Culture

คุยกับ MATCHA นักมวยปล้ำหญิงคนแรกและคนเดียวในไทย ผู้ไม่เคยหมดไฟในสิ่งที่รัก

เมื่อพูดถึง ‘มวยปล้ำ’ บางคนอาจมองว่าเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง, เป็นโชว์ต่อสู้ที่ดุเดือด หรือมองว่าเป็นการแสดงที่ดูเวอร์มากเกินไป แต่สำหรับ MATCHA (มัจฉา) มองว่า “มวยปล้ำเป็นมากกว่าการต่อสู้ และการแสดง เพราะผสมผสานทุกอย่าง อย่างลงตัว” 

ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ทำให้เธอก้าวสู่การเป็นนักมวยปล้ำหญิงคนแรกของเมืองไทย และยังคงยืนหยัดเป็นนักมวยปล้ำหญิงคนเดียวของไทยจนถึงทุกวันนี้ ท่ามกลางนักกีฬาผู้หญิงคนอื่นที่ค่อยๆ รีไทร์ตัวเองออกจากวงการ

สิ่งที่ MATCHA เห็นจากสังเวียนมวยปล้ำ

“เราจะได้ยินเสมอว่าหลายคนชอบล้อว่ามวยปล้ำเป็นการแสดง แต่เรารู้สึกว่าในแมตช์หนึ่ง คุณ เพอร์ฟอร์มตั้ง 15 นาที มันไม่มีคัตเหมือนถ่ายละคร แต่มันเหมือนหนังลองเทคที่คุณต้องใช้อะไรหลายอย่าง ทั้งเพอร์ฟอร์ม ทั้งเล่นกับคนดู ทำให้ตัวเองปลอดภัย คู่ต่อสู้ปลอดภัย ทั้งคุยกับกรรมการ แล้วในแมตช์หนึ่ง เขาจะมีสตอรี่โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรกันเลย ใช้แค่ทักษะการเตะ ต่อย ทุ่ม”

“มันเป็นอะไรที่มากกว่าการต่อสู้ และการแสดง เพราะผสมผสานทุกอย่าง อย่างลงตัว สามารถพูดได้เลยว่า ไม่เห็นกีฬาชนิดไหนที่สามารถกระโดดขาคู่ กระโดดตีลังกาเกลียว ใช้ท่าสวยๆ ได้แบบนี้ เรารู้สึกว่าเป็นอะไรที่เจ๋งมาก

เส้นทางความฝัน สู่จุดเริ่มต้นของการเป็นนักมวยปล้ำหญิงคนแรก และคนเดียว

จากเสน่ห์ที่มองเห็นในมวยปล้ำ ทำให้เด็กหญิงคนหนึ่งมีความฝันจะเป็นนักมวยปล้ำตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเมื่อ ‘อาจารย์เอมิ ซากุระ’ นักมวยปล้ำชาวญี่ปุ่นชื่อดัง เข้ามาก่อตั้งค่ายในไทยเมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว เธอจึงไม่รอช้าที่จะไปสมัคร เพราะโอกาสที่จะได้เป็นนักมวยปล้ำมันใกล้เป็นจริงแล้ว หลังจากฝึกได้ 6 เดือน เธอก็ได้เปิดตัวเป็นนักมวยปล้ำผู้หญิงคนแรกคนไทย ในชื่อ ‘Blue Lotus’ ซึ่งต่อมา ค่ายเดิมก็ปิดตัวลง แต่ความฝันของเธอก็ไม่ได้จบตามไปด้วย เพราะเธอได้ย้ายมาอยู่ค่าย SETUP Thailand และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘MATCHA’ จนถึงทุกวันนี้

“เราถือว่าเป็นนักมวยปล้ำหญิงคนแรกของเมืองไทย จริงๆ ที่ผ่านมาก็มีนักมวยปล้ำหญิงนะ แต่รีไทร์ไปหมดแล้ว เลยเหลือคนเดียวเหมือนเดิม ที่เรายังอยู่ก็เพราะ อยากเป็นนักมวยปล้ำมานานแล้ว แล้วพอได้เป็น มันก็เหมือนกับว่า ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์แบบไหน ต่อให้มันจะมีแต่นักมวยปล้ำชาย แล้วเราเป็นผู้หญิงคนเดียวในค่าย ต้องสู้กับผู้ชาย เราก็ยังอยากทำอยู่”

เมื่อ MATCHA ต้องสู้กับผู้ชายใน Intergender Match

“ผู้ชายเขาแรงเยอะกว่าเราอยู่แล้วตามสรีระ แต่ถ้ารู้เทคนิค และฝึกฝนร่างกาย เพิ่มน้ำหนัก เพิ่มกล้ามเนื้อ เราก็แบก ยก หรือทุ่ม เขาได้ ทุกวันนี้เราสามารถแบกทุกคนในค่ายได้หมดเลย” 

“ส่วน Intergender Match คนภายนอกอาจดูว่ายาก แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ยากขนาดนั้น เพราะมีเทคนิคในการต่อสู้ ผู้ชายน้ำหนักเยอะกว่า แรงเยอะกว่าเราจริง แต่ถ้าเราใช้ความรวดเร็ว ใช้เทคนิคของตัวเอง ก็สามารถล้มคนตัวใหญ่ได้ไม่ยาก”

“วงการมวยปล้ำเปิดรับผู้หญิงเสมอ นักมวยปล้ำด้วยกันจะมองว่า เราเป็นเพศเดียวกัน จริงๆ เปิดรับทุกเพศเลย อย่างในปัจจุบันนี้ นักมวยปล้ำที่เป็นเกย์ก็เปิดตัวกัน บางคนเป็น Transgender ก็มี หรืออย่างแมตช์ใหญ่ๆ ก็ให้นักมวยปล้ำผู้หญิงมาเป็นคู่เอกปิดรายการแล้ว”

พิสูจน์ฝีมือมาตลอด ก็ยังไม่รอดจากการถูกบูลลี่

“การบูลลี่มีตลอด ยิ่งช่วงแรกๆ ที่เราตั้งไข่ มันมีผิดมีถูกกันอยู่แล้ว และด้วยความที่เราเติบโตมาแบบนักมวยปล้ำญี่ปุ่น ที่รักการตะโกนมาก ไม่ใช่นักมวยปล้ำฝั่งอเมริกาที่คนไทยชอบดู คนก็จะงงแล้วว่า จะตะโกนเพื่ออะไร แล้วพอเราเล่น เราก็โดนตลอดเลยว่าทำไมอ้วน ไม่สวยเลย”

“เรารู้สึกว่าเรามาอยู่ตรงนี้ได้ด้วยใจเรา จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เรารับฟังคอมเมนต์ที่มีประโยชน์จากทุกคนนะ แต่จะไม่ให้เสียงบูลลี่จากคนส่วนน้อยมาทำให้เราพัง”

ดูแล้วไม่อินเป็นเรื่องปกติ ที่อยากให้คนเข้าใจ

“เรื่องคนไม่อินคือ เรื่องเบสิกที่ค่ายมวยปล้ำทั่วโลกจะต้องเจอ แล้วยิ่งกับเมืองไทยที่ไม่ค่อยเข้าใจคำว่า ‘Sport Entertainment’ ยิ่งหนักเลย เพราะเขามองว่า Entertainment ต้องเป็นการแสดงไปเลย ถ้า Sport ก็ต้องมวยไทย ต่อยเตะหนัก พอมันมาเจอกันตรงกลาง คนก็ไม่เข้าใจว่าจะบาลานซ์กันอย่างไร เราก็ต้องนำเสนอให้เขาเห็นว่า มันมีมากกว่าแค่การแสดง มันยังเป็นกีฬาที่กระทบกระทั่งกัน คุณจะเห็นมวยปล้ำสู้กันยาว 15 นาที ไม่มีพัก แต่จะไม่มีวันเห็นนักมวยต่อยกันเกินยกละ 5 นาที”

เป็นแฟนมวยปล้ำเสมอมา

“นี่ก็เพิ่งไปดูมวยปล้ำที่สิงคโปร์มา นักมวยปล้ำส่วนใหญ่เขาก็เป็นแฟนมวยปล้ำกันมาก่อน แล้วยิ่งทุกวันนี้ทุกค่ายมวยปล้ำทำสตรีมมิ่งของตัวเอง ยิ่งแล้วใหญ่เลย เราดูทุกสัปดาห์ ดูแล้วก็เอามาปรับใช้หลายท่า เพราะมวยปล้ำมันเป็นอะไรที่ไม่รู้จบ มันมีหลายอย่าง หลายสไตล์ ซึ่งแต่ละสไตล์ก็ใช้ท่าไม่เหมือนกัน”

การเติบโตของ Sport Entertainment ในไทย กับสิ่งที่ MATCHA หวังไว้ในอนาคต

“ถ้าเทียบกับในอดีต เราว่าวงการนี้ในบ้านเรามันมาไกลมาก เพราะสมัยก่อนเราไม่มีเวทีของตัวเอง แล้วมีนักมวยปล้ำในค่ายแค่ 3-4 คน จัดอีเวนต์ได้แค่ 3 เดือนครั้ง แล้วก็ไม่ได้จัดในสนามด้วยนะ จัดในห้องเช่าเล็กๆ มีคนนั่งได้ประมาณ 30-40 คน แต่ตอนนี้สำหรับค่าย SETUP Thailand เราจัดอีเวนต์ข้างนอกได้ มีคนดู 300-400 คน มีนักมวยปล้ำมากกว่า 10 คนแล้ว และมีเด็กฝึกอีกประมาณเกือบ 20 คน ที่รอจะผ่านเกณฑ์แล้วก็เดบิวต์ขึ้นมา ซึ่งถ้าเทียบใน Southeast Asia ค่ายก็เราก็เป็นค่ายที่ได้รับการยอมรับจากหลายๆ ค่าย”

“ซึ่งแฟนคลับของ MATCHA ก็มีเพิ่มขึ้นด้วย และส่วนใหญ่เป็นคนไทย เพราะเราเพอร์ฟอร์ม ด้วยภาษาไทย แต่ก็มีบ้างที่แฟนต่างชาติบินมาดูเรา”

“แต่เราก็หวังว่าอยากให้มวยปล้ำสามารถเป็นอาชีพหลักในเมืองไทยได้ จัดอีเวนต์ได้ทุกสัปดาห์ ขายของได้ กลายเป็น Business เหมือนที่นักมวยปล้ำญี่ปุ่น หรืออเมริกาทำได้ เพราะตอนนี้มันยังเป็น Hobby ที่คนจะมาฝึกซ้อม หรือจัดอีเวนต์กันหลังว่างจากงานประจำ ของเราดีหน่อยที่คนที่ทำงานเข้าใจ ไม่เคยรบกวนวันหยุด แต่กับบางคนที่สภาพแวดล้อมไม่ได้เป็นแบบนี้ การเป็นนักมวยปล้้ำก็ค่อนข้างลำบาก”

จำได้ว่าตอนเด็กๆ ผู้เขียนก็ชอบดูมวยปล้ำ WWE มากเหมือนกัน แต่พอเริ่มโตขึ้น ก็ห่างหายไปตามกาลเวลา เลยรู้สึกประทับใจมากที่คนรุ่นราวคราวเดียวกันอย่าง MATCHA สามารถเปลี่ยนความชอบเป็นความฝัน และทำได้สำเร็จ จนกลายเป็นนักมวยปล้ำหญิงคนแรก และคนเดียวในไทยแบบทุกวันนี้

ติดตาม MATCHA ได้ที่

Facebook: Matcha :: SETUP Thailand Wrestler และ SETUP Thailand Pro Wrestling

Instagram: @matchasetupth