เวลาบ่ายคล้อย ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่งย่านอารีย์ เรานัดเจอกับ ‘เทน – ยงสุวัฒน์ ไตรวิทยาวัฒน์’ ดีไซน์เนอร์และผู้ก่อตั้ง ‘The Marginal Club BKK’ แบรนด์แฟชั่นน้องใหม่ที่กำลังสร้างผลงานและหาที่ทางของตัวเองในวงการแฟชั่นไทย ด้วยความโดดเด่นของงานออกแบบที่หยอกเย้ากับส่วนโค้งเว้าของร่างกาย และการสร้างนิยามความงามแบบใหม่ ทำให้ The Marginal Club BKK กลายเป็นคลับใต้ดินสุดชิค สำหรับทุกคนที่ต้องการสนุกสนานไปกับการสำรวจและค้นหาตัวตน
Embrace Yourself, Embody Your Flaws
“จุดเริ่มต้นของ The Marginal Club BKK หรือที่ลงอินสตาแกรมครั้งแรก เริ่มจากการเพ้นท์หน้า การสไตล์ลิ่งการแต่งตัว เพราะเรามองว่ากระบวนการแต่งตัวหรือการสไตล์ลิ่งตัวเองมันแตกต่าง แล้วก็เป็นอะไรที่อยู่ใต้ดินมากๆ สำหรับเมืองไทย ต้องบอกว่า The Marginal Club BKK คือการนำร่างกายของมนุษย์ หรือนำส่วนที่ผิดแปลก มาทำให้มันดูปกติ เกิดการทำให้ไม่เป็นอื่น แม้ว่าสิ่งที่คนนอกเห็น มันคือการเป็นอื่นก็ตาม”
เทนเล่าว่า เขาหลงใหลในความงามแบบ ‘Alien Beauty’ ที่ไม่ใช่เอเลี่ยนตัวเขียวจากนอกโลก แต่เป็นความงามที่ถูกมองให้เป็นอื่น ถูกมองว่าแปลกประหลาด และไม่ตรงตามบรรทัดฐานความงามของสังคมในปัจจุบัน
“เราบอกเสมอว่า The Marginal Club BKK คือ “Embrace Yourself, Embody Your Flaws” อะไรก็ตามที่รู้สึกว่ามันไม่สมบูรณ์ มันสวยงามเสมอ เพราะความไม่สมบูรณ์แบบคือการเป็นมนุษย์ เราก็เลยเอาคนที่ไม่เคยแต่งหน้า หรือแต่งตัวแบบเรามาสไตล์ลิ่ง เรียกว่าเราทำให้คุณได้มาเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เราเริ่มต้นจากการเพ้นท์หน้า สไตล์ลิ่ง แล้วก็กลายมาเป็น The Marginal Club BKK แบบที่เห็นตอนนี้”
“แบรนด์เราเริ่มต้นด้วยเงิน 20,000 บาท ถือว่าน้อยมากๆ แต่เราอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนหลายกลุ่ม สิ่งที่ The Marginal Club BKK ใช้ ตอนแรกเราตะโกนไปเลยว่าฉันเป็นใคร หลังจากตะโกนไปแล้ว เราก็พัฒนาเสื้อผ้าออกมา ซึ่งเสื้อผ้าก็จะมีความชัดเจนของตัวมันเอง และเสื้อผ้าของเราจะไม่มีแท็กแบรนด์ มันทำให้แบรนด์ดูดีก็จริง แต่สำหรับเรา มันเพิ่มทั้งต้นทุน เพิ่มเสื้อผ้าที่ไม่มีเหตุไม่มีผล เรารู้สึกว่ามันไม่จำเป็น แล้วด้วยดีไซน์ของเรา ไม่มีทางที่คนจะทำตามได้อยู่แล้ว ซึ่งจะทำตามก็ได้ แต่มันไม่คุ้มทุน แล้วก็จะไม่ได้อย่างที่เราทำ เพราะงานของเรายังพัฒนาอยู่เสมอ”
ความสุ่มเสี่ยงและความแหว่งเว้า
ความโดดเด่นของ The Marginal Club BKK คืองานออกแบบที่เล่นกับความแหว่งเว้าของร่างกายมนุษย์ และการเอาใจใส่กับทุกรายละเอียดของดีไซน์เนอร์ เรียกว่าทดลองมาหลายสิบครั้งกว่าจะได้เสื้อผ้าสักชิ้น แม้จะทำให้งานออกช้า แต่คือความตั้งใจ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่งานออกมาเร็วมาก คนจะปล่อยผ่านเร็ว และนั่นไม่ใช่สิ่งที่ The Marginal Club BKK ต้องการ
“เราพูดเสมอว่างานดีไซน์ของเรามีความสุ่มเสี่ยง ทั้งในการแหว่งเว้าของเสื้อผ้า งานออกแบบ และสไตล์ ต่อให้คุณเป็นคนไม่มีสไตล์เป็นของตัวเอง การที่สวมใส่เสื้อผ้าของเรา คุณจะมีความสุ่มเสี่ยงแน่นอน แต่เราก็มั่นใจกับงานดีไซน์และการตัดเย็บของเรา ว่าตรงไหนที่จะทำให้โป๊ มันจำเป็นต้องโป๊ เพราะเป็นความตั้งใจ แต่ตรงไหนที่จะไม่ให้โชว์ ก็ไม่มีทางที่จะหลุดออกไปจากงานดีไซน์ของเรา”
“ตอนนี้เรามี 1 คอลเลคชั่น ชื่อว่า ‘Purgatory’ คือต้องพูดก่อนว่ามันมาจากงานเรื่อง The Divine Comedy ของดันเต* แล้วมันจะมีสามส่วน คือนรก แดนชำระ แล้วก็สวรรค์ ซึ่งเรายังค้างอยู่ที่แดนชำระความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่คอลเลคชั่นแรกพยายามทำ คือการเล่นกับเรือนร่างของคน ค่อยๆ ชำระไปทีละส่วน เราจะเห็นการชำแหละ การคว้าน และเสื้อผ้าที่ถูกทำให้มันผิดแปลกไป เช่น ไม่มีกระดุม แต่เปลี่ยนให้เป็นเชือกแทน หรือว่าข้างหลังถูกแขวะออก เหลือเป็นกระดูก และถูกแทนด้วยวัสดุต่างๆ อีกอย่างหนึ่งที่เราพยายามทำก็คือเสื้อผ้าไม่มีไซส์ ให้คนใส่ได้หลายไซส์มากเท่าที่จะเป็นไปได้”
งานศิลปะในเมืองที่ไร้ซึ่งการสนับสนุน
“เราอยากให้คนที่ซื้องานของเราไป คิดว่ามันเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เพราะเสื้อผ้าคืองานศิลปะสำหรับเรา แล้วมันยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เมื่อศิลปะชิ้นนี้ไม่ได้ถูกตั้งอยู่ในบ้านเพื่อโชว์ มันถูกใส่เพื่อแสดงตัวตน ก็เลยทำให้ทุกอย่างยากไปหมด”
เมื่อสังคมให้การสนับสนุนงานศิลปะไม่มากพอ ก็ส่งผลให้พื้นที่ของงานศิลปะถูกจำกัด และถูกมองว่าเป็น ‘สิ่งสิ้นเปลือง’ ทันที โดยเทนยกตัวอย่างกรณีเสื้อยืดของ The Marginal Club BKK ที่ถูกตั้งคำถามว่า “ทำไมแพงจัง” แต่เขาก็สะท้อนว่ากว่าจะเป็นเสื้อหนึ่งตัว มันต้องผ่านกระบวนการคิด ทำกราฟิก ทำโลโก้ ตัดเย็บ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีต้นทุนสูงทั้งสิ้น
“เขาบอกว่า 888 บาทมันแพง ในขณะที่เสื้อยืดตัวละหมื่นสองของเมืองนอกไม่แพง เพราะถ้าคุณเป็นคนไทย คุณจะถูกเหยียดในฐานะดีไซน์เนอร์ แล้วยิ่งคุณไม่ใช่แบรนด์ดัง เป็นแค่แบรนด์ในอินสตาแกรม เขาก็จะมองว่าคุณขายแพง ซึ่งเราเชื่อเสมอว่า ที่มันเป็นแบบนี้ เพราะรัฐไม่เคยใส่ใจศิลปะ มันก็เลยส่งผลกระทบในระยะยาว”
“สุดท้ายแล้ว การต่อสู้ของคนทำงานศิลปะมันยากมาก ยิ่งเป็นงานแฟชั่นยิ่งยาก สมมติคุณเป็นศิลปิน เป็นนักวาดภาพประกอบ คุณมีพื้นที่แน่ๆ ซึ่งก็คือพิพิธภัณฑ์ แต่เราในฐานะดีไซน์เนอร์ ถามสิว่าพื้นที่ของดีไซน์เนอร์คืออะไร นอกจากร้านของตัวเอง ที่คุณก็ต้องใช้เงินอีก แล้วงานแฟชั่นโชว์ของไทยที่มีทุกปีก็ต้องเป็นผ้าไทย ซึ่งเด็กรุ่นใหม่จะเอาปัญญาที่ไหนไปเอาผ้าไทยมาตัด ผ้าไทยเมตรละสองหมื่น หนึ่งเมตรได้เสื้อยืดหนึ่งตัว ได้กางเกงขายาวไม่ถึงหนึ่งตัวด้วยซ้ำ เท่ากับว่าคุณต้องมีเงินสามหมื่นในการซื้อผ้าไหมแพรวาหนึ่งชิ้นมาพัฒนา จริงๆ แล้ววงการแฟชั่นไทยก็มีพื้นที่ให้ดีไซน์เนอร์ ถ้าคุณมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม แต่ถ้าคุณมาด้วยแนวคิดใหม่ๆ ก็แทบจะไม่มีเลย”
ก้าวต่อไปของ The Marginal Club BKK
เพราะความฝันทำให้เทนมายืนอยู่ในจุดนี้ แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธว่า เพราะความฝันเช่นกัน ที่ทำให้เขาต้องเสียน้ำตาไปกับการทำแบรนด์ เนื่องจากเมืองไทยไม่ได้มีพื้นที่ให้กับงานเชิงตั้งคำถามแบบงานของเขา แล้วคนทั่วไปจะเปิดใจรับงานออกแบบลักษณะนี้ได้หรือไม่ แต่ตลอด 1 ปีนับตั้งแต่เปิดตัว The Marginal Club BKK ก็ทำให้เทนรู้ว่า เขาสามารถสร้างตลาดของตัวเองได้ มีคนที่คิดแบบเขาอยู่จริง และเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว
“เราให้ตัวเอง 7 คะแนนแล้วกัน สำหรับความสำเร็จตั้งแต่เริ่มทำแบรนด์มา ซึ่งถือว่าน้อยนะ ปกติเราไม่เคยให้คะแนนตัวเองน้อยเลย แต่มันช้าเกินไป เรามีก้าวเดินที่ช้าเกินไป ก็โทษหลายๆ อย่าง ทั้งเงิน รัฐบาล หรือโควิด แต่สุดท้ายก็ตัวเราเองนี่ล่ะ ที่ทำให้การดำเนินงานมันช้าเกินไป เราปล่อยวางไม่ได้ พอปล่อยวางไม่ได้ เสื้อตัวหนึ่งก็เลยใช้เวลาพัฒนาอยู่สามเดือน ซึ่งในการทำงานมันใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราคาดว่าตัวเองจะทำให้เร็วขึ้นในปีที่กำลังจะมาถึง แล้วก็ออกงานมาให้มากขึ้น”
“แล้วปีหน้าก็อยากมีโชว์ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่มันก็เป็นจุดที่เราอยากยืนอยู่ เพราะการมีโชว์หมายความว่างานของเราจะได้รับการเผยแพร่ไป แล้วเขาจะเห็นงานของเราที่ไม่ใช่ภาพ ต่อให้คนบอกว่าแฟชั่นโชว์ตายไปแล้ว แต่สำหรับเรา มันไม่เคยตาย เรามองเสื้อผ้าสวยเวลาที่มีคนใส่เสมอ เพราะฉะนั้น เรายังอยากเห็นงานของเราเดิน อยากเห็นคนที่เติบโตมาด้วยกันอยู่ดูมันด้วย… (ร้องไห้) ให้เขาได้มองเห็นการเติบโตอีกขั้นของเรา ในแบบที่เป็นการต่อสู้ แล้วมันจะเป็นหลักฐานของการต่อสู้ว่า ในเมืองที่ไร้ซึ่งการสนับสนุนและอยู่ในขนบมากๆ อย่างเมืองไทย งานของเราก็ยังเป็นที่ยอมรับ” เทนกล่าวปิดท้าย
ติดตาม ‘The Marginal Club BKK’ ได้ที่
Instagram: The.marginal.club.bkk
*The Divine Comedy ผลงานของ ‘ดันเต อาลีกีเอรี’ กวีชาวฟลอเรนซ์ โดยเป็นเรื่องราวความเชื่อแบบศาสนาคริสต์ เล่าเรื่องการเดินทางไปยังสามภูมิ ได้แก่ Inferno (นรก), Purgatorio (แดนชำระ) และ Paradiso (สวรรค์) โดยมีวิญญาณของ ‘เวอร์จิล’ กวีชาวโรมันโบราณ เป็นผู้พาดันเตเดินทางไปเยือนดินแดนหลังความตายเหล่านั้น