Culture

How Politics Stole Thai Youth: การเมืองขโมยชีวิตวัยรุ่นไทยอย่างไร คุยกับ ‘มิน’ จาก ‘นักเรียนเลว’

‘ใครบ้างที่รู้สึกว่าชีวิตวัยรุ่นของฉันถูกการเมืองขโมยไปให้ยกมือขึ้น’ ในบทความนี้เราอยากจะชวนทุกคนมาอ่านบทสัมภาษณ์ของ ‘มิน’ – ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ จากกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเคลื่อนไหวประเด็นด้านสิทธิของนักเรียน และเยาวชนว่าจากประสบการณ์ที่ออกมาเคลื่อนไหวจนถึงปัจจุบันการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเปลี่ยนแปลงไปไหม ทรงผมนักเรียนดีขึ้นหรือยัง การเมืองยังส่งผลอะไรต่อชีวิตบ้างในวัยนักศึกษา และการเมืองพวกนี้ขโมยชีวิตวัยรุ่นไทยไปอย่างไรบ้าง

คงต้องเริ่มบทสนทนาในครั้งนี้ด้วยการนิยามก่อนว่า การเมืองคืออะไร?

“เรานิยามการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก มันไม่ใช่เรื่องแค่ใครเป็นนายกหรือการเลือก การเมืองมันเป็นทุกสิ่งทุกอย่างแค่ทรงผมก็เป็นการเมืองแล้ว กฎระเบียบบังคับทรงผมก็การเมือง ถ้ามาย้อนกลับไปว่าใครกำหนดให้นักเรียนต้องตัดผมสั้นเกรียนก็คือคณะรัฐประหาร สิ่งนี้ก็คือการเมืองแล้ว ถ้าถามว่าทำไมเขาบังคับให้เราตัดผมเขาก็ให้เหตุผลว่าต้องการควบคุมให้นักเรียนอยู่ในระเบียบวินัยเพราะช่วงนั้นกลุ่มนักเรียนต่อต้าน เคลื่อนไหวกันเยอะเลยออกระเบียบเพื่อมาควบคุมนักเรียนแต่พอเวลาผ่านมานานเราเลยไม่เห็นต้นตอแต่ถ้าสิ่งนี้มันเป็นอะไรที่เกิดขึ้นในวันนี้ วันหน้า มันจะเห็นได้ชัดมากว่าเป็นการเมืองเพราะมันไม่มีอะไรจู่ๆ ก็เกิดขึ้นโดยบุคคลธรรมดา มันเกิดขึ้นโดยผู้มีอำนาจทั้งนั้น ถ้าเราไปดูฟุตบาททำไมถึงมีรู ทำไมทางเท้าไม่ดีเราก็ต้องมองย้อนไปว่าใครเป็นคนอนุมัติงบมันก็คือการเมือง ทุกอย่างมันมีจุดเริ่มต้นที่เดียวกัน”

Photo Credit: BBC

อะไรคือสิ่งทำให้เริ่มต้นทำนักเรียนเลว? อิสระภาพและความเท่าเทียม หรือการเปลี่ยนมุมมองของคำว่า ‘กฎระเบียบ’

“จริงๆ ตอนเริ่มต้นทำนักเรียนเลวคือช่วงเวลานั้นเราลาออกจากโรงเรียนมาแล้ว เราพ้นจากความทุกข์ที่เจอในโรงเรียนแล้ว เราใช้ชีวิตมีความสุข อยู่กับตัวเอง ไม่ค่อยได้ไปเจอใครแต่พอเราได้เจอข่าว เจอโซเชียล เจอคนรู้จัก เจอคนโพสต์ที่พวกเขาถูกโรงเรียนละเมิดสิทธิ ถูกบังคับตัดผม มันทำให้เรานึกย้อนไปถึงตอนที่เราเคยโดนแบบนั้นเหมือนภาพ Flashback สิ่งที่เราเคยเจอซึ่งมันก็หนักมากนะสำหรับเราตอนที่เคยเจอแต่คนที่ออกมาโพสต์เขาหนีออกมาเหมือนเราไม่ได้ เราเห็นแล้วมันทำให้เราคิดว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างและเราก็พอจะมีต้นทุนทางสังคมบ้าง เราสามารถทำอะไรได้โดยไม่ติดขัด ทำอะไรดีกว่าอยู่เฉยๆ ไหม ตอนนั้นก็เริ่มต้นด้วยการเป็นทวิตเตอร์แอ็กเคานต์ เรารวบรวมข้อมูลมาทำข่าว ทำไปทำมาคนก็ติดตามเยอะมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้”

Photo Credit: ข่าวสด

สิ่งไม่ปกติอะไรบ้างที่ยังเกิดขึ้นอยู่ในโรงเรียนไทย?

“สิ่งที่ไม่ปกติที่ยังเกิดขึ้นอยู่ในโรงเรียนมันก็จะมีทั้งแบบที่จับต้องได้และไม่ได้อย่างสิทธิที่จับต้องได้สิทธิ กฎระเบียบลิดรอนสิทธิทางร่างกาย บังคับตัดผม เสรีภาพในการแสดงออก การละเมิดที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน การยึดสิ่งของแล้วไม่คืนนี่มันคือโจร มันไม่ถูกกฎหมายนะแต่เราคิดไปเองว่าครูทำได้แต่จริงๆ มันไม่ปกติและท้ายที่สุดสิทธิเรื่องความปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนเรื่องพื้นฐานแต่มันเป็นสิ่งแรกๆ ที่เด็กมักจะโดนละเมิด ถ้าเด็กไม่ยอมถูกตัดผมก็จะถูกกระทบ การละเมิดสิทธิหนึ่งครั้งมันก็จะโดนลงโทษ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่พวกเรามักจะได้รับการร้องเรียกมาทาง DM ทุกวันนี้มันก็ยังเกิดขึ้นอยู่แต่จัดประเภทหลักๆ ได้ประมาณ 4 ประเภทอย่างที่เล่าไป”

นักเรียนเลวเคลื่อนไหวอะไร และเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

“นักเรียนเลวเราเคลื่อนไหวออนไลน์มาก่อนที่จะมาเคลื่อนไหวออฟไลน์ ตอนนั้นในโลกออนไลน์มันก็มีอิมแพ็กนะ มันทำให้เราคิดว่าเสียงเราดังขนาดนี้เราน่าจะทำอะไรเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมได้บ้าง ช่วงเวลานั้นมีระเบียบทรงผมใหม่พอดีที่ว่า ห้ามโรงเรียนตัดผมเด็กเอง โรงเรียนไหนไม่เป็นไปไปตามนี้ส่งชื่อมา เราก็รวบรวมรายชื่อที่ละเมิดสิทธิเด็กไปยื่นกระทรวง แต่ก็ยังไม่ได้การตอบกลับมาจากกระทรวงเลยว่าเป็นยังไงบ้าง เราไปยื่นรายชื่อว่าโรงเรียนเหล่านี้ไม่ทำตามระเบียบเรื่องทรงผมที่กระทรวงปล่อยออกมา กระทรวงจะทำอะไรบ้าง ตอนนั้นก่อนที่จะเอารายชื่อไปยื่นเราก็โทรไปตามเช็กโรงเรียนว่ากฎโรงเรียนมันขัดกระทรวงจริงหรือเปล่า ไม่ได้เอารายชื่อไปเปล่าๆ มันมีมากกว่าร้อยโรงเรียนเลยที่ยังละเมิดเรื่องนี้กันอยู่แต่จุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหวมันมาจากเรื่องระเบียบทรงผมแล้วก็ค่อยๆ ขยับไปสู่การเคลื่อนไหวที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ”

อิสระทางการแสดงออกเรื่องทรงผมในตอนนี้ ถือว่าดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนไหม?

“ถ้าถามว่าทุกวันนี้มันผ่อนปรนกันมากขึ้นเรื่องทรงผมไหม มันก็ผ่อนมากขึ้นแต่มากขึ้นไม่ใช่ว่ามันจะพอแล้ว ทุกวันนี้เราก็ยังได้รับข้อความ บางวันได้เกือบสิบกว่าเคสที่ถูกละเมิดทรงผมกันอยู่เยอะมากเลยแต่สื่อไม่สนใจอะไรแบบนี้แล้วเพราะมันเรียกยอดไม่ได้แต่สำหรับเราทุกอย่างมันก็ยังเป็นเหมือนเดิมอยู่”

การทำงานของนักเรียนเลว สัมพันธ์กับการเมืองภาพใหญ่อย่างไร?

“เรารู้สึกว่าเราทำนักเรียนเลวที่ไม่ใช่ประเด็นหลักของประชาชน หมายถึงคนที่ออกมาม็อบในช่วงพีคๆ เราทำเพราะกำลังสู้ความคิดบางอย่างที่อยู่ในหัวคนที่ฝังอยู่ในหัวคนตั้งแต่ระบบการศึกษาโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว ซึ่งมันถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจในทุกยุคทุกสมัย มันอาจจะต่างกันไปในภาพรวมนะแต่แพทเทิร์นมันก็ออกมาคล้ายๆ เดิม เราคิดว่าถ้าจะแก้ตรงนี้ได้ต้องทำให้เด็กได้เรียนรู้เท่าทัน เรียนเพื่อรู้เท่าทันไม่ใช่เรียนเพื่อไปทำตามคำสั่ง มันต้องมีความคิดอีกชุดมาค้านอำนาจคนที่พยายามจะควบคุมเราทุกยุคทุกสมัย สิ่งนี้คือแก่นหลักของนักเรียนเลวที่ทำให้นักเรียนเลวเป็นนักเรียนเลว”

อะไรคือ ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ของการเป็นนักกิจกรรม และการเคลื่อนไหวทางการเมือง?

“สำหรับเรา เราจ่ายไหวแต่ราคามันก็เยอะเหมือนกัน เราไม่เสียดาย เราเข้ามหาลัยช้าไปปีหนึ่งเพราะปีนั้นโดนคดีพอดี เป็นช่วงม็อบที่พีคมากมันเลยทำให้เราตัดสินใจว่าข้ามไปอีกปีหนึ่ง การเมืองมันทำให้เราไม่ได้ใช้ชีวิตในโรงเรียน ส่วนตัวเราชอบชีวิตในโรงเรียนเลยยังกลับมาเรียนมหาวิทยาลัยแต่เราจำเป็นต้องเสียช่วงเวลาในโรงเรียนไปเพราะพวกเขาเห็นว่าระเบียบมันสำคัญกว่าชีวิตของนักเรียน เขาบีบให้เราเลือกว่าจะอยู่ต่อหรือจะไปไหนก็ไป สำหรับวัยรุ่นมันก็เสียเยอะนะ”

จากที่ได้เห็นมา การเมืองพรากอะไรไปจากเยาวชนที่ออกมาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวบ้าง?

“หลายคนเสียมากกว่ามิน เราเห็นหลายคนเสียความสัมพันธ์ในครอบครัว เสียผลการเมือง การมีจุดเมืองต่างกันมันไม่เหมือนไม่เห็นด้วยจุดยืนทางการเมืองของโลก การกีดกันไม่ให้ลูกแสดงออก ตัดขาด ยื่นคำขาดกับลูกก็มี ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ต้องเสียไปเป็นเรื่องที่เจอมาในหลายๆ คนที่เคลื่อนไหววัยรุ่น สุขภาพจิตที่ถดถอยด้วย มันค่อนข้างหนักสำหรับบางคนที่เจอมา”

ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์การเมืองจะเลือกเส้นทางชีวิตเหมือนเดิมไหม?

“สำหรับมิน เราเชื่อว่าเราเป็นคนควบคุมชีวิตของเราเองมาตลอด เราเลือกที่จะเรียนต่อในสิ่งที่เราสนใจ ใช้ชีวิตแบบที่เราอยากใช้ ส่วนเรื่องการทำนักเรียนเลวสำหรับเราทำมันก่อนจะเกิดช่วงที่เคลื่อนไหวทางการเมืองหนักๆ มาก่อนอยู่แล้ว เราเริ่มทำเพราะมันเกิดมาจากความรู้สึกร่วมที่วัยรุ่นโดนกระทำอยู่ในโรงเรียน ทุกครั้งที่เราอ่านทวิตใครก็ตามที่เจอปัญหาเดียวกัน เราอยากทำไปจนกว่าจะไม่มีใครต้องเจออะไรแบบที่เราเจอ ตอนที่เราเจอมันรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีที่พึ่ง เราไม่อยากให้คนที่เจออะไรแบบนั้นต้องมารู้สึกอะไรแบบเรา มันเลยยังหล่อเลี้ยงให้เรายังอยากทำอยู่”

ถ้าวันหนึ่งความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้หล่อเลี้ยงหัวใจมินแล้ว ยังอยากทำต่ออยู่ไหม?

“ยังตอบไม่ได้ แต่ไม่อยากให้มันหายไป เราอยากให้มันอยู่ต่อโดยไม่มีเราให้ได้มากกว่า เรารู้สึกว่าสิ่งที่นักเรียนเลวทำ มันมีความสัมพันธ์ต่อสังคมมากที่มันไม่ควรจะหายไปเพราะปัจเจกบุคคล มันควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะสังคมตื่นและมันควรจะอยู่กับสังคมไปเรื่อยๆ จนกว่าสังคมจะยืนได้ เราไม่คิดว่ามันจะหายไปเพราะเราต่อให้เราหยุดทำก็ไม่ได้จะทำให้นักเรียนเลวหายไป”

การทำงานเคลื่อนไหวของนักเรียนเลวกัดกินชีวิตของเราไปอย่างไรบ้าง?

“สำหรับเรา เราคิดว่าเด็กคนหนึ่งมันไม่ควรจะมาใช้ชีวิตแบบนี้ เราควรจะได้ไปเรียน เลิกเรียนก็ได้ไปเที่ยวกับเพื่อน ไปไหนก็ได้ที่อยากไปแต่การที่เรามาทำนักเรียนเลว เราต้องยอมรับว่าเวลาที่ทำสิ่งนี้คือเวลาที่ควรจะเป็นของเราร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงเราจะแบ่งเวลามาทำได้แบบเต็มใจแต่มันก็เป็นการตั้งคำถามนะว่า ทำไมเขา (ผู้มีอำนาจ) ถึงปล่อยให้เรามาสูญเสียเวลาที่เราควรจะได้เอาไปใช้ชีวิตของตัวเองมาทำสิ่งเหล่านี้ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่หน้าที่ของเราที่ต้องมาทำงานที่พวกเขาควรจะทำ ถึงแม้ว่าเรายินดีที่จะเสียเวลาทำงานของนักเรียนเลวเพื่อเรียกร้องเพื่อหาข้อมูลไปคุยกับผู้มีอำนาจให้เขาแก้ไขแต่สุดท้ายแล้วผู้มีอำนาจบอกว่าพวกเราต้องเสียเวลาเยอะขึ้นเพื่อไปทำโน่นนี่นั้นมาให้เขาก่อนแล้วสุดท้ายเขาถึงจะแก้ปัญหาให้พวกนี้ให้ เขาก็จะพูดทำนองว่าถ้างั้นน้องก็มาเป็นคณะทำงานไหม ฟังผิวเผินมันเหมือนเขาอยากให้เรามีส่วนร่วมแต่จริงๆ เขาอยากให้เราไปทำงานฟรีเพราะเขาไม่อยากทำงานที่เขาควรจะทำซึ่งขาไม่คิดจะแก้ไขปัญหาอะไรด้วยซ้ำอย่างเช่นเรื่องระเบียบทรงผม พูดมาจนปากจะฉีกทางแก้มันก็แค่ให้เด็กไทยทั่วประเทศไว้ทรงผมได้อิสระแค่หนึ่งลายเซ็นก็แก้ปัญหาได้แค่นั้นเอง มันยากตรงไหนแต่เขาก็ไม่ทำ”

“สิ่งที่มันกัดกินเราคือเขาบอกให้เราหาข้อมูล ไปหาสถิติมามากกว่านี้แต่พวกเราเป็นองค์กรที่ทำงานไม่ได้เงินเดือน ไม่มีทรัพยากรเท่าพวกเขา ทำไมกระทรวงที่มีคนตั้งมากมาย มีเงินเดือน มีทรัพยากรถึงไม่ทำเองแต่บอกให้เด็กอย่างเราต้องไปทำงานแทนเขา ความเหนื่อยตรงนี้มันยิ่งกว่าเวลาที่ต้องจ่ายไปอีกเพราะเวลาเรายินดีที่จะจ่ายเองแต่พอผู้มีอำนาจบอกให้เราไปพิสูจน์เองว่าสิ่งที่มีปัญหามีจริงไหม แต่โยนมาให้เราพิสูจน์เอง”

จากสถานการณ์ทั้งหมดที่เจอมาภายใต้บทบาทของนักเคลื่อนไหว ทำให้กำลังใจของมินโดนลดทอนลงบ้างไหม?

“เรื่องพวกนี้มันไม่ได้ลดถอนกำลังใจเรานะแต่มันทำให้เราหงุดหงิดว่าทำไมกระทรวงถึงทำงานกันอย่างนี้ นักเรียนเลวเราเป็นองค์กรที่ไม่มีเงินเดือน ทุกคนทำจิตอาสายังได้เรื่องร้องเรียกเป็นสิบเรื่องแต่กระทรวงสนแค่ว่าฉันไม่ได้รับเรื่องคือไม่มีแล้วผลักภาระให้วัยรุ่นต้องไปพิสูจน์ ไปทำงานมากขึ้นเพื่อมาเรียกร้องสิ่งที่พวกเขาควรจะทำกันตั้งแต่แรก”