ในยุคปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากกล้าแสดงออก และยืนยันความเป็นตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องรูปร่าง บุคลิกภาพ เพศวิถี รวมถึงรสนิยมทางเพศ ขณะเดียวกันขนบดั้งเดิมที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้คนก็เริ่มถูกท้าทาย และตั้งคำถามมากขึ้น ทำให้ช่วงเวลานี้ของโลกเราเต็มไปด้วยสีสันของความหลากหลาย และความรู้สึก ‘หายใจสะดวก’ เมื่อได้ละทิ้งบรรทัดฐานเดิมๆ ของสังคมที่กดทับไม่ให้ผู้คนได้แสดงความเป็นตัวเองอย่างเต็มที่
วงการดนตรีในยุคนี้ก็เช่นกัน จากที่เคยทำหน้าที่สร้างความบันเทิงด้วยเสียงเพลง ศิลปินยุคใหม่ก็ใช้พื้นที่ของตัวเองในการแสดงออกถึงแนวคิดบางอย่าง รวมทั้งสร้างพลังให้กับแฟนเพลงทุกคน และเนื่องในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month ไอคอนด้านความหลากหลาย และเสรีภาพที่เราคงจะไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือวงอัลเทอร์เนทีฟร็อกสัญชาติอิตาเลียน อย่าง ‘Måneskin’ (โมเนสกิน)
https://www.youtube.com/watch?v=yOb9Xaug35M
Måneskin: สมัยใหม่ ลื่นไหล และไม่แบ่งเพศ
ชื่อวง Måneskin เป็นภาษาเดนิช มีความหมายว่า ‘แสงจันทร์’ ก่อตั้งขึ้นจากกลุ่มเพื่อนโรงเรียนมัธยมที่เล่นดนตรีเปิดหมวกริมถนนในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิก 4 คน ได้แก่ เดเมียโน เดวิด (นักร้องนำ), วิคตอเรีย เด แองเจลิส (เบส), โธมัส ราจจี (กีตาร์) และอีธาน ตอร์กิโอ (กลอง) ทั้งหมดอยู่ในวัย 20 ต้นๆ ที่มีพลังทางดนตรี และสไตล์การแต่งตัวอย่างเต็มเปี่ยม คุณสมบัติเหล่านี้ พร้อมด้วยการที่พวกเขาไม่เคยหยุดเป็นตัวเอง ทำให้ Måneskin กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก นับตั้งแต่การได้รับรางวัลรองชนะเลิศในรายการ X Factor Italia ปี 2017 ตามด้วยการครอบครองรางวัลชนะเลิศในเวที Eurovision 2021 และในปี 2022 ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม และมิวสิกวิดีโออัลเทอร์เนทีฟยอดเยี่ยม จากเพลง ‘I WANNA BE YOUR SLAVE’ จากเวที MTV Video Music Awards และติดชาร์ต Billboard's U.S. Alternative Airplay จากลุคแฟชั่นที่ยอดเยี่ยม
โดยทั่วไป Måneskin เป็นที่รู้จักในฐานะวงดนตรีที่มีสไตล์ไร้ที่ติ และการสื่อสารที่สร้างแรงบันดาลใจ ผ่านแฟชั่น และสไตล์การแต่งตัวที่ทั้งสวย เท่ และแหวกแนวในเวลาเดียวกัน
สไตล์ของ Måneskin มักได้รับการอธิบายว่าเป็นแกลม-ร็อก ความลื่นไหลทางเพศ หรือลักษณะที่เป็นการผสมผสานระหว่างเพศชายกับเพศหญิง (Androgynous) และมักจะถูกจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ‘ความเป็นชายแบบใหม่’ หรือ ‘New Masculinity’ ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นขั้วตรงข้ามกับ ‘ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ’ (Toxic Masculinity)
สุนทรียภาพของการผสมผสานระหว่างสองเพศ ซึ่งใช้ลูกไม้ และผ้าจีบมากพอๆ กับหนังสัตว์ และสูท ทำให้ Måneskin กลายเป็นวงดนตรีที่มีสไตล์ในระดับแถวหน้าของวงการในขณะนี้ เพราะทั้งทันสมัย และหลีกเลี่ยงแนวคิดเรื่องเพศตามขนบที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกาย
จุดยืนเรื่องความเป็นปัจเจก และเสรีภาพในการเป็นตัวเอง
ในการให้สัมภาษณ์ในช่อง YouTube ‘Nikkie Tutorials’ เดเมียโนกล่าวถึงวงดนตรีที่เป็นแรงบันดาลใจของ Måneskin ว่า พวกเขา “ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวงดนตรีรุ่นเก่าในยุค 70s เพราะวงดนตรีในยุคนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของสิ่งที่วงดนตรีสามารถทำได้” นอกจากนี้ จุดยืนของวงที่ต้องการสื่อสารเรื่องความเป็นปัจเจก และอิสรภาพในการแสดงออกซึ่งตัวตนของตัวเอง ก็มีกลิ่นอายของวงร็อกยุค 70s ไม่ว่าจะเป็น Led Zeppelin, Pink Floyd หรือศิลปินเดี่ยวอย่างJimi Hendrix
Led Zeppelin / Pink Floyd / Jimi Hendrix / Arctic Monkeys / Royal Blood / IDLES / Harry Styles
Photo Credit: Rolling Stone
นอกจากนี้ Måneskin ยังได้รับแรงบันดาลใจจากวงดนตรีรุ่นใหม่อย่าง Arctic Monkeys, Royal Blood, IDLES และ Slaves แต่ที่สุดแห่งแรงบันดาลใจของพวกเขา คือ Harry Styles นักร้องเพลงป็อปชื่อดัง ผู้มีความโดดเด่นในเรื่องการแต่งกายแบบไร้เพศ
แล้วจริงๆ พวกเขาแต่งตัวด้วยคอสตูมคูลๆ แบบนี้มาก่อนหรือเปล่า? Måneskin ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่า แต่ละคนจะมีสไตล์เป็นของตัวเอง ซึ่งก็เหมือนกับวัยรุ่นทั่วไป ขณะที่วิคตอเรีย เด แองเจลิส มือเบสของวง กล่าวว่า เธอเคยผ่านการแต่งกายในสไตล์ต่างๆ ทั้งพังก์ โกธิค และอื่นๆ
“ในช่วงแรกฉันพยายามเชียร์ให้เพื่อนๆ บ้ากว่านี้ จำได้ว่าครั้งแรกที่เราอยู่ด้วยกันที่บ้านของฉัน และเล่นดนตรีด้วยกัน พวกเขาจะพูดแบบ ‘ถ้ากรีดอายไลเนอร์มันจะเท่มากเลยนะ แต่อาจจะดูบ้าเกินไป’ และฉันก็จะพูดว่า ‘ไม่หรอก ทำเลย แล้วไงใครแคร์’ ในช่วงแรกๆ พวกเขาจะต้องการการผลักดันแบบนั้น แต่หลังจากนั้นเราก็อินกันมาก เริ่มที่จะสนุกกับมัน แล้วเราก็พัฒนาไปด้วยกัน เหมือนกับว่า เราสร้างภาพในหัวว่าเราอยากจะเป็นใคร และอยากจะทำอะไร” วิคตอเรียกล่าวกับ The New York Times
เดเมียโนกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการแต่งตัวตามสไตล์ของวง น่าจะมาจากการที่พวกเขาเล่นดนตรีเปิดหมวกกันริมถนน และต้องทำให้ทั้งวงถูกมองเห็น และส่งเสียงดังพอเพื่อจะดึงดูดความสนใจของผู้คน
Photo Credit: Gucci
จนกระทั่งในปี 2017 ที่พวกเขากลายเป็นที่รู้จักจากการแข่งขันในรายการ X Factor และถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิตทั้งวง
“เราได้เข้าถึงคอสตูม และเสื้อผ้าที่บ้าคลั่งพวกนี้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเรากล้าท้าทายมากขึ้น ด้วยชุดยาง เปิดเผยร่างกายมากขึ้น แม้ว่ารสนิยมตอนนั้นของเราจะต่ำมากก็ตาม แนวคิดอนุรักษ์นิยมทำให้พวกเราหงุดหงิดมาก ดังนั้น สิ่งที่เราจะสื่อก็คือ ‘โอเค นี่คือสิ่งที่เราเป็น และเราไม่สนใจว่าใครจะวิจารณ์เรา’ จากนั้นเราก็ได้ทำงานกับ Gucci ซึ่งทำให้เราไปได้ไกลขึ้นในอีกระดับ และมีโอกาสในการสร้างลุคที่เฉพาะเจาะจง และทำให้เราสามารถปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ได้”
ดนตรีบอกเล่าเรื่องราว สไตล์เป็นตัวขยายเสียง
“การแต่งกายเป็นสิ่งที่ช่วยให้พวกเราพัฒนาบุคลิกภาพ เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมพลังให้กับพวกเราเอง โดยเฉพาะการเติบโตในโรม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยม สมัยที่พวกเราเรียนมัธยมปลายด้วยกัน ทุกคนจะมองเหมือนเราเป็นตัวประหลาด เพราะพวกเราเล่น และแต่งตัวแปลกกว่าคนอื่น ถ้าคุณไปลอนดอน หรือเบอร์ลิน ไม่มีใครสนใจหรอกว่าคุณจะแต่งตัวอย่างไร แต่ในโรม ถ้าคุณเดินไปตามถนน และมีผู้ชายแต่งหน้า หรืออะไรประมาณนั้น ทุกคนจะมองเหมือนผู้ชายคนนั้นเป็นซาตาน” วิคตอเรียกล่าวกับ The New York Times
ด้านเดเมียโนกล่าวว่า “เสื้อผ้าของเราก็เหมือนป้ายบิลบอร์ดที่พูดว่า ‘เราอยู่ตรงนี้ มองเห็นเราหน่อย’ มันเป็นวิธีการที่เราทำให้ตัวเราเอง และสารที่เราต้องการจะสื่อถูกมองเห็นได้มากขึ้น และส่งผลกระทบมากขึ้น เราใช้มุมมองในการทำ และต้องดูแลทั้งหมด 360 องศา ไม่ใช่แค่เรื่องดนตรี แต่รวมถึงภาพลักษณ์ของเรา วิธีการใช้โซเชียลมีเดียของเรา วิธีเล่นของเรา สิ่งที่เราเล่น สถานที่ที่เราเล่น ทัศนคติของเรา”
https://www.youtube.com/watch?v=QN1odfjtMoo
สำหรับมิวสิกวิดีโอ 3 เพลงล่าสุดของวง ก็ได้สไตลิสต์อย่างนิโคโล เซริโอนี ผู้สร้างสรรค์คอสตูมได้อย่างน่าสนใจ ทั้งสูทปักเลื่อมสีสันสดใสใน ‘VENT’ANNI’ หนังสัตว์ และตาข่ายในมิวสิกวิดีโอเพลง ‘ZITTI E BUONI’ และมิวสิกวิดีโอล่าสุดอย่าง ‘I WANNA BE YOUR SLAVE’ ที่นอกจากจะมีสไตล์ข้างต้นแล้ว ยังมีทั้งผ้าลูกไม้และระบาย สูทลายดอกไม้ หนาม และไข่มุก หนังสัตว์ และองค์ประกอบของ BDSM
นิโคโลให้สัมภาษณ์กับ Sound Identity ถึงความสำคัญของสไตล์ส่วนตัวของศิลปิน ซึ่งปะทะกับความสำคัญของการตามแฟชั่น โดยกล่าวว่า “สไตล์คิดเป็น 100% ส่วนแฟชั่น 0%” สไตล์ส่วนตัวของศิลปินไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับสิ่งที่กำลังเป็นเทรนด์แฟชั่น ในกรณีของ Måneskin หรือนักดนตรีคนอื่นๆ ดนตรีของพวกเขาได้บอกเล่าเรื่องราว ส่วนสไตล์เป็นตัวขยายเสียงของพวกเขา
Photo Credit: Loud Wire / Rolling Stone / Baltics News
ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตครั้งใด มิวสิกวิดีโอเพลงไหน คอสตูมหรูหรา หรือแม้กระทั่งการเปลือยร่างกายท่อนบนของสมาชิกในวง เสื้อผ้า และการแสดงออกของ Måneskin จะท้าทายบรรทัดฐานของสังคม และการตัดสินของบุคคลอื่นอยู่เสมอ และสิ่งที่พวกเขาสื่อสารไปยังแฟนเพลงทั่วโลกก็คือ ‘จงเป็นตัวเองโดยไม่ต้องกลัวการตัดสินจากคนอื่น’
นี่อาจเป็นความสนุกของโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยสีสันอันหลากหลาย โดยไม่มีอำนาจ หรือบรรทัดฐานใดมากดทับเสรีภาพอันสุดเหวี่ยงนี้ได้อีกต่อไป
อ้างอิง
Vogue Australia
The Art of Costume
The New York Times