Culture

ปิตาธิปไตย vs มาตาธิปไตย ตกลงใครเป็นใหญ่ในสังคม?

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย เรามักเห็นการถกเถียงถึงเรื่อง ‘ปิตาธิปไตย’ กันอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงหลังมานี้ที่ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศได้รับความสำคัญมากขึ้น และทำให้เกิดการถกเถียงกันอยู่เสมอ

การถกเถียงที่ว่ามีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการมองว่าไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้าง และเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดประเทศหนึ่ง ซึ่งก็มีเสียงคัดค้านว่าหากมองให้ลึกในรายละเอียด ความเท่าเทียมที่ว่าอาจไม่ได้มากอย่างที่คิด หรือกระทั่งการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างจริงจังว่าตกลงแล้ววลีที่พูดกันบ่อยๆ ว่า 'ชายเป็นใหญ่' ในที่นี้เป็นใหญ่จริงหรือไม่ 

พอเริ่มมีการพูดเรื่องชายเป็นใหญ่ จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าระบบสังคมแบบปิตาธิปไตยไม่มีจริง แต่สังคมที่เราอยู่เป็นสังคมแบบ 'หญิงเป็นใหญ่' หรือ ‘มาตาธิปไตย’ ต่างหาก 

มาตาธิปไตยคืออะไร? ปิตาธิปไตยที่พูดกันบ่อยๆ แท้จริงแล้วหมายถึงอะไรบ้าง? ลองมาหาความหมายไปพร้อมกัน รวมถึงลองถามตอบกันเล่นๆ ในใจขณะอ่านบทความนี้เพื่อหาคำตอบของตัวเองว่า ตกลงแล้วสังคมที่เราอยู่นั้นเอียงไปทางชายเป็นใหญ่ หรือหญิงเป็นใหญ่มากกว่ากัน

Photo Credit: The Guardian

ปิตาธิปไตย

ปิตาธิปไตย (Patriarchy) หมายถึง ระบบสังคมที่เพศชายเป็นผู้กุมอำนาจหลัก ทั้งสังคม, การเมือง, เศรษฐกิจ, กฎหมาย, ศาสนา, วัฒนธรรม ฯลฯ เป็นผู้นำในระบบการเมืองการปกครอง ไปจนถึงมีบทบาทหลักในพิธีกรรม และความเชื่อ โดยนามสกุล, ทรัพย์สินมรดก, ยศถาบรรดาศักดิ์จะสืบถอดต่อไปเรื่อยๆ ผ่านบุตรที่เป็นเพศชาย 

หรือหากอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ปิตาธิปไตย หมายถึงระบบสังคมที่เอื้อประโยชน์หลายด้านให้แก่ผู้ชายมากกว่าเพศอื่นๆ รวมถึงการให้คุณค่า และยกย่องเชิดชูความเป็นชาย ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ การมีเครื่องเพศเป็นเพศชายเท่านั้น 

Photo Credit: Electric LIT

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเวลาหนึ่ง โลกมีแนวคิดแบบปิตาธิปไตยเข้มข้นมากในหลายมิติ เห็นได้จากการที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิเรียนหนังสือเหมือนเพศชาย หากผู้หญิงต้องการทำกิจการจะต้องมีชื่อฝ่ายชายมาเซ็นเพื่อยืนยันฐานะให้ ไปจนถึงเรื่องง่ายๆ อย่างการเลือกตั้ง ที่เมื่อก่อนเพศหญิงก็ไม่มีสิทธิเหมือนกับเพศชาย จนผู้หญิงในบางพื้นที่ต้องลุกขึ้นประท้วงเพื่อให้ได้สิทธินั้นมา

ในบทความของสำนักข่าว BBC ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) นักเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ระบุว่า ผู้หญิงไม่ได้เป็นกุลสตรีมาตั้งแต่เกิด แต่ความเป็นกุลสตรีนั้นถูกบ่มเพาะภายหลัง ท่ามกลางความคาดหวัง บีบคั้น และค่านิยมที่สังคมอธิบายว่าผู้หญิงควรทำตัวอย่างไร ควรวางตัวให้เรียบร้อย และสงบปากสงบคำให้ได้มากที่สุด 

ขณะเดียวกัน แนวคิดแบบปิตาธิปไตยก็กดดันให้เพศชายจำนวนมากต้องทำงานหนัก ต้องดูแลครอบครัวของตัวเองให้ดีที่สุด มีการสอนสั่งเรื่องการเร่งสร้างฐานะ, อำนาจ และความมั่งคั่ง เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่จะดูแลหญิงภายใต้ปกครองของตัวเอง และเพื่อการยอมรับในสังคม โดยจะต้องแสดงออกถึงทัศนคติ หรือความมาดแมนสมชายตามกรอบของสังคม

Photo Credit: minutes

มาตาธิปไตย

หากตีความคร่าวๆ คำว่า มาตาธิปไตย (Matriarchy) หมายถึง สังคมที่มีการปกครองโดยผู้หญิงเป็นหลัก ผู้หญิงจะมีบทบาทหน้าที่ในสังคมมากกว่าเพศชาย เป็นผู้มีสิทธิในการจัดการเรื่องทรัพย์สิน และมรดกของครอบครัว, มีบทบาทหลักทางพิธีกรรมความเชื่อ, เกิดการบูชาความเป็นเพศหญิง หรือการบูชาเครื่องเพศหญิงที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ไปจนถึงสิทธิในการสืบสายวงศ์ตระกูล ยกตัวอย่างง่ายๆ คือสิทธิของบุตรจะอยู่กับเพศแม่ บุตรจะใช้นามสกุลแม่สืบต่อไปเรื่อยๆ แตกต่างจากสังคมปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ลูกจะใช้นามสกุลของพ่อมากกว่า 

สังคมแบบมาตาธิปไตยเคยมีอยู่จริงในยุคโบราณที่มนุษย์ยังแบ่งเป็นชนเผ่าต่างๆ โดยค่านิยมดังกล่าวสามารถพบเห็นได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงบางพื้นที่ในทวีปแอฟริกา และหมู่เกาะหลายแห่งในแปซิฟิก

งานเสวนา ‘พลังผู้หญิง แม่ เมีย และเทพสตรี: ความจริงและภาพแทน’ ในปี 2559 สุจิตต์ วงษ์เทศ กวี, นักเขียน, นักหนังสือพิมพ์ และผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มองว่าในวัฒนธรรม และพิธีกรรมศาสนาผี แต่เดิมผู้หญิงมีอำนาจเหนือผู้ชาย สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ ผีบรรพชนก็เป็นผู้หญิง เป็นผีมีคุณช่วยคุ้มครองคนเป็น ส่วนผีผู้ชายมาทีหลัง และได้รับแนวคิดจากตะวันตก

Photo Credit: wikipedia

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ความคิดเรื่องประจำเดือนเป็นของน่าเกลียด เป็นความคิดแบบผู้ชายมากๆ ในศาสนาพื้นบ้านอย่าง ‘ตันตระ’ เดิมเป็นศาสนาแบบผู้หญิงคือ การไม่รังเกียจเรื่องเพศ เพราะนำไปสู่การเกิด อันเป็นความอุดมสมบูรณ์ เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่ศาสนาแบบผู้ชาย มองเรื่องเพศเป็นกิเลสมากกว่า

เสวนานี้ยืนยันว่า ระบบแบบมาตาธิปไตยเคยเกิดขึ้นจริงในหลายพื้นที่ และจากข้อมูลในเอกสารหลายชิ้น ระบุตรงกันว่า มาตาธิปไตยเริ่มเสื่อมความนิยมลงจากการเข้ามาของศาสนาต่างๆ ที่ยึดมั่นนับถือกันในปัจจุบัน ไปจนถึงการเข้าครอบครองพื้นที่ของชาวยุโรปในยุคล่าอาณานิคม นำค่านิยมแบบฉบับตะวันตกที่เน้นบทบาทเพศชาย เข้ามายังพื้นของชนเผ่าต่างๆ มากขึ้น ก่อนจะโดนกลืนไปเป็นค่านิยมหลักในหลายสังคม 

Photo Credit: independent.ie

การถกเถียงในประเด็นที่ว่า ตกลงแล้วใครเป็นใหญ่ในสังคม?

การถกเถียงเรื่องเพศ หรือการสร้างกลุ่มในโซเชียลมีเดีย ยิ่งเร้าให้การพูดคุยเริ่มจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ คนบางกลุ่มเชื่อว่าในสังคมส่วนใหญ่ของมนุษย์ปัจจุบัน ผู้หญิงมักได้ประโยชน์กว่าเพศชายหลายด้าน โดยเฉพาะด้านสวัสดิการ เช่น สิทธิลาคลอด, สวัสดิการผ้าอนามัย (ที่หลายพรรคการเมืองกำลังผลักดัน), การฝังยาคุมกำเนิด, รวมถึงผู้หญิงเป็นเพศที่ไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร ฯลฯ 

หากมองออกจากกรอบการเมือง เมื่อสังเกตดูแล้วจะพบว่าโลกใบนี้มีที่จอดรถแบบเฉพาะแค่กับเพศหญิง (Lady Parking), คนท้อง, คนพิการ, และคนชรา ไม่มีที่จอดรถสำหรับผู้ชายเท่านั้น หรือประเด็นเรื่องห้องน้ำ ที่ผู้ชายไม่สามารถเข้าห้องน้ำผู้หญิงได้ แต่ผู้หญิงสามารถเข้าห้องน้ำผู้ชายได้ 

Photo Credit: TODAY

ยังมีเสียงวิจารณ์อีกว่า ผู้หญิงไม่ต้องแบกรับความคาดหวัง หรือการเป็นหัวหน้าครอบครัว ที่จะต้องหาเลี้ยงตัวเอง คู่สมรส และลูก ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าสินสอดก่อนแต่งงาน หรือเวลาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ผู้ชายก็มักจะต้องเสียสละที่นั่งให้กับผู้หญิง, เด็ก, พระ หรือคนชราก่อน ไปจนถึงเรื่องการใช้กำลังแบกหาม ที่คนส่วนใหญ่มักขอแรงจากผู้ชายก่อนเสมอ 

ไหนจะการที่ผู้ชายต้องเป็นสุภาพบุรุษเพื่อบริการความสะดวกสบายแก่ผู้หญิง, ต้องทำความสะอาดบ้าน และเป็นรองในความสัมพันธ์คู่รัก เห็นได้จากภาพยนตร์ ละคร หรือซิตคอมที่เหล่าแฟนหนุ่มต่างต้องดิ้นรนหาทางออกไปเที่ยวกับเพื่อน หรือคิดหาวิธีว่าทำอย่างไรที่จะออกมาพบปะเพื่อนฝูงได้ โดยที่ฝ่ายหญิงไม่ห้าม, ไม่ด่าทอ, หรือไม่ทุบตี เพราะไม่อย่างนั้นจะมีมุกกลัวเมียหรือพ่อบ้านใจกล้าขึ้นมาได้อย่างไร หากชายนั้นเป็นใหญ่กว่าจริงๆ 

ทั้งหมดนี้อาจเกิดขึ้นเพราะ รากฐานสังคมที่เป็นระบบมาตาธิปไตย ที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ เพราะเพศหญิงได้ประโยชน์มากมายจากสังคมอยู่แล้ว 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สังคมไทยจะเป็นปิตาธิปไตยได้อย่างไร?

ขณะเดียวกัน ฝั่งที่มองว่าผู้ชายได้ประโยชน์ และมีความสะดวกสบายกว่าหลายด้าน ก็หยิบยกเหตุผลมาชี้แจงเป็นต้นว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลจากมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ที่ทำร่วมกับสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ พบว่าผู้หญิงไทยถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ โดยอัตราการล่วงละเมิดทางเพศเกิดกับผู้หญิงไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน ซึ่งมีผู้หญิงเข้าแจ้งความ และต้องเข้ารับการบำบัดจากการถูกล่วงละเมิดเฉลี่ยปีละ 30,000 ราย เป็นอัตราที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

Photo Credit: nbcnews

“ผู้หญิงอยู่ในกลุ่มเปราะบาง ต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำจากอคติทางเพศ, จารีต, ประเพณี และวัฒนธรรม ที่ถูกฝังรากลึกมานาน ทำให้บางคนสูญเสียโอกาส และได้รับผลกระทบในชีวิตอย่างหนัก” ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ระบุถึงความรุนแรงต่อเพศหญิง 

ด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง อย่างที่ระบุไว้ข้างต้นว่าผู้หญิงไม่มีสิทธิเลือกตั้งมาตั้งแต่แรก และต้องต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธินั้นมา ในปัจจุบัน สัดส่วนทั่วโลกระบุตรงกันว่า เพศหญิงยังเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยกว่าเพศชาย 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ iLaw ระบุว่า ในปีพ.ศ. 2565 มี ส.ส. ในสภา 474 คน ซึ่งเป็นเพศชายกว่า 398 คน คิดเป็น 83.97% ขณะที่ ส.ส. หญิง มีเพียง 73 คน คิดเป็น 15.40% และมี ส.ส. เพียง 3 คน ที่เปิดเผยต่อสาธารณะว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ

Photo Credit: procurious

ส่วนด้านเศรษฐกิจ เรายังสามารถเห็นความเหลื่อมล้ำของค่าแรงในปัจจุบันนี้ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่างบางงาน ที่ทำงานเหมือนกัน ตำแหน่งเดียวกัน แต่ผู้หญิงจะได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุผลหลากหลายแตกต่างกัน เช่น นายจ้างกังวลว่า การรับผู้หญิงเข้ามาทำงานแล้วอาจอยู่ไม่นาน เพราะต้องลาออกไปแต่งงาน เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก หรือมีปัญหาเรื่องการลาคลอดที่ต้องใช้เวลานานหลายเดือน ไปจนถึงสถิติที่ยืนยันว่าผู้ชายได้รับโอกาสในการเลื่อนขั้นมากกว่าผู้หญิง 

ส่วนเรื่องที่จอดรถสำหรับผู้หญิง เดิมทีที่จอดรถไม่ได้มีการแยกเพศชัดเจน จนกระทั่งหลายพื้นที่บนโลกเกิดเหตุการณ์ที่ ผู้หญิงถูกดักปล้น ทำร้าย หรือล่วงละเมิดทางเพศโดยเพศชายขณะใช้บริการที่จอดรถ เป็นสาเหตุให้เกิดลานจอดรถสำหรับผู้หญิง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ พร้อมสร้างความรู้สึกปลอดภัย และกันเพศชายออกจากการมองเห็นผู้หญิงที่ขับรถมาคนเดียว

ขยับมาเรื่องที่ดูซีเรียสน้อยลงกว่าสถิติสักหน่อย ฝ่ายที่เชื่อว่าสังคมนี้ยังเป็นแบบชายเป็นใหญ่ ได้หยิบการบูลลี่รูปร่างหน้าตามาสนับสนุนแนวคิดนี้ เช่น ผู้หญิงที่มีรูปร่างอ้วน มักถูกเรียกว่า ‘สาวอวบ’ ‘สาวอ้วน’ ‘สาวร่างใหญ่’ เพื่ออธิบายว่า ผู้หญิงเหล่านี้มีรูปร่างที่ผิดไปจากกรอบความงาม ทว่าพอเป็นฝ่ายชายที่ตัวอวบอ้วน กลับมีคำศัพท์ที่ลดทอนทำให้เบาลง เช่น ‘หุ่นหมี’ ‘กอดอุ่น’ ซึ่งหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าอวบ หรืออ้วนอย่างเห็นได้ชัด 

บางคนมีคำถามว่าทำไมถึงมีแค่ผู้หญิงที่จำเป็นต้องดูแลตัวเองมากกว่าเพศชาย การที่ผู้หญิงจำเป็นต้องอยู่ในกรอบความงามที่สังคมกำหนด ต้องกำจัดขนบนเรือนร่างทั้ง ขนรักแร้, ขนขา, และขนแขน สิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เป็นผลพวงจากปิตาธิปไตยกับทุนนิยม ที่สร้างค่านิยมบางอย่างมาครอบให้ผู้หญิงทุกยุคทุกสมัยต้องเป็นแบบนั้นหรือไม่ 

Photo Credit: The Matter

เรื่องของหน้าอกหน้าใจก็เช่นกัน สื่อออนไลน์ The Matter เคยเขียนบทความ ‘#มองนมไม่ผิด? เมื่อปิตาธิปไตยกดทับให้ผู้หญิงต้องปิดเพื่อไม่ให้คนอื่นเกิดอารมณ์’ โดยท่อนหนึ่งระบุว่า

“หน้าอกที่เป็นอวัยวะของพวกเธอเอง แต่กลายเป็นพื้นที่ที่ผู้อื่นเข้ามาจัดการนิยามคุณค่าอีกที เหมือนกับที่นักเรียนหญิงต้องสวมเสื้อทับยกทรงอีกทีเพื่อป้องกันใครกวาดสายตาไปเห็นแล้วไปยั่วยุกำหนัดเค้า กลายเป็นการจัดการอารมณ์ทางเพศผู้ชาย ด้วยการกำกับที่ผู้หญิงแทน ซึ่งนั่นก็เป็นลักษณะของปิตาธิปไตย”

สิ่งที่กลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ (Anti-feminism) ในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้รวมถึงไทย มีการพูดคุยแบบเหมารวมว่า ‘ผู้หญิงที่ไว้ผมสั้นจะต้องเป็นรักร่วมเพศ’ หรือ ‘ผู้หญิงที่ไว้ผมสั้นคือเฟมินิสต์’ ทั้งที่เรื่องของทรงผมอาจเป็นแค่ความพึงพอใจด้านความงามแบบส่วนตัว หรือผู้หญิงบางคนเลือกไว้ผมสั้นเพราะ อากาศที่ร้อนจัดเท่านั้นเอง 

เมื่อฝ่ายที่เชื่อว่า หญิงเป็นใหญ่ยกเรื่องพ่อบ้านใจกล้าขึ้นมา ฝ่ายที่มองว่าชายเป็นใหญ่จึงหยิบยกการเปรียบเทียบที่ลดทอนความเป็นชายด้วยการเบลมเป็นเพศหญิง หรือเพศหลากหลายขึ้นมาบ้าง 

'อ่อนแอเหมือนผู้หญิง'

'ขับรถกากเหมือนผู้หญิง'

'หน้าตัวเมีย ไปใส่กระโปรงไป'

'ไอตุ๊ด ไอ้กะเทย'