Culture

ดื่มด่ำไปกับ Street Food และ วัฒนธรรมการกินของชาวหนองคาย

Photo credit: Pantip 

อาหารริมทาง (street food) คือ อาหารพร้อมทานราคาย่อมเยา ซึ่งขายตามริมถนนหรือในที่สาธารณะ และเป็นที่รู้จักในหมู่คนท้องถิ่น เมื่อกล่าวถึงอาหารริมทาง หลายคนมักนึกถึงย่านชื่อดังต่างๆ ในกรุงเทพฯ แต่รู้หรือไม่ว่าเมืองเล็กๆ ในภาคอีสานอย่างหนองคาย ก็มีวัฒนธรรมการกินและอาหารมากมายที่เป็นเอกลักษณ์และหากินไม่ได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารอีสาน อาหารเวียดนาม หรืออาหารลาว 

ครั้งนี้เราได้กลับบ้านครั้งแรกในรอบหลายเดือน จึงตั้งใจจะพาทุกคนไปละเลียดรสของกินริมถนนในตัวเมืองหนองคาย ที่กรุ่นกลิ่นอายเรื่องเล่านับร้อยปี

ย้อนรอยวัฒนธรรมการกินหนองคาย

Photo credit: Matichon 

อาหารอีสานในหนองคายมีความคล้ายคลึงกับอาหารลาวมาก นั่นก็เพราะนอกจากลาวกับไทยจะมีเขตแดนติดกันแล้ว อาณาจักรลาวยังเคยเป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2322-2436) วัฒนธรรมการกินของลาวจึงแพร่เข้ามาในไทย ขณะเดียวกันอาหารเราเองก็มีอิทธิพลต่อการกินของฝั่งนั้น เกิดเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมการกินระหว่างสองฝั่งโขงขึ้น จนกระทั่งดินแดนลาวถูกยกให้เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา 

นอกจากนี้อาหารหนองคายยังได้รับอิทธิพลจากชาวญวนอีกด้วย แต่ก่อนจะพูดถึงส่วนของอาหารเวียดนาม คงต้องเกริ่นก่อนว่า เวียดนามเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ฝรั่งเศสรุกราน โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2401-2426 ทำให้ชาวญวนตัดสินใจอพยพไปลงหลักปักฐานที่ลาวอย่างต่อเนื่อง ทว่าหลังจากนั้นไม่นานก็ต้องย้ายถิ่นฐานอีกครั้ง เพื่อหนีภัยสงครามที่ลุกลามตามมา พอฝรั่งเศสยึดลาวสำเร็จ ชาวญวนก็เดินทางต่อมาจนถึงไทย

Photo credit: KRUA.CO 

แต่ชาวญวนกลับไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบตามที่วาดหวังไว้ เพราะถูกระแวงว่าอาจเป็นพวกเดียวกับคอมมิวนิสต์ในช่วงต้นสงครามเย็น รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ตั้งนโยบายต่างๆ ที่กดสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวญวนลง และจำกัดให้อาศัยอยู่ได้เฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดที่กำหนด ได้แก่ ปราจีนบุรี อุบลราชธานี สกลนคร นครพนม และหนองคาย ทำให้ประชากรชาวญวนกระจุกรวมกันอย่างหนาแน่นในจังหวัดหนองคาย 

เมื่อไม่มีที่ดินทำกินและไม่ได้รับการศึกษา ชาวญวนเลยไม่มีทางเลือกนอกจากหันไปเป็นแรงงานก่อน จึงถือได้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวญวนไม่มีเงินและต้องประหยัดอดออม ทำให้ครอบครัวส่วนใหญ่เลือกที่จะปลูกผักและทำอาหารเวียดนามกินกันเองในครัวเรือน แทนที่จะซื้ออาหารอีสานซึ่งมีราคาแพงกว่า หลังเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งแล้ว ค่อยพัฒนาไปทำอาหารขายหาบเร่แผงลอย จนอาหารเวียดนามเป็นที่รู้จักในคนไทย ท้ายที่สุดก็กลายเป็นของเลื่องชื่อจังหวัดหนองคายจนถึงทุกวันนี้

Photo credit: Thailand Indy 

5 Street Food การันตีแซ่บอีหลี

อาหารริมทางหนองคายส่วนใหญ่จะรสชาติไม่จัดจ้านหากไม่ปรุงเพิ่มหรือทานกับน้ำจิ้ม บางเมนูอาจมีการปรุงรสเค็มด้วยปลาร้า และพริกสดให้ได้รสเผ็ดแบบอีสาน ขอบอกเลยว่า ถ้ามาหนองคายแล้วไม่ได้ลองอาหารที่เราแนะนำก็เท่ากับมาไม่ถึง!

ข้าวจี่ทาไข่

‘ข้าวจี่’ หรือรู้จักกันในหนองคายในชื่อ ‘ข้าวจี่ทาไข่’ เป็นอาหารริมทางที่ทุกครอบครัวคุ้นเคยเป็นอย่างดี สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการนำข้าวเหนียวที่มูนกะทิแล้วมาปั้นเป็นก้อนหรือแผ่นแบนๆ จากนั้นชุบไข่ที่ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวและพริกไทย และเอาไปจี่ (ปิ้ง) บนไฟอ่อนๆ จึงได้ข้าวจี่นุ่มๆ หอมกลิ่นไข่กับมะพร้าว บางคนก็ใส่ปลาร้าในไข่ปรุงรสด้วย ทำให้ด้านนอกของข้าวจี่แข็งและมีสีเข้มขึ้น แต่ก็มีรสเค็มและหอมกลิ่นเฉพาะของปลาร้าด้วย

เนื่องจากวิธีทำที่ไม่ซับซ้อนและวัตถุดิบที่หาในท้องถิ่นได้ไม่ยาก ทำให้ข้าวจี่ทาไข่เป็นอาหารที่สามารถทำกินเองได้ที่บ้าน หรือหากซื้อจากข้างทางก็จะอิ่มท้องได้อย่างรวดเร็วด้วยเงินเพียง 10 บาทต่อไม้หรือชิ้น

ขนมเบื้องญวน

‘ขนมเบื้องญวน’ หรือที่คนเชื้อสายเวียดนามเรียกว่า ‘บั๊ญแส่ว’ คือขนมที่เข้ามาพร้อมกับเชลยศึกสงครามสยาม-เวียดนามในสมัยรัชกาลที่ 3 หน้าตาคล้ายขนมเบื้องของไทยแต่ขนาดใหญ่กว่า ส่วนแป้งมีสีเหลืองจากผงกะหรี่หรือขมิ้น โดยแป้งแบบใส่ไข่จะให้ความรู้สึกเหนียวนุ่ม ในขณะที่แบบไม่ใส่ไข่ให้สัมผัสบางกรอบ ไส้ด้านในประกอบด้วยหมูสับ ต้นหอม หน่อไม้ และถั่วงอก 

ตัวขนมเบื้องกลิ่นหอมกรุ่นคล้ายข้าวจี่ทาไข่ แต่รสชาติจะไม่จัดจ้าน ค่อนไปทางจืด จึงต้องอาศัยน้ำจิ้มอาจาดมาช่วยดึงให้กลมกล่อมมากขึ้น อาจาดทำโดยการเคี่ยวน้ำตาลกับน้ำส้มสายชู โดยปรกติแล้วจะใส่แตงกวา แต่ที่นี่พิเศษกว่าที่อื่นตรงที่จะโรยถั่วลิสงเพ่มมาด้วย เมื่อกินกับขนมเบื้องแล้วจะให้รสหวาน เปรี้ยว แต่มีผงกะหรี่ในตัวแป้งช่วยตัดเลี่ยน ทำให้อยากสั่งเพิ่มมากินต่อได้เรื่อยๆ ความพิเศษอีกอย่างของอาจาดสูตรนี้คือ คนที่ไม่ชอบรสหวานสามารถปรุงเพิ่มเพื่อให้ได้รสชาติที่ชอบได้  

ขนมเหนียวญวน

‘บั๋นไตแม่ว’ แปลตรงตัวจากภาษาเวียดนามได้ว่า ‘ขนมหูแมว’ แต่ชาวหนองคายจะนิยมเรียกว่า ‘ขนมเหนียว’ เพราะมีสัมผัสเหนียวหนุบหนับ คล้ายแป้งของสาคูไส้หมู ส่วนไส้ทำมาจากหน่อไม้ เห็ดหูหนู หมูสับ แครอท และกุ้งแห้ง ปิดท้ายโดยการโรยหน้าหอมเจียวกรอบ เมื่อทานรวมกับขนมเหนียวแล้วจะได้รสชาติหน่อไม้เด่นนำ ตามด้วยกลิ่นฉุนร้อนของพริกไทย ทั้งนี้ยังมีน้ำจิ้มหวานติดเผ็ดช่วยเพิ่มสีสันให้รสชาติไม่น่าเบื่อเกินไปอีกด้วย

แกงเส้น

‘ต้มเส้น’ หรือ ‘แกงเส้น’ เป็นอาหารเวียดนามคล้ายก๋วยเตี๋ยวและก๋วยจั๊บญวน แต่ต่างกันตรงที่ใส่วุ้นเส้นแทน วัตถุดิบอื่นๆ ก็มีลูกชิ้น ไก่ฉีก ต้นหอม ถั่วงอก และหมูยอ ดูเผินๆ แล้ว หน้าตา รสชาติ และกลิ่นก็เหมือนอาหารเส้นธรรมดา แต่ความพิเศษจริงๆ ของมันอยู่ที่การ mix and match ของคนกิน ใครไม่อิ่มสามารถไปซื้อข้าวเหนียวมาจิ้มกินด้วย หรือขอให้เจ้าของร้านเอาโจ๊กผสมได้

ข้าวจี่ปาเต้

‘ข้าวจี่ปาเต้’ ที่ได้ฉายาว่า ‘แซนด์วิชลาว’ เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากการปกครองของฝรั่งเศส และเข้ามาหนองคายหลังสุด ข้าวจี่ปาเต้ประกอบด้วยขนมปังฝรั่งเศส (บาแก็ต) ทามายองเนส ตามด้วยยัดไส้หมูหยอง หมูยอ หมูแดง ตับบด และผักสดอื่นๆ เช่น ผักชี แครอท แตงกวา แล้วราดน้ำจิ้มที่ทำจากซอสพริกผสมพริกสด กระเทียมปั่น น้ำตาลเคี่ยว และน้ำส้มสายชู 

น้ำจิ้มที่มีรสเผ็ดนำจะช่วยถ่วงดุลกับรสหวานเค็ม ที่อยู่ในวัตถุดิบหลายอย่างของข้าวจี่ปาเต้ และอาจมีผักดองอย่างมะละกอดองบ้างเล็กน้อย เพื่อตัดรสเลี่ยนของตับบด ปกติขนมปังฝรั่งเศสมีเนื้อนุ่มเหนียว แต่เมื่ออบเสร็จร้อนๆ แล้วกินรวมกับไส้ที่ยัดจนแทบทะลักและน้ำจิ้ม จะได้เนื้อสัมผัสกรอบนอกนุ่มใน และรสหวาน เค็ม และเผ็ดผสมกันอย่างลงตัว

Photo credit: BBQBOY AND SPANKY 

ถ้าใครได้มาเที่ยวหนองคาย แล้วต้องการประสบการณ์การท่องเที่ยวที่คุ้มค่ากับการมา เราขอแนะนำลองเดินไปทานอาหารริมทางรอบๆ ตัวเมือง ไม่ว่าจะเป็นถนนประจักษ์ฯ ตลาดอินโดจีน ตลาดเช้าโพธิ์ชัย ตลาดนัดริมโขง (ทุกวันพฤหัสฯ-ศุกร์) หรือถนนคนเดิน (ทุกวันเสาร์) แล้วคุณจะได้สัมผัสบรรยากาศและวัฒนธรรมการกินที่บ่งบอกความเป็นหนองคายอย่างเต็มที่

อ้างอิง

Database of Southeast Asian Sociocultural Information 

KRUA.CO 

ALTV4 

Culture