"ปารีสตรงสะพานขาว เอเธนส์ตรงเพชรบุรี โคลัมเบียอยู่เสนานิคม"
ประโยคดักรุ่นใหญ่ ยุคโรงหนังชื่ออินเตอร์ ถ้ารู้จักครบ เคยไปมาหมด คุณอายุไม่น้อยแล้ว!
วันนี้ EQ จะพาไปสำรวจความหลัง วันวานที่เคยครื้นเครง เก๋กู๊ด มาวันนี้เหลือเพียงเศษซากอาคาร ‘โรงหนังปารีส’ ย่านสะพานขาว ตึก 3 ชั้น ทรงโมเดิร์นคลาสสิคร่วมสมัย ลักษณะทรงกลมโค้งมนโดดเด่น ออกแบบด้วยฝีมือขั้นเทพ หนึ่งในผลงานของ 'สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา' ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย ดีเทลตกแต่งภายในด้วยลูกเล่น ให้ความรู้สึกหรูหราโอ่อ่า ด้วยเสาแปดเหลี่ยมหัวบานทรงคลาสสิค สร้างความแปลกตาขัดกับมู้ดภายนอกที่ดูโมเดิร์น พร้อมแต่งแต้มสีสันคัลเลอร์ฟูลด้วยสีชมพู เติมสีบนฝ้าและผนังให้มีความสนุกสนาน สดใสมากขึ้น พร้อมโลเคชั่นที่ตั้งตะหง่านอยู่เคียงคู่กับ ‘โรงหนังแอมบาสเดอร์’ คล้ายคิงส์ และควีนส์
"เพื่อนจะไปเฉิดฉายที่แฟชั่นวีก ปารีส ฝรั่งเศส? แต่เราไปเดินสับๆ 'ปารีส สะพานขาว' เจอเลอ"
โรงหนังปารีส – ‘ฉายหนังฝรั่งขึ้นชื่อ’ กับ ‘เทคโนโลยีสุดล้ำ’ ภาพจำของโรงหนังปารีส สะพานขาว คนจะนึกถึงชื่อเสียงความโด่งดัง แหล่งฉายหนังฝรั่งคุณภาพดี พร้อมกับความตื่นตาจากระบบเสียงแบบใหม่แบบสับ ระบบเซอร์ราวนด์อัดแน่นเต็มโสต ดูหนัง ‘โลกแตก’ (Earthquake) สัมผัสถึงความโกลาหลอย่างสมจริง หรือตำนานเรื่องราวความรักโศกนาฏกรรมสุดดราม่า ‘โรมิโอกับจูเลียต’ ที่ยังอยู่ในความทรงจำของหลายคนอย่างไม่รู้ลืม
เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วกับการฉายความบันเทิง สร้างความสุขนานหลายสิบปี ตั้งแต่ยุคธุรกิจโรงหนังเฟื่องฟูช่วง 2491-2528 ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งความบันเทิงขนาดใหญ่ จุคนได้กว่า 1,000 ที่นั่ง จนเมื่อเส้นทางการฉายบันเทิงมาถึงจุดอิ่มตัว เจอกับความท้าทาย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จนมาถึงวันที่ถอดใจยอมแพ้ ไม่สามารถยืนหยัดประคองธุรกิจไปต่อได้ และพ่ายแพ้ทุนใหญ่เข้ามายึดครอง นำด้วยแต้มต่อทางเทคโนโลยี ตอบโจทย์วิถีชีวิตสมัยใหม่สไตล์ 'โรงหนังแบบคอมเพล็กซ์'
หลังจากปล่อยทิ้งร้าง โรงหนังปารีสปิดตัวมานานหลายปี ถูกซ้ำด้วยเพลิงไหม้โหมซ้ำเติมพื้นที่รกร้าง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา จส.100 รายงานเหตุไฟไหม้โรงหนัง ขณะที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการรื้อถอน เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารจอดรถของ ‘ตลาดมหานาค’
'โรงหนังปารีส' เหลือเพียงกองเศษซากอิฐ หิน ปูน อาคาร ที่เคยมีคุณค่าด้านงานออกแบบ และความทรงจำ ที่กำลังถูกรื้อถอนออกไปอย่างน่าเสียดาย เหมือนผลงานชิ้นปัจฉิมบท ทิ้งไว้เหลือเพียงความทรงจำของผู้คนอันเลือนราง บทสรุปตำนานที่กำลังหลับใหลจากไปตลอดกาล
สำรวจความทรงจำ: หลังกทม.พยายามพลิกโฉมจัดระเบียบใหม่
พื้นที่ที่ตรงหน้าโรงหนังปารีส สะพานขาว เป็นแหล่งตลาดผลไม้สดคึกคัก ใกล้กับตลาดโบ๊เบ๊-สะพานขาว หนึ่งในพื้นที่ที่มีความเป็นพลวัตสูง คนเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนกันไปตลอดเวลา การที่เราได้ออกไปสำรวจ พูดคุยกับผู้คนรุ่นเก่า กับ ความทรงจำนับวันยิ่งเลือนราง เหมือนการบรรจุเรื่องราวของคนในพื้นเอาไว้ แม้ในวันนี้โรงหนังหายไป
ปากคำรุ่นเดอะ - เจ้าของร้านข้ามขาหมู ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ปารีส เล่าว่า ตอนเด็กเราเล่นอยู่แถวนี้ เพราะเกิดมาจำความได้ ก็เห็นโรงหนังปารีสแล้ว เขามีมาก่อนเรา พอโตมาก็ได้ไปขายอยู่ข้างใน เป็นพวกของกิน หมากฝรั่งกล่องเล็กๆ ตอนนั้นคนเขามักจะมาดูหนังกันรอบ 1 ทุ่ม แต่งตัวดูภูมิฐาน แบบวัยทำงานแล้ว ดีไม่ดีรถติดหมดเลยแถวนี้
"เมื่อก่อนโรงหนังปารีสชอบฉายหนังฝรั่ง พูดภาษาอังกฤษหมดเลย คนเยอะนะ มีคนมาดูเยอะ ตอนนั้นตั๋วหนังประมาณ 15-25 บาท ตั้งแต่ตอนที่เป็นเด็กๆเลย พี่เคยขายของข้างใน ข้างบนมันจะเป็นคาเฟ่ พอขึ้นบันไดเลื่อนขึ้นไปปุ๊บ ขวามือจะเป็นคาเฟ่ แล้วก็เป็นทางเข้าโรงหนัง คึกคักคนเยอะ"
แต่ก่อนไม่ค่อยมีวัยรุ่นมาเที่ยว ส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงาน สมัยก่อนหนังมันพูดแต่ภาษาอังกฤษ วัยรุ่นสมัยก่อนก็ไม่ค่อยเก่งอังกฤษเหมือนสมัยนี้ มันก็กลายเป็นช่วงขาลงมาเรื่อยๆ เหลือเป็นแค่โรงหนัง ชั้น2 (หนัง 2 เรื่องควบ) ต่างจากที่ยุคเฟื่องฟูที่มีรอบหนังแน่น คนมาดูเยอะ จอดรถกันแน่นเต็มลานจอดรถ ยิ่งถ้าหนังดีๆคนยิ่งเยอะ อย่างหนังเรื่องซอมบี้ คนมาดูเยอะมาก
“สมัยก่อนก็มีโรงหนังสแตนด์อโลน (Stand alone) เยอะมาก เป็นสถานบันเทิงแห่งยุค ที่นี่เป็นฉายหนังฝรั่งเยอะมั้ง เลยตั้งชื่อว่า ‘ปารีส’ การออกแบบเป็นตึกทรงกลมๆ เวลาใครถามคนแถวนี้ว่าบ้านมันอยู่แถวไหน เขาจะเรียกกันว่า ‘ตึกวงกลม’ สมัยก่อนก็มีถือว่าล้ำกว่าที่อื่น อย่างบันไดเลื่อนก็มีที่นี่ที่แรก ที่อื่นมันยังไม่มี มีคอฟฟี่ช็อปข้างล่าง มีร้านอาหาร ตอนนี้ปิดไปนานเป็น 10 ปีแล้ว มันก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง มีคนไปขายของแถวข้างๆ น่าจะสร้างเป็นลานจอดรถของตลาด”
“ถ้าถามว่าเสียดายไหมที่มันถูกทุบ มันก็เป็นไปตามยุคสมัยมัน (หัวเราะ) มันเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เปิดไปก็ไม่มีคนมาดู ก็ไม่รู้จะเปิดต่อไปทำไม มันทรุดโทรม พื้นพังหมดแล้ว มันไม่มีคนมาดูแล ถ้าสร้างเป็นตลาดก็น่าจะเหมาะนะ เพราะสี่แยกมหานาค ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นตลาด ขึ้นชื่อเรื่องค้าขายอยู่แล้ว”
เขาเริ่มจัดระเบียบทางเท้าไปแล้ว แต่ก่อนมีของขายเต็มไปหมด เหมือนตลาดโบ๊เบ๊เลย พอเขาไม่ให้ขายแล้วเขาก็ไม่มีทางช่วยอะไร (หัวเราะ) ตัวใครตัวมัน ก็เหมือนจะให้พื้นที่ตลาดฝั่งนู้นมาขายทดแทน แต่ก่อนคนมาอยู่ตรงนี้เสียค่าเช่า ค่าปรับ ค่าทำความสะอาด แต่ใครไม่ไหวเขาก็ไป
รุ่นถัดมา - นายฮารูน เจ้าของร้านไก่ปิ้งหน้าโรงหนังปารีส เล่าความทรงที่อยู่ในพื้นที่มาหลาย 10 ปี ‘โรงหนังปารีส’ มีบันไดเลื่อนแห่งแรกที่นี่ เรียกได้ว่า เป็นพื้นที่ของที่เด็กละแวกตลาด แต่ก่อนราคาตั๋วหนังเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ราคาเรื่องละ 40-50 บาท ประมาณนี้ ตั้งแต่สมัยหนังเรื่องเด็กเสเพล เด็กระเบิด ยืดแล้วยึด หมาเลี้ยงลูกคนดังๆ โลกทั้งใบให้นายคนเดียว หรือสมัยมิตรชัย บัญชา กำลังดัง
“ฉายหนังทุกแนว หนังชนโรงใช้ได้เลย สมัยก่อนมันไม่ได้มีโรงหนังคอมเพล็กซ์ เขาก็จะมาดูตรงนี้ เฮ้ย หนังโลกทั้งใบให้นายคนเดียว เข้าโรงหนังปารีสนะ เขาก็จะมาดูกัน จะขึ้นป้ายเบ้อเร่อเลย แล้วขึ้นป้ายว่ามีโปรแกรมอะไรฉายต่อ มีหนังตู้เพลงอยู่ตู้หนึ่ง วัยรุ่นก็จะมากินเหล้ากัน เป็นที่มานั่งเล่นของวัยรุ่น”
เมื่อก่อนฝรั่งชอบมาเที่ยวที่นี่นะ แต่ก่อนแถวนี้มีตลาดโบ๊เบ๊ จนสร้างโรงแรมแถวนี้ขึ้นมา เนี่ยถ้าเปิดประเทศทันครึกครื้นมาก ตอนนี้โรงหนังปารีสปิดตัวได้ 10 กว่าปีแล้ว ส่วนตัวไม่รู้สึกเสียดาย เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้มันก็จะร้างอยู่แล้ว มันน่าจะทำเป็นอย่างอื่นมากกว่า เปลี่ยนไปตามยุคสมัยของมัน เช่น ทำเป็นห้าง ตลาด เพราะมันอยู่ในเขตตลาด
เริ่มทุบไปเมื่อปีที่แล้วนี่เอง ช่วงปีนี้เขาเริ่มกั้นไม่ให้คนเข้า เมื่อก่อนมีร้านขายของเต็มเลยด้านหน้า ตรงลานจอดรถ แต่มันสกปรกเหม็นเลยทุบ จัดระเบียบร้านค้าใหม่ ตอนนี้มันยังทำไม่เสร็จยังไม่รู้เลยว่ามันดีหรือไม่ดี
“ถ้าเขาทำเป็นลานจอดรถอย่างเดียว แล้วไม่ให้ขายของตรงนี้ ก็แย่เลย ส่งผลกระทบแย่โดยตรง ถ้าไม่ได้ขายตรงนี้แล้วก็ไม่รู้จะไปขายที่ไหน ผมขายของตรงนี้มา 10 ปีแล้ว จนตอนนี้ลูก 2 คน ลูก 10 ขวบคนหนึ่ง แล้วก็ลูก 3 ขวบอีกคน ขายมาตรงนี้ตั้งแต่เจอแฟนแรกๆ ก็พากันมาขายตรงนี้”
“อย่างร้านเป็ดพะโล้ลุงบุญเติม เขาขายตรงนี้มา 21 ปี ตั้งแต่ปี 2546 ก็เริ่มมาขายอยู่ตรงนี้ ผมก็รู้สึกแย่นิดหนึ่งถ้าเขาไม่ให้ขายแล้ว ถ้าเขาไปจัดที่ให้ใหม่ตรงไหน ผมได้อยู่แล้ว มันก็โอเค แต่ถ้าให้ผมไปเร่ร่อนมันไม่ไหว เขาต้องมีมาตรการรองรับเรา แค่อยากมีที่ขายสักนิดหนึ่ง แค่รถเข็นผมเข็นไปไหนก็ได้ ขอที่แค่นิดหนึ่ง ผมไม่ได้ขายทั้งวัน กางเต็นท์ หรือ ปักหลักอะไร ผมขายหมดก็ไปแล้ว”
“เห็นเขาบอกว่ายังไม่รู้ว่าจะให้ขายอยู่รึเปล่า ถ้าเขาเปิดเป็นลานจอดรถ จะขอเขาไว้หน่อยหนึ่งเล็กๆ ที่เหลือก็ไปคุยกับเทศกิจเอา เสียค่าปรับให้เขา เราก็ขายได้ ผมไม่รู้จะไปขายที่ไหนดี ผมไปขายฝั่งนู้นตรงตลาด เขาก็ไม่ให้ผมขายเพราะควันมันเยอะ เขามีเสื้อผ้าขาย อะไรขายหลายอย่าง ผมบอกขออยู่ข้างนอกเขายังไม่ให้เลย ผมเลยมาคุยกับเทศกิจจ่ายค่าปรับให้กับกทม. ขอเส้นตรงมุมนิดหน่อยที่เป็นของกทม.ที่ให้เราขายได้ ขอให้เป็นแบบนั้นนะพี่นะ ถ้ามันไม่ได้จริงๆแผนสองผมก็ต้องเข็นขายไปเรื่อยๆ อาจจะไปอยู่ฝั่งตรงข้าม ตรงนู้นบ้างตรงนี้บ้าง”
ทุนใหญ่เขย่า: ความท้าทายสแตนด์อโลน ทุนเล็กที่วิ่งตามไม่ทัน?
ย้อนกลับไปก่อนมอง ก่อนมาถึงวันถอดใจ - เมื่อความล้ำสมัยด้านความบันเทิงที่เคยเป็นจุดเด่น กลับหมุนตามวิถีชีวิตผู้คนไม่ทัน การหายไปของโรงหนังสแตนด์อโลนตามที่เราเข้าใจกัน คงหนีไม่พ้น 'การปรับตัวไม่ทันกับยุคสมัย' จนถูกมองว่าล้าหลัง จนถูกปล่อยทิ้งร้างไปในที่สุด แต่มันกลับมีรายละเอียดที่ซุกซ่อน ต่อการล้มลงของธุรกิจกิจโรงหนังขนาดเล็กจำนวนมาก ด้วยสองยักษ์ใหญ่ที่เข้ามารันวงการแบบสับ!
หนึ่งในข้อเสนอ การศึกษา '120 ธุรกิจหนังไทย' ของ อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล (2560) ชวนเราย้อนกลับไปมองธุรกิจโรงหนัง ช่วงที่กำลังเข้าสู่ยุค 2530 เกิดการเข้ามาของโรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์ในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง จนทำให้กลุ่มทุนใหญ่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดภาพยนตร์ ได้ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ งัดกับทุนขนาดเล็กย่านทำเลกลางเมือง เช่น ลิโด้ สกาลา อยู่นานสองนาน จนเมื่อปี 2547 เกิดการควบรวมครั้งสำคัญของนายทุนใหญ่ จนอาจจะเรียกได้ว่า ‘เข้าสู่ยุคกึ่งผูกขาด’ ที่เหลือเพียงเจ้าตลาด ‘สองเครือใหญ่’ ที่เราคุ้นตา
จุดพีคขั้นสุดที่ปี 2550 เกิดการขยายตัวของโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ไปทั่วประเทศ ขยายออกไปเกือบหลายร้อยสาขา พลิกแนวคิดจากการสร้างโรงภาพยนตร์ในศูนย์การค้า มาเป็นการสร้างความบันเทิงทุกรูปแบบ รายล้อม 'เมืองของภาพยนตร์' จนทำให้กลายเป็นจุดนัดพบที่สำคัญแห่งยุค
เมื่อสำรวจตลาดของโรงภาพยนตร์อีกครั้ง พบว่าปี 2560 ’เครือสองทุนใหญ่’ กุมส่วนแบ่งตลาดโรงภาพยนตร์ในไทยไว้ได้เกือบทั้งหมด พร้อมทั้งยังทุ่มทุนลงไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างไม่หยุดหย่อน เช่น เก้าอี้ จอ ระบบเสียง ความสนุกสนานสื่อความบันเทิงต่างๆที่นำเข้ามาเสริมอย่างครบครัน เหลือที่ให้กลุ่มทุนขนาดเล็กและโรงภาพยนตร์ท้องถิ่น มีโอกาสได้เฉิดฉายเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
แรงสั่นสะเทือนระลอกใหญ่ เขย่าธุรกิจทุนขนาดเล็กและโรงหนังสแตนด์อโลนอย่างรุนแรงจนหมดแรงยื้อ ภาพของการทุบทิ้งเห็นได้เนืองๆ จนเกือบเกลี้ยง โรงหนังท้องถิ่นเองต้องปรับตัวขนานใหญ่ มองไปถึงหัวใจของการชมภาพยนตร์ในปัจจุบัน ที่ไม่ใช่เพียงแค่การเสพความบันเทิง แต่เป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผู้คนทั้งผองเพื่อน ครอบครัว คู่รักด้วย ที่เรายังเห็นหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ท่ามกลางกระแสที่ผู้หันมาอนุรักษ์ และพยายามชุบชีวิตจิตวิญญาณโรงหนังเก่า ที่เหลือน้อยเต็มที
ไม่ใช่แค่โรงหนัง! โดมิโน่ตัวต่อไปที่ได้รับแรงกระแทก คือ 'คนทำหนัง' ตัวเล็กตัวน้อย ที่โดนชนล้มจนโซซัดโซเซบ่อยครั้ง บนมือของสองเครือใหญ่ที่กุมตลาดไว้แน่น จนคนทำหนังอินดี้ อาจจะไม่มีอำนาจพอ ที่จะต่อรองให้หนังเข้าฉาย ได้นานมากพอทำกำไรได้ หลายครั้งที่เรามักเห็นหนังอินดี้ขาดทุน พ่ายแพ้ต่อหนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์ นอกจากต้องงัดกันด้านโปรดักชั่น ยังต้องโดนเบียดด้วยจำนวนรอบที่ทิ้งห่างกัน
ถ้ามองภาพรวมธุรกิจภาพยนตร์ในบ้านเรา มันเป็นความย้อนแย้งที่ว่า "มีการขยายตัวของโรงหนังออกไปจำนวนมาก แต่กลับพบว่าหนังไทยตกที่นั่งลำบากกว่าเดิม" หนังไทยไม่ได้ความนิยมและการสนับสนุนนัก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของหนังต่างประเทศ
คำถามต่อมาที่มักเกิดขึ้น - หนังไทยขาดแคลนพล็อตเรื่องที่สดใหม่ แปลกตา ทะเยอทะยาน จากการที่ได้รับการสนับสนุน แง่ของทุนการสร้างน้อย ปัญหาเหล่านี้ก็จะยังคงวนเวียนอยู่ ถูกหมักหมมสะสมต่อไป เหมือนกับการฉายหนังม้วนเดิมที่ ‘คนอ่อนแอต้องแพ้ไป’ ภายใต้กลไกทุนนิยมไทย
คนทำหนังต้องตกอยู่ในสภาวะที่หายใจรวยรินใกล้หมดแรง รอหวังพึ่ง ‘รัฐบาล’ ผู้ที่กำลังจะชูนโยบายผลักดันซอฟต์เพาเวอร์อย่างจริงจัง เข้ามากำกับดูแล สนับสนุน การแข่งขันในธุรกิจภาพยนตร์ในระบบที่คนทำหนัง ได้ปล่อยของ งัดกันได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ