Culture

10 เกมออนไลน์เก่าชวน Nostagia ประจำร้านเกมไทยที่ถ้าใครจำได้ไม่เด็กแล้วนะ

ร้านเกม หรืออินเทอร์เน็ตคาเฟ่เป็นธุรกิจที่รุ่งเรืองมากในช่วงปลาย 90 ถึง 2000 ต้นๆ เพราะในยุคสมัยนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับเล่นเกมออนไลน์ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพงที่เด็กๆ หรือวัยรุ่นจะเข้าถึงได้ทำให้ผู้ประกอบการในยุคนั้นใช้โมเดลธุรกิจค่าราคารายชั่วโมงเก็บเงิน 1 ชั่วโมง 10 ถึง 20 บาท

Photo Credit: ThaiPost

ในสมัยปี 2000 ถึง 2010 นับว่าเป็นยุคทองธุรกิจร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ตเพราะนี่คือธุรกิจที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘เสือนอนกิน’ ที่สร้างรายได้มหาศาลที่มีผู้ใช้บริการไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็พบเจอร้านเกมได้ไม่มากแต่ในปัจจุบันนี้ธุรกิจร้านเกมเป็นธุรกิจที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยจนแทบจะไม่เหลือให้เห็นมากนักในปัจจุบันซึ่งสอดคล้องกับยุคสมัยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น และคอมพิวเตอร์ก็เป็นอุปกรณ์ที่ผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้น เกมได้เริ่มปรับตัวไปสู่รูปแบบมือถือทำให้ความนิยมของร้านเกมลดน้อยลง และในช่วงโควิดที่ผู้คนไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ทำให้ช่วงเวลานั้นเป็นเหมือนยุคอวสานของร้านเกมจำนวนมากในไทย ในบทความนี้เราอยากจะชวนทุกคนมารำลึกความหลังถึงวัฒนธรรมเกมออนไลน์เก่าในไทย 10 เกมที่ Nostagia และวัฒนธรรมเกมในไทยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

Photo Credit: Tech in Asia

1. Ragnarok Online (2002)

เกมออนไลน์ประเภท MMORPG ผจญภัยสวมบทบาทเป็นตัวละครอาชีพต่างๆ เช่น อาชีพนักเวท นักธนู หรือพระ ในเกมนี้ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเพื่อต่อสู้กับสัตว์ประหลาด สะสมไอเทม และประสบการณ์สำหรับอัพเลเวลสกิลให้ตัวละคร เกมนี้มีชื่อย่อว่า ‘RO’ ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทกราวิตี้ คอร์ปอเรชั่น ประเทศเกาหลีใต้และเปิดบริการในไทยเมื่อปี 2002 นี่คือ เกมออนไลน์ที่มีความสนุกแบบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสงครามกิลด์ (กิลด์คือ กลุ่มผู้เล่นในเกมที่รวมตัวกัน) การต่อสู้กันเองระหว่างเพลเยอร์ การค้าขายไอเทมล้ำค่า และเป็นที่มาของประโยคดัง 'ชุบทีมีใบ' ที่ผู้เล่นมักจะตั้งข้อความไว้เมื่อตัวละครในเกมตาย 'ชุบทีมีใบ' ใบที่ย่อมาจาก Yggdrasil Leaf ที่สามารถชุบชีวิตตัวละครที่ตายได้

Photo Credit: PlayPark

2. Audition (2006)

เกมเต้นออนไลน์ที่เรียกว่า เป็นตำนานเกมเต้นของร้านเกมที่ผู้เล่นจะต้องกดชุดลูกศร และกดจังหวะสเปซบาร์ให้ทันลูกแก้วที่มาพร้อมกับระดับความเร็วเพลง ออดิชั่นเป็นเกมที่พัฒนาโดยค่ายเกม T3 Entertainment จากประเทศเกาหลีใต้ และเปิดให้บริการปี 2006 ออดิชั่นมาพร้อมสังคมโลกออนไลน์ที่ทุกคนใช้เงินในชีวิตจริงเติมเงินเพื่อซื้อเสื้อผ้า ไอเทมแต่งตัวละครให้สวย เท่ เฟี้ยวฟ้าวได้ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ทรงผมหงอนไก่ เสื้อผ้าผู้หญิง Y2K ออดิชั่นเป็นเกมที่โด่งดังในเรื่องการหาแฟนเพราะมีระบบการเต้นแบบคู่รัก และจีบกันผ่าน Avatar ตัวละครในเกมแล้วก็ต่อยอดกันด้วยการแอด Hi5 กันต่อหลังจากสนิทกันในเกม ออดิชั่นมีผลทำให้เพลงไทยหลายเพลงดังขึ้น ถ้าทุกคนฟังแล้วต้องนึกถึงเกมนี้กันทันทีอย่างการขายซีดีเพลงดังจากออดิชั่นตามร้านแมงป่องที่มีเพลงไทยอย่าง คำถามโง่ๆ - บอย โกสิยพงษ์, ฤดูที่ฉันเหงา – Flure และ ภาพเวลาเดิมๆ – Good September

Photo Credit: Playpost

3. Panya (2005)

เกมตีกอล์ฟสำหรับคนที่ชอบเล่นเกมแบบ รูปแบบการเล่นจะเป็นเกมกอล์ฟ บนคอมพิวเตอร์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต รูปแบบของเกมได้รับอิทธิพลมาจากเกม มินนะโนะกอล์ฟ ของญี่ปุ่นจากเครื่องเพลย์สเตชัน เป็นเกมกอล์ฟประเภท 3 จังหวะซึ่งมีต้นแบบมาจาก Nintendo Golf เมื่อปี พ.ศ. 2527 หรือมาริโอกอล์ฟในเวลาต่อมา ปัจจุบันปังย่ามีเซิร์ฟเวอร์แบบเกมออนไลน์เพียงในไทย โดย บริษัท อินิทรี ดิจิตอล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการ ในส่วนของเซิร์ฟเวอร์อื่นๆ ได้ปิดให้บริการไป

Photo Credit: Yulgang - PlayPark

4. Yulgang (2005)

มีชื่อไทยที่หลายคนอาจจะไม่คุ้นกันก็คือ 'โยวกัง ยุทธภพครบสลึง' ซึ่งเป็นเกมออนไลน์ประเภท MMORPG จากประเทศเกาหลีใต้ พัฒนาโดยบริษัท KRG Soft เผยแพร่โดย Mgame เกมนี้พัฒนาต่อยอดมาจากการ์ตูนชื่อดังของประเทศเกาหลี 'Yul Hyul Gung Ho' ที่มาพร้อมกับการเล่นสวมบทบาทอาชีพอย่างหมอ นักสู้ นักดาบที่ต่อสู้กับสัตว์ประหลาด สะสมอาวุธ ตีบวกอาวุธให้มีประสิทธิภาพ และเก็บประสบการณ์ให้มีทักษะสูงขึ้น ในเกมนี้จะมีการแบ่งฝ่ายธรรมะ และอธรรมที่ผู้เล่นจะต้องเลือกฝั่งเมื่อมีเลเวล 35 ซึ่งเป็นการตัดสินใจสำคัญของผู้เล่นที่ต้องเลือกฝั่งแล้วมาสู้รบกันในศึกสงครามในภายหลัง ปัจจุบันเกมนี้มีให้เล่นบนโทรศัพท์มือถือ

Photo Credit: RedBull.com

5. Dota (2003)

DotA (Defense of the Ancients) หรือเกมที่คนมักจะใช้คำเรียกว่า ตีดอท คือเกมประเภท MOBA ที่มีจุดมุ่งหมายในการทำลายฐานทัพของฝั่งตรงข้ามด้วยการเลือกฮีโร่ รวมไปกับ 'ครีป' ที่ช่วยกันทำลายป้อม ผู้เล่นจะต้องสะสมประสบการณ์ เลือกซื้อไอเทมที่เหมาะสม สื่อสารกับทีมเพื่อต่อสู้ฮีโร่ฝั่งตรงข้ามที่ปกป้องฐานตัวเอง เกมนี้ดัดแปลงมาจาก เกมวางแผนเรียลไทม์ วอร์คราฟต์ 3: เรนออฟเคออส และภาคต่อ วอร์คราฟต์ 3: โฟรเซนโธรน โดยพัฒนาต่อมาจากแผนที่ 'อีออนออฟสไตรฟ์' (Aeon of Strife) ในเกมสตาร์คราฟต์

นี่คือหนึ่งในเกมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากระดับโลกที่มีเงินรางวัลจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในประเภทเกมที่แสดงให้เห็นว่า การเล่นเกมเป็นกีฬาการแข่งขันที่สามารถสร้างอาชีพสร้างเงินได้การจัดแข่งขันระดับประเทศทั่วโลก ที่มีทีมผู้เล่นที่ฝึกฝนเล่นเกมอย่างจริงจังจนเป็นอาชีพไปเข้าร่วมแข่ง ในปัจจุบันเกมได้ถูกพัฒนามาใช้ชื่อ DotA2 (เกมที่มักจะถูกเปรียบเทียบบ่อยๆ ในช่วงปี 2010 คือ HON (Heroes of Newerth) หรือ LOL (League Of Legends) และในปัจจุบันที่คนอาจจะคุ้นเกมประเภทนี้ในชื่อ ROV)

Photo Credit: TalkEsport

6.​ Counter-Strike (1999)

เป็นวิดีโอเกม FPS Multiplayer เกมยิงปืนมุมมองบุคคลที่หนึ่งที่ผู้เล่นทั้งสองฝั่งจะต้องแข่งขันกันด้วยการยิงฝั่งตรงข้าม วางระเบิด หรือกู้ระเบิดด้วยการใช้ปืนตามความถนัดอย่างปืนกลเบา ปืนกลหนัก สไนเปอร์ หรือการใช้มีดสำหรับระยะประชิด นี่คือเกมที่ผู้เล่นต้องใช้สกิลความชำนาญเป็นอย่างสุด เดิมทีเกมนี้เป็นม็อด (การปรับแต่งเกม) จากเกม Half-Life โดยนักพัฒนาเกมอิสระ 'Gooseman' และ 'Cliffe' ที่มีผู้เล่นดาวน์โหลดไปเล่นเยอะจนบริษัทตัดสินใจซื้อม็อดมาพัฒนาต่อยอดเป็นเกมที่จุดกระแสของการแข่งขันเกมชิงรางวัลระดับประเทศ ระดับโลก เกมนี้เป็นเกมสำคัญต่อวงการการแข่งขันกีฬาเกม E-Sport ในช่วงเวลาต่อมาก็มีเกมประเภท FPS ออกมามากมายอย่างเช่น SF Special Force (สเปเชียล ฟอร์ซ) และ Point Blank

Photo Credit: MMOs.com

7. MapleStory (2005)

Maple Story คือเกมประเภท MMORPG แบบสองมิติ ซึ่งเกมนี้พัฒนาโดยบริษัท Wizet ของประเทศเกาหลีใต้ที่เปิดให้บริการโดยบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น ในปี 2005 ที่ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็นตัวละครในโลกของเกมที่มีอาชีพ ภารกิจการเปลี่ยนอาชีพที่มีเอกลักษณ์อย่างอาชีพนักรบ นักธนู โจร จอมเวท  โจรสลัดที่มาพร้อมเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นเกมที่มี Storytelling และระบบที่น่าสนใจที่ผู้เล่นหลายคนสามารถร่วมกันต่อสู้กับบอส สัตว์ประหลาดด้วยกันได้ และมีระบบการผจญภัยที่ผู้เล่นสามารถเดินทางไปเมืองต่างๆ ทั่วโลกได้อย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน อเมริกา หรือแม้แต่สยามที่ช่วยทำให้เกมมีชีวิตชีวาโดนใจคนไทยกันมากขึ้น เซิร์ฟเวอร์ออนไลน์ในไทยได้ปิดตัวลงไปในปี 2020 แต่ก็ยังมีเกมในรูปแบบมือถือ 'Maple Story M' ให้เล่นอยู่

Photo Credit: diablo1ru

8. Lineage II (2005)

ลินเนจ ทู (Lineage II) คือ เกมแบบ MMORPG สร้างโดยบริษัท NCsoft ของประเทศเกาหลีใต้ เป็นเกมออนไลน์ 3 มิติ ที่ใช้เอนจินเกม อันเรียล เอนจิน 2.5 ของบริษัท อิพิค เกม (Epic Game) เปิดให้บริการในไทยในปี 2005 โดยค่ายเกมทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ต้องใช้บัตรเติมเงินทรูมันนี่ในการเติมเงิน นี่คือเกมออนไลน์ที่พลิกวงการเกมด้วยภาพกราฟิกที่สวยอลังการ และใช้สเปกคอมพิวเตอร์สูง ทำให้มันเป็นเกมที่ไม่สามารถดาวน์โหลดมาเล่นที่บ้านโดยทั่วไปได้ ถ้าไม่ได้ใช้คอมที่มีประสิทธิภาพสูง นี่คือเกมที่มีเนื้อเรื่องแฟนตาซีอลังการที่ผู้เล่นต้องสวมบทบาทเป็น 1 ใน 7 เผ่าของเกมอย่างเผ่ามนุษย์ เอลฟ์ หรือเผ่าออร์คเพื่อทำภารกิจในเกม เก็บเลเวล พัฒนาความแข็งแกร่ง และรวมตัวกับผู้เล่นอื่นช่วยเหลือกันในการบรรลุภารกิจของเกม ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของเกมออนไลน์ที่ลงทุนกับการเขียนเรื่องราวให้มีความน่าสนใจมากขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้เล่นสนใจ ‘Storytelling’ ในเกมมากขึ้น

Photo Credit: PingBooster

9. Talesrunner (2007)

เทลส์รันเนอร์ (Talesrunner) คือเกมออนไลน์การแข่งขันวิ่งในโลกแฟนตาซีสังคม ที่ผู้เล่นจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคในแต่ละด่านเพื่อไปให้ถึงเส้นชัยให้ได้เร็วที่สุด เกมนี้ให้บริการโดยบริษัท Rhaon Entertainment ของเกาหลีใต้ เกมนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเทพนิยาย นิทานเรื่องเล่าจากทางตะวันตก และตะวันออกพร้อมกับตัวละครที่มาพร้อมสัญชาติจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างที่ออกแบบมาให้เหมือนเป็นการรวมตัวนักวิ่งแข่งขันกีฬาโอลิมปิก นอกจากจะมีการแข่งขันวิ่งแล้วเกมนี้ยังมีระบบโลกสังคมที่น่าสนใจอย่างการรวมตัวกันในห้องสาธารณะเพื่อคุยกับเพื่อน การแต่งงานระหว่างผู้เล่นในเกมด้วยการเติมเงินซื้อแหวน และระบบการแต่งฟาร์มของตัวเองนอกจากนี้ยังมีการผลิตหนังสือการ์ตูนออกมาจำหน่ายที่โด่งดังในหมู่เด็กๆ ด้วย

Photo Credit: Game-ded.com

10. สิบสองหางออนไลน์ (2010)

12 หางออนไลน์ (12 Tails Online) คือเกมออนไลน์ Action RPG สัญชาติไทยที่ผู้เล่นต้องสวมบทบาทเป็นหนึ่งในเผ่าพันธุ์สัตว์ทั้งสิบสองสายพันธุ์ในโลกอนาคต 5,000 ปีให้หลังที่เกิดภัยพิบัติร้ายแรงทำให้มนุษย์หายสาบสูญ ผู้เล่นจะต้องทำภารกิจเพื่อทำสงครามต่อกรกับความมืดที่รุกรานเมืองแห่งแสงด้วยการทำภารกิจ สะสมไอเทมและแข่งขันทำสงครามกิลด์เพื่อชิงไอเทมพิเศษพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ  เกมนี้สร้างโดยบริษัท บิ๊กบั๊กสตูดิโอที่ประกอบด้วยชาวไทยเพียง 4 คนเท่านั้นแม้จะเป็นเกมที่เปิด ตัวในยุค 2010 แต่จริงๆ แล้วเกมนี้ถูกพัฒนาตั้งแต่ปี 2008 นี่คือเกมออนไลน์ไทยที่สร้างฮือฮาแก่เกมเมอร์ไทยเป็นจำนวนมาก และนับว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จของวงการเกมไทยด้วย เซิร์ฟเวอร์หลักของเกมปิดบริการในปี 2019 ก่อนจะกลับมาเปิดให้บริการใหม่ในทีมงาน 12Tails-TH ใหม่ในปี 2021

จากภาพจำเกมเป็นสิ่งเสพติด ไม่มีอนาคตสู่ยุคสมัยที่การเล่นเกมเป็นเรื่องปกติ

ในอดีตเมืองไทยมักจะมีภาพจำลบๆ เกี่ยวกับเกมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเปรยว่าเกมเป็นสิ่งเสพติด เกมเป็นตัวการของพฤติกรรมรุนแรง คนเล่นเกมที่ไม่มีอนาคต และใช้เวลาว่างทำในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ทำให้เกมถูกจัดประเภทว่า เป็นกิจกรรมไร้สาระจนกระทั่งในภายหลังที่เริ่มมีงานวิจัยออกมาโต้แย้งมายาคติอย่างเช่นงานวิจัยจากสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) ที่ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันอีกว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากพอที่จะเชื่อมโยงเกมว่า เป็นสาเหตุหลักของพฤติกรรมรุนแรงได้ และมีข้อเสนอแนะจากหลายงานวิจัยว่า หากจะตามหาสาเหตุของพฤติกรรมความรุนแรงคนควรจะคำนึงถึงเรื่องกฎหมายการเข้าถึง การควบคุมอาวุธปืนด้วย

Photo Credit: GTH

กระแสภาพจำใหม่ๆ ของเกมในไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกมากขึ้นในสื่อกระแสหลักเมื่อหนังไทย ‘ท็อป ซีเคร็ต วัยรุ่นพันล้าน’ ในปี 2011 ที่ได้แรงบันดาลใจสร้างจากเรื่องราวของเจ้าของธุรกิจสาหร่ายเถ้าแก่น้อย วัยรุ่นไทยที่แสดงภาพใหม่ให้ว่าคนเล่นเกมคือคนปกติที่สามารถมีชีวิตได้หลากหลาย และเกมไม่ใช่กิจกรรมไร้ประโยชน์ และต่อมาในปี 2013 ที่วงการเกมทั่วโลกพัฒนามากขึ้นในไทยเองก็ได้มีการจัดตั้งสมาคมไทยอีสปอร์ต และได้ยอมรับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท) ในปี 2017 ที่ทำให้การเล่นเกมถูกยอมรับว่า เป็นกีฬาอย่างเป็นทางการทำให้ธุรกิจหันมาลงทุนกับตลาดวงการเกมมากขึ้น เพราะประเทศไทยเป็นตลาดที่มี Top 20 จากทั่วโลกที่สนใจวงการเกมนอกจากนี้ในไทยเรายังมีผู้สร้างรายได้จากการเล่นเกมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปในข้างต้น ทำให้ภาพจำเชิงลบของเกมในเมืองไทยค่อยๆ ถูกลบเลือน และสร้างใหม่ให้กลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ทุกวันนี้ผู้ใหญ่ Gen X ก็เล่นเกมไม่ต่างจากเด็ก Gen Z และเกมก็ยังถูกนำไปพัฒนากลายเป็นสื่อการสอนที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านความจำ การโฟกัสสำหรับเด็กเล็กตามโรงเรียนต่างๆ มากขึ้นด้วย เมื่อเกมในไทยเริ่มมีภาพลักษณ์ที่ดี และคอมมูนิตี้ที่ใหญ่มันก็ไปจับความสนใจจากภาครัฐและภาคธุรกิจหันมาลงทุนกันมากขึ้นทำให้สังคมไทยในปัจจุบันเริ่มมองว่าการเล่นเกมในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องผิดปกติ การเล่นเกมคือ กิจกรรมความบันเทิงที่ธรรมดาและเป็นหนึ่งในความหลากหลายของโลกสมัยใหม่

อ้างอิง
APA

This Is Game Thailand

The Matter

Krungsri

Game Rant

Workpoint Today

Manarom

Thaismescenter