มีน กรรวี : จากเด็กปลายแถว สู่นักบาสหญิงมากฝีมือ ว่าที่ทีมชาติชุดซีเกมส์ 2021

"พรสวรรค์" อาจเป็นใบเบิกทางของอะไรหลายๆ อย่าง แต่การจะไปต่อให้สุดทางและประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องยอมรับว่า "พรแสวง" คือสิ่งที่สำคัญกว่า จะจริงแค่ไหนมาดูกัน

เหล่าเอฟซีบาสเกตบอลหญิงอาจเคยคุ้นหน้าคุ้นตาตำแหน่งเซ็นเตอร์ตัวสูงใหญ่อย่าง มีน กรรวี พงษ์ขวัญ กันมาบ้างแล้ว ในฐานะเจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รายการ Asian youth games 2013 อันดับที่ 9 ของโลก จากการแข่งขันบาสสามคนในรายการ Youth Olympic games 2014 และกำลังเป็นว่าที่ทีมชาติชุดซีเกมส์ 2021 นี้ด้วย ซึ่งหลายคนคงคิดว่ารูปร่างที่สูงใหญ่กว่าคนอื่นเป็นสิ่งที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จ แต่ตัวเธอเองขอค้าน เพราะสิ่งที่ทำให้มาไกลได้ขนาดนี้คือความพยายามล้วนๆ 

"มีน้อยคนที่จะรู้ ว่าเมื่อก่อนเราเป็นเด็กปลายแถว ที่ใครๆ ก็ไม่ต้องการ"

จุดเริ่มต้นของเด็กปลายแถว

ปัจจุบัน มีน กรรวี คือนักบาสคนเก่งจากสโมสร Shootit Dragon ที่กำลังเข้าร่วมฝึกซ้อมในรอบ 29 คนสุดท้ายของการคัดเลือกนักกีฬาบาสเกตบอลหญิงทีมชาติไทย ชุดซีเกมส์ 2021 หากย้อนกลับไปในช่วงที่เธออยู่ม.ปลาย ก็จะพบว่าเธอเป็นอดีตนักกีฬาบาสเยาวชนทีมชาติมาก่อน แต่เชื่อไหมว่าหากย้อนไปไกลกว่านั้นอีกนิด จะเจอเพียงเด็กผู้หญิงตัวสูงคนหนึ่งที่เล่นกีฬาไม่เป็น ดูการแข่งบาสไม่เข้าใจ และไม่เป็นที่ต้องการของเพื่อนในทีมสักเท่าไหร่ 

"ตอนไปสมัครม.1 ด้วยรูปร่างเราแบบนี้ โค้ชก็มาชวนไปเล่นบาส เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปเลย จากคนที่ไม่ค่อยได้เล่นกีฬา เลิกเรียนแล้วกลับบ้าน ก็ต้องมาอยู่หอพักเพื่อซ้อมจริงจัง เพราะรร.สิรินธรราชวิทยาลัย มีชื่อเสียงด้านกีฬาบาสมาก ทีมเราจึงเป็นเหมือนนักกีฬาตัวแทนโรงเรียนและตัวแทนจังหวัดนครปฐม ช่วงเล่นบาสแรกๆ เป็นเด็กที่อยู่ปลายแถวเลย เพราะเพื่อนที่เข้าทีมพร้อมกัน มี 9 คน แต่เราเล่นบาสไม่เป็นอยู่คนเดียว เวลาต้องซ้อมแบบแบ่งทีมที เพื่อนๆ ก็จะแบบ โอ๊ย! คนนี้อีกแล้วหรอ (หัวเราะ) เป็นตัวเลือกสุดท้ายของทีมที่ไม่ค่อยมีใครอยากได้เลย"

อยากเก่งต้องขยัน

การไม่เป็นที่ยอมรับ แม้จะบั่นทอนใจไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่ไปต่อบนเส้นทางนี้ เพราะเธอมีความ "อยากเก่ง" เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้น เมื่อรู้ตัวว่าไม่เก่งเหมือนเพื่อน เธอก็แค่ต้องขยันมากขึ้น เอาพรแสวงมาพัฒนาข้อด้อยของตนเอง

"เราชื่นชมคนเก่งอย่างบิ๊ก ธีรวัฒน์ จันทะจร เพื่อนนักบาสรุ่นเดียวกันที่เริ่มจากการเป็นตัวสำรองในทีม แต่ภายใน 1 ปี ก็ได้เป็นเยาวชนทีมชาติ และตอนนี้ก็เป็นหนึ่งในทีมชาติชุดใหญ่แล้ว เขาพัฒนาได้ก้าวกระโดดมากๆ เราก็หวังว่าสักวันต้องเป็นแบบเขาให้ได้ เพราะอยากเป็นที่ยอมรับของทุกคน มันเลยทำให้เราเป็นคนไม่รู้จักพอ ไม่หยุดที่จะพัฒนาฝีมือ เอาแรงกดดันจากคนอื่นมาเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันตนเอง อย่างเวลาโค้ชปล่อยพัก เราก็จะเป็นคนแรกที่กลับเข้ามาในสนาม เพื่อมาซ้อมในจุดที่ยังทำได้ไม่ดี ทำวนซ้ำอยู่แบบนั้น จนทำให้ในวันนี้เรากลายเป็นนักบาสหญิงคนหนึ่งที่มีความสามารถของสโมสร ซึ่งฝีมือแลกมาด้วยความขยัน อดทน และการเอาชนะใจตนเองที่สะสมมาตลอดหลายปี" 

เสน่ห์ของบาสที่คาดไม่ถึง

เธอเล่าว่าการเป็นนักกีฬาบาสเหมือนนักกีฬาอื่นๆ ตรงที่ให้โอกาสทางการศึกษา ให้เพื่อน ให้ความภาคภูมิใจในตนเอง แต่สิ่งที่แตกต่างคือบาสเป็นกีฬาที่ต้องชิงไหวชิงพริบ ต้องรู้จักวางแผน พลิกแพลงเกม และใช้ทักษะการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้ากันพอสมควร นอกจากนั้นบาสยังเป็นพื้นฐานของการเล่นกีฬาอื่นๆ ได้ เพราะใช้ร่างกายแทบทุกส่วน และที่สำคัญมันทำให้เธอมองเหตุการณ์เป็นภาพ Slow motion จนสามารถรอดตายมาได้ 

"คิดว่านักบาสหลายคนน่าจะมีทักษะนี้ เพราะมันทำให้คิดทันว่าจะหลบหลีกแบบไหนหรือจะโต้ตอบกลับอย่างไร เช่น มีครั้งหนึ่งที่เราจะข้ามถนน แล้วเป็นมุมอับที่มองไม่เห็นรถยนต์ เห็นอีกทีตอนรถใกล้ถึงตัวแล้ว แต่ตอนนั้นสมองเราประมวลผลทำให้เห็นภาพช้าลง และตัดสินใจถอยหลังกลับเข้ามาได้ทัน"

บาสหญิงกับสังคมไทย

กีฬาคือสิ่งที่สร้างมาให้ทุกคนเล่นอยู่แล้ว ผู้หญิงกับบาสเป็นเรื่องที่เข้ากันได้ แต่ด้วยอาจจะเพราะมีค่านิยมบางอย่างของสังคมเลยทำให้มันดูยากขึ้นมา เช่น เวลาที่ผู้หญิงไปเล่นสนามไหนเป็นครั้งแรก กลุ่มผู้ชายที่เล่นอยู่ก่อนก็จะไม่ค่อยอยากเปิดรับเท่าไหร่ มีสายตาแปลก ๆ บ้าง หรือเล่นแบบไม่เต็มที่ อ่อนข้อให้ตลอด เพราะเขามองว่าเราอ่อนแอกว่าผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงต้องพิสูจน์ตนเองอยู่หลายครั้ง กว่าจะเป็นที่ยอมรับ

"คิดว่าค่านิยมพวกนี้ควรหมดไปได้แล้ว เพราะการที่ผู้ชายมองผู้หญิงเท่าเทียมและเล่นกันด้วความสามารถเต็มที่ จะช่วยดึงศักยภาพของผู้หญิงให้ดีขึ้นมาได้ และทำให้เราพัฒนากันทั้งคู่"

อุปสรรคที่ “บาส” ไทยยังก้าวไม่พ้น

จากการที่ได้อยู่ในวงการบาสเกตบอลมานาน เธอมองว่าอุปสรรคแรกก็คือสรีระร่างกายของคนไทย ที่ไม่ได้สูงใหญ่เหมือนประเทศอื่น เลยสู้ได้แค่ในเอเชียที่ขนาดตัวไม่ต่างกันมาก ส่วนอีกอุปสรรคที่สำคัญไม่แพ้กันคือ 

“ประเทศเราไม่ได้มีสวัสดิการดีไว้รองรับนักกีฬาบาส เหมือนที่มีให้นักฟุตบอลหรือวอลเล่ย์บอล เช่น โควตาเข้ารับราชการ เพราะช่วงอายุของนักบาสที่ทำผลงานได้ดีจะสั้นกว่ากีฬาอื่น รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ไม่ได้สนับสนุนให้พนักงานของตนเป็นนักกีฬาสักเท่าไหร่”

ทำให้นักกีฬาบาสส่วนใหญ่เลือกที่จะอำลาวงการกันในวัยทำงาน เพราะต้องเลือกระหว่างความฝันกับรายได้เลี้ยงชีพ เด็กรุ่นใหม่ที่ตัวสูงหรือตัวใหญ่ก็เลือกที่จะออกไปเล่นกีฬาอื่นมากกว่า เช่น วอลเลย์บอล 

ความฝันของมีน กรรวี

ความฝันสูงสุดของเธอคือขยับจากเยาวชนทีมชาติมาเป็นนักกีฬาทีมชาติชุดใหญ่ และพาทีมบาสเกตบอลหญิงไปไกลถึงระดับโลก เพื่อทำให้ตนเองและคนรอบข้างเห็นว่าถึงจะไม่ได้มีพรสวรรค์ แต่ความขยัน อดทน ทุ่มเท พยายาม ก็ทำให้ประสบความสำเร็จได้ 

“วันนี้ก็ถือว่าได้เข้าใกล้ความฝันการเป็นทีมชาติชุดใหญ่มากขึ้นแล้ว แม้จะยังไม่ประกาศรายชื่อตัวจริง แต่ก็ได้ร่วมซ้อมกับกลุ่มคนเก่ง ซึ่งโชคดีมาก เพราะถ้ามองย้อนกลับไปหลายปีก่อน ตอนนี้ถือว่ามาได้ไกลแล้ว

ไม่ว่าคุณจะเล่นกีฬาหรือทำอะไรก็ตามแล้วท้อแท้กับมัน เราอยากให้ลองเอาความเป็นมีน กรรวี มาเป็นแรงผลักดันในการสร้างพรแสวงให้ตัวเองดู แล้วจะรู้ว่าตัวเองเก่งได้มากกว่าที่คิด