ปัจจุบันนี้ ‘อาชีพขายบริการทางเพศ’ เริ่มถูกยอมรับว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีอยู่จริงในสังคม เช่นเดียวกับที่เริ่มมีการขับเคลื่อนให้ได้ถูกรองรับทางด้านกฎหมาย และดูแลกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพขายบริการทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่ม ‘ผู้ชายขายตัว’ ก็ยังถูกตีตราจากสังคม ว่าเป็นกลุ่มชายรักชาย เป็นตัวแพร่เชื้อโรค หรือที่เลวร้ายที่สุดคือเป็นพวก “ขายน้ำ” เพื่อแลกกับเงินทอง อย่างไรก็ตาม ผู้ชายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลแตกต่างกันที่ชักจูงให้พวกเขาเข้ามาในวงการแห่งนี้ และนี่คือเรื่องราวของผู้ชายขายตัว อาชีพในมุมมืดของสังคมหลากสีสัน เฉกเช่นสังคมไทย สังคมหม่นๆ ดูที่คล้ายจะเปิดรับคนทุกเพศและให้โอกาสคนทุกชนชั้น แต่กลับมีนัยยะของความไม่ยอบรับซ่อนอยู่ ไม่ต่างกลับช่วงเวลากลางคืนที่เป็นเวลาของพวกเขาเหล่านี้
เรียกเราว่า ‘พนักงานบริการ’
เมื่อพูดถึงอาชีพขายบริการทางเพศ เชื่อว่าภาพจำของใครหลายคนก็ยังคงเป็นภาพของ ‘ผู้หญิง’ แต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายเน้นสัดส่วน การแต่งหน้าฉูดฉาด หรือคำพูดคำจา ที่อาจจะบอกได้ว่าพวกเธอทำงานอะไร ถึงอย่างนั้นพวกเธอก็ไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่โลดแล่นอยู่ในวงการบริการทางเพศแห่งนี้ แต่ยังมี ‘ผู้ชาย’ และคนข้ามเพศ ที่ใช้เรือนร่างของตัวเองทำงานเพื่อแลกเงินอยู่ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจทางเพศนั้นถูกครอบงำด้วยบรรทัดฐานแบบชายหญิงที่คาดหวังว่า ผู้หญิงต้องเป็น ‘ผู้ให้บริการ’ ในขณะที่ผู้ชายต้องเป็น ‘ผู้ใช้บริการ’ จึงทำให้สังคมไม่เข้าใจผู้ขายบริการที่เป็นชายเท่าไรนัก เพราะในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ อำนาจในการใช้จ่ายเพื่อหาความสุขจากการซื้อบริการมักจะอยู่ที่เพศชายใช้กับเพศหญิง ส่วนของการขายบริการของผู้ชายนั้นเป็นเรื่องที่สังคมไม่ค่อยพูดถึง หรือถูกทำให้เห็นเด่นชัดเท่ากับเรื่องของผู้หญิงขายตัว
บทความเรื่อง “โสเภณี, การขายบริการทางเพศ และมานุษยวิทยา” โดยดร. นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ระบุว่าผู้ชายที่ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศมีวิธีให้ความบันเทิงกับลูกค้าที่หลากหลาย ทั้งการเต้นโชว์ การเดินแบบในชุดว่ายน้ำ การนั่งคุยกับแขก รวมไปถึงการใช้มือหรือปากเพื่อสำเร็จความใคร่ให้กับลูกค้า ไปจนถึงการมีเพศสัมพันธ์ในโรงแรม อย่างไรก็ตาม ผู้ชายกลุ่มนี้ไม่ต้องการให้คนอื่นเรียกพวกเขาว่าผู้ชายขายตัว ในทางกลับกัน พวกเขารู้สึกว่างานที่ทำอยู่นี้จำเป็นต้องใช้ทักษะและความสามารถที่จะทำให้ลูกค้าพึงพอใจ พวกเขาจึงเป็นเหมือน ‘ผู้สร้างความสุขและจินตนาการ’
สอดคล้องกับบทความเรื่อง “เส้นทางที่เลือกไม่ได้ของ ‘ผู้ชายขายตัว’” โดยวรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ สำนักข่าว the 101.world ที่ชี้ว่า ผู้ชายหลายคนพึงพอใจที่จะถูกเรียกว่า “พนักงานบริการ” เพราะการเรียกพวกเขาว่าเป็นผู้ค้าบริการทางเพศนั้น เป็นการมองเพียงผิวเผิน เหมือนเป็นอาชีพที่ทำได้ง่าย จนลืมไปว่าการทำงานบริการแบบนี้ก็จำเป็นต้องใช้ทักษะและประสบการณ์ ไม่แตกต่างจากงานอื่นๆ
ในขณะที่ผู้ชายกลุ่มนี้ไม่อยากให้สังคมเรียกพวกเขาว่า ‘ขายตัว’ วิทยานิพนธ์เรื่อง “วิถีชีวิตชายขายตัวในบาร์เกย์ย่านสุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร” ของชญาณัฐฏภัสร์ ซ่อนกลิ่น ก็สะท้อนว่า พวกเขามีความคิดและทัศนคติที่คล้ายคลึงกัน โดยมองว่าตัวเองก็เป็นเหมือนกับคนทั่วไปในสังคมที่ไม่ได้ทำเรื่องเลวร้ายอะไร และไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
เมื่อ ‘เงิน’ คือสิ่งสำคัญ จึงต้องใช้ ‘ตัว’ แลกมา
ปัจจัยที่ทำให้คนๆ หนึ่งตัดสินใจใช้เรือนร่างของตัวเองทำมาหากินเพื่อแลกเงิน คงจะมีมากมายและแตกต่างกันออกไป ทั้งปัจจัยของเพศวิถี รสนิยมทางเพศ และปัจจัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้มีผู้ชายมากมายตัดสินใจเดินเข้ามาทำอาชีพนี้ แม้ตัวเองจะไม่ได้รักเพศเดียวกันก็ตาม สกู๊ปพิเศษเรื่อง “เปลือยใจผู้ชายขายน้ำ ทางเลือกที่ต้องเลือก” ของสำนักข่าวไทยรัฐ นำเสนอเรื่องราวของ ‘หน่อง’ ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นเกย์ และทำงานขายบริการทางเพศ เพราะชีวิตไม่มีทางเลือกมากนัก โดยช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ หน่องสะท้อนว่า
“ผมมีลูกแล้ว 2 คน เมียก็มี แต่ทำยังไงได้ ก็ชีวิตคนเรามันเลือกเกิดกันไม่ได้ ถ้าเลือกได้ผมคงไม่ต้องมาเดินขายอยู่แถวสนามหลวง คอยหลบๆ ซ่อนๆ วิ่งหนีตำรวจอยู่อย่างนี้หรอก…ถึงผมจะเป็นเกย์ แต่ก็มีลูกมีเมียตั้งแต่อยู่ที่จังหวัดสกลนครบ้านเกิดแล้ว ผมทำมาตั้งแต่อายุได้ 15 ปี คนในครอบครัวรู้และไม่ว่าอะไร แล้วถึงผมจะเป็นเกย์ก็เถอะ ก็ใช่ว่าอยากจะทำอาชีพแบบนี้”
เช่นเดียวกับบล็อกเรื่อง “ผู้ชายขายน้ำ” ของ SaGaZenji เกี่ยวกับผู้ชายที่ขายบริการทางเพศอีกคนหนึ่ง ซึ่งตัดสินใจกลับมาทำอาชีพนี้ เหมือนเป็นงาน part time เพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัวของตัวเอง
“แต่ตอนนี้แฟนพี่ท้อง งานประจำตอนกลางวันได้เดือนละ 9,000 มันไม่พอ ไม่มีเงินเก็บ เป็นค่าคลอด ค่าดูแลลูก พี่เลยกลับมาทำใหม่ วันนึงสองสามเที่ยวก็ได้ 3,000 แล้ว”
ผู้ชายที่เข้าสู่โลกการค้าบริการทางเพศ ส่วนใหญ่มักจะมีเป้าหมายเรื่องเงินและอยู่ในภาวะที่ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า ซึ่งในแง่หนึ่งก็อาจจะมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการรับเอาแนวคิดทุนนิยม เนื่องจากกระแสวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ไหลบ่าเข้ามาสู่สังคมมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่ต้องใช้ ‘เงินตรา’ เป็นตัวขับเคลื่อนชีวิต ส่งผลให้คนมากมายไร้โอกาสและทางเลือกในการหาเงินให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต จึงจำเป็นต้องเข้าสู่อาชีพนี้ อันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำที่เป็นผลของระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ดร.นฤพนธ์ ก็ได้ชี้ว่า การขายบริการทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคมอันยากจนนั้น สามารถสะท้อนถึงการดิ้นรนของผู้คนเพื่อสร้างชีวิตที่ดีขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนจึงหันมาขายบริการทางเพศนั่นเอง
อาชีพที่ (ไม่) น่าภูมิใจ
ผู้ที่เลือกทำงานนี้ต่างเห็นว่า อาชีพนี้เป็นช่องทางที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขามีรายได้ สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ดีกว่าการทำงานรับจ้างทั่วไป แต่พวกเขาก็ต้องใช้ชีวิตกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องของสุขภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคงในชีวิต กฎหมายที่ยังคงเอาผิดการค้าประเวณี รวมถึงไม่ได้รับการคุ้มครองจากสวัสดิการของรัฐ
ส่วนหนึ่งจากวิทยานิพนธ์ของชญาณัฐฏภัสร์ ระบุว่า เนื่องจากอาชีพขายบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ทำตอนกลางคืน ดังนั้นการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มนี้จึงจะอยู่ในเวลากลางคืน ทำให้ร่างกายต้องปรับเปลี่ยนและรับสภาพการทำงานในช่วงกลางคืน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย รวมไปถึงปัญหาด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่คนทำงานนี้จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการป้องกันตัว และต้องระมัดระวังตัวเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ความไม่มั่นคงในอาชีพก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ผู้ชายกลุ่มนี้ต้องแบกรัก แน่นอนว่าการขายบริการทางเพศมีข้อจำกัดเรื่องอายุ รูปร่างหน้าตา เช่นเดียวกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งการทำอาชีพนี้ไม่มีความมั่นคง เพราะความเยาว์วัยนั้นไม่สามารถอยู่ได้ตลอดไป เช่นเดียวกับการแข่งขันในอาชีพที่มีอยู่มาก ด้วยความที่จะมีชายหนุ่มรุ่นใหม่ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาเสมอ
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของความรุนแรง ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ น่าจะเป็นความเสี่ยงที่สุดสำหรับผู้ขายบริการทางเพศ จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ระหว่างปี พ.ศ. 2557-2559 เผยว่า ความรุนแรงด้านร่างกายที่พนักงานบริการชายได้รับคือ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกาย เช่นเดียวกับการที่ถูกลูกค้า เพื่อนร่วมงาน หรือคนทั่วไปที่รังเกียจอาชีพนี้ทำร้าย ขณะที่ความรุนแรงด้านจิตใจคือ ผู้ชายกลุ่มนี้จะถูกด่าทอ ดูถูก และเหยียดหยาม ส่งผลให้เกิดเป็นบาดแผลในใจของพวกเขา
ชีวิตที่ถูกตีตราตลอดไป
ผู้ชายทุกคนที่เลือกเข้ามาทำงานบริการล้วนมีเหตุผลเป็นของตัวเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมไทยนั้นควบคุมเรื่องเพศอย่างเคร่งครัด การค้าบริการทางเพศจึงยังเป็นสิ่งที่สังคมไม่ให้การยอมรับ และเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมอันดี เช่นเดียวกับที่คนทำอาชีพนี้ถูกตีตราอย่างรุนแรงจากสังคม ทั้งเหมารวมว่าเป็นคนไม่ดีและได้รับความรังเกียจ
แต่ในสังคมที่ทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด มันก็ได้กลายเป็นอาชีพที่ผู้ชายหลายคนเลือกทำ พวกเขาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่พยายามเอาตัวรอดในสังคมอันบีบคั้น และเมื่อถึงวันหนึ่งที่ได้เจอหนทางที่ดีกว่า พวกเขาเหล่านั้นก็คงเดินมาถึงจุดสิ้นสุดของการถูกตีตรา และได้โอกาสออกไปทำตามความฝันของตัวเอง เพราะคงไม่มีใครอยากใช้ร่างกายหากินไปจนสิ้นอายุไขเป็นแน่แท้
ทว่า ก็ยังมีผู้ชายอีกหลายคนที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่สามารถหลุดพ้นจากอาชีพขายบริการได้ และต้องวนเวียนอยู่ในวงการนี้ไปจนแก่เฒ่า ซึ่งเราก็หวังว่าสักวันหนึ่ง ประเทศนี้จะมีกฎหมายที่ครอบคลุมถึงพวกเขาอย่างแท้จริง เพื่อคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับคนทุกเพศที่ทำงานบริการ และไม่ตีตราว่าพวกเขาเป็นปัญหาสังคมอีกต่อไป
อ้างอิง
- บทความเรื่อง “โสเภณี, การขายบริการทางเพศ และมานุษยวิทยา” โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, เศรษฐกิจ มานุษยวิทยาในโลกธุรกิจ (3 มิถุนายน 2565)
- บทความเรื่อง “เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’” โดย วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ the 101.world (27 สิงหาคม 2561)
- บล็อกเรื่อง “ผู้ชายขายน้ำ” โดย SaGaZenji (19 พฤษภาคม 2563)
- สกู๊ปพิเศษ “เปลือยใจผู้ชายขายน้ำ ทางเลือกที่ต้องเลือก” สำนักข่าวไทยรัฐ น.1 (9 ตุลาคม 2555)
- วิทยานิพนธ์เรื่อง “วิถีชีวิตชายขายตัวในบาร์เกย์ย่านสุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร” โดย ชญาณัฐฏภัสร์ ซ่อนกลิ่น สาขาพัฒนสังคมศาสตร์ โครงการสหวิทยาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- รายงานประเทศไทย เพื่อศึกษาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กชาย โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice หรือ TIJ) และองค์กรเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล (ECPAT International) ระหว่างปี พ.ศ.2562-2563