Culture

124 ปี โอลิมปิกเมดอินปารีส เมื่อกีฬาคือเรื่องเดียวกับศิลปะ การปฏิวัติ ความรักษ์โลก และความเท่าเทียม

โอลิมปิกเกมส์ ไม่เคยเป็นเพียง ‘มหกรรมกีฬาระดับโลก’ เพราะเรื่องกีฬาไม่เคยเป็นเพียงเรื่องของกีฬา หากยังเป็นเรื่องเดียวกับอีกหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง ศิลปวัฒนธรรม นวัตกรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ไปจนถึงเพลง หรือแฟชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมันถูกจัดโดยเมืองยานแม่แห่งโลกแฟชั่นอย่าง ‘ปารีส’ เจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 33

แต่ก่อนอื่น ขอย้อนกลับไปยังโอลิมปิกโบราณสมัยก่อนคริสตกาลร่วมพันปี ซึ่งยังเป็นเพียงอีเวนต์หนึ่งในทางศาสนาของกรีกที่ใช้กีฬาเป็นสื่อกลาง เพื่อถวายความบูชาแด่เทพซุส (เนี่ย…กีฬาคือเรื่องเดียวกับทวยเทพและศาสนาซะงั้น) และกีฬาที่แข่งกันก็มีแค่ประเภทเดียว คือวิ่งแข่ง ก่อนจะค่อยๆ เสื่อมความนิยมและล้มเลิกไปราวปี ค.ศ. 393 (ด้วยเหตุผลหลักที่คนเขาเชื่อกันคือ โรมันที่เข้ามาอิทธิพลเหนือกรีซในตอนนั้นไม่ปลื้มการแก้ผ้าเล่นกีฬาแบบกรีกๆ) 

จนผ่านไป 15 ศตวรรษ โอลิมปิกสมัยใหม่ถึงได้ถือกำเนิด โดยมีขุนนางชาวฝรั่งเศสวัย 26 ปีนามว่า ปิแอร์ เดอ กูแบร์แตง เป็นตัวตั้งตัวตีในการรื้อฟื้นเอามหกรรมนี้กลับมาจัดอีกครั้ง (เพราะตัวเขาเองศึกษาค้นคว้าเรื่องโอลิมปิกโบราณและการกีฬาสมัยก่อนอย่างลึกซึ้งจนอิน) โดยจัดในเดือนเมษายน ปี 1989 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ 

ปิแอร์ เดอ กูแบร์แตง (Pierre de Coubertin)

โอลิมปิกเกมส์ 1900 จุดเริ่มต้นความเท่าเทียม

ปี 1900 ปารีสกลายเป็นเมืองที่ 2 ที่ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกสมัยใหม่ต่อจากเอเธนส์ โดยได้จัดงานนานถึง 5 เดือน (14 พฤษภาคม – 28 ตุลาคม 1900) มีข้อสันนิษฐานว่า โอลิมปิกในครั้งนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการโลก World’s Fair ที่จัดขึ้นที่ปารีสระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายนในปีเดียวกัน เพราะแม้แต่โปสเตอร์โปรโมทยังไม่มีสัญลักษณ์ห้าห่วงของโอลิมปิกอยู่บนภาพเลย

ความสำคัญของโอลิมปิกในปีนั้นคือการเปิดโอกาสให้นักกีฬาหญิงเข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรก รวม 22 คนใน 5 ชนิดกีฬา คือเทนนิส เรือใบ กอล์ฟ ขี่ม้า และโครเก (กีฬายอดฮิตจากสมัยวิคตอเรีย ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในโอลิมปิกเกมส์แค่ครั้งนี้ครั้งเดียว) ซึ่งก็มีนักกีฬาหญิงที่สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันประเภทเดี่ยวได้เป็นคนแรกคือ ชาร์ล็อต คูเปอร์ นักเทนนิสสาวชาวอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม โอลิมปิกฉบับปารีเซียงครั้งนั้นก็ยังไม่ได้ถูกพูดถึงมากในระดับนานาชาติ เพราะตัวงานยังถูกทรีตเป็นเพียงการแข่งขันกีฬา ‘เพื่อความบันเทิง’ ภายในงาน World’s Fair เท่านั้น หรือประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศก็ไม่ได้มีอิมแพ็คต่อสังคมมากมายอะไร เพราะเอาจริงๆ สัดส่วนของจำนวนนักกีฬาหญิงก็ยังน้อยกว่านักกีฬาชายอยู่มาก 

ชาร์ล็อต คูเปอร์ (Charlotte Cooper)

โอลิมปิกเกมส์ 1924 เร็วกว่า สูงกว่า แกร่งกว่า แมสกว่า 

กระทั่งปี 1924 งานโอลิมปิกเวียนกลับมาจัดที่ปารีสอีกครั้ง และมันก็กลายเป็นโอลิมปิกครั้งที่เริ่มได้รับความนิยมในวงกว้าง ในฐานะมหกรรมกีฬาระดับโลก โดยมีชาติที่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันเพิ่มจาก 29 ประเทศ เป็น 44 ประเทศ และยังมีหลายสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในงานครั้งนี้ ก่อนมันจะกลายเป็นแบบแผนที่ทำต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 

เช่น มีคำขวัญประจำการแข่งขันเป็นครั้งแรก คือ ‘Citius, Altius, Fortius’ มาจากภาษาละตินที่แปลว่า ‘เร็วกว่า สูงกว่า แกร่งกว่า’, มีหมู่บ้านนักกีฬาครั้งแรก เพื่อให้เป็นที่พักของนักกีฬาจากทุกประเทศ รวมถึงยังมีร้านแลกเงิน ร้านซักแห้ง ร้านทำผม ไปรษณีย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอีกมากมายภายในหมู่บ้านด้วย, มีนักกีฬาผิวสีคว้าเหรียญทองได้เป็นครั้งแรกคือ เดออาร์ท ฮับบาร์ด นักกีฬากระโดดน้ำชายชาวอเมริกัน, มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันด้วยเสียงผ่านวิทยุเป็นครั้งแรก, มีพิธีปิดการแข่งขันเป็นครั้งแรก เป็นการเชิญธง 3 ผืนคือ ธงประเทศเจ้าภาพปัจจุบัน (ฝรั่งเศส) ธงชาติประเทศเจ้าภาพครั้งต่อไป (เนเธอแลนด์) และธงโอลิมปิกสากล 

ทั้งยังเป็นโอลิมปิกเกมส์หนสุดท้ายที่กูแบร์แตงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดงาน เมื่อเขาตัดสินใจลงจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ในปี 1925 ก่อนจะจากโลกนี้ไปในปี 1937

Village Olympique หมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกแห่งแรก ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1924

โอลิมปิกกับศิลปะ ฟ้าดินแยกเราเท่าไรไม่ขาด 

นอกจากการแข่งกีฬา ยังเคยมีการจัดแข่งขันประกวดศิลปะโอลิมปิก (Olympic Art Competitions) มาตั้งแต่ปี 1912 จากไอเดียของกูแบร์แตง ซึ่งเชื่อว่า core value ของโอลิมปิกไม่ใช่แค่การแข่งด้วยร่างกายหรือพละกำลัง หากแต่เป็นการผสานรวม ‘กล้ามเนื้อและจิตใจ’ เข้าด้วยกัน (โดยมีแรงบันดาลใจมาจากชาวกรีกโบราณที่เป็นเลิศทั้งทางกายภาพและศิลปะอย่างสูงสุด) หรือเรียกง่ายๆ ว่าต้องเก่งทั้งศาสตร์และศิลป์นั่นแหละ

แข่งกัน 5 ประเภทศิลปะ ได้แก่ สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ดนตรี จิตรกรรม และประติมากรรม เงื่อนไขของการลงแข่งขันคือ ต้องเป็นงานศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจหรือมีความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนกับกีฬาโอลิมปิก มีระยะเวลาให้ศิลปินได้สรรสร้างผลงาน 4 ปี และผู้ลงแข่งต้องเป็นศิลปิน ‘มือสมัครเล่น’ เท่านั้น

ภายหลัง กฎเกณฑ์ทั้งหมดนี้กลายเป็นข้อถกเถียงในที่ประชุมของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ว่ามันเป็นการตีกรอบทางศิลปะเกินไปไหม (เพราะด้วยกฎหยุมหยิมๆ นี้เองที่ทำให้มีศิลปินฝีมือดีหลายคนส่ายหน้า ไม่ส่งผลงานเข้าประกวด) 

โดยประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลในเวลาต่อมาอย่าง เอเวอรี่ บรันเดจ เห็นว่าโอลิมปิกควรเป็นการแข่งขันอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ควรมีอิทธิพลด้านการเงินใดๆ มาเกี่ยวข้อง ซึ่งเขาเกรงว่าศิลปินที่ชนะศิลปะโอลิมปิกอาจใช้ชื่อเสียงหรือเหรียญรางวัลไปโฆษณาอวดอ้างอย่างเกินจริงเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง สุดท้ายการแข่งขันศิลปะโอลิมปิกจึงยกเลิกไปในปี 1948 แล้วจัดเป็นเทศกาลศิลปวัฒนธรรมเพื่อเฉลิมฉลองกีฬาโอลิมปิกแทนในปี 1954 ชื่อว่า Cultural Olympiad 

ซึ่งปารีส ในฐานะเจ้าภาพโอลิมปิก 2024 ก็เริ่มเปิดโอกาสให้ศิลปิน องค์กรไม่แสวงผลกำไร สถาบันทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ส่งไอเดียหรือโปรเจกต์เข้าร่วมโปรแกรม Cultural Olympiad ตั้งแต่ปี 2022 โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกเช่น ต้องเป็นโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาและศิลปวัฒนธรรม, จัดแสดงในสนามกีฬาหรือสถานที่แข่งกีฬา, มุ่งเน้นค่านิยมหรือคุณค่าที่ศิลปะและกีฬามีร่วมกัน อาทิ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเป็นเลิศทางนวัตกรรม หรือความเป็นสากล

อย่างนิทรรศการฟรี A nous les stades ! Une histoire du sport au féminin ที่จัดแสดงที่หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม ถึง 13 ตุลาคม 2024 ก็ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของกีฬากับผู้หญิงตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เน้นไปที่ความท้าทายที่ผู้หญิงต้องเผชิญในการแข่งขันกีฬา ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมเมื่อเทียบกับผู้ชาย ไปจนถึงเรื่องของสรีระ ทรงผม ชุดแข่งขัน และข้อจำกัดอีกมากมาย

โอลิมปิกเกมส์ 2024 มองจากดาวอังคารก็รู้ว่าปารีสจัด

เมื่อพูดถึงความเท่าเทียม ซึ่งเป็น General Issue ของยุคสมัยนี้ โอลิมปิกเกมส์ ฉบับปารีเซียงในปี 2024 ก็คำนึงถึงประเด็นนี้เป็นสำคัญ รวมถึงอีกหลายๆ Issue ที่สังคมให้คุณค่า โดยไม่ลืมที่จะสอดแทรกความ ‘ติดแกลม’ แบบปารีสและฝรั่งเศส ในแง่ของศิลปวัฒนธรรม แฟชั่น แสงสี และประวัติศาสตร์ เข้าไปในทุกๆ element (แบบเนียนบ้าง แบบตะโกนบ้าง)

เริ่มจาก CI ของงาน มาในธีมสีน้ำเงิน แดง เขียว และม่วง เพื่อเป็นตัวแทนของความหลากหลาย (เราจะได้เห็นลู่วิ่งของสนามกรีฑาเป็นสีม่วงครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิก) โดยจุดมุ่งหมายของการออกแบบมี 4 ข้อ คือ Celebration การรวมตัวของคนที่รักกีฬาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เต็มไปด้วยความสุขที่สุด, Transfer ส่งต่อความเป็นปารีสไปสู่ชาวโลก, Rationalization ออกแบบธีมของโอลิมปิกและพาราลิมปิกให้เหมือนกัน เท่าเทียมกัน และ Personalization ให้การแข่งขันนี้เป็นของทุกคนทั่วโลก

ส่วนสัญลักษณ์ของงาน (ซึ่งทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกจะใช้สัญลักษณ์เดียวกัน) ก็สะท้อนถึงตัวตนและคุณค่าของฝรั่งเศสได้ตั้งแต่แว้บแรกที่เห็น ประกอบไปด้วยเหรียญทอง (แทนความสำเร็จ) เปลวเพลิง (แทนพลังของนักกีฬา) และหญิงสาว ผู้เป็นตัวแม่แห่งเสรีภาพและประชาธิปไตยของชาวปารีเซียงอย่าง มารีแอนน์ 

หากไม่รู้จัก เธอคือผู้หญิงบนภาพวาดจิตรกรรมชิ้นเอกอย่าง “Liberty Leading The People” ของ ยูจีน เดอลาครัว ที่วาดเพื่ออุทิศให้กับความพยายามอย่างเด็ดเดี่ยวห้าวหาญของประชาชนชาวฝรั่งเศสในเหตุการณ์ปฏิวัติประเทศเมื่อปี 1830 

ซิลแวง บอยเยอร์ ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบโลโก้นี้บอกว่า ในวันที่เริ่มออกแบบเมื่อปี 2018 เขาได้เห็นการประท้วงหรือเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นต่างๆ มากมายชนิดสัปดาห์ชนสัปดาห์ เลยเริ่มคิดถึงการออกแบบอะไรที่ต่างไปจากเดิม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของสังคมสมัยใหม่ อย่างการใช้ใบหน้าของผู้หญิงมาเป็นโลโก้

“เพราะปารีสเป็นเมืองแรกที่จัดโอลิมปิกโดยให้นักกีฬาหญิงเข้าร่วมได้ ซึ่งเมื่อผมนำเสนอไอเดียนี้ต่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ผมก็มาพร้อมเซอร์เวย์ที่โชว์ให้เห็นว่า วิวัฒนาการของผู้หญิงต่อการมีส่วนร่วมในโอลิมปิก ตั้งแต่ปี 1924 เป็นต้นมานั้นน่าทึ่งแค่ไหน และนั่นก็ทำให้กรรมการอึ้งทั้งห้อง” บอยเยอร์กล่าว

ไม่ใช่แค่โลโก้ มาสคอตของงานก็มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับมารีแอนน์ด้วย เมื่อมันได้อินสไปร์จากหมวกฟรีเจียนสีแดงที่สวมอยู่บนศีรษะของมารีแอนน์ กลายมาเป็นน้อง ‘ฟรีจีส’ แสนน่ารัก เพื่อโชว์ให้โลกเห็นว่ามาสคอตเป็นอะไรได้มากกว่าแค่สัตว์หรือสิ่งมีชีวิต จะเป็นหมวกก็ได้หากมันมีความหมายที่หนักแน่นพอ 

แต่ความเก๋ยิ่งกว่านั้นคือ มาสคอตของพาราลิมปิกก็เป็นน้องฟรีจีสเหมือนกัน แต่เป็นฟรีจีสที่สวมขาเทียมไว้ที่ข้างขวา นับเป็นครั้งแรกที่มาสคอตพาราลิมปิกถูกออกแบบให้เห็นความไม่สมบูรณ์แบบของร่างกายอย่างชัดเจน

อีกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ปารีส คือการจัดพิธีเปิดการแข่งขันนอกสนามกีฬา ซึ่งเปิดกันที่แม่น้ำแซน ณ ใจกลางเมือง โดยจัดเต็มทั้งแสงสีเสียง การแสดง และนักกีฬาประเทศต่างๆ ก็อยู่บนเรือพาเหรดที่ล่องผ่านเมือง ชุมชน สถานที่สำคัญ จนไปสิ้นสุดที่หน้าจัตุรัส Trocadéro เป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร โดยที่ผู้ชมสามารถเข้าชมพิธีเปิดนี้ได้อย่างใกล้ชิดที่สองข้างทาง

จะเห็นว่าฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับการพรีเซนต์แลนด์มาร์คของตัวเองสุดๆ ในทุกๆ ดีเทล

อย่างการเปิดตัวเพลง ‘Parade’ เพลงธีมประจำการแข่งขัน (ซึ่งประพันธ์โดย วิคตอร์ เลอ มาสเน่) ก็เล่นใหญ่สุดๆ ด้วยการแสดงสดโดยคณะ Marseille Symphony Orchestra ที่ Palais du Pharo ในมาร์กเซย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2024 เพื่อเป็นการรับคบเพลิงโอลิมปิกที่ถูกจุดขึ้นที่วิหารศักดิ์สิทธิ์บนเทือกเขาโอลิมเปียในกรีซ โดยมีแมรี มินา นักแสดงหญิงชาวกรีก เป็นบาทหลวงหญิงถือไฟคบเพลิง แล้วส่งต่อให้สเตฟานอส เอ็นตูกอส นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกพายเรือปี 2020 และลอเร มาโนดู นักว่ายน้ำชาวฝรั่งเศส 

ก่อนจะเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วยเรือเรือใบสามเสากระโดงแบบโบราณ ‘เบแลม’ ซึ่งมีอายุกว่า 120 ปี มาเทียบท่ายังท่าเรือในมาร์กเซย เป็นสัญญาณการเริ่มโอลิมปิกเกมส์ฉบับปารีเซียงอย่างเป็นทางการ

หรือเหรียญรางวัล ทั้งทอง เงิน และทองแดงทั้ง 5,084 เหรียญ ก็จะประดับด้วยแผ่นโลหะทรงหกเหลี่ยมที่ได้มาจากหอไอเฟล ตรงกลางเหรียญ ซึ่งชุดของผู้อัญเชิญเหรียญรางวัลออกแบบโดย Louis Vuitton โดยได้แรงบันดาลใจจากชุดนักกีฬาโอลิมปิกที่ปารีสเมื่อปี 1924 ขณะที่ถาดเชิญเหรียญก็ดีไซน์โดย Louis Vuitton เช่นกัน ให้ดูหรูหราและเข้ากับเหรียญรางวัลทั้งสาม

ส่วนตัวสนามที่ใช้จัดแข่งกีฬา ก็จะเป็นที่ๆ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีสตอรี่ที่ผูกพันกับเมือง ที่สำคัญคือต้องดูสวยงามอลังการ เพื่อเวลาถ่ายทอดสดออกมาแล้วจะได้ดูปังๆ เราจึงจะได้ชมการแข่งกีฬาชนิดต่างๆ ของโอลิมปิก ในสถานที่เหล่านี้

-วอลเลย์บอลชายหาด แข่งที่หน้าหอไอเฟล

-กรีฑา ไตรกีฬา ปั่นจักรยาน แข่งที่ Pont d’Iéna สะพาน ข้ามแม่น้ำแซน

-วิ่งมาราธอนกันบนถนน Champs Elysees

-ยิงธนูกันที่ Hôtel des Invalides

-ฟันดาบและเทควันโด แข่งที่ Grand Palais สถานที่จัดแฟชั่นโชว์ของ Chanel หลายต่อหลายครั้ง

-ยูโด มวยปล้ำ และเบรกแดนซ์ แข่งที่ Champ de Mars Arena 

-สเก็ตบอร์ด จักรยานผาดโผน บาสเก็ตบอล 3x3 แข่งที่จัตุรัส la Concorde 

-ขี่ม้าข้ามสิ่งกีดขวาง และปัญจกีฬาสมัยใหม่ แข่งที่ลานพระราชวังแวซายน์

-รักบี้ แข่งที่สนาม Stade de France ที่เคยใช้แข่งฟุตบอลโลกปี 1998

หนึ่งในงานที่สะท้อนคอนเซปต์นี้ของปารีสได้ดีมากๆ คือเซตภาพถ่ายของศิลปินช่างภาพและนักเต้นชาวฝรั่งเศส มาตีเยอ ฟอร์เกต ที่ให้นักกีฬาชาวเฟรนช์มาโพสต์ท่าสนุกๆ ในชุดและอุปกรณ์กีฬาตัวเอง ณ แลนด์มาร์คที่ปารีส อาทิ Plaza Athénée, Musée d'Art Moderne de Paris, Théâtre des Champs-Élysées ฯลฯ เพื่อเป็นการยืนยัน (อีกครั้ง) ว่ากีฬาและศิลปะคือเรื่องเดียวกัน พร้อมๆ กับได้อวดความงดงามของสถานที่สำคัญในเมือง (ชมภาพถ่ายเซตนี้ได้ที่ instagram.com/forgetmat/

โดยที่อาณาบริเวณโดยรอบของสถานที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะที่ๆ ถูกใช้จัดการแข่งขัน ปารีสก็ปรับภูมิทัศน์ให้มีพื้นที่สีเขียวรายล้อมมากขึ้น และปรับถนนหนทางในเมืองให้คนสามารถเดินเท้ามายังสถานที่จัดการแข่งขันทุกชนิดกีฬาได้อย่างสะดวกสบาย

นี่คือส่วนหนึ่งของนโยบายด้านความยั่งยืนและการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม (aka รักษ์โลก) ซึ่งนอกจากเรื่องพื้นที่สีเขียว ปารีสยังตั้งเป้าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยกว่าโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน 50% ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้า อาหาร ระบบขนส่งภายในเมือง หรือการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งตัวอาคารที่ก่อสร้างใหม่ก็จะต้องถูกใช้ได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังติดแผงโซลาร์เซลล์ไว้ในอาคารด้วย

นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้เสียชื่อเมืองหลวงแห่งแฟชั่น เราจะไม่พูดถึงเรื่องยูนิฟอร์มก็คงไม่ได้

ชุดที่ใช้ในพิธีเปิดการแข่งขัน ออกแบบใหม่โดยแบรนด์ Berluti ในเครือ LVMH ร่วมกับทีมคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งฝรั่งเศส ส่วนชุดที่จะใช้ลงแข่งออกแบบโดย สเตฟาน แอชพูล ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวเฟรนช์ ทำร่วมกับแบรนด์กีฬาชั้นนำของฝรั่งเศสอย่าง Le Coq Sportif บนความตั้งใจว่าอยากให้นักกีฬาฝรั่งเศสดูเปล่งประกาย สะท้อนความเป็นชาวปารีเซียงได้อย่างสง่างาม และจะได้มั่นใจว่า เขาจะดูดีที่สุดในโมเมนต์ที่อยากจดจำไปตลอดชีวิต

ขณะเดียวกันก็จะเป็นชุดที่มีความ Unisex ไม่ออกแมนหรือออกสาวเกินไป จะเพศไหนก็ใส่สวย เพราะประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ปารีสใส่ใจสุดๆ 

เชื่อไหมว่า นี่คือโอลิมปิกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถเรียกว่าเป็นงานโอลิมปิกที่เท่าเทียมทางเพศได้อย่างเต็มปาก เพราะจากนักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 10,500 คน ถูกแบ่งเป็นนักกีฬาชายและหญิงจำนวนเท่ากันเป๊ะ คืออย่างละ 5,250 คน 

อะ…แล้วถ้าถามว่าซีนของ LGBTQ+ อยู่ไหน ก็นี่เลย นิกกี้ ดอลล์ Drag ตัวมัมชาวปารีเซียงที่เคยเข้าร่วมแข่งขันรายการ RuPaul’s Drag Race ซีซั่น 12 ได้ซีนใหญ่เบิ้ม ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ถือคบเพลิงประจำการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 แสดงให้เห็นว่าฝรั่งเศสให้การยอมรับและซัพพอร์ตเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างเต็มที่

และเพราะโอลิมปิกเกมส์ไม่ใช่แค่เรื่องของการแข่งกีฬา แต่ยังเป็นเรื่องการวางแผนและเตรียมพร้อมของเจ้าภาพปัจจุบัน ตั้งแต่เริ่มรับไม้ต่อจากเจ้าภาพก่อนหน้า ซึ่งปารีสก็ทำให้เราเห็นแล้วว่า พวกเขาพร้อมสุดๆ ที่จะนำเสนอความเป็นตัวเองแก่สายตาชาวโลก ด้วยการสอดแทรกศิลปวัฒนธรรมที่แสนจะรุ่มรวยของตัวเองเข้าไปในทุกๆ element ของงาน

ขอฝันเอาสนุกๆ ว่าถ้าวันหนึ่งกรุงเทพได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกบ้าง ก็หวังว่าเราจะวางแผนและเตรียมพร้อมอย่างดีในการจัดอีเวนต์ที่จะเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ส่วนตัวอยากเห็นการสนับสนุนศิลปิน ดีไซเนอร์ และคนทำงานครีเอทีฟเก่งๆ ในประเทศเรา ให้เข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนางานให้ดูดีมีรสนิยมชนิดที่เราจะกล้าโอ้อวดกับชาวโลกได้อย่างเต็มปาก โดยมีความร่วมมือกันอย่างไหลลื่นไร้ปัญหาของภาครัฐและเอกชนเป็นแบ็คอัพ ช่วยกันผลักดันให้โอลิมปิกแบบไทยๆ ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ย้ำอีกทีนะว่า…ฝัน

ที่มา:

https://olympics.com/en/olympic-games/paris-1900  

https://olympics.com/en/news/paris-1924-the-olympic-games-come-of-age

https://thestandard.co/olympics-game-short-history/

https://www.silpa-mag.com/history/article_83267 

https://www.sarakadeelite.com/brand-story/olympic-paris-1900/

https://www.gqthailand.com/culture/art-and-design/article/cultural-olympiad 

https://plus.thairath.co.th/topic/subculture/104478

https://parisjetaime.com/eng/event/a-nous-les-stades-une-histoire-du-sport-au-feminin-cultural-olympiad-e927 

https://www.lemonde.fr/en/sports/article/2024/04/15/paris-2024-move-over-brick-clay-color-olympic-track-is-going-purple-for-the-first-time_6668422_9.html 

https://www.thecreativefactor.co/articles/paris-olympic-logo-designer-sylvain-boyer 

https://www.theguardian.com/sport/2022/nov/14/paris-2024-olympic-mascot-paralympic-mascot-phryges-france

https://thestandard.co/paris-olympic-2024-gender-parity/