Culture

ศิลปะวัฒนธรรม ผ่าน – ไม่ผ่าน? โป๊ะ – ไม่โป๊ะ? รู้จักกับ ‘PASSING’ แรงกดดันที่ทำให้ความหลากหลายไม่ก้าวหน้า

“สวย ไม่โป๊ะ ละมุนนี”

“เหมือนผู้หญิงจริงมาก นึกว่าเป็นผู้หญิงจริงๆ”

“หล่อเท่ ตัวใหญ่มีกล้ามเหมือนผู้ชายจริงมาก”

“ดูไม่ออกเลยว่าไม่ใช่ผู้ชายจริงๆ”

สารพัดคำชมที่แสดงออกว่า อีกฝ่าย ‘ดูไม่เหมือนคนข้ามเพศ’ ความเนียน ไม่โป๊ะนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Passing’ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างแรงกดดันมหาศาล แก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ว่าพวกเขาจะต้องทำตัวให้ฟิตอิน ผ่านมาตรฐานของ Passing หากมันยังมีการตรวจตราแบบนี้ต่อไป การจับโป๊ะกันเองมันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ความหลากหลายทางเพศไม่สามารถก้าวหน้าไปมากกว่านี้ได้ ในบทความนี้เราเลยอยากชวนทุกคนมารู้จักกันว่า ทำไมคนข้ามเพศส่วนมากอยากที่จะ Passing และอิทธิพลของการผ่านไม่ผ่านที่มากกว่าแค่ความสวยงามมันคืออะไรกันแน่

Photo Credit: Victoria Rose / Gender Analysis with Zinnia Jones / Matilda Hogberg / Dakota Aspen / Noah Hella

PASSING คืออะไร ใช่การจับโป๊ะหรือเปล่า?

Passing คือการระบุว่าคนข้ามเพศเหมือนเพศที่พวกเขาอยากจะเป็นแล้วหรือยัง ถ้าพูดง่ายๆ มันก็เหมือนการบอกว่า ทรานส์ฯ คนนึงจะโป๊ะหรือไม่โป๊ะ ในบริบทของภาษาอังกฤษ ที่มักจะมาพร้อมกล่องให้ติ๊กถูกว่า ใครมีลักษณะ หรือคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกับชาย และหญิงที่สังคมตั้งมาตรฐานไว้มากที่สุดในช่วงเวลานั้น อย่างเช่น ผู้หญิงข้ามเพศต้องสวยสมบูรณ์ มีเสียงอ่อนหวาน หรือผู้ชายข้ามเพศก็มักจะมีความคาดหวังว่า จะต้องหล่อ หุ่นดี เสียงเข้ม

ยิ่งคนข้ามเพศสามารถติ๊กถูกได้มาก พวกเขาก็จะยิ่งเนียน ไม่ถูกจับโป๊ะ เมื่อไม่ถูกจับโป๊ะว่าเป็นคนข้ามเพศ พวกเขาก็สามารถใช้ชีวิตเหมือนผู้ชาย ผู้หญิงทั่วไปได้ เพราะนั้นคือสิ่งที่คนข้ามเพศส่วนหนึ่งที่ต้องการจะถูกยอมรับ มองเห็น และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ  นอกจากนี้ ในช่วงเริ่มต้นของการข้ามผ่าน การมีลักษณะที่ Passing ได้มาก มันก็ช่วยให้พวกเขารู้สึกมั่นใจในตัวเอง รู้สึกมีความสุข รู้สึกว่าได้เป็นตัวของตัวเองในแบบที่อยากจะเป็น ซึ่งก็มีส่วนที่จะช่วยบรรเทาอาการ ‘Gender Dysphoria’ ที่กลุ่มคนข้ามเพศส่วนหนึ่งต้องเผชิญด้วย

Photo Credit: Statpearls

‘GENDER DYSPHORIA’ ภัยร้ายทางอารมณ์ ในวันที่ร่างกายไม่ตรงกับจิตใจ

Gender Dysphoria คือภาวะที่คนข้ามเพศ กลุ่ม LGBTQ+ รู้สึกว่าร่างกายภายนอกไม่ตรงกับจิตข้างใน ซึ่งส่งผลให้คนข้ามเพศหลายคนรู้สึกซึมเศร้า วิตกกังวล และบางครั้งก็เกิดเป็นอาการที่เกลียดชังตัวเองอย่างรุนแรง จนนำไปสู่ความคิดที่ต้องการจบชีวิตตัวเองได้ ซึ่งมีคนข้ามเพศจำนวนไม่น้อยที่เลือกจบชีวิตตัวเอง เพราะไม่อาจทนทุกข์กับภาวะนี้ได้อีกต่อไป

การบรรเทาอาการนี้ก็มีตั้งแต่ การเปลี่ยนแปลงตัวเองภายนอก ไปจนถึงเปลี่ยนแปลงการแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศที่สอดคล้องกับตัวตนข้างในมากขึ้น คนข้ามเพศหลายคนจึงรู้สึกว่า การ Passing จะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการนี้ได้ ช่วยให้พวกเขาจะรู้สึกมั่นใจในตัวเอง และปลอดภัยในการใช้ชีวิตในสังคม ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือ การปรึกษารับฮอร์โมนเพื่อเตรียมตัวผ่าตัดแปลงเพศ (ทั้งนี้ทั้งนั้นการรักษาอาการ Gender Dysphoria ควรอยู่ภายใต้การแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ)

Eva Echo
Photo Credit: We Create Space

ที่ต้อง ‘เนียนนี’ เพราะต้องหนีความเกลียดชัง

“Passing เป็นสิ่งที่สำคัญในช่วงเริ่มข้ามเพศ มันเป็นเหมือนการช่วยยืนยัน และทำให้เรารู้สึกว่าพวกเราเองก็สามารถถูกยอมรับโดยสังคมได้ และมันยังเป็นเรื่องของความปลอดภัยด้วย ถ้าเราสามารถเดินทางจากจุด A ไปจุด B มันก็ช่วยให้เราปลอดภัย เมื่อไม่มีใครสังเกตเรา มันทำให้พวกเราเคลื่อนที่ผ่านสังคมได้ง่ายขึ้น”

ประโยคข้างต้นคือสิ่งที่นักกิจกรรมข้ามเพศ ‘Eva Echo’ ได้พูดถึงเรื่อง Passing เอาไว้ในบทความ ‘As A Trans Woman, I Understand The Pressure To Pass. But It’s Holding Us Back’ ที่พูดถึงแรงกดดันที่บีบให้ผู้หญิงข้ามเพศต้อง ‘เนียนนี’ ด้วยการวัดว่า ใครผ่าน หรือไม่ผ่าน ซึ่งมันกำลังทำให้ความหลากหลายทางเพศไม่ก้าวไปข้างหน้า เธอยังได้เล่าอีกว่า แม้เธอจะยังไม่เคยเจอประสบการณ์ที่รุนแรงจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับ ‘Passing’ แต่เธอก็เคยมีประสบการณ์ที่เมื่อมีคนรู้ว่าเธอไม่ใช่ผู้หญิงโดยกำเนิด พวกเขาก็จะแสดงท่าทีรังเกียจ และแสดงอารมณ์โกรธใส่เธอทันที ซึ่งนี่ก็เป็นประสบการณ์ด้านลบที่สร้างความกลัวให้กับชุมชนคนข้ามเพศ

Photo Credit: Human Rights Campaign

สำหรับคนข้ามเพศหลายคนที่หวาดกลัวความรุนแรงจาก ‘ความเกลียดกลัวคนข้ามเพศ’ (Transphobia) ทารทำตัวเองให้เนียนที่สุดจึงเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันตัวเองของคนข้ามเพศ เพราะหากคนข้ามเพศมีลักษณะภายนอกที่เหมือนกับเพศที่พวกเขาต้องการจะข้ามไปมากเท่าไร พวกเขาก็จะปลอดภัยจากมายาคติ ภาพจำคนข้ามเพศที่ทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะแสดงออกได้หลากหลาย สามารถเคลื่อนที่ในสังคมได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางในชีวิตประจำวัน, เดินทางในประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับ LGBTQ+, มีโอกาสในการเข้าสังคม, โอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจ และโอกาสในการเข้าถึงบริการผ่าตัดทางร่างกายให้ตรงตามอัตลักษณ์ทางเพศที่มากกว่ากลุ่มคนข้ามเพศที่สังคมส่วนใหญ่มองว่าพวกเขายังไม่ Passing


Photo Credit: Youth Today

คนข้ามเพศ = พลเมืองที่ควรจะได้รับสิทธิและการดูแลจากรัฐอย่างเท่าเทียม

‘การผ่าตัดข้ามเพศ’ (Gender-affirming Surgery) คือการผ่าตัดทางการแพทย์ที่เป็นหนึ่งในวิธีบรรเทาอาการ Gender Dysphoria แก่กลุ่มคนข้ามเพศที่ทุกข์กับภาวะนี้อย่างรุนแรง ซึ่งการผ่าตัดข้ามเพศควรถูกมองว่าเป็นการรักษาทางการแพทย์ สำหรับบุคคลข้ามเพศทุกคนที่ต้องเผชิญความเจ็บปวดนี้อยู่ ไม่ใช่แค่การผ่าตัดที่จำกัดไว้เพื่อความสวยงาม หรือมีไว้สำหรับกลุ่มคนที่มีกำลังทรัพย์เท่านั้น

ในปัจจุบันมีหลายๆ ประเทศที่มองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงมีสวัสดิการ หรือมาตรการช่วยเหลือให้บุคคลข้ามเพศที่ผ่านการวินิจฉัยจากทีมแพทย์ สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ รับฮอร์โมน ไปจนถึงการผ่าตัดข้ามเพศ เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ และเพศในทะเบียนราษฎร์ได้ เพื่อที่กลุ่มคนข้ามเพศจะได้รับการมองเห็น ยอมรับทางกฎหมาย พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนได้เท่าเทียมกับพลเมืองของประเทศ

FYI: ในปัจจุบัน ประเทศที่อนุญาตให้พลเมืองข้ามเพศเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ และการระบุเพศในเอกสารทะเบียนราษฎร์ ได้แก่ อาร์เจนตินา, สวีเดน, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, โคลอมเบีย, ไอร์แลนด์, มอลตา, อินเดีย และฝรั่งเศส

เมื่อพวกเขาถูกยอมรับทั้งทางกฎหมาย และสังคม การสนับสนุนให้พวกเขาเข้าถึงสวัสดิการที่เหมาะสมก็จะเกิดขึ้น ซึ่งการได้เป็นตัวเองในแบบที่ต้องการจริงๆ คือหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้การจับจ้องว่าใครจะ Pass หรือไม่ Pass ก็จะค่อยๆ หมดไป เพราะพวกเขาไม่จำเป็นต้อง Pass เพื่อความปลอดภัย หรือพยายาม Pass เพราะรู้สึกว่าเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงไม่จำเป็นต้องทนให้สังคมกดดัน (แม้แต่กับคนในคอมมูนิตี้กันเองก็ด้วย) ว่าพวกเขาเหมือนพอหรือยัง ผ่าหรือยัง โป๊ะหรือไม่โป๊ะ

Photo Credit: The Times

ท้ายที่สุดแล้วผู้หญิงข้ามเพศไม่จำเป็นต้องสวย ละมุน เนียนนี และผู้ชายข้ามเพศก็ไม่จำเป็นต้องสูง หล่อ กล้ามโตเสมอไป สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความคาดหวังของสังคม ถ้าความหลากหลายทางเพศจะก้าวไปข้างหน้าต่อ การกดดัน ตรวจวัด หรือตีค่าว่า ใครผ่านหรือไม่ผ่าน Pass หรือไม่ Pass จะต้องค่อยๆ หายไป เพราะมันคือสิ่งที่ตีกรอบให้ความหลากหลายอยู่ในกล่องไม่ชายก็หญิง ซึ่งโลกที่หลากหลายไม่ได้ประกอบด้วยเพศชีววิทยาเพียงแค่ เพศหนึ่ง เพศสอง และเพศสาม ผู้หญิง หรือผู้ชาย ที่มีบุคลิก หน้าตาเหมือนกัน แต่มนุษย์ทุกคนมีความหลากหลาย โลกที่หลากหลายคือ โลกที่ผู้คนมีอิสระในการแสดงถึงออกอัตลักษณ์ที่สอดคล้องกับตัวตนข้างใน ได้เป็นตัวของตัวเองโดยปราศจากความหวาดกลัวจากการเลือกปฏิบัติ

อ้างอิง

The Standard
Huffpost
Refinery29
Vice
Urban Creature