Culture

ชวนคุยกับ 4 ยอดฝีมือ “Naviskater” โปรเจกต์เนวิเกเตอร์เพื่อชาว Downhill

"เสน่ห์ของดาวน์ฮิลล์คือการท่องเที่ยว เพราะต้องเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ ถ้าเราไปเจอทางที่เล่นได้สนุกก็เหมือนถูกหวย อารมณ์เหมือนเราเดินเรือแล้วเจอเกาะใหม่ มันเลยเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่เราอยากแชร์ให้คนอื่นด้วย" เต้ - วรินทร์

ถ้าพูดถึงกีฬาที่ผสมผสานระหว่างความท้ายทาย การสัมผัสธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเอาไว้ในอย่างเดียวกัน คงไม่มีใครไม่นึกถึง Downhill Skateboard การเล่นสเก็ตบอร์ดบนทางลาดด้วยความเร็วไปพร้อมกับดื่มด่ำธรรมชาติให้ฉ่ำปอด ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ยากจะหาได้จากที่ไหน แต่การจะเก็บความสนุกและสถานที่เจ๋งๆ เอาไว้คนเดียว ไม่ใช่สไตล์ของ เต้ - วรินทร์ สันตะบุตร (Warin Santaputra) มะปราง - นวพรรณ อังอินสมบัติ (Nawapan Aunginsombut) เพลง - สนธยา แดงมี (Sonthaya Dangmee) และ พีท - กฤษณะ ประเสริฐพรรณ (Kritsana Prasertpan) เพราะความสุขของนักกีฬามากฝีมือทั้ง 4 คนนี้ คือการได้ออกไปเล่นดาวน์ฮิลล์กับคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด  “Naviskater” ขึ้นมา

Naviskater กับการเป็นมากกว่าเพจของชาวสเก็ต

ย้อนกลับไปเมื่อตอนมีแคมป์เก็บตัวนักกีฬาสเก็ตบอร์ดทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ 2019 “เต้” พี่ใหญ่ของกลุ่มที่รับหน้าที่เป็นโค้ชในขณะนั้นเล่าให้เราฟังว่า มีโอกาสเจอกับนักกีฬาอย่างมะปราง พีท และเพื่อนของนักกีฬาอีกทีอย่างเพลง ซึ่งความสนิทสนมที่เกิดขึ้นระหว่างนั้น ทำให้หลังจากจบภารกิจแข่งขันไปแล้ว ได้ปิ๊งไอเดียที่จะมารวมตัวกันทำโปรเจกต์ Naviskater เพื่อออกไปค้นหาเส้นทางดาวน์ฮิลล์ใหม่ๆ ในประเทศไทย

“Naviskater มาจาก Navigator + Skater หรือการนำทางผสมกับสเก็ตเตอร์อย่างพวกเรา การที่เราออกไปท่องเที่ยวแบบนี้ก็เพราะอยากหาที่เล่นใหม่ๆ เพื่อเก็บประสบการณ์ พัฒนาฝีมือให้พร้อมกับการแข่งทั้งในและนอกประเทศ และอยากให้คนเล่นดาวน์ฮิลล์คนอื่นเห็นว่าเมืองไทยก็เหมาะกับการเล่นกีฬานี้ มีหลายจังหวัดที่เล่นได้ ซึ่งตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เราออกไป 12 EP หรือ 12 จังหวัดแล้ว”

Downhill Skateboard กับเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร 

เต้: ผมว่าเสน่ห์ของมันคือการได้ท่องเที่ยว ผมเล่นสเก็ตบอร์ดแบบสตรีทมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่พักไปช่วงเรียนมหา’ลัย ต่อมากหลังจากเบื่องานประจำแล้วลาออก เลยมานั่งค้นหาตัวเอง ทำกิจกรรมทุกอย่าง จนมาจบที่ลองบอร์ด เรารู้สึกว่าเออมันใช่ว่ะ มันคือความรู้สึกนี้เลยที่เราตามหาอยู่ 

มะปราง: เราเล่นลองบอร์ดมานานแล้ว แต่เพิ่งมาจริงจังกับดาวน์ฮิลล์ได้ประมาณ 3 ปี เพราะหลงใหลในการทำตัวเองให้มีสมาธิในความเร็ว การตัดสินใจทำอะไรในช่วงเวลาแค่แป๊บเดียวแล้วเราคุมอยู่ มันสุดยอดเลย

เพลง: มันทำให้เราได้จดจ่ออยู่กับตัวเองมากกว่าการใช้ชีวิตทั่วๆ ไป ได้ฝึกจิตใจตัวเองอยู่ตลอด ได้ฝึกการวางแผนหลายแบบ ได้อยู่กับเพื่อนที่ชอบเล่นอะไรเหมือนกัน ได้ใช้ความเร็ว ได้เจอธรรมชาติ รู้สึกเป็นอิสระ

พีท: ดาวน์ฮิลล์มันอนุญาตผมให้เป็นตัวเองที่สุดแล้ว เพราะผมรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อม การทำงาน การเข้าสังคมมันไม่ได้อนุญาตให้เราเป็นตัวเอง 100% ขนาดนั้น

เวลาที่เจอเรื่องเฟลๆ เคยคิดที่จะเลิกเล่นกันบ้างไหม

เพลง: ผมนี่เจ็บบ่อยเลยเพราะห้าว (หัวเราะ) คางแตกเพราะชนกับจักรยานก็เคยมาแล้ว แต่ไม่เคยคิดจะเลิกเล่นนะ มีแต่อยากเล่นให้ดีขึ้น อยากเอาชนะมันให้ได้ เพราะไหนๆ ก็เจ็บตัวแล้ว ถ้าวันไหนมีแผลก็จะมองบวก แบบว่าแผลแค่นี้เอง ไม่เจ็บหนัก ค่อยยังชั่ว 

มะปราง: เคยเจ็บหนักสุดคือล้มแล้วกระดูกแตก เพราะคุมบอร์ดไม่อยู่ แต่ไม่ได้เฟลเพราะเจ็บ เราเฟลเพราะต้องพักซ้อมนานมากกว่า แต่ก็ไม่เคยอยากเลิกเล่น มีแต่อยากเก่งกว่าเดิม หลังจากนั้นมาก็เลยพยายามให้ตัวเองเจ็บน้อยที่สุด 

การเดินทางแต่ละครั้งของ Naviskater

เต้: เราจะไปเมืองรองเป็นหลักเพราะรถน้อย การเล่นบนถนนของเราจะได้ไม่ไปรบกวนใคร เลือกด้วยการเปิด Google Earth หาถนนชนบทที่เป็นภูเขาสูง ความยาวได้ โค้งพอประมาณ สภาพถนนโอเค แล้วก็ลุยไปเลย 

“เราไม่ได้เตรียมอะไรมากมาย ก็เหมือนเที่ยวไทยทั่วไป หลายคนอาจคิดว่าการเดินทางแบบเราดูลำบาก ใช้เงินเยอะ แต่จริงๆ แล้วเที่ยวไทยในเมืองรองมันง่ายมาก โรงแรม ปั๊มน้ำมัน ถนนสะดวกหมด ค่าใช้จ่ายต่อทริปก็ถูก 400 – 500 บาทก็เช่าโรงแรมนอนสบายแล้ว แค่ดูเวลาว่างให้ตรงกัน คืนเดียวก็ไปได้ เพราะอุปกรณ์เราพร้อมใช้งานตลอดอยู่แล้ว” 

มะปราง: เราจะเตรียมซ้อมก่อนเลย เพราะว่าการดาวน์ฮิลล์จริงๆ มีเวลาค่อนข้างน้อย ยิ่งเวลาต้องถ่ายคลิป ยิ่งต้องทำให้มันรวดเร็ว กระชับที่สุด 

สถานที่ดาวน์ฮิลล์ที่อยากแชร์

พีท: ผมประทับใจจังหวัดแพร่ เพราะเป็นเมืองรอง รถน้อย อยู่ติดภูเขา ไปที่ไหนก็มีแต่ที่ทางให้เล่น ผู้คนน่ารัก 

มะปราง: เราชอบภูเก็ต เพราะบรรยากาศดี อากาศดี วิวสวย มีทั้งทะเลและภูเขา แล้วก็ได้เจอกลุ่มเพื่อนๆ ที่เล่นดาวน์ฮิลล์อยู่แล้ว เลยมีกิจกรรมให้ทำเยอะ 

เพลง: หาดใหญ่ครับ เป็นเมืองเงียบที่ธรรมชาติสมบูรณ์ มีกลุ่มเพื่อนที่เล่นอยู่แล้ว และทางสถานที่ที่เราไปเล่นกัน ผู้ใหญ่ก็สนับสนุนด้วย 

เต้: ปราจีนบุรี ใกล้กรุงเทพสุดเลยแต่เป็นจังหวัดที่คนลืม ทั้งๆ ที่มันอยู่ติดเขาใหญ่เหมือนโคราช เป็นผืนป่าเดียวกัน เขาเดียวกัน เราไปเล่นกันที่ “เขาอีโต้” ทางมันเล่นได้ดีเลย มีเขาในตัวเอง และเป็นพื้นที่ที่เขาสนับสนุนเรื่องกีฬาโดยเฉพาะ 

ตั้งเป้าหมายให้ไกลกว่าเดิม

เห็นว่านอกจากออกไปค้นหาสถานที่ใหม่ๆ แล้ว Naviskater ยังได้ทำอะไรอีกหลายอย่างระหว่างออกทริป 

เต้: ตอนที่เราไปเขาอีโต้ ได้มีโอกาสร่วมกับทางอุทยานจัด NAVISKATER Enjoy The PAVEMENT งานแข่งกระชับมิตรที่ชวนมือใหม่มาเล่นด้วยกัน กระแสตอบรับดีมาก หลายคนอยากให้จัดอีก เพราะถ้ารอไปแข่งงานใหญ่ คนมือใหม่แทบจะไม่มีโอกาสที่จะได้สนุกจริงๆ หรือได้เข้ารอบลึกเลย ส่วนในปีนี้ก็มีตั้งเป้าไว้ว่าเวลาไปเล่นที่จังหวัดไหนก็จะไปโดเนทสเก็ตบอร์ดให้ 1 โรงเรียนที่ขาดโอกาสด้วย เพื่อแชร์ความสุขกับคนอื่นอย่างเป็นรูปธรรม

เทคนิคเล่น Downhill สไตล์ Naviskater

ในสายตาของ Downhill Skater มือใหม่และเพื่อนๆ ในวงการ ส่วนมากจะชื่นชมฝีมือของแก๊ง Naviskater มากๆ อยากรู้ว่าพวกคุณมีเทคนิคในการเล่นหรือพัฒนาฝีมืออย่างไรกันบ้าง

พีท: สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัย เราต้องรู้ว่าเล่นยังไงไม่ให้ไปทำคนอื่นเขาเจ็บหรือตัวเองเจ็บเอง ซึ่งบางคนอาจไปให้ความสำคัญกับการอัปเกรดอุปกรณ์จนลืมโฟกัสสิ่งนี้ไป 

มะปราง: เตรียมร่างกายให้พร้อมเสมอและฝึกสมาธิ เพราะผู้หญิงจะมีความวูบวาบมากกว่าผู้ชาย การจะทำให้สมาธิ อารมณ์คงที่จะค่อนข้างยากกว่า และสำคัญคืออุปกรณ์ Safety หมวกกันน็อค ถุงมือ สนับเข่า-ศอก กางเกงกันกระแทก ต้องครบ

เต้: เรื่องความเก่งบางคนอาจจะมีพรสวรรค์ แต่สำหรับผมมันมาจากการฝึกซ้อม การฝึกซ้อมเท่านั้นที่จะทำให้เล่นได้ดีขึ้น เก่งขึ้น ถ้าเวลาน้อยจะซ้อมทุกวันวันละ 15 นาทีก็ยังดีกว่าไม่ซ้อมเลย บางคนอาจจะมองว่าดาวน์ฮิลล์เป็นกิจกรรมสำหรับคนบ้าคลั่งความเร็ว แต่จริงๆ มันก็คือกีฬาอย่างหนึ่งที่ต้องการการฝึกซ้อม เพื่อให้กล้ามเนื้อจดจำและเล่นได้อย่างปลอดภัย 

“Slow is Smooth, Smooth is Fast ทำทุกอย่างอย่างช้าๆ แล้วมันจะราบรื่น ไม่มีสะดุด และไปได้เร็วเอง”

ติดตามและอัปเดตกิจกรรมมันส์ๆ ทั้งหมดได้ที่ 

Facebook: Naviskater

Instagram: naviskater