“ถ้าพ่อเพิ่มให้ฟ้าเดือนละหมื่นแล้วรักฟ้าน้อยลง ฟ้าไม่เอา!” คำพูดของ เรยา จากละครเรื่องดอกส้มสีทอง เมื่อเราพูดถึงเมียน้อย หลายคนมักมองว่าเป็นคนไม่ดี เห็นแก่เงิน หรือทำลายครอบครัวของผู้อื่น แม้ภาพเมียน้อยที่ปรากฎในสื่อจะเป็นภาพเหมารวม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมียน้อยมีอยู่จริงในสังคม แล้วเมียน้อยเกิดขึ้นได้อย่างไร? ทำไมเมียน้อยถึงถูกมองว่าเป็นตัวร้ายในสถาบันครอบครัวในปัจจุบัน?
ย้อนกลับไปในอดีต เมียน้อยถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม กฎหมายหมายตราสามดวงรับรองสิทธิของเมียน้อย อนุญาตให้ผู้ชายสามารถมีเมียได้หลายคน และมีข้อกฎหมายระบุเพื่อรองรับฐานะของเมียประเภทต่างๆ ในข้อกฎหมายระบุว่าเมียแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. เมียกลางเมือง เป็นเมียหลวงที่แต่งตามประเพณี ผู้ชายสามารถมีเมียชนิดนี้ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น 2. เมียกลางนอก เป็นเมียรองหรือเมียน้อย เมียประเภทนี้ผู้ชายสามารถมีกี่คนก็ได้แล้วแต่ความสมัครใจ 3. เมียกลางทาษี เป็นเมียที่ซื้อมาช่วยไถ่นา หรือเอาทาสในบ้านมาเป็นเมีย ผู้ชายสามารถมีกี่คนก็ได้ นอกจากนี้ยังมีเมียที่ได้จากยามศึกสงครามที่ถูกเรียกว่า เมียเชลย และเมียที่กษัตริย์พระราชทานถูกเรียกว่า เมียพระราชทาน ผู้ใดที่ได้รับจะต้องยกให้เหนือเมียทั้งหมด
บันทึกจดหมายเหตุของ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2231 บันทึกมีใจความว่า “คนไทยอาจมีภรรยาได้หลายคน เฉพาะคนมั่งมีเท่านั้นที่มีภรรยามากกว่าหนึ่งคน ทั้งนี้เพื่อแสดงว่ามีบุญบารมี มิใช่แสดงว่ามักมากทางกามรมณ์เสมอไป” จะเห็นได้ว่าการมีเมียหลายคนในอดีต เป็นสิ่งที่กฎหมายรับรองสิทธิเหล่านี้เอาไว้และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนในสังคม จุดประสงค์ของการมีเมียแต่ละประเภทเป็นเพื่อประโยชน์หรืออำนาจบางอย่าง ไม่ใช่แค่การตอบสนองความต้องการส่วนตัวเท่านั้น
ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2348 แดน บีช แบรดลีย์ หรือ หมอบรัดเลย์ นายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในฐานะมิชชันนารี ออกมาโจมตีระบบ ผัวเดียวหลายเมีย ว่าเป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย และความอัปยศของประเทศ มีการพูดถึงรัชกาลที่ 4 ในประเด็นเรื่องการมีเมียหลายคน และช่วงปี พ.ศ. 2406 ได้พิมหนังสือพิมพ์ชื่อว่า บางกอกรีกอเดอ (The Bangkok Recorder) หรือชื่อภาษาไทยว่า หนังสือจดหมายเหตุ เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ความคิดและระบบผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) ให้กับชาวสยาม แต่ระบบผัวเดียวเมียเดียวสมัยนั้นเป็นเรื่องใหม่ ผู้คนยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้มากนัก
หลังจากนั้นช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีแนวคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เป็นระบบผัวเดียวเมียเดียว ประกอบกับกลุ่มปัญญาชนที่ได้เรียนในยุโรป รับเอาค่านิยมตะวันตกแบบวิคตอเรียในเรื่อง ผัวเดียวเมียเดียวเข้ามา ต้องการเปลี่ยนแปลงสยามให้เป็นประเทศศิวิไลซ์ทัดเทียมตะวันตก รัชกาลที่ 6 ได้กล่าวในพระราชนิพนธ์ เรื่องการค้าหญิงสาว ใจความประมาณว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่ผิดที่จะกล่าวว่า การมีเมียน้อยเป็นประเพณีโบราณ ซึ่งคนไทยหนุ่มๆ สมัยใหม่ไม่ชอบเลย เพราะว่าเป็นประเพณีมีเมียหลายคน ซึ่งหนุ่มผู้ได้รับการศึกษามาแล้วอย่างฝรั่งร้องให้เลิก พวกหนุ่มๆ เหล่านี้ได้รู้แบบใหม่คือ เมียลับ ซึ่งเขาเห็นสมควรแก่ศิวิไลซ์ สมัยใหม่ซึ่งมีเมียออกหน้าแต่คนเดียวอย่างฝรั่ง” แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ
จนประเทศไทยเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย และปี พ.ศ. 2478 ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเป็นระบบผัวเดียวเมียเดียว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 บัญญัติการสมรสแบบผัวเมียเมียเดียวไว้ว่า “ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้” การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายครั้งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเมียน้อยเป็นอย่างมาก เดิมเมียน้อยถูกระบุว่าเป็นเมียประเภทหนึ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย กลับกลายเป็นคนที่ละเมิดกฎหมายและขนบทางสังคมชุดใหม่
ระบบผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) จึงกลายเป็นอุดมคติความรักแบบใหม่ในสังคม ผู้คนเชิดชูว่าเป็นอุดมคติที่สูงส่งของความเป็นครอบครัว เมื่อมีใครมาทำลาย ละเมิด หรือทำให้อุดมคตินี้สั่นคลอนถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดหมดทั้งหมด เมียน้อยจึงกลายเป็นปัญหาในระบบครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว
เมื่อระบบผัวเดียวเมียเดียวผูกกับศาสนาพุทธแบบไทยๆ เมียน้อยจึงกลายเป็นคนที่ผิดศีลธรรม เพราะเป็นคนที่ละเมิดศีลข้อ 3 ว่าด้วยเรื่องการประพฤติผิดในกาม เรื่องเพศถูกตีความว่า เป็นความมักมากในกามอารมณ์ ทั้งที่เมื่อลองสำรวจอรรถกถาธรรมบทที่เป็นหนังสืออธิบายธรรมบท ได้กล่าวถึงเรื่อง ท้าวสักกะ หัวหน้าเทวดา อดีตชาติของท้าวสักกะ เกิดเป็นมนุษย์ที่มีภรรยาทั้งหมด 4 คน แต่ด้วยความดีต่างๆ ที่ทำในชาตินั้น ทำให้ท้าวสักกะกลายเป็นหัวหน้าเทวดาในภพถัดไป จะเห็นได้ว่าการมีเมียหลายคนไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรมแต่อย่างใด และเมื่อลองพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่มที่ 1 ข้อที่ 428-429 สรุปใจความได้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามมีเมียหลายคน แต่เมียทุกคนต้องได้มาด้วยความชอบธรรม และไม่เบียดเบียนผู้อื่น
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคำว่า “เมียน้อย” ความหมายเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก อดีตเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดบาป อีกทั้งยังมีกฎหมายรับรองสิทธิของเมียน้อย แต่เมื่อรับเอาระบบผัวเดียวเมียเดียวที่เป็นแนวคิดตะวันตกเข้ามา และการนำศาสนาพุทธมาเชื่อมโยง ทำให้เมียน้อยกลายเป็นเรื่องผิดบาปและถูกตีตราจากผู้คนในสังคม
อ้างอิง
https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:113838
https://www.silpa-mag.com/history/article_63294
https://www.silpa-mag.com/history/article_28423
https://prachatai.com/journal/2018/03/76133
https://www.youtube.com/watch?v=kVgmR2mAOkQ