Culture

พูดคุยเรื่องราวความเชื่อและพิธีกรรมของ “มโนราห์” ที่ไม่เคยเลือนหายจากชาวใต้ กับ “กอล์ฟ ภณ”

มโนราห์ หรือที่ผู้คนมักเรียกสั้นๆ ติดปากกันว่า “โนรา” ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่หล่อเลี้ยงอยู่ในสังคมของชาวใต้มาอย่างยาวนาน และเมื่อไม่นานมานี้ มโนราห์ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO เป็นมรดกโลกด้านภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) 

ความเชื่อทางไสยศาสตร์และศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่อยู่เคียงคู่กับมโนราห์อย่างแยกไม่ขาด เราจึงมาพูดคุยกับ กอล์ฟ - ภณ นิธิวัฒนพงศ์ ผู้ที่เริ่มรำมโนราห์ตั้งแต่เด็กเป็นเวลากว่า 10 ปี ถึงความเชื่อทางไสยศาสตร์ พิธีกรรม และเรื่องเล่าต่างๆ ของมโนราห์ ให้เราได้ฟัง

“ความเชื่อมันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะก่อนที่เราจะสนใจตรงนี้เราเชื่อมาก่อน เรามีความเชื่อความศรัทธาต่อครูหมอ พ่อแม่ตายาย ถึงทำให้เราสนใจด้านโนรา”

โนราโรงครู คือการแสดงมโนราห์ประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ โนราโรงครูมีจุดประสงค์ที่หลากหลาย ทั้งการแสดงความเคารพและบูชาต่อบรรพบุรุษที่ชาวบ้านเรียกว่า ตายาย การแก้เหมรย (อ่านว่า เหมย) คือการแก้บน และการรักษาโรคต่างๆ โดยพิธีกรรมจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน คุณกอล์ฟได้อธิบายขั้นตอนคร่าวๆ ให้เราฟังว่า 

“แต่ละพื้นที่มีวันเข้าโรงไม่เหมือนกัน แต่พื้นที่สงขลากับพัทลุงจะเข้าวันพุธออกวันศุกร์ วันพุธจะต้องไปถึงบ้านเจ้าของงานประมาณ 4-5 โมงเย็น พิธีเริ่มเข้ายามนกชุมรัง (ประมาณ 18.00-19.00 น.) ในมีพิธีจะมีการเล่นดนตรีโหมโรง หลังจากนั้นโนราใหญ่จะประกาศพิธีราชครู เป็นการไหว้ครูและสรรเสริญคุณพ่อแม่ ในพิธีจะเชิญครูหมอ คุณพ่อคุณแม่ และตายายขึ้นมาบนศาลา หลังจากประกาศครูเสร็จ โนราต้องรำถวายครู ต่อมาก็ ‘เชื้อครูหมอ’ เป็นการเชิญครูให้เข้าในร่างทรง คืนแรกที่จะมาลง (ประทับทรง) จะเป็นทวดเจ้าบ้านซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน คืนที่สองถึงเป็นครูหมอทางฝ่ายขวา (ฝ่ายพ่อ) ของเจ้างาน และเป็นฝ่ายซ้าย (ฝ่ายแม่)”

หมอผี (โนราโรงครูจำเป็นต้องมีหมอผีประจำโรง เพื่อป้องกันคนทำของใส่)

“ราชครู” และ “ครูหมอ” ผู้ประกอบพิธีกรรม

จากที่คุณกอล์ฟเล่าจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบพิธีกรรมจะมีหลักๆ อยู่ 2 คน คือ “ราชครู” และ “ครูหมอ” เราจึงถามความแตกต่างของผู้ประกอบพิธี

“ราชครูจะเป็นคนที่รำโนราและเข้าพิธีผูกผ้าตัดจุกเรียบร้อยแล้ว ถ้ายังไม่ผูกผ้าตัดจุกก็ไม่สามารถเป็นโนราใหญ่ที่สามารถตัด “เหมรย” ได้ จะสามารถรำได้อย่างเดียว แต่เราจะมาตัดแบบนี้ไม่ได้ การเป็นราชครูเป็นใครก็ได้ที่สามารถจำบทร้องได้ และบทอื่นๆ ได้ นอกจากการผูกผ้าตัดจุดแล้ว ต้องบวชพระก่อนจึงถือว่าสมบูรณ์”

“ส่วนคำว่าโรงครูจะเกี่ยวข้องกับครูหมอโดยตรง ครูหมอเหมือนเราที่ตายไปและต้องการลงมาช่วยลูกหลาน ครูหมอไม่จำเป็นต้องเป็นโนราก็ได้ แต่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ สมมติลูกหลานไม่เจ็บนู้นเจ็บนี่อย่างไม่รู้สาเหตุ เขาจะมาให้ครูหมอดูให้ บางคนก็รักษากับครูหมอก็หายเหมือนกัน เช่น เหตุการณ์นั้นคือว่า ผู้ชายแฟนเป็นคนอิสลาม เขาก็จะไม่ค่อยสนใจเรื่องอะไรแบบนี้ เพราะคนอิสลามเขาไม่ให้ไหว้หรือตั้งสิ่งบูชา เขาถูกครูหมอทำให้ตาบอด ตอนแรกเขาไปหาหมอ หมอก็ตอบไม่ถูกว่าเป็นอะไร จึงไปให้หมอบ้านดูเขาบอกว่าเกิดจากครูหมอ จึงต้องยกโรงบน หลังจากนั้นพอครูหมอมารักษาก็หาย มันค่อยๆ ดีขึ้นจนกลับมามองเห็นปกติ แต่ต่อให้ไม่ยกโรงครู ครูหมอเขาจะมารักษาให้ได้ บางคนมาทำเสน่ห์ บางคนถูกผีเข้าก็มารักษากับครูหมอ”

ครูหมอเป็นได้เพราะถูกเลือก

คุณกอล์ฟเล่าเสริมเรื่องทรงครูหมอให้เราฟังอีกว่า “การเป็นทรงเราไม่สามารถเลือกเองได้ ไม่เหมือนพวกทรงเทพ ที่เขาไปเชิญมาทรง แต่การทรงครูหมอ โนราจะเป็นคนเลือกเอง เขาลงให้ใครก็คือเขาเลือกคนนั้นแล้ว ถ้าปฏิเสธไม่รับหรือไม่รับก็จะโดนหนัก บ้างป่วยเป็นไข้ บางคนอาจถึงตาย และเมื่อคนทรงครูหมอเก่าเสียชีวิต ถ้าคนทรงครูหมอเก่าไม่ได้ชี้ไว้ว่าเป็นใคร ก็จะมีเหตุการณ์ประมาณว่า พอได้ยินเสียงปี่ เสียงเครื่องดนตรีโนราจะมีอาการ ต้องไปอยู่ใกล้ๆ เสียงโนรา เมื่อสมัยตอนไปเรียกครูหมอใหม่ๆ ที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ตอนนั้นคนทรงเก่าเสียชีวิตแล้วโนราใหญ่เขาเชื้อ (หาทรงใหม่) ก็มีคนนึงเขาดำนาอยู่วิ่งขึ้นมาจากทุ่งนายืนตัวสั่นอยู่หน้าโรง นั้นคือครูหมอเขาจะพามาเอง” 

นักดนตรี

แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่มีการเชื้อทรงใหม่ หลังจากร่างทรงเก่าเสียชีวิตแล้วจะเป็นไปได้อย่างราบรื่น คุณกอล์ฟเล่าเหตุการณ์หนึ่งให้เราฟังว่า “เหตุการณ์นั้นคือ ราชครูเชื้อเพื่อหาทรงใหม่ (ครูหมอ) เขายกโรงกันมา มีคนนึงเขาคลุมผ้าแล้วสั่น ถามอะไรก็ไม่พูด คือถ้าเป็นครูหมอเขาจะต้องกินเทียน (ดอกไม้ไฟ) ตอนนั้นถือให้ก็ไม่กิน สุดท้ายก็เอากล้วยกับข้าวซาวน้ำผึ้งให้ พอกินเสร็จ ตอนนั้นคือรู้เลยว่าผีลง ไม่ใช่ครูหมอ สุดท้ายราชครูโนราก็ทำพิธีไล่ผีออกไป การไล่จะมีสาดน้ำมนต์ ซัดข้าวสาร หรือหวดกับไม้หวาย”

Photo credit: ศาสตร์ครูหมอโนรา-หนังตะลุง official

“หน้ากากพรานบุญ” ของขลังโนรา 

ต่อมาเราจึงถามถึงเครื่องรางของขลังที่เกี่ยวข้องกับมโนราห์ คุณกอล์ฟเล่าเราฟังว่า หลักๆ จะมี 2 อย่างคือ หน้าพรานบุญ และ กำไล “หน้าพรานบุญ เป็นเครื่องรางของขลังที่เชื่อกันว่าเด่นเรื่องเสน่ห์และเมตตามหานิยม ส่วนกำไล เชื่อกันว่าคนที่ทำมาค้าขายต้องมี ขายของจะได้กำไร”

พรานบุญ

“เหยียบเสน” การรักษาโรคมีแค่โนราที่ทำได้!

นอกจากนี้คุณกอล์ฟยังบอกกับเราเสริมอีกว่า มโนราห์นอกจากเรื่องเสน่ห์แล้วนั้นยังเกี่ยวข้องกับเรื่องเสนโดยตรง เสนมีลักษณะคล้ายปานสีแดง คล้ายๆ เนื้องอกที่นูนขึ้นมา ส่วนมากจะเกิดในเด็ก และจะใหญ่ตามตัวเด็กไปเรื่อยๆ หมอไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มโนราห์สามารถเหยียบหายได้ หรือบางครั้งมันไม่หาย แต่มันไม่ใหญ่อีก คุณกอล์ฟเล่าเกี่ยวกับพิธีเหยียบเสนให้เราฟังคร่าวๆ ว่า 

“พิธีกรรมเหยียบเสน เขาจะมีหญ้าคา ใบชุมเหม็ด หญ้าตีนกา รวงข้าว หินลับมีด ใบมีด และเงินเหรียญ (มีลักษณะคล้ายๆ เบี้ย สมัยโบราณ) ถ้าเป็นเด็กผู้ชายเขาจะใช้เท้าขวาเหยียบ ส่วนเด็กผู้หญิงจะใช้เท้าซ้ายเหยียบ โนราจะต้องจับบทก่อน บทอะไรก็ได้ก่อนเหยียบ พอจับบทเสร็จโนราจะเขียนยันต์ไว้ที่นิ้วโป้งเท้า และเอานิ้วโป้งมาจุ่มในสิ่งที่เขาเตรียมไว้ แล้วเอานิ้วโป้งไปรนเทียน แล้วเอาไปเหยียบบนเสน เป็นตรงไหนก็เหยียบตรงนั้น”

Photo credit : ศาสตร์แห่งครูหมอโนรา

ท้ายสุดก่อนจบบทสนทนา เราถามคุณกอล์ฟว่าตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันมโนราห์ให้อะไรกับตัวเขาบ้าง คุณกอล์ฟบอกกับเราปิดท้ายว่า 

“โนราทำให้เราอยู่กับผู้ใหญ่ได้ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน นำคำสอนของครูและธรรมะที่สอดแทรกอยู่ในโนรามาปรับใช้ และพอเราเริ่มเก่งแล้วก็ทำให้เรามีรายได้หาเลี้ยงตัวเองอีกด้วย”

ติดตามและอัปเดตเรื่องราวของมโนราห์ของคุณกอล์ฟได้ที่ กอล์ฟ ภณ