PAKAMAS สีสันของการทำผ้าพื้นถิ่นให้เป็นไอเทมสุดคูล

ด้วยความตั้งใจของ ชะเอม-ผกามาศ คำภาบุตร ที่อยากให้ผ้าประจำท้องถิ่นของไทย ที่มีประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่ถูกส่งต่อกันมาอย่างยาวนานกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยวิสัยทัศน์ที่เธอเห็นว่าผ้าไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่แล้ว แค่ต้องนำมาแปรรูปให้เหมาะสมกับยุคสมัยและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ถึงจะกลายเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากใส่ในชีวิตประจำวัน 

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้แบรนด์เสื้อผ้า PAKAMAS เกิดขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว ที่สามารถครองใจลูกค้าในไทยและต่างประเทศได้ในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากความคิดที่แตกต่างแล้ว ทั้งแบรนด์และคุณชะเอมเองยังมีมุมมองน่าสนใจอีกมากที่เราอยากให้ทุกคนได้รู้จัก จะมีอะไรบางนั้น ตามมาอ่านกันได้เลย

จากปากต่อปากสู่การสร้างแบรนด์อย่างเต็มรูปแบบ

หลังจากที่อ่านบทนำไปแล้ว บางคนคงคิดว่าชะเอมคืออดีตนักศึกษาสาขาแฟชั่นดีไซน์ หรือผ่านการอบรมดีไซเนอร์จากสถาบันชั้นมาก่อนแน่ๆ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น เพราะเธอเรียนจบเอกคหกรรมอาหารและโภชนาการ แต่หันมาทำแบรนด์ได้เพราะความชอบส่วนตัว และมาถึงจุดนี้ได้เพราะยูทูบและการบอกต่อแบบปากต่อปากของลูกค้าเท่านั้น

“เอมเป็นคนมหาสารคาม สาวอีสานแท้ๆ บวกกับความเป็นศิลปินในตัว จึงชื่นชอบลายผ้าไทยและมีแบบที่สร้างสรรค์ในหัวมาเรื่อยๆ เพราะอยากจะนำผ้าไทยมาใส่ในแบบที่ดูสมกับวัยตัวเอง เมื่อมีโอกาสเลยได้เรียนรู้ด้านแฟชั่นเพิ่มเติม ทั้งการสร้างแพทเทิร์น การเข้าช่วงแขน-ขา และขั้นตอนการตัดเย็บง่ายๆ ผ่านยูทูบ”

เธอเล่าต่อว่าแรกเริ่มได้นำผ้าขาวม้ามาตัดใส่เอง เพื่อไปร่วมงานเปิดตัวสินค้าด้านความงามที่สิงคโปร์ช่วงปี 2017 ซึ่งเป็นงานที่คนไทย เกาหลีใต้ เมียนมา และจีนกว่าแสนคนเข้าร่วม ทำให้เสื้อผ้าที่เธอใส่กลายเป็นที่สนใจของคนใกล้ตัวและโลกโซเซียล ต่อมาเริ่มมีคนเสนอให้ตัดชุดให้และบอกต่อกันไปแบบปากต่อปาก จนมีคนทยอยมาจองคิวตัดกันเยอะมาก จากหนึ่งกลายเป็นสอง สาม สี่ และหลักร้อยชุดในที่สุด สองปีถัดมาเธอเลยต้องปรับเปลี่ยนจากการตัดชุดเป็นงานอดิเรก มาสู่การสร้างแบรนด์ผ้าไทยแปรรูปอย่างจริงจัง

ผ้าไทยในมุมมองของ PAKAMAS 

สำหรับชะเอมเธอมองว่าจุดเด่นของผ้าไทยคือ การทอที่ละเอียดและปราณีต กว่าจะมาเป็นผืนผ้าต้องใช้เวลานาน รวมถึงมีเอกลักษณ์ของลวดลายผ้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน ทำให้ดูหรูหราและมีคุณค่าในตัวเอง แต่ถ้าจะให้คนรุ่นใหม่สวมใส่ได้ ก็ควรต้องตัดต่อลายและสร้างแบบให้เข้ากับยุคสมัยซะก่อน เพราะคนรุ่นใหม่จากทั้งในไทยและต่างประเทศเริ่มสนใจผ้าไทย และอยากจะสวมใส่มันมากขึ้น ยืนยันได้จากผลตอบรับของแบรนด์ PAKAMAS

ไม่ลืมที่จะช่วยเหลือชุมชน

เมื่อพูดถึงการทำแบรนด์ แน่นอนว่าภาพลักษณ์ของธุรกิจเพื่อผลกำไรก็มักจะเกิดขึ้นทันที แต่ถ้ามองให้ลึกจริงๆ จะเห็นว่าด่านแรกของแบรนด์เสื้อผ้าคืออุตสาหกรรมผ้าไทย ที่เป็น Ecosystem ระดับชุมชนเพราะ กระบวนการปลูกไหมตลอดจนการส่งออกเพื่อจำหน่าย ล้วนมาจากกำลังคนในท้องถิ่น 

ดังนั้นวัตถุดิบหลักที่ชะเอมเลือกมาใช้สร้างสรรค์ผลงานจะมีทั้งผ้าพิมพ์ลาย ผ้าทอเครื่อง ผ้าซิ่น ผ้าพื้นเมือง และผ้าไทยทอมือ จากกลุ่มแม่บ้านในชนบทของทุกจังหวัดเท่าที่จะสามารถหาได้ (ยกเว้นชุดที่ต้องการความแตกต่างเป็นพิเศษ ถึงจะใช้ผ้านำเข้า) ซึ่งผ้าเหล่านี้ผู้ผลิตนั้นไม่สามารถเข้าถึงการทำตลาดออนไลน์ได้ เธอจึงอาสาเป็นผู้ช่วยสานต่อจุดที่เป็นปัญหาเหล่านั้นให้ โดยจะเลือกผ้าทอกี่ 2 – 6 ตะกอเพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อในราคาจับต้องได้ 

สร้างแรงบันดาลใจจากลายผ้า

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบชุดแต่ละคอลเล็กชั่นชะเอมบอกว่า “แรงบันดาลใจขึ้นอยู่กับลวดลายของผ้า เมื่อเราเห็นลายก็จะรู้ว่าจะดัดแปลงเล่นลวดลายแบบไหน และต้องคำนวณขนาดของผ้าที่นำมาใช้ยังไง ซึ่งสิ่งสำคัญคือการออกแบบให้เห็นส่วนเว้าส่วนโค้งของผู้สวมใส่ และแขนต้องพอง

เช่น ชุดนี้ใช้ผ้าไหมสังเคราะห์ทอเครื่องลายของจังหวัดสุรินทร์ที่มีสีสันสดใส รวมแล้วใช้ผ้าไปประมาณ 7 เมตร ไม่รวมซับผ้าซับกาว”

“ส่วนผลงานที่เอมกำลังทำตอนนี้เป็นผ้าไหมทอมือของเมืองขอนแก่นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการอยากช่วยระบายสินค้าให้กลุ่มแม่บ้านในชนบท ซึ่งเขาเก่งด้านผลิตแต่ไม่ถนัดเรื่องการปล่อยสินค้า เลยมีการดองสินค้าไว้ พอได้เข้าไปพูดคุยก็เริ่มมีไอเดียมากมาย อยากนำผ้าเหล่านั้นมาแปรรูปเป็นชุดใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ผลิตสิ่งทอมีแรงบันดาลใจทอลายใหม่ให้เราได้นำมาตัดชุดต่อไป เป็นการเกื้อกูลกันไปในตัวค่ะ”

อนาคตของชะเอม & PAKAMAS 

เมื่อกระแสตอบรับจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ชะเอมก็มีเป้าหมายว่าภายในปี 2022 จะขยับขยายจากการทำชุดตามออเดอร์ ไปเป็นการทำไซซ์มาตรฐาน เพื่อสต๊อกของพร้อมส่ง ให้บริการลูกค้าให้ทั่วถึงโดยไม่ต้องรอพรีออเดอร์ และจะส่งออกไปต่างประเทศให้มากขึ้นด้วย

ผ้าไทยกับราคาขายในปัจจุบัน

นอกจากภาพลักษณ์ที่อาจดูเก่าแก่ในสายตาคนรุ่นใหม่บางคนแล้ว เท่าที่เราสอบถามมาพบว่าอีกหนึ่งสาเหตุที่คนสมัยนี้ไม่ค่อยใช้ผ้าไทย เป็นเพราะราคาขายที่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับเสื้อผ้าแฟชั่น ซึ่งคุณชะเอมให้ความเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นดีไซเนอร์หรือทำแบรนด์ควรอธิบายรายละเอียดและให้ความรู้เรื่องผ้าแต่ละชิ้นแก่ผู้บริโภค เพื่อให้รู้ถึงความยากง่ายก่อนจะมาเป็นชุดผ้าไทยที่มีคุณภาพ เพราะเชื่อว่าเมื่อเขาทราบแล้วก็จะเข้าใจว่ามันเหมาะสมกับราคา 

แก้ปัญหา Fast Fashion ด้วย 2nd Hand Clothes

ประเด็นสุดท้ายที่เราหยิบยกมาพูดคุยกับชะเอมวันนี้คือ ‘Fast Fashion’ ที่กำลังถูกมองว่าเป็นตัวร้ายของวงการแฟชั่นระดับโลก โดยเธอมองว่าปัญหา Fast Fashion ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและการนำเทรนด์แฟชั่นขณะนั้น ถ้าดาราหรือเซเลปนำชุดมาสวมใส่เรื่อยๆ ชุดก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่เรื่อยๆ 

“แต่สมัยนี้หลายคนเริ่มเปิดใจและกล้าใช้เสื้อผ้ามือสองมากขึ้นแล้ว ปัญหานี้ก็อาจไม่ได้รุนแรงขนาดนั้นถ้าเสื้อผ้ามีคุณภาพดี เพราะอย่างเสื้อผ้าของ PAKAMAS แต่ละคอลเล็กชั่นจะมีจำนวนจำกัด พอผู้ซื้อคนแรกเบื่อก็สามารถปล่อยต่อให้คนที่อยากได้ชุดนั้นได้โดยที่ยังสภาพดีอยู่”

อย่างไรก็ตามความน่าสนใจของแบรนด์ PAKAMAS ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เสื้อผ้าเท่านั้น เพราะชะเอมสปอยถึงโปรเจกต์ในอนาคตให้กับ EQ รู้ว่าเร็วๆ นี้เธอมีแพลนทำกระเป๋าและรองเท้าลายไทย รวมถึงเตรียมนำเศษผ้ามาแปรรูปเป็นต่างหู พวงกุญแจ และอื่นๆ ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง 

ติดตามและอัปเดตคอลเลกชันความเป็นไทยสุดเก๋ได้ที่ 

Facebook: PAKAMAS
Line: @fej9729h
Tiktok: chaaaaim
IG: Pakamas_official