Culture

‘หนึ่ง-ก้าว’ กับก้าวที่หนึ่งของ ห่าน นุชษณีย์ แฟนคลับที่ผันตัวมาเริ่มทำธุรกิจเพื่อสังคม

ในช่วงที่ผ่านมา แฟนคลับหลายคนคงเคยได้เห็นแอคเคาท์ หนึ่ง-ก้าว ในทวิตเตอร์ หรือเคยลองใช้บริการกันมาบ้างแล้ว เพราะถือว่าเป็นธุรกิจน่าสนใจ ที่ทำให้เราได้ทั้งสนับสนุนศิลปิน และสนับสนุนให้คนกลุ่มเปราะบางมีรายได้ไปพร้อมกัน

แต่เมื่อมีคนชื่นชอบ ก็ย่อมมีคนไม่ชอบเป็นธรรมดา เพราะอาจมองว่ากำลังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนบางกลุ่มอยู่ แต่ถึงอย่างนั้น ผู้เขียนก็อยากให้ทุกคนได้ลองเปิดใจอ่านบทสัมภาษณ์นี้ก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะสนับสนุนเขาต่อไปหรือไม่

ธุรกิจที่ปิ๊งไอเดียขึ้นมาจากคุณภาพชีวิตคนช่วงโควิด

เมื่อกลางเดือนที่แล้ว ผู้เขียนมีนัดที่หัวมุมถนนพระราม 1 กับ ห่าน นุชษณีย์ เจ้าของโปรเจกต์หนึ่ง-ก้าว และลุงสิงห์ ชายวัย 62 ปี ผู้รับหน้าที่เป็นป้ายเคลื่อนไหวในครั้งนั้น เพื่อมาพูดคุยกันถึงโปรเจกต์หนึ่ง-ก้าว ก่อนถึงเวลาเริ่มทำงานของทั้งคู่

ห่านเริ่มเปิดบทสนทนาว่า เธอเริ่มคิดเรื่องธุรกิจนี้มาตั้งแต่ช่วงที่มีโควิดแรกๆ เพราะเห็นว่าที่ราชดำเนิน ถนนที่ต้องผ่านทุกวัน มีคนมานอนเพิ่มขึ้นมาก ทำให้เห็นว่าคนไทยหลุดออกจากการมีที่อยู่อาศัยได้ง่ายมาก ประกอบกับการเป็นมนุษย์แฟนคลับ ที่เห็นมาตลอดว่าการทำงานของรัฐบาลมีหลายปัญหาที่ทำให้แฟนคลับเริ่มแบนพื้นที่ป้ายของนายทุน และหันไปซื้อป้ายแม่ค้ารถเข็น หรือรถตุ๊กตุ๊กมากขึ้น เลยอยากทำอะไรสักอย่าง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหานี้ ในเชิงของธุรกิจเพื่อสังคม

“เราอยากสนับสนุนให้คนมีงาน เพราะงานมันทำให้คนมีความมั่นคงได้มากกว่าการมีเงินใช้แค่ชั่วคราว เลยมีไอเดียว่า ถ้าให้พี่ๆ คนไร้บ้าน เปลี่ยนตัวเองเป็นป้ายโฆษณาแล้วเดินไปตามที่ต่างๆ มันน่าจะเวิร์ค ระหว่างทำงานประจำ เราก็มีไปคุยกับพี่ที่ทำงานพม. เพื่อศึกษาคัลเจอร์ของคนไร้บ้าน แล้วก็พบว่าวันๆ หนึ่ง มีคนไร้บ้านที่ต้องเดินเยอะมาก และบางคนต้องการงาน เขาพยายามเดินเก็บของมาขาย และเราก็พยายามมองหาสิ่งที่เขาจะสะพายได้ จนเมื่อเดือนเมษาก็ตัดสินใจลาออกจากงาน มาลองทำสิ่งนี้แบบเต็มตัว”

จุดเด่นของป้ายโฆษณาแบบสะพายหลัง

ป้ายแบบนี้จะเข้าถึงคนได้ง่าย ไม่ได้นิ่งอยู่กับที่ และมันช้ากว่ารถวิ่ง คือเวลารถติดคนสามารถหยุดอ่านได้ ดังนั้น Eyeballs (อัตราการมองเห็น) เลยเยอะมาก สิ่งนี้จึงเป็นความคุ้มค่าที่กลุ่มแฟนคลับจะได้รับ เมื่อใช้บริการเรา

วิธีมองหาคนร่วมโปรเจกต์

ห่าน: คนไร้บ้านเขามีหลายรูปแบบ แต่เราเน้นมองหาคนที่เขาอยากทำงาน อยากกลับไปอยู่ในจุดที่มีชีวิตดีกว่านอนข้างถนน เลยเริ่มติดต่อผ่านทางคุณทราย (X: @Thamboon888) เขาก็จะแนะนำคนมาให้ แล้วเราก็จะลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์คร่าวๆ เพื่อให้พอรู้ว่าเขาไหวไหม เพราะงานเราหลักๆ คือ ต้องแข็งแรง เดินเก่ง และมั่นใจในการเดิน ปัจจุบันเรามีพี่ๆ ในโปรเจกต์ 3 คน มีทั้งคนไร้บ้าน และผู้สูงอายุรายได้น้อยอย่างลุงสิงห์

ลุงสิงห์: ผมมาทำงานนี้เมื่อเกือบสองเดือนที่แล้ว เป็นช่วงที่ต้องออกจากงาน เพราะโรงงานปิด แล้วได้ไปเจอเขา (ห่าน) เขาช่วยผู้สูงอายุ และคนเร่ร่อน ผมว่ามันดี เขาช่วยให้เรามีรายได้แบบพออยู่ได้ เพราะคนอายุมาก ไปสมัครงานที่ไหน เขาก็ไม่รับแล้ว

นอกจากคนเข้าร่วมโปรเจกต์ หนึ่ง-ก้าวยังให้ความสำคัญกับทุกองค์ประกอบ

“เรื่องเส้นทางเดิน เราต้องไปเดินเองก่อนว่าเป็นยังไงบ้าง ช่วงเวลาไหนคนเยอะ ใครจะเห็นป้ายบ้าง คนแต่ละพื้นที่เป็นยังไง แล้วค่อยไปเดินพร้อมพี่ๆ เขา ดูว่าเขาเดินไหวไหม มีตรงไหนนั่งพักได้บ้าง เข้าห้องน้ำที่ไหนได้บ้าง สะพานลอยอยู่ตรงไหน แล้วค่อยมาฟีดแบ็กกันว่าเส้นทางนั้นเวิร์คไหม ตอนนี้ก็เพิ่งมีเส้นทางเดียว คือ สยาม – อโศก”

ค่าบริการมาจากการทำโฟกัสกรุ๊ปเล็กๆ โดยเลือกราคาที่ทำให้เรา แฟนคลับ และพี่ๆ คนไร้บ้าน ได้รับความคุ้มค่าตลอดการทำงาน 5 ชม. ตอนนี้เราคิดเป็นรายวัน วันธรรมดา 1,619 บาท/วัน/คน เสาร์-อาทิตย์-นักขัตฤกษ์ 1,919 บาท/วัน/คน”

“ส่วนกระเป๋า เราต้องลองผิดลองถูกเยอะมาก ทั้งการเลือกไซซ์ วัสดุ และดีไซน์ เพื่อติดตั้งป้าย เพราะจริงๆ ป้ายเราไม่หนักเลย แต่ดีเทลค่อนข้างเยอะ ทั้งการเจาะ การเว้นระยะ ต้องละเอียด เราเลยไม่สามารถให้ลูกค้าปรินท์ป้ายมาเองได้”

เป้าหมายที่แท้จริงของหนึ่ง-ก้าว

เป้าหมายของเรา คือการที่ได้ช่วยให้พี่ๆ ที่อยู่กับเรามีชีวิตดีขึ้น สามารถไปถึงเป้าหมายอะไรบางอย่างของเขาได้ ถ้าอนาคตเขาจำเป็นต้องลาออกจากเรา เพื่อไปเจอสิ่งที่ดีกว่า เราก็ยินดีมากๆ และมองว่านั่นมันคือความสำเร็จของเรา

“ตอนนี้เราสามารถซัพพอร์ตคนเปราะบางได้จริงๆ แล้ว แต่ยังเป็นเซอร์วิสที่ไซซ์เล็กมากอยู่ เพราะช่วยได้เป็นรายคน แต่ในอนาคตเราก็อยากขยับสเกลขึ้นอีก เพื่อให้ช่วยเหลือคนได้มากขึ้น”

อุปสรรคที่เจอในช่วงแรก

มีเยอะมาก แต่ที่เจอบ่อย คือคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจแนวทางธุรกิจของเรา เขาจะถามเสมอว่า พี่ๆ ได้เงินเท่าไหร่ เราโกงไหม เขาจะให้เราแจกแจงค่าใช้จ่ายแบบละเอียด ทั้งๆ ที่คนทำธุรกิจ SE อาจไม่จำเป็นต้องแจกแจงอะไรขนาดนั้นก็ได้ แต่เราก็เข้าใจเขามากๆ เลยพยายามตอบ และให้ข้อมูลกับเขาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เขาสบายใจ

การทำงานหนึ่งวันของหนึ่ง-ก้าวและพี่ๆ

ห่าน: ทุกวันที่มีงาน เราจะนัดพี่ๆ ตรงหัวมุมถนนพระราม 1 ช่วงบ่ายโมง เพื่อติดตั้งป้าย และใส่ AirTag ในกระเป๋า แล้วให้เขาเดินไปตามเส้นทางที่กำหนด ส่วนเราก็สแตนด์บายรออยู่แถวนี้ เผื่อเขามีปัญหาอะไรให้ช่วย

ลุงสิงห์: ผมนั่งรถเมล์จากดาวคะนองมาลงที่สยาม เพื่อติดป้ายก่อน ในกระเป๋าก็มีพกน้ำเปล่าไว้ แต่ไม่ค่อยพกยาดม ผมยังเดินไหวอยู่ (หัวเราะ) ถ้าเดินแล้วเจอฝน ก็หลบในร่มเอา เขา (ห่าน) ก็บอกว่าถ้าเหนื่อยก็นั่งพัก ถ้าฝนหายตกค่อยไปยืนใหม่

“ผมไม่เคยทำงานแนวนี้มาก่อน แต่มันก็ดี เพราะเป็นงานบริสุทธิ์ ห่านเขาก็ดี เวลากลุ่มแฟนคลับให้อะไรมา เขาก็ขนมาให้เราหมดเลย แบ่งให้ก็ไม่เอาสักอย่าง ระหว่างเดิน บางทีแฟนคลับก็มีซื้อขนมซื้อน้ำมาให้ เข้ามาพูดคุย มาถามว่ากินข้าวหรือยัง”

ความรู้สึกเมื่อหนึ่ง-ก้าวเป็นอีกทางเลือกของเพื่อนแฟนคลับ

“รู้สึกดี เพราะเราก็มองย้อนในภาพที่เราเป็นแฟนคลับของคนๆ หนึ่งด้วย คือ หลายปีที่ผ่านมา เราก็เป็นแฟนคลับของใครคนใดคนหนึ่งมาตลอด เราเห็นตลอดว่าคัลเจอร์แฟนคลับค่อยๆ เปลี่ยนไป คนซื้อป้ายใหญ่ยังมี คนซื้อป้ายเล็กก็มี ซึ่งคนที่ซื้อป้ายนายทุนก็ไม่ได้ผิด แต่เราอยากให้อันนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ใครก็ทำได้ เพราะค่าใช้จ่ายไม่สูง”

ก้าวต่อไปของหนึ่ง-ก้าว

ตอนนี้มีหลายแบรนด์ติดต่อมาให้ช่วยเดินโปรโมตให้ แต่เรายังโฮลด์ไว้อยู่ เพราะมันมีเรื่องข้อกฎหมายที่จะต้องไปดูเพิ่ม และสิ่งที่เรายังอยากให้มีอยู่ คือความรู้สึกระหว่างคนที่เป็นแฟนคลับกับตัวศิลปิน การที่เขาได้ช่วยเหลือคนอื่น และความน่ารักที่เขาเป็นของเขากันเอง อย่างการฝากขนม ฝากเงินให้เรามาซื้อของให้พี่ๆ ที่ทำงานกับเรา หรือการแวะมาถ่ายรูปกับป้าย เช่น เมื่อไม่นานนี้ก็มีคุณหนูดี มิสแกรนด์ ศิลปินในป้ายโปรเจกต์ ที่มาถ่ายรูปและมาคุยกับพี่ๆ

ธุรกิจเพื่อสังคมในมุมของห่าน นุชษณีย์

อย่างไรก็ตาม เมื่อธุรกิจเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเปราะบาง หนึ่ง-ก้าว จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะโดนกระแสดราม่า ด้วยความที่คนบางกลุ่มอาจไม่รู้ว่า ธุรกิจเพื่อสังคม (SE) เป็นอย่างไร หรือห่วงใยกลุ่มคนเปราะบาง สุดท้ายเราจึงชวนห่าน นุชษณีย์ มาบอกเล่าถึงแนวทางการทำธุรกิจแบบนี้ ผ่านมุมมองของเธอ

“เรามองว่าสิ่งสำคัญของการทำ SE คือ การไม่มีมายด์เซ็ตในการเอาเปรียบใคร เพราะมันเป็นธุรกิจที่คิดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนในเชนได้ ยกตัวอย่างอย่างหนึ่งก้าว 1.เราได้ ทำแล้วมีรายได้เพียงพอกับการจุนเจือทีม 2.พี่ที่ทำงานกับเราได้ เราจ่ายเงินให้พี่เขาหลังเลิกงานทุกวัน นี่ก็เพิ่งปรับค่าจ้างขึ้นให้ 3.คนที่จ้างเราได้ คือได้โปรโมตศิลปินในเส้นทางเศรษฐกิจ และได้เป็นแรงเล็กๆ ในการช่วยเหลือสังคม และ 4.เรามองว่าศิลปินก็ได้ภาพลักษณ์ที่ดีด้วย เพราะแฟนคลับทำสิ่งที่ดีต่อสังคม”

หลังจากพูดคุยกับทีมหนึ่ง-ก้าวแล้ว ส่วนตัวผู้เขียนก็ยังมองว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่น่าสนใจ แต่ที่เกิดกระแสดราม่าขึ้นมาบ้าง ก็เป็นไปได้ว่ามันยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่กับกลุ่มแฟนคลับ อย่างไรก็ตาม “หนึ่ง-ก้าว” จะก้าวเดินไปสู่ก้าวที่ สอง สาม สี่ ... ได้ไกลแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการเปิดใจ และการให้คำแนะนำจากกลุ่มแฟนคลับ ซึ่งเป็นทาร์เก็ตหลักของธุรกิจ

“หนึ่ง-ก้าว ธุรกิจเล็กๆ ที่ทำให้เห็นว่า แฟนคลับ ก็เป็นพลังที่สร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคมได้”

ทำความรู้จักหนึ่ง-ก้าว ให้มากขึ้นได้ที่

X: @onestep_1_9