หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนว่านักสอยคิวหรือนักกีฬาสนุกเกอร์ไทยฝีมือดีขนาดเคยคว้าแชมป์มาแล้วทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพราะสนุกเกอร์เป็นกีฬาเดียวที่ยังคาบเกี่ยวระหว่าง พ.ร.บ.การพนัน และพ.ร.บ.กีฬา คือเล่นเป็นกีฬาได้ แต่ยังเข้มงวดกับการฝึกซ้อมของเยาวชน ทำให้การนำเสนอข่าวสารไม่กว้างขวาง การปั้นเยาวชนมีข้อจำกัด และนักกีฬาเก่งๆ ขาดการสนับสนุน
สิ่งเหล่านี้ผูกติดกับภาพจำเก่าที่ว่าโต๊ะสนุ๊กต้องมีบุหรี่ เหล้า นักเลง และการพนัน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วตอนนี้หลายอย่างเปลี่ยนไปมาก มีการสร้างสถานที่ฝึกซ้อมอย่างจริงจังมากขึ้น รวมถึงสภาพแวดล้อมในหลายร้านก็ไม่เหมือนเดิม บางแห่งเป็นแหล่งปลอดพนัน แถมยังมีโซนสูบบุหรี่แยกต่างหาก
“นักกีฬาสนุกเกอร์เก่งๆ โดยเฉพาะผู้หญิงในประเทศไทยมีเยอะมาก แต่ขาดการสนับสนุน ทำให้พวกเขาไม่กล้าที่จะมาเล่นกีฬานี้เต็มตัว ยังต้องทำงานประจำเป็นหลัก แต่ถ้าเขาได้โอกาสฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะมีนักสนุกเกอร์หญิงที่ไประดับโลกได้อีกเยอะ”
มุมมองส่วนหนึ่งจากการพูดคุยของ EQ และ มิงค์ สระบุรี หรือ มิงค์ - ณัชชารัตน์ วงศ์หฤทัย (Mink - Nutcharut Wongharuthai) ดาวรุ่งวัย 22 ปี ที่เพิ่งคว้าแชมป์โลกสนุกเกอร์หญิงอาชีพปี 2022 มาหมาดๆ และสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาเอเชียหญิงคนที่ 2 ที่ไปไกลถึงระดับโลก อีกทั้งคว้าสิทธิ์ลงแข่งสนุกเกอร์อาชีพกับผู้ชายถึง 2 ช่วงเวลาติดต่อกัน (2022-2023, 2023-2024) ด้วย ที่พูดแบบนั้นได้เพราะเธอคือผลผลิตจาก “โอกาส” ที่หลายคนมอบให้
ประสบการณ์คว้าแชมป์โลกครั้งแรกในชีวิต เราเริ่มเปิดบทสนทนากับแชมป์โลกด้วยการย้อนถามความรู้สึกและเหตุการณ์ในวันที่ต้องดวลกับคู่แข่งจากเบลเยียม ซึ่งตอนแรกมิ้งค์ตามอยู่ถึง 3 – 5 เกม แต่ในที่สุดก็พลิกกลับมาชนะได้
“โล่งใจและดีใจมาก เพราะตอนแรกเราตามอยู่และเขาดูมั่นใจว่าชนะแน่ๆ สิ่งเดียวที่คิดได้ตอนนั้นคือพยายามอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด เล่นให้ดี เพื่อกลับมาชนะให้ได้ และพอชนะได้มันเหมือนกับเราได้ปลดล็อกอะไรหลายๆ อย่าง หนึ่งคือทำให้หลายคนเห็นว่ากีฬานี้ให้อะไรดีๆ กับเราได้มากกว่าที่คนภายนอกคิด และสองคือทำให้มีโอกาสไปแข่งรายการใหญ่กับนักกีฬาผู้ชายอย่างที่เคยฝันไว้”
แล้วทำไมเราถึงอยากแข่งกับผู้ชาย ไม่กลัวเสียเปรียบเหรอ?
“เพราะอยากลองไปเก็บประสบการณ์จากทุกรายการเพื่อพัฒนาฝีมือตัวเอง และอยากทำให้กระแสของนักกีฬาสนุกเกอร์หญิงทั้งในไทยและต่างประเทศดีขึ้นจากการเข้าร่วมแข่งขันของเรา ส่วนเรื่องการได้เปรียบเสียเปรียบ มองว่ามันพัฒนากันได้ ถึงเราจะสู้เขาเรื่องกล้ามเนื้อไม่ได้ แต่เราสู้ได้ด้วยเทคนิค ซึ่งต้นเดือนเมษายนนี้จะเริ่มแข่งรอบคัดเลือก World Champion ของผู้ชายที่ประเทศอังกฤษแล้วค่ะ”
ความกดดันจากตำแหน่งที่ขึ้นลง
หลังจากที่คว้าแชมป์โลกมาแล้ว ล่าสุดมิ้งค์คว้ารองแชมป์เอเชียมา อยากรู้ว่าตำแหน่งที่ขึ้นลงแบบนี้มันทำให้เครียดบ้างไหม
“ก็มีบ้าง เพราะคนอื่นจะคาดหวังว่าถ้าเราได้แชมป์มาแล้วครั้งหนึ่ง รายการอื่นก็ต้องได้แชมป์ แต่เราจะพยายามมองว่าสนุกเกอร์มันขึ้นอยู่กับจังหวะ มีแพ้มีชนะ การที่เคยชนะมาก่อนไม่ได้หมายความว่าจะต้องชนะทุกวัน บางครั้งเรารักษามาตรฐานได้ดีแล้ว แต่คู่แข่งทำได้ดีกว่า เราจะแพ้ก็ไม่แปลก”
สนุกเกอร์เป็นอาชีพเพราะเปลี่ยนความคิด
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่มิ้งค์จะก้าวมาสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพที่เต็มไปด้วยแพสชั่นขนาดนี้ เธอเคยเป็นเด็ก 10 ขวบที่ไม่เคยมีความฝันเกี่ยวกับกีฬานี้มาก่อน แต่เริ่มเล่นเพราะผู้ใหญ่ในสนุกเกอร์คลับที่แม่ทำงานอยู่ชวนให้เล่น จนกระทั่งวันหนึ่งที่ความสำเร็จเริ่มสั่งสม ก็ทำให้เธอเปลี่ยนความคิด
“ตอนแรกที่เริ่มเล่นก็ยังไม่ได้สนใจมันสักเท่าไหร่ เพราะถึงจะแข่งและได้รางวัลอยู่บ้าง แต่มองไม่ออกว่าจะต่อยอดไปได้ไกลแค่ไหน แต่พอช่วงก่อนขึ้นม.ปลายที่ตัดสินใจดรอปเรียน 1 ปีเพื่อไปแข่งให้เต็มที่ ก็ได้รับเลือกเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย ไปแข่งเอเชียน อินดอร์ เกมส์ 2017 ที่เติร์กเมนิสถาน แล้วได้เหรียญทองกลับมา ตอนนั้นเลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้มองสนุกเกอร์ใหม่ว่ามันไม่ใช่แค่กีฬาที่เล่นไปวันๆ แต่เป็นอาชีพของเราได้”
การผจญภัยคือจุดร่วมที่กลมกล่อม
นอกจากแพสชั่นที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น ยังมีอะไรอีกบ้างที่ทำให้มิ้งค์สนุกกับสนุ๊กเกอร์มาตลอด 12 ปีท่ามกลางคนวัยเดียวกันที่แทบจะไม่สนกีฬานี้เลย
“คงเป็นความไปด้วยกันได้ค่ะ เพราะเราชอบการผจญภัย ส่วนสนุกเกอร์ก็ตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ ทุกครั้งที่ได้ออกไปแข่ง มันเหมือนการเล่นเกมที่ได้ผจญภัยไปในที่ต่างๆ ได้ไปเจอผู้คน ไปเจอสนามใหม่ๆ”
ในช่วงที่ยังไม่อินกับสนุกเกอร์เคยคิดเสียดายเวลาชีวิตไหม
“ไม่เคยเลยค่ะ ถึงจะไม่ได้มีชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นเหมือนคนอื่น แต่มองว่าเส้นทางนักกีฬาก็เป็นโลกอีกใบหนึ่งที่ทำให้ได้ผจญภัยกับเรื่องที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน ยิ่งพอถึงวันนี้แล้วมองย้อนกลับไป ยิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันคุ้มค่ามาก สนุกเกอร์ทำให้ความคิดและทัศนคติเราโตขึ้น และที่สำคัญมันยังเป็นอาชีพที่ใช้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้”
นักกีฬาจะไปได้ไกลถ้ามีโอกาส
มาถึงวันนี้ที่มิ้งค์ได้รับโอกาสจากทั้งครอบครัว ทีมโค้ช รวมถึงสปอนเซอร์หลักอย่าง Hi-End Snooker Club และมีมุมมองต่อกีฬาสนุ๊กเกอร์ต่างไปจากเดิมแล้ว มีอะไรที่อยากฝากถึงคนภายนอกที่ยังมองกีฬานี้ในเชิงลบอยู่บ้าง
“อยากให้เปิดใจแล้วเข้ามาสนับสนุนกีฬานี้เยอะๆ เพราะมันไม่ใช่กีฬาที่ไม่ดี แต่เป็นอาชีพที่เลี้ยงดูครอบครัวได้ตอนนี้ผลงานของนักกีฬาไทยดีมากอยู่แล้ว ถ้าได้รับการสนับสนุนเท่าเทียมกับกีฬาอื่นก็จะทำให้ไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก”
อย่างที่มิงค์บอกไปตอนต้นว่านักกีฬาสนุกเกอร์ผู้หญิงมากฝีมือในไทยมีเยอะมาก แต่เพราะความก้ำกึ่งของกฎหมายเลยทำให้การสนับสนุนมีไม่มากเท่ากับกีฬาอื่น ดังนั้นเธอเลยอยากเน้นย้ำกับเราว่า “โอกาส” จากการสนับสนุนของผู้ใหญ่เป็นสิ่งที่สำคัญมากกับเส้นทางนักกีฬาอาชีพของเด็กคนหนึ่ง เพราะนักกีฬาจะเก่งขึ้นได้ จะมีแค่แพสชั่นอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องอาศัยการฝึกซ้อมและประสบการณ์จากการแข่งขันหลายสนามด้วย
ติดตาม ให้กำลังใจ และอัปเดตผลงงานของ มิงค์ สระบุรี ได้ที่
Facebook: Nutcharut Wongharuthai
Instagram: mink_nutcharut