื่อง แล้วเรื่องสิ่งแวดล้อมมันเป็นประเด็นที่เราก็คุยกันอยู่แล้วว่า มันก็เป็นเรื่องที่เราตระหนัก เรารู้สึกว่ามันสำคัญ และยิ่งถ้าเกิดเราจะมาเป็นผู้ประกอบการ ความรับผิดชอบมันยิ่งมากกว่าคนทั่วไปเสียด้วยซ้ำ ในฐานะที่เราเป็นคนที่ต้องผลิตอะไรเพิ่มขึ้นมาหนึ่งชิ้น เพราะว่ามันต้องกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรให้มันกระทบน้อยที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ในสเกลที่เราเป็นอยู่”

“เพราะว่าเราก็ต้องยอมรับว่า ถึงเราจะบอกว่าเราเป็น Sustainable Brand แต่เราก็ไม่ได้ดีที่สุดหรอก เราก็ยังมีอะไรที่เราต้องพัฒนาเพื่อเป้าหมายของความ Sustainable อยู่” ป๊อปเสริม

“เรารู้สึกว่าเรามองความรักโลก หรือ Sustainability เป็นความรับผิดชอบ เป็นหนึ่งมุมที่ทุกๆ แบรนด์ควรจะคิด แล้วเราก็เป็นคนที่คิดแบบนี้ เราก็เลยต้องทำแบบนี้” – ป๊อป

นอกจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่เข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์นี้ก็คือ ‘ผู้คน’ ซึ่งทั้งคู่เล่าให้เราฟังว่า

“โรงงานที่ทำรองเท้าให้เรา เป็นโรงงานที่เป็นแฮนด์เมด เขาก็เป็นโรงงานเล็กๆ ที่เราไปเจอเขาตามตึกแถว ก็เป็นชุมชนที่เขาทำรองเท้า แล้วก็ตัวของพื้นรองเท้าที่เรากำลังพัฒนาอยู่ เป็นชุมชนที่ระยอง ที่เขาทำเกี่ยวกับยางพารา เราก็ไปให้เขาช่วยพัฒนา ไปคุยวิธีการผลิตกับเขาครับ เพื่อที่เราจะได้โปรดักต์ออกมา แล้วหวังว่า ในอนาคตเราจะผลิตกับเขามากพอที่เขาจะมีรายได้ไปส่งเสริมชุมชนเขา” ป๊อปอธิบาย ก่อนที่ชาญจะเสริมขึ้นว่า “เราพยายามจะเลือกใช้ เลือกคุยกับซัพพลายเออร์วัสดุที่อยู่ในไทย อย่างขวดพลาสติก ตอนแรกก็มาจากต่างประเทศ เราก็พยายามหาโรงงานใหม่ที่ใช้พลาสติกในไทย คือเราพยายามแต่ว่ามันคงไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราแค่พยายาม เพราะว่ามันก็มีข้อจำกัดบางอย่าง แต่ถ้าทำได้เราก็จะเลือกคุยในไทย วัสดุผลิตในไทย ทุกอย่างทำในไทย เพราะรู้สึกว่าอยากให้มีอิมแพ็กที่นี่ด้วย จะได้ส่งออกไปที่อื่น แล้วมีเม็ดเงินไหลเข้ามาที่นี่มากขึ้น”

Walking Green

‘For People, For The Planet’ คือ Motto ของแบรนด์รองเท้าแบรนด์นี้ ซึ่งชาญอธิบายถึงเหตุผลของ Motto กับเราว่า Maddy Hopper เป็นแบรนด์ที่ต้องการทำสินค้าที่ดีสำหรับคน และสิ่งแวดล้อม ก่อนที่ป๊อปจะเล่าต่อว่า “เราทำสินค้าให้คนใส่ แต่ว่าเราคิดถึงเรื่องโลก เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ผมคิดว่ามันเป็นอย่างนั้น เราสนใจเรื่อง Sustainability แต่ว่าในทางกลับกัน เราก็สนใจเรื่องฟังก์ชั่นด้วยเช่นกัน ก็เป็นสองแกนที่เราโฟกัส”

นับจากวันแรกที่แบรนด์นี้เปิดขึ้นมาก็เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว เราจึงให้ชาญช่วยแนะนำสินค้าหลักๆ ของแบรนด์ให้ฟัง

“หลักๆ ก็คือ รองเท้าผ้าใบ ซึ่งรองเท้าผ้าใบรุ่นแรกสุดคือ รุ่น ‘Polly’ ที่เป็นรุ่นคลาสสิก แล้วตอนนี้รุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มออกมาบ้างนะครับ ก็จะมีอีกสองรุ่นคือ ‘Toby’ ที่เป็นรุ่นลิ้นยาว แล้วก็มีรุ่นสีดำ หรือมีรุ่นสีพิเศษสีเขียว มีรุ่นคอลแลบ แต่ว่าหลักๆ ก็จะเป็นรองเท้าผ้าใบ อันที่สองที่ตามมาแบบติดๆ เลยคือ ถุงเท้าใยไผ่ ‘Bambi’ ซึ่งเป็นโปรดักต์ที่สองที่เราปล่อย แล้วก็ได้รับความสนใจเยอะเหมือนกัน แล้วก็ออกสีใหม่มาเรื่อยๆ ตอนแรกเป็นข้อยาว ตอนนี้ก็จะเริ่มมีข้อสั้น จะมีโปรดักต์เสริมบางอย่างที่ทำมาแถมบ้าง มาขายบ้าง พวก Tote Bag เล็กๆ น้อยๆ มีเสื้อที่แถมไปในบางแคมเปญ แต่ว่าอนาคตก็อาจจะมีโปรดักต์ไลน์อื่นที่ตามมา”

แล้วอะไรที่ทำให้ Maddy Hopper ต่างจากรองเท้าแบรนด์อื่น?

“ก็วัสดุก่อนเลย คือเรารู้สึกว่า วัสดุแต่ละอันที่นำมาใช้ เราจะเลือก 2 แกนก็คือ แกนของ Sustainability แล้วก็ Functionality อันนี้เราเลือกมาดีที่สุดเท่าที่เราเลือกได้แล้วครับ แมตทีเรียลก็จะแตกต่างกับคนอื่น ก็จะมีขวดพลาสติกรีไซเคิล มีเศษเตียงยางพารารีไซเคิล ที่ทำให้รองเท้าเรามีวัสดุพิเศษ แล้วสิ่งที่เราสนใจเป็นพิเศษก็คือ เรื่องของฟังก์ชั่น มันก็จะต้องมีความนุ่ม แล้วทุกๆ การพัฒนาของรองเท้าของเรา เราก็ดูจากฟีดแบ็กลูกค้า อย่างเช่น รุ่นแรกอาจมีลูกค้าหลายคนรู้สึกว่าโดนกัด เราก็ โอเค ลูกค้าโดนกัด จุดต่อไปเราจะทำอย่างไรให้ลูกค้าไม่โดนกัดอีก ด้วยความที่เราเป็นแบรนด์เล็ก เราจะใกล้กับลูกค้ามากกว่าแบรนด์ใหญ่ เราก็สามารถที่จะรับฟีดแบ็กได้เร็วกว่า แต่เราอาจจะปรับได้ช้า เพราะว่าการปรับแต่ละที มันต้องสนใจเรื่องแมตทีเรียลอีก ก็อาจจะมีความช้าตรงนั้นเข้ามา” ป๊อปอธิบาย

เมื่อเราเห็นว่า ทั้งคู่พยายามสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ Maddy Hopper เราจึงสงสัยว่า ลูกค้าของแบรนด์มีฟีดแบ็กอย่างไรกับความพยายามนี้บ้าง

“เล่าเป็นสเตจไปแล้วกันครับ ช่วงแรกพอมันใหม่มาก ฟีดแบ็กที่ได้มาก็เป็นความตื่นเต้น แบบ เฮ้ย มันไม่เคยมี เขาไม่เคยเห็นอะไรลักษณะนี้มาก่อน ในตลาดไทยมันค่อนข้างใหม่ ฟีดแบ็กก็จะค่อนข้าง Well Recieved มากครับ ตั้งแต่แรกมาถึงตอนนี้ฟีดแบ็กที่เข้ามาสม่ำเสมอที่สุดก็เป็นเรื่องคอนเซ็ปต์ ประมาณว่า เขาชอบสไตล์นี้ บวกความรักโลก บวกกับดีไซน์ และ การวางตัวแบบนี้ คาแร็กเตอร์แบบนี้ เป็นคอนเซ็ปต์รวมๆ ที่ได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้า แต่ฟีดแบ็กส่วนที่แย่ก็มีเหมือนกันนะครับ ก็เป็นเรื่องฟังก์ชั่นบางอย่างของรองเท้า ที่พอใช้งานไปแล้วมันมีติดขัดขึ้นมา เช่น รองเท้ากัด เราก็ได้รับมาแล้วก็พยายามปรับปรุง” ชาญเล่า

จากที่ได้คุยกับทั้งชาญ และป๊อป ทำให้เราอยากรู้ว่า ความสนุกของการที่งานดีไซน์มาเจอกับประเด็นสิ่งแวดล้อมคืออะไร?

“เริ่มจากสิ่งที่จับต้องได้ อย่างแรกสุดก็คือ เรื่องแมตทีเรียล ความสนุกของเราในสเตจนั้นก็คือ การหาอะไรใหม่ๆ มาใช้ แทนที่เราจะใช้วัสดุเดิม เราก็ใช้วัสดุที่มัน Sustainable ขึ้น ซึ่งมันหมายความว่า มันต้องหาตัวเลือกที่ไม่ได้มีอยู่ในตลาดครับ ผมสนุกกับการค้นหาว่า อันนี้มันเอามาทำได้ไหม อันนั้นเราทำได้ไหม ขวดพลาสติกมันเอามาทำได้ไหม มันก็รู้สึกสนุกแล้วตั้งแต่แรก เราพยายามหาอะไรใหม่ๆ เช่น ตอนนี้เราพัฒนาตัวแผ่นรองใหม่ ซึ่งเราพยายามเอาวัสดุธรรมชาติเข้ามาผสม เช่น กากกาแฟ กาบมะพร้าว แต่ยังไม่ได้ปล่อยนะ กำลังพัฒนาอยู่ เรื่องแรกที่ทำให้เรารู้สึกว่าตื่นเต้น มันก็คือเรื่องแมตทีเรียลนี่แหละ” ชาญตอบ

“ในเมืองไทย เรามีวัสดุค่อนข้างเยอะที่ไม่ได้ถูกเอาไปพัฒนา ก็คิดว่าอันนี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า แฟชั่น กับทรัพยากรที่คนไทยมี เอามาแมตช์กันแล้วมันสนุกดี” – ป๊อป

Balancing the Sustainability

อย่างที่ชาญ และป๊อปเล่าให้เราฟังว่า Maddy Hopper วางตัวเป็น Sustainable Brand เราเลยอยากรู้ว่า ในมุมมองของพวกเขา Sustainability คืออะไร?

“ถ้าแปลตรงตัวมันก็คือ ความยั่งยืนเนอะ การที่เรา Less Harm โลกนี่แหละ แล้วเราก็ส่งต่อโลกใบนี้ที่มันมีสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดให้กับเจเนอเรชั่นหลังๆ หรือตอนนี้เราแค่คาดหวังว่า เราจะไม่เจอการเปลี่ยนแปลงที่หนักจนเราจะต้องใช้ชีวิตลำบาก และถ้าวันนั้นมันเกิดขึ้นจริงๆ เราจะบอกตัวเองได้ว่า เออ เราพยายามแล้ว อันนี้คือ มุมมองของเรา จริงๆ เราทำเพื่อตัวเองแหละ มันอาจจะเป็นมุมของผมคนเดียวก็ได้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องรู้สึกว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของการที่มันแย่ลงแบบนี้” ป๊อปตอบ

“มันแล้วแต่บริบทเนอะ ถ้ามองในบริบทของผมเองที่ทำธุรกิจ ความยั่งยืนมันคือ ความยั่งยืนของทุกๆ อย่างรวมกัน เริ่มตั้งแต่เรื่องของแมตทีเรียล ความยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนของตัวธุรกิจ เรื่องการเงิน ความยั่งยืนของโปรดักต์ที่จะต้องใช้ได้ยาวนานด้วย คือมันต้องตอบโจทย์ในทุกๆ ด้าน แล้วหาบาลานซ์ตรงนั้นให้มันยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน สมมุติว่าโปรดักต์ยั่งยืนมาก แมตทีเรียลโคตรยั่งยืนเลย แต่ฟังก์ชั่นไม่ได้เลย พอฟังก์ชั่นไม่ได้ ก็ขายไม่ได้ ธุรกิจก็ไม่ยั่งยืน” ชาญอธิบายเรื่องความยั่งยืนผ่านมุมของเขา

“ความยั่งยืนของผมในตอนนี้มันกลายเป็นว่า ต้องหาบาลานซ์ของความยั่งยืนทุกๆ จุดด้วยกัน เพราะบางอย่างมันไม่ได้ยั่งยืนกับตัวธุรกิจ หรือบางทีสินค้าทนมาก ยั่งยืนมาก แต่ลูกค้าไม่ชอบ ธุรกิจมันก็ไม่ยั่งยืน ก็ผลิตของดีๆ ไม่ได้ ก็กลายเป็นว่า เราต้องพยายามหาบาลานซ์ของความยั่งยืนทุกจุดมากกว่า มันไม่ใช่ว่า เอาแมตทีเรียลยั่งยืนอย่างเดียว มันก็ไม่รอด” – ชาญ

บ้านเราพร้อมแล้วใช่ไหมกับเรื่อง Sustainability?

“มันก็ต้องพยายามต่อไป แต่เราคิดว่า เราก็ยังค่อนข้างไกล โดยตอนนี้คนไทยก็ยังต้องดิ้นรนเรื่องการทำมาหากินของตัวเอง หรือว่าการเอาตัวรอดของตัวเองอยู่ บางทีเราไม่มีเวลามาสนใจเรื่องของคนอื่น หรือเรื่องของส่วนรวมขนาดนั้น ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรครับ มันก็เป็นสิ่งที่คนไทยหลายๆ คนต้องเผชิญ ก็เลยคิดว่า น่าจะยังอีกสักระยะหนึ่ง ก็ต้องช่วยๆ กัน ผมว่าทุกคนก็ต้องทำกันต่อไปครับ” ป๊อปกล่าว

Hopping to the Future

ในฐานะเจ้าของ Sustainable Brand เราจึงชวนชาญ และป๊อป แลกเปลี่ยนมุมมองของซีนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาได้เจอมา

“ผมคิดว่า คนตระหนักว่ามันมีปัญหานี้อยู่ เท่าที่ผมดูในคอมเมนต์เรื่องภัยพิบัติต่างๆ คนก็ บอกว่า เฮ้ย โลกกำลังลงโทษเราอยู่ ผมคิดว่าความตระหนักรู้ของทุกคนมันถึงหมดแล้ว แต่ว่าแอ็กชั่น ว่าเราทำอะไรได้บ้าง ยังไม่ถูกรณรงค์ ยังไม่ถูกส่งเสริมมากพอที่เขาจะรู้ว่า เขาจะต้องทำอะไร หรือบางครั้งการทำมันยากจังเลย มันไม่ง่ายพอที่เขาจะเปลี่ยนรูทีนเขาได้ แล้วเรารู้สึกว่าซีนของเมืองไทยยังไม่เอื้ออำนวยให้คนไทยสามารถเป็นบุคลากรที่สามารถทำอะไรกับความ Sustain ได้มากพอที่จะเห็นอิมแพ็กที่จับต้องได้” ป๊อปตอบ

“Sustainable เกิดแล้วหรือยัง หรือเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน มันอยู่ที่มาตรวัดที่เราดูด้วย เพราะว่ามันกว้างมาก ทั่วโลกถ้ามองในมุมมองปกติ มันก็ยังไม่สำเร็จ มันแล้วแต่มุมมอง แต่ถ้าถามว่า มันเกิดการเอาเรื่อง Sustainable มาปรับใช้กับไลฟ์สไตล์บางคนแล้วหรือยัง มันเกิดแล้วในบางส่วนนะครับ ง่ายๆ เลยแค่ใช้ถุงพลาสติกซ้ำๆ ถุงเดิม บางทีมันมีอะไรพวกนี้เกิดขึ้นอยู่แล้ว แล้วตอนนี้ความตระหนักรู้มันก็ถึงแล้ว อยู่ที่ Benchmark ว่า เราอยากให้ Benchmark คาร์บอนไดออกไซด์มันมีมาตรวัดไปถึงตรงไหน หรืออยากให้มันช่วยลดโลกร้อนได้ขนาดไหน หรือว่ามันย้อนผลกระทบเชิงลบได้แค่ไหน มันวัดยากมาก ส่วนประเด็นเรื่องของแอ็กชั่นก็รู้สึกว่า ทางแก้ตอนนี้ทั้งมุมของรัฐบาลเอง หรือว่าในทางธุรกิจเอง ก็ยังไม่มีหนทางให้กลุ่มผู้บริโภคได้ในราคาถูก แล้วก็ง่าย” ชาญพูดเสริม

“มันขาดทางแก้ที่ทั้งราคาถูก และง่าย โดยเฉพาะคนไทยที่เรื่องปากท้องก็ยังมีปัญหาอยู่ จะต้องมา Sustainable ที่แพงขึ้นอีก มันราคาไม่ถูก แล้วก็ไม่ง่าย มันก็ขาดสองเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นประเด็นใหญ่สำหรับเรามาก” – ชาญ

“เราพยายามทำโปรดักต์ที่จับต้องได้ เราพยายามทำโปรดักต์ Sustainable ในราคาที่แข่งขันกับแบรนด์รองเท้าแบรนด์อื่นได้ รู้สึกว่าทำไมคนอยาก Sustainable ต้องจ่ายเงินเพิ่มด้วย จริงๆ เรื่อง Sustainability มันมีสองแกน มันมีเรื่อง Waste ก็คือเรื่องขยะล้น เพราะว่าคนใช้พลาสติกมาทำเป็นแพ็กเกจจิ้งใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็ทำให้สิ่งนี้มันเป็นปัญหาใหญ่ๆ ที่เราต้องแก้กัน ซึ่งบางคนก็พยายามเอาพลาสติกมา Upcycling กันครับ ส่วนที่สองมันเป็นเรื่องของคาร์บอนฟุตปริ้นต์ ที่เราปล่อยคาร์บอนออกไป” ป๊อปเล่าต่อ

ก่อนจากกันเราขอให้ทั้งคู่เล่าความคาดหวังที่มีต่อซีนเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยให้เราฟัง ซึ่งชาญเล่าว่า “ส่วนแรกน่าจะเป็นการสนับสนุนจากทางภาครัฐ หรือว่าการสนับสนุนกันของภาคธุรกิจ ภาคเอกชนที่ต้องช่วยกันมากขึ้น ร่วมมือกันมากขึ้น ซึ่งซีนนี้อาจจะหมายถึง ทางแก้ใหม่ๆ ของฝั่ง B2B หรือ B2C เอง คือไม่ใช่จากแบรนด์ผมอย่างเดียว แต่เป็นทางแก้ที่ต้องเสนอมาจากทางธุรกิจอื่นด้วย เพื่อให้ทางออกด้าน Sustainability มันง่าย แล้วถูกขึ้น”

“ก็คิดว่าเรายังขาดมีเดียในการรณรงค์ หรือบอกว่าเราควรเทคแอ็กชั่นอย่างไร เพราะว่าเรื่องความตระหนักรู้ มันก็รู้อยู่แล้วทุกวัน กับข่าวไฟไหม้ที่นั่น ไฟไหม้ที่นู่น น้ำท่วมที่นี่ หรือแผ่นดินไหว คือช่วง 1-2 เดือนนี้มันเยอะมาก มากจนคนรู้อยู่แล้วว่า โลกกำลังสลัดคนออกไป แต่ว่าเขาควรทำอย่างไร หรือว่าพาร์ทไหนของเขาที่จะปรับได้ ผมคิดว่ายังขาดการรณรงค์สิ่งนี้อยู่” ป๊อปอธิบายมุมของตัวเอง

แล้วถ้าในมุมของอุตสาหกรรมแฟชั่นล่ะ อยากเห็นอะไร?

“มันยากมากเลยนะ เพราะว่าหนึ่งคือ หัวใหญ่มันครอบด้วยโซเชียลมีเดียก่อน โซเชียลมีเดียครอบทุกอย่างไว้ โลกรันด้วยการออนไลน์ ความรวดเร็ว ที่นี้เวลาเขาแต่งตัว เขาจะไม่อยากใส่ซ้ำ เพราะฉะนั้นฟาสต์แฟชั่นก็เลยมามาก เพราะว่ามันถูก แบบมันเร็ว เขาก็สามารถเปลี่ยนได้เรื่อยๆ จริงๆ ไม่รู้เหมือนกันว่า จะมีอะไรที่พอจะขวางคลื่นลูกนี้ได้ คลื่นลูกนี้มันก็เหมือนเป็น Snowball Effect ที่ทำให้ฟาสต์แฟชั่นแข็งแกร่งขึ้น เป็นที่ต้องการมากขึ้น ถ้าถามว่าอยากให้มันเป็นแบบไหน ก็คงอยากให้สิ่งนี้มันชะลอลง” ป๊อปอธิบาย

“อยากให้คนตระหนักมากขึ้นว่าฟาสต์แฟชั่นมันไม่ดีอย่างไร หรือจริงๆ เรื่องของความรู้สึกว่า การใส่เสื้อซ้ำมันไม่ได้ผิดอะไร จริงๆ มันควรใส่เสื้อผ้าซ้ำด้วยซ้ำ การแต่งตัวมันก็แค่การปกปิดร่างกาย ซึ่งเราแต่งตัวดี หรือไม่ดี มันไม่ได้เกี่ยวกับว่ามันซ้ำหรือเปล่า มันอยู่ที่ว่าเราแมตช์ชุดเราอย่างไร คิดว่า ถ้าเกิดคนเริ่มหันมามองเรื่องแบบนี้มากขึ้น อาจจะทำให้ฟาสต์แฟชั่น Slow Down ได้” – ป๊อป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ Maddy Hopper ได้ที่

Facebook: Maddy Hopper

Instagram: maddyhopper.sneakers