Culture

“อู้ววว...มาเกบา มาเกเบลล่า” MaKeba เพลงที่ใช้เวลากว่า 7 ปีถึงจะดังทั่วโลก แต่รู้ไหมว่าเพลงนี้ร้องเกี่ยวกับอะไร

เชื่อว่าใครหลายคนต้องเคยได้ยินเพลงนี้ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะใน TikTok หรือใน Reels เพลงที่ไม่รู้ว่าร้องว่าอะไรกันแน่ แต่ได้ยินประมาณว่า “อู้ววว...มาเก็ตต้า มาเกเบลล่า” ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละหูก็จะฟังไปคนละแบบ รวมไปถึงบางคนก็อาจจะได้ยินในเวอร์ชั่นภาษาไทยที่แปลงมาแล้วเพื่อความตลกขบขัน

‘Makeba’ เป็นเพลงของนักร้องชาวฝรั่งเศสชื่อ Jain จากอัลบั้ม Zanaka ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2015 เป็นเพลงที่ใช้ซาวนด์ที่เรียกว่า Afro Pop หรือเพลงป็อปที่มีกลิ่นอายแอฟริกัน เพราะ Jain ชื่นชอบวัฒนธรรมแอฟริกัน เนื่องจากครอบครัวของเธอย้ายไปอยู่ที่คองโก ทำให้เธอได้ใช้ชีวิต และเติบโตในช่วงวัยเด็กที่ประเทศคองโก ก่อนจะย้ายกลับมายังประเทศฝรั่งเศส ทำให้เธอได้รับอิทธิพลในการทำเพลงจากแอฟริกันที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อย่างในเพลง Makeba ก็มีการผสมผสานจังหวะเพลงแอฟริกันพื้นบ้านและซาวนด์ในแบบจาไมก้าเรกเก้ลงไปด้วย

Photo Credit: Thegatvolblogger

แต่ถึงเธอจะเป็นคนฝรั่งเศส และเพลง Makeba ได้รับอิทธิพลจากแอฟริกัน แต่ประโยคแรกในเพลงที่หลายคนได้ยินที่ร้องว่า “Ooh-ee, Makeba, Makeba, ma che bella” นั้นไม่ใช่ทั้งภาษาฝรั่งเศส หรือแอฟริกัน แต่เป็นภาษาอิตาเลี่ยน โดยคำว่า ‘ma che bella’ เป็นภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่า “ช่างสวยงามอะไรเช่นนี้” ส่วน Makeba นั้นเป็นชื่อคน ซึ่งก็คือ ‘Miriam Makeba’ ผู้ที่ได้ฉายาว่าเป็น ‘Mama Africa’ นักร้อง และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในแอฟริกา

เพลง Makeba จึงไม่ใช่เพลงแดนซ์จังหวะสนุกๆ ทำนองติดหูธรรมดาๆ แต่เป็นเพลงสรรเสริญ ‘สิทธิมนุษยชน’ โดยเล่าผ่านชีวิตของ Miriam Makeba นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกา

ในช่วงวัยเด็กที่ Jain อาศัยอยู่ที่คองโก เธอบอกว่าเพลงแรกๆ ที่เธอได้ฟังก็คือเพลง ‘Pata Pata’ ของ Miriam Makeba ซึ่งทำให้เธอได้เรียนรู้เรื่องราวของ Miriam Makeba และได้แรงบันดาลใจจาก Miriam Makeba หลังจากที่เธอย้ายกลับมายังฝรั่งเศสแล้ว เพื่อนคนหนึ่งของเธอบอกว่ารู้จักเรื่องราวและการต่อสู้ของ Miriam Makeba นั่นจึงทำให้ Jain ระลึกถึงเรื่องราวของ Miriam Makeba อีกครั้ง และเริ่มเขียนเพลงเพื่อเป็นการสดุดีการต้อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของ Miriam Makeba และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของเพลง Makeba ที่ทุกคนเต้นกันใน TikTok

Photo Credit: Doo Wop - Eklablog

Miriam Makeba เกิดที่โยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน เธอเริ่มร้องเพลงในโบสถ์ และได้เป็นนักร้องในวงของลูกพี่ลูกน้อง แต่มามีชื่อเสียงหลังจากที่เธอเข้าร่วมวง Manhattan Brothers ในช่วงทศวรรษที่ 1950s ซึ่งทำให้เธอได้แสดงภาพยนตร์สองเรื่องก็คือ Come Back Africa และ King Kong จากความโด่งดังของภาพยนตร์ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในระดับโลก และย้ายมานิวยอร์กในปี 1959 และร้องเพลงเป็นหลัก โดยเธอได้รับเชิญให้ไปร้องเพลงในงานวันเกิดของประธานาธิบดี John F. Kennedy ที่เมดิสัน สแควร์ในปี 1962 และได้รับรางวัลแกรมมี่ในปี 1965

แม้เธอจะย้ายมาอยู่ที่นิวยอร์กแล้ว แต่เธอก็ไม่เคยลืมแอฟริกาใต้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องนโยบายการแบ่งแยกสิผิว ซึ่งในช่วงเวลานั้นแอฟริกาใต้มีนโยบายการแบ่งแยกสีผิวของผู้คน คนขาวอยู่กับคนขาว คนดำอยู่กับคนดำ และคนผิวดำก็ถูกกีดกันจนกลายเป็นพลเมืองชั้นล่างของประเทศ เธอใช้เพลงเป็นอาวุธของเธอในการบอกเลฃ่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ ต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว และสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้เธอถูกรัฐบาลในช่วงเวลานั้นยกเลิกพาสฟอร์ตของเธอ ทำให้เธอไม่สามารถกลับเข้าประเทศแอฟริกาใต้ได้ แต่เธอก็ไม่หยุดเพียงแค่นั้น เธอยังคงใช้เสียงเพลงในการต่อต้านนโยบายการเหยียดสีผิวในแอฟริกาใต้ต่อไป แม้แม่ของเธอจะเสียชีวิตในปี 1960  เธอก็ยังไม่มีโอกาสได้กลับไปงานศพของแม่

Photo Credit: Miriam Makeba Foundation

เธอยื่นเรื่องต่อสหประชาชาติ มีโอกาสได้ขึ้นพูดที่สมัชชาสหประชาชาติ แต่ก็ไม่เป็นผล เธอกลายเป็นผู้พลัดถิ่นที่ไม่สามารถกลับประเทศบ้านเกิดของตัวเองได้ แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ไม่หยุดร้องเพลง ไม่หยุดบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอและสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอ การแบ่งแยกสีผืวในแอฟริกาใต้ผ่านเสียงเพลง จนเมื่อในปี 1990 หลังจากที่ยุคการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้จบลง Miriam Makeba จึงมีโอกาสได้กลับไปยังแอฟริกาใต้

Miriam Makeba เสียชีวิตในปี 2008 จากการเป็นลมล้มลงบนเวทีคอนเสิร์ตที่อิตาลี ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนนักข่าว/นักเขียน Roberto Saviano ที่เขียนหนังสือเรื่อง Gomorrah ตีแผ่เรื่องราวขบวนการของแก๊งมาเฟียที่มีอิทธิพลในอิตาลี แต่ถึงอย่างนั้นเรื่องราวของ Miriam Makeba ก็ยังคงถูกเล่าขานต่อๆ ไป เช่นเดียวกับในเพลง Makeba ที่เราเต้นกันใน TikTok อยู่ในตอนนี้

อ้างอิง

Genius
Firstpost.
dailyO