Culture

พื้นที่ตำนานแห่งเสียงเพลง 'ท่าพระจันทร์' หวนย้อนความหลัง ก่อนยุคแย่งกดบัตรคอนสุดเดือด

เสียงดนตรียังคงเปิดบรรเลง คละเคล้าสร้างสีสันบนพื้นที่แห่งความทรงจำ บริเวณท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา ‘ร้านน้อง’ ท่าพระจันทร์ พื้นที่แลกเปลี่ยนทางเสียงดนตรี ตำนานแห่งเสียงดนตรีรุ่นเก๋าที่หลายคนคุ้นหู ผู้บุกเบิกตั้งแต่เข้าแผ่นเสียง เทป ที่โด่งดังไปพร้อมกับความพีก ของรายการเพลงวิทยุแห่งยุคสมัย และปัจจุบันยังคงยืนหยัดให้บริการด้วยแพชชั่น ในฐานะผู้เปิดอยู่ในวงการเพลงมาอย่างยาวนาน พร้อมใจให้กับหลากหลายแนวเพลง จนเกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ทางดนตรีที่หายาก ท่ามกลางยุคสมัยการเสพเพลงดิจิทัล 'รูปแบบของการสตรีมมิง'

บทสัมภาษณ์ ‘พี่นก’ – อนุชา นาคน้อย วัย 58 ปี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งร้านน้อง ที่เปิดให้บริการแก่แฟนเพลงกว่า 44 ปี

กำเนิด ‘ห้องสมุดแห่งเสียงเพลง’ พื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนทางดนตรี

พี่นกได้เล่าจุดเริ่มต้นของเปิดร้านแห่งนี้ เกิดมาจากความสนใจ และแพชชั่นในการฟังเพลงที่ซึมซับมาจากครอบครัว

“ตอนเปิดร้านคิดว่าเป็นเรื่องของงานอดิเรก ตอนที่พี่เปิดมีพี่ชาย พี่หน่อย พี่น้อง พี่หนุ่ม แล้วก็พี่ โดยพี่หน่อยเป็นคนริเริ่ม ก็คือตอนนั้นทำงานแล้ว อยากเปิดธุรกิจเล็กๆ เป็นงานอดิเรก
เราเคยไปซื้อร้านเทปในยุคนั้นแล้วเราเด็กมาก เขาไม่ได้สนใจเรา เราก็รู้สึกว่าถ้าเรามีเพลงแบบนี้เหมือนอยู่ในบ้านเรา แล้วเราสามารถเลือกฟังทุกอย่างที่เราชอบ มันน่าจะเป็นอะไรที่น่าสนุก เราก็เลยเริ่มมีพื้นที่ขายเล็กๆ สิ่งที่เราสั่งมาขาย มันมาจากสิ่งที่เราชอบ
พี่ตื่นทุกเช้าด้วยเสียงปลุกจากเพลงที่คุณพ่อเปิด ยุคพี่คือ สยามมานุสสติ ก็จะมีเพลงหนักแผ่นดินอะไรพวกนี้ ฉะนั้น เราได้ฟังเพลงทุกเช้าอยู่แล้ว หลังจากนั้นดนตรีเพลงสากลค่อยๆ เข้ามา เริ่มต้นจาก I.S. Song Hits มีอะไรต่างๆ นานา ที่ซัพพอร์ตเรื่องการฟังเพลงเยอะขึ้น มีสถานีวิทยุที่เปิดเพลงฝรั่งอยู่ไม่กี่สถานี
คุณพ่อ คุณแม่ พี่เป็นคนฟังเพลงอยู่แล้ว เริ่มมาจากตรงนั้น มันเริ่มจากการเลือกซื้อของขวัญให้พ่อ พี่ซื้ออัลบั้มเพลงหม่อมถนัดศรี สวัสดิวัตน์ให้พ่อเป็นของขวัญในยุคนั้น คือหม่อมถนัดศรีเนี่ย พ่อก็ฟังได้ แม่ก็ฟังได้ ตอนนั้นเป็นช่วงที่ท่านพีกมาก ทุกคนรู้จัก”

'วิทยุ' สื่อกลางความบันเทิงคลาสสิก เปิดกว้างจริตฟังดนตรีอย่างครบรส

“สมัยก่อนไม่ว่าคุณเริ่มต้นฟังเพลงอะไรก็แล้วแต่ คุณต้องเริ่มจากฟังวิทยุเป็นหลัก เพราะว่าเราฟังได้จากสื่ออย่างเดียว คือ วิทยุ แล้วอันไหนที่เราชอบต้องฟังจากแผ่นเสียง ในยุคพี่โตจากแผ่นเสียงแล้วก็ค่อยๆ ขยับ พอตอนเปิดร้านธุรกิจเทปมันเริ่มบูม เป็นช่วงแรกๆ เลย 2 ธันวาคม 2522 ปีนี้เข้าปีที่ 44 แล้ว
ตอนนั้นพี่เป็นเด็ก เราไม่ได้มีรายได้เยอะแล้วเรามาเจอผู้คน พี่เรียนมัธยมที่สวนกุหลาบ ตอนที่เปิดร้านนี้ คิดดูว่าเราจะเจอคนมากน้อยขนาดไหน แต่การที่เราเปิดร้านตรงนี้เราได้เจอคนที่คุยกับเรา แบบบางคนที่มีความรู้เรื่องเพลงมากกว่าเรา แล้วก็มีเพื่อน พี่รู้สึกว่าการที่เรามาทำงานตรงนี้ เราได้เพื่อน เราได้คนที่มาแลกเปลี่ยนการฟังเพลง
สมมติว่าวันวันหนึ่ง 24 ชั่วโมง เราเปิดสถานีวิทยุ วันนึงเราก็ฟังได้แค่ช่องเดียว เราก็เปลี่ยนมู้ดไปเรื่อยๆ แต่การที่เราเปิดร้านเรามีหลายๆ คนที่มาคุยกับเราเรื่องเพลง พี่ว่าเราทำให้มันแลกเปลี่ยนความรู้ได้เยอะขึ้น ได้เร็วขึ้น เหมือนมีคนมาบรีฟเพลงให้เราฟังตลอด เราก็เลยรู้สึกว่าสนุก คือมันมีตั้งแต่ ลูกทุ่ง แจ๊ส ร็อก มีครบอะ มีทุกอย่างเลย มีหมอลำ
ถ้าถามว่าพี่ฟังหมอลำไหม ยุคเด็กๆ พี่ไม่ได้ฟังแต่เราก็ต้องรู้จัก หมอลำดังมากใช่ไหม แต่สมัยก่อนมันก็มีไม่กี่ค่ายที่ทำเพลงพวกนี้ เราก็ต้องรู้จัก เราก็ต้องหาเข้ามาเพื่อซัพพอร์ตคนที่ฟังเพลง แต่เผอิญเราโชคดีที่อยู่ใกล้ย่านมหาลัย เราก็เลยได้ฟังเพลงฝรั่ง มันเป็นตลาดที่โตสุด ตอนนั้นมันก็มี Peacock มีหลายๆ ค่ายก่อนที่จะมี EMI ก่อนจะมีค่ายลิขสิทธิ์ออกมา"

'เทปออกใหม่' ต้องฟังก่อนใคร! ต่อแถวแน่นท่าเรือ ก่อนยุคแย่งกดบัตรคอน

“บรรยากาศตอนนั้นนึกถึงการซื้อบัตรคอนเสิร์ต แต่เทปเนี่ย มันมีคนมายืนต่อคิว เพื่อที่จะซื้อแบบนั้น อารมณ์แบบบัตรคอนเสิร์ตอะ ยกตัวอย่างช่วงที่มันเริ่มพีกมากๆ ที่สุดเนี่ย Bakery Music เขาจะมีสายส่งสยาม ส่งย่านนี้ แล้วของพี่ค่อนข้างจะหลุดฉีกจากคนอื่น คนอื่นเขาอยู่ใจกลางเมือง ของพี่คือปีกเมืองแล้ว มีคนมารอว่า สินค้าที่เป็นของ Bakery เนี่ย จะเข้ามาในร้านกี่โมง ก็มายืนรอในร้านตั้งแต่นั้น สมมตินัดว่า วันนี้เป็นวันที่เริ่มจากจำหน่าย ก็จะมีตั้งแต่เช้าๆ มีคนมายืนรอ แต่ก่อนทุกอย่างมันต้องมายืนรอเอง ยังไม่มีระบบที่จ้างคนมายืนรอ
อย่าง NUVO เป็นกระแสของวัยรุ่นในยุคนั้น น้องๆ นาฏศิลป์มายืนรอ ตอนนั้นร้านพี่ไม่ได้มีพื้นที่เยอะขนาดนี้ เป็นร้านเล็กๆ ใช้คำว่าเป็นแผงดีกว่า น้องนาฏศิลป์ น้องจากสตรีวัดระฆัง น้องๆ เด็กๆ มายืมล้อม รอว่าเมื่อไรฉันจะได้เทปม้วนแรกๆ ของ NUVO ในยุคนั้นเนี่ย มันเหมือนเราไปดูบัตรคอนเสิร์ต ร้านเราไม่ได้ใหญ่มากเรียกได้ว่า มันปิดทางเดินท่าพระจันทร์อย่างนี้ดีกว่า
ช่วงพีกๆ สมัยก่อนเราเปิดร้านตั้งแต่ 9 โมง ตั้งแต่เปิดร้าน ก็มีคนมารอ ยิ่งเป็นวงที่เขาพีกมากๆ ไทม์มิ่งก็อาจเป็นเที่ยงๆ บ่ายๆ ก็แล้วแต่ เวลาปิดมันแล้วแต่อารมณ์ตอนนั้นท่าเรือมันยังเปิดถึงเที่ยงคืน เราเคยเปิดร้านถึงเที่ยงคืนสมัยก่อน คือ คนยังเดินข้ามไปขึ้นเรืออยู่ ตอนนั้นรถไฟสายใต้ยังอยู่ที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นเราจะได้ลูกค้ากลุ่มรถไฟกลับต่างจังหวัด กลับสายใต้มาหมุนเวียนจนเราปิดร้านอะ
ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่เข้ามา เราเป็นร้านแรกๆ ที่ขายบัตรคอนเสิร์ต ก่อนที่จะมีออนไลน์ ก็ทำให้คนรู้จักร้านน้อง เราจะมีสื่อวิทยุออกไปว่า จำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตที่ร้านน้องที่พระจันทร์ ก็เป็นความโชคดีที่ช่วงนั้นเรื่องของออนไลน์ยังไม่มี คนก็จะรู้ว่าบัตรคอนเสิร์ตถูกฝากขายที่ร้านน้องท่าพระจันทร์

อย่าง เฉลียง, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ อันนั้นก็พีกมาก พี่จำได้ว่าคนมายืนรอตั้งแต่หน้าร้าน จนถึงประตูธรรมศาสตร์ เพื่อจะซื้อบัตรคอนเสิร์ต ถ้าเป็นคอนเสิร์ตสากล พวกค่ายเพลง Nite Spot จัด มันก็จะมีขายที่ดวงกมล มีขายหลายๆ ที่ ซึ่งทาร์เก็ตที่เป็นต่างชาติอาจจะไม่เท่ากับทาร์เก็ตเพลงไทย
ตอนนั้นพี่ยังเด็กอยู่ ต้องบอกว่าพี่ๆ ธรรมศาสตร์ มาต่อแถวต้องเรียกว่าพีกมาก ตอนนั้นไม่แน่ใจว่าขายที่นี่ที่เดียวหรือเปล่า คือ มันพีกมาก จนมีช่องสถานีโทรทัศน์มาทำข่าวอะ คือ มันแน่นเป็นปรากฏการณ์จนเขามาทำข่าว
ตอนนั้นมีพี่จรัญ มโนเพ็ชร ออกอัลบั้มใหม่ พี่จรัญก็เหมือนมาเล่นหน้าร้านด้วย เล่น สะล้อ ซอ ซึง อันนั้นก็เป็นปรากฏการณ์เหมือนกัน แล้วก็มีวางจำหน่ายสินค้าของพี่จรัญ”

ฝากจดหมายเขียนจากใจถึง 'ดีเจ' เพื่อนยามเหงา เสน่ห์สมัยแอนะล็อก

“พี่ว่าจริงๆ แล้ว ตอนนั้นเนี่ย สิ่งที่มนุษย์ทั่วไปทำก็คือ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ มันเป็นกิจกรรมแค่นี้ ยังไม่มีโซเชียล เพราะฉะนั้นคนกลับบ้านไปก็ดูหนัง ฟังเพลง ฟังวิทยุ เป็นสิ่งที่ทำให้วงการดนตรีมันเป็นอะไรที่ทำให้คนที่อยู่บ้านคนเดียวก็อยู่กับมัน ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือ ไม่ได้ดูหนัง แต่ก่อนรายการทีวีก็ไม่ได้มีหนังหลายช่องให้คุณได้เลือกดูเท่านี้ มันก็จะมีคืนวันศุกร์ที่เป็นช่อง 7 ที่มีหนัง และ ช่อง 9 ก็จะมีเป็นเวลา หนังที่จะได้ดูมันไม่ได้พีกเท่าตอนนี้ เดี๋ยวนี้คุณดูออนไลน์ได้ อะไรก็แล้วแต่ ตอนนี้มีไม่กี่อย่าง
การฟังเพลงอย่างรายการรถไฟดนตรี ของพี่ระย้า ก็มีการอ่านจดหมายจากแฟนคลับที่เขียนเข้าไป พี่ระย้าอ่านกลอน แล้วก็เล่าให้ฟัง เหมือนการพูดคุยก่อนเข้าเพลง มีการพูดกล่าวนำ พี่ว่ามันเป็นอะไรที่มีเสน่ห์ แล้วคนฟังก็เหมือนมีเพื่อนที่ได้แลกเปลี่ยนกัน อย่างตอนนั้น รายการ Nite Spot วาสนา วีระชาติพลี ก่อนจะเข้าเพลงก็จะมีการเล่าแบ็กกราวด์ของเพลง คุยที่มาของเพลง มีการเอาเพลงที่พี่เขาเดินทางไปแล้วได้ซิงเกิลใหม่มาเปิดก่อนที่อื่น อะไรอย่างนี้ เรารู้สึกว่า ถ้าต้องรอฟังคนแรกๆ ก่อนที่จะเริ่มวางขาย  
อย่าง Nite Spot ทำนิตยสารเล็กๆ แจกฟรี ก็จะมีเนื้อเพลงที่อยู่ในนั้น เราไม่ได้เป็นคนที่หูเทพแบบฟังภาษาอังกฤษได้หมด ก็จะได้อ่านเนื้อเพลงจนครบ และเข้าใจความหมายของมัน เช่น ยุคนั้นมีนั้นเพลง Walking In The Rain เพลงมันปล่อยมาช่วงหน้าฝน เรารู้สึกว่า โห เขียนดีได้ขนาดนี้ ซึ่งเราไม่ได้เป็นคนที่เก่งภาษาอังกฤษแล้วเข้าใจทุกเรื่องราว แต่เรารู้สึกว่า การที่เราฟังเพลง ทำให้เราขยันอ่านภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น เดี๋ยวนี้มันมีอินเทอร์เน็ตไง เสิร์ชไปก็มีคนแปลให้เรียบร้อย
สมัยก่อนมันเป็นเทปใช่ไหม เราอยากฟังเนื้อหาบางทีเขาร้องเร็วเราฟังไม่ทัน เราก็กดหยุดจดเนื้อเพลงที่เราได้ยิน ถูกหรือผิดก็ไม่รู้นะ พอมันมีสื่อหลากหลายก็ดีขึ้น มีหนังสือ I.S. Songs มันเป็นเหมือนอะไรที่เราต้องจ่ายเงินฟุ่มเฟือยเพื่อซื้อมัน เราเลยไม่ได้ซื้อทุกเล่ม ซื้อแต่เล่มที่เราสนใจ
พี่ฟังทุกแนวเพลง เราก็เคยที่จะเขียนจดหมายไป แล้วก็แบบว่า เมื่อไรดีเจท่านนั้นจะอ่านจดหมายแล้วเปิดเพลงที่เราขอ ถัดไปก็จะเป็นยุคยกหูโทรศัพท์ คุณหมุนในช่วงเวลานี้แล้วคุณขอเพลงได้ แต่พี่เป็นประเภทฟังทุกอย่าง แล้วมีความพยายามสูงที่จะฟังทุกแนว”

“ยุคที่เราเด็กๆ เราต้องรอฟังดีเจอ่านจดหมายว่า เห้ย มันโดนใจพี่ดีเจแล้วเปิดให้ฟัง”

“เราน่าจะเป็นร้านแรกๆ ที่ขายสินค้าลิขสิทธิ์ในยุคนั้น แล้วเราก็มีความโชคดีตรงที่จะได้ Sample ให้เราฟังก่อน ก่อนที่จะเริ่มวางขาย เพราะเซลจะต้องเอาเพลงมาเสนอเราว่า อัลบั้มนี้จะออกเมื่อวันที่เท่าไร เราก็จะมีโอกาสได้ฟังก่อน เพราะฉะนั้นเราถือว่าเราได้ฟังใกล้ๆ กับดีเจ นึกออกไหมของที่จะเอาไปเปิด แต่เราก็ได้ฟังครบทั้งอัลบั้มเพื่อจะได้สั่งซื้อสินค้าเข้ามา ก็เลยเป็นข้อดี ที่เราจะได้เก็งตลาดได้ว่า อันนี้เราควรจะสั่งมาก อันนี้ควรจะสั่งน้อย ตามจริตของเรา
ร้านเราน่าจะเป็นช่วงแรกๆ ของ Hot Wave เลยที่มีการแจกใบสมัครการประกวด แล้วเราก็จะมีพี่ดีเจจัดอันดับเพลง เขาจะโทรมาถามเราเกี่ยวกับยอดขายเพลงฮิต ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นวันพฤหัสฯ ช่วงบ่าย 2 เราต้องทำโทรศัพท์ให้ว่าง เขาจะโทรเข้ามาให้เรารายงานการจัดอันดับว่า วันนี้ร้านน้องขายเทปอะไรได้ยอดดี”

'เปิดพื้นที่เวทีแจ้งเกิด' คอนเน็กศิลปิน กับ แฟนเพลง

“สมัยก่อนจะมียุคที่ทำเทปคาสเซ็ท ก็จะมีศิลปินเปิดหมวกมาเล่นเป็นจุดที่ทำให้เราได้เจอศิลปินที่ยังไม่เข้าค่าย ซึ่งตอนนั้นกระแสอินดี้ก็มีแล้ว แต่ว่าก็ไม่ได้มีเท่านั้น อย่างตอนนั้นเนี่ย พี่มาลีฮวนน่าทำเทปมาให้เราจำหน่ายในยุคแรกเลย เป็นม้วนแรกๆ ของเขาเลย

เราเปิดพื้นที่ให้คนมาเผยแพร่เลย ทุกวันนี้เราก็ยังทำอยู่ เพียงแต่น้องๆ หลายคนก็อาจจะคิดว่า พื้นที่ร้านเราเล็กเกินกว่าที่จะมาเล่น อย่างตอนที่เราเคยทำอยู่ที่ช่างชุ่ย มันมีอุปกรณ์ครบ น้องๆ ก็ไปแจ้งเกิดจากที่นั่น เพราะเรามีพื้นที่ มีเครื่องเสียงอะไรทุกอย่างอยู่ ก็เลยเป็นพื้นที่แจ้งเกิดสำหรับหลายๆ วง เป็นวงไทยที่เรารู้จักตอนนี้เคยเล่นที่ร้านน้อง ช่างชุ่ย ตั้งแต่สเตจแรกๆ เลย เอาง่ายๆ เลยอย่าง Whal & Dolph, Tilly Birds, Three Man Down
ตอนนี้เพิ่งครบรอบ 5 ปี ที่ 3 วงนี้ไปเล่นที่นั่น จริงๆ เขามีศักยภาพกันอยู่แล้ว แต่เผอิญตรงนั้นมีเวทีที่สามารถไปเล่นได้โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย มันก็เลยเป็นที่ที่ทำให้คนรู้จักมากขึ้น
ตอนนั้นก็มีวงที่ต้องใช้คำว่ามาจากศูนย์ อาจจะเพิ่งเริ่มทำเพลง เราตั้งเงื่อนไขไว้อย่างหนึ่ง คือ ขอให้มีของที่เป็น Physical ที่ให้แฟนเพลงถือกลับไปได้บ้าง เนื่องจากหลายๆ คนยังไม่ได้ทำตัว Physical แต่โอเค ถ้ามี Merchandise ให้แฟนเพลงซื้อกลับไป อย่างน้อยเพื่อให้ศิลปินรู้ว่า ได้รับการสนับสนุน ได้อะไรกลับไป เราจะให้คนฟังถ่ายรูปแล้วเป็นความทรงจำเฉยๆ เหรอ
พี่อยากให้คนที่มายังสามารถเอาเพลงที่เราฟัง กลับไปฟังซ้ำๆ แล้วบอกต่อๆ กัน พี่อยากให้แฟนเพลงเขาได้มีเพลงกลับไปฟัง แต่ตอนนี้อาจจะทำเป็นเสื้อ หรืออย่างน้อยเป็นที่ระลึกได้ เราพยายามจะทำให้เป็นแบบนั้น ตอนนี้เราก็ยังทำอยู่เป็นส่วนเล็กๆ ที่เราได้สนับสนุนเขา”

“ตอนนี้เขาอาจจะมองว่าทำใน Streaming มันง่ายกว่า เขาอาจจะไม่ได้มองถึงการทำผลงานเป็นชิ้นที่จับต้องได้ออกมาตรงนี้ คุณอาจจะมีแฟนคลับ 500 หรือ 1,000 คน แต่การที่คุณมาเล่นตรงนี้คุณอาจจะได้แฟนคลับใหม่ๆ ที่สัญจรมา”

“ร้านเราก็ทำช่องคนทำเพลงพบคนฟังเพลง ซึ่งช่วงนี้เราไม่ค่อยได้อัพอะไรลงไป แต่ตอนนี้เรามีช่อง TikTok มีคลิปสั้นๆ เป็นคลิปลูกค้าที่มาซื้อแผ่นเสียงกับเรา พยายามทำให้เข้าถึงทาร์เกตกลุ่มที่เป็นเด็กเพิ่มขึ้น"


หวนคิดถึงท่วงทำนอง 'แผ่นเสียง' คุณภาพที่ไม่เคยจางตามกาลเวลา

“พี่จะเล่าให้ฟังว่า Streaming คุณภาพได้ระดับหนึ่ง เพราะถูกอัดให้เป็น mp3 พอเป็นซีดีก็ได้คุณภาพดีขึ้น จะถูกบันทึกที่ 16 บิท แล้วก็จะมาเป็นแผ่นเสียงซึ่งเป็นไฟล์แอนะล็อกที่เสมือนจริงมากที่สุด คือ ท้ายที่สุดคนก็ต้องหันมาฟังแผ่นเสียง แล้วตอนนี้น้องศิลปินหลายๆ คนก็หันมาทำแผ่นเสียงเป็นหลัก เลยกลายเป็นว่า ‘คุณภาพที่เราฟังมันใกล้เคียงกับที่เราไปนั่งฟังเขาเล่นสดมากที่สุด ฉะนั้นมันเลยมีเสน่ห์ของมัน‘

อย่างวง Yew เอาของมาลงขาย เรียกได้ว่า หายใจเฮือกเดียวก็หมด ถือว่าตลาดดี อย่าง Safeplanet ก็ทำออกมาแล้ว Yented หรือ Dept ก็ออกแผ่นเสียงมาเป็นอัลบั้มที่ 2 แล้ว รวมถึง Phum Viphurit ก็ออกอัลบั้ม 2 แล้ว ซึ่งกระแสดีมากต้องออกไปทำที่ญี่ปุ่นด้วย อย่าง HYBS ตัวเลขมหาศาลเลย
คนที่รักในเสียงดนตรีมันมีเยอะ แค่คุณจะทำยังไงให้เข้าไปถึงคนฟังพี่มองว่าอย่างนั้นนะ เอาง่ายๆ ว่า ทุกคนมีดนตรีในหัวใจแล้วแต่ว่า คุณจะแสดงออกอย่างไร คุณอาจจะเต้น ร้อง หรืออาจจะแค่ถ่ายคลิปแล้วเอาเพลงไปประกอบ เพราะฉะนั้นเรามีเมโลดี้กันอยู่ในหัวอยู่แล้ว
ก็ยังมีลูกค้าเก่าๆ เยอะเลยที่ยังนึกถึงร้านน้อง มันก็จะมีคนอย่างตอนที่เราไปออกบูท ก็จะได้เจอคนมาหาเรา เนื่องจากปกติแล้วมาไม่ได้เพราะอยู่ไกล ที่มาอุดหนุน มารำลึกความหลัง มาให้เราช่วยเลือกเพลง แนะนำเพลงเสน่ห์ของเรา คือ การแสดงความจริงใจให้เขา ด้วยประสบการณ์ฟังเพลงของเรามันเยอะมาก เลยมีการแลกเปลี่ยนทัศนคติในการฟังเพลงได้เยอะ
ถามว่าจะมีคนสักกี่คนที่ฟังเพลงทุกแนว ไม่หรอก แต่ว่าพี่ต้องเลือกสินค้าเข้ามาในร้าน เราต้องผ่านกันฟังแหละ เราต้องฟังเพื่อทำการบ้านว่าชอบมาก ชอบน้อย อาจจะมีแบบชอบน้อยมากแต่เรารู้สึกว่าเรามีทาร์เก็ตที่สามารถแลกเปลี่ยนกับลูกค้าได้ เช่น Nu Metal, Death Metal ก็ฟังยาก พี่ก็ไม่ได้เป็นคนที่ฟังเดธจนจบทั้งแผ่น แต่มันก็มีเสน่ห์ของมันแต่ละเพลง

“ฉะนั้นมันไม่มีข้อกำหนดว่า คุณจะต้องฟังแนวไหน เพียงแต่ว่าจังหวะไหนคุณอยากฟังอะไรมากกว่า บางอารมณ์คุณอาจจะอยากฟังคลาสสิกเบาๆ  แต่ว่าวันนี้คุณอยากฟังแบบฮึกเหิมก็อาจจะฟังร็อก หรือคุณอยากจะชิลๆ  ฟังแจ๊สที่ไม่ต้องสนใจเนื้อหาว่ามันว่ายังไง แต่ฟังเมโลดี้ที่มันมีกรูฟอยู่ในเพลง มีหลายๆ อย่าง พี่ว่ามันไม่ได้ขีดกรอบว่าคนฟังแบบนี้ต้องเป็นแบบไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าคุณฟังแล้วมันโดนหรือเปล่า”

ทุกวันนี้ร้านน้องก็ยังมีกลุ่มลูกค้าอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่โอลด์ดี้เลย อายุ 60 70 ที่ยังมีแรงมาหาพี่ หรือ ตอนนี้ดีหน่อยที่มีโซเชียลก็จะทักมาช่องทางต่างๆ ของร้าน แล้วเราก็ส่งของให้ทางไปรษณีย์ เพราะฉะนั้นพี่ก็ยังมีลูกค้าที่อยู่นราธิวาส สตูล เชียงใหม่ จากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น อเมริกา แคนาดา มีทุกที่เลยที่สั่งสินค้าทางออนไลน์แล้วเราก็ส่งไปให้

ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่ก็อยากเสพเพลงเก่าก็มี หลายๆ คนก็อยากฟัง Elvis Presley อันนี้มันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมการฟังเพลงของครอบครัวด้วย เพราะหลายๆ คนคุณรู้จักจากปู่ ย่า ตา ยาย มันก็ทำให้รำลึกไปหาสิ่งที่โดนใจคุณ

พี่เชื่อว่าเราเหมือนเป็นห้องสมุดดนตรี คนมาแลกเปลี่ยนกับเรา อาจจะมีคนที่มีความรู้มากกว่าเรา อาจจะมีคนที่รับความรู้จากเราไป มันเหมือนเรามีเพื่อนอะ มันสนุกพี่ว่าจะทำจนกว่าพี่จะหมดแรง คุยไม่ไหวแล้ว ไม่อินเทรนด์แล้ว ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เนื่องจากเรามีน้องๆ ที่มาทำงานกับเรา แต่ละคนก็มาจากหลายๆ อาชีพซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะรักในงานศิลปะ
ร้านน้องท่าพระจันทร์ (Nong Thaprachan) เปิด 11.00-19.00 ตามเวลาท่าเรือ คิดว่าเราเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องดนตรีได้ คือ เขาอาจจะเก่งมากกว่าเราแต่ในมุมมองของเราก็อาจจะมีอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งเขาอาจจะไม่รู้ก็จะทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเพลงได้”

ร้านน้องท่าพระจันทร์ (Nong taprachan)

​​14 ท่าเรือท่าพระจันทร์, ซอย ท่าวังหลัง - ท่ารถไฟ แขวงพระบรมมหาราชวัง พระนคร, กรุงเทพมหานคร 10200 (Google Map)
เปิดให้บริการทุกวันเวลา 11.00 - 19.00 น. (ตามเวลาท่าเรือ)

ช่องทางการติดต่อ

Facebook: Nong taprachan
โทร. 02 221 4421