โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน (?)
“ใจดีตรงไหนวะ (หัวเราะ)”
นี่คือคำพูดของสาวน้อยตัวจี๊ด เปรี้ยวซ่าที่สร้างผลงานเพลง “โรงเรียนเขาว่าน่าอยู่” ที่เป็นกระแสบนโลกโซเชียล และมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ดังเปรี้ยงปร้างในชั่วข้ามคืนเลยก็ว่าได้ และเพลงของเธอขนาดนี้ก็ยังมีคนเข้าไปฟังกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ยอด Views เพลงนี้กำลังมุ่งทะยานไปที่ 4 ล้านวิวแล้ว
https://www.youtube.com/watch?v=DxmA2YFgUk0
“พอลลีน พรวัฒโนดม” กับผลงานธีสิสที่วิพากษ์วิจารณ์กฎระเบียบในโรงเรียนที่ไม่สมเหตุสมผล เธอเล่าเรื่องสิ่งเหล่านั้นสะท้อนผ่านมุมมองของเพลง ผลงานเพลงนี้เริ่มต้นมาจากที่เธอเรียน Communication Design จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในปีสุดท้ายของการศึกษาเธอจะต้องทำธีสิสจบ โดยทางคณะให้อิสระในออกแบบการสื่อสารในรูปแบบใดก็ได้ที่จะสามารถถ่ายทอดสารออกไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งเธอเล่าให้เราฟังถึงจุดประสงค์ในการทำเพลงนี้ อยากตีแผ่คำพูดของคุณครูที่พูดตักเตือนนักเรียนอย่างไม่สมเหตุสมผล เธอเองจึงพยายามหาวิธีเล่าการตีแผ่คำพูดว่าจะทำวิธีไหนให้สารนั้นออกมาได้อย่างครบถ้วน สนุก และไม่น่าเบื่อ
“เพลงมี Lyrics ที่ถือเป็นตัวอักษร และเป็นสิ่งที่สามารถสื่อสารออกมาได้ดีมากๆ บวกกับที่เลือกทำเพลงเพราะว่าคนที่เราอยากจะพูดด้วยก็คือคน Gen ใหม่ คนที่จะเป็นอนาคตของชาติ จริงๆ แล้วเพลงนี้มันก็ดูเหมือนจะเป็นเพลงที่พูดให้ครูฟัง แต่พอหนูมาคิดดูแล้วบวกกับตอนสัมภาษณ์หลายๆ คน หนูมองว่า คน Gen เก่า เราไม่สามารถเปลี่ยนอะไรเขาได้แล้ว เราก็แค่รอกาลเวลาให้มันเป็นของคนยุคใหม่แทนดีกว่า เราก็เลยเลือกที่จะพูดกับคนยุคใหม่ เพื่อให้เขาเข้าใจในสิ่งที่มันเกิดขึ้น”
สำหรับมุมมองเพลงนี้พอลลีนยังเสริมต่ออีกว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเพลงนี้ มันมีความสนุก ยียวน สไตล์ของเธออยู่ เนื่องด้วยเธอคลุกคลีกับมันมานานถึง 1 ปีตั้งแต่ต้นจนจบ มันเลยมีความเปรี้ยวซ่าและองค์รวมของความเป็นเธอซ่อนอยู่ภายในเพลงและ Music VDO แต่เธอก็ยอมรับและเปิดใจออกมาอย่างโต้งๆ เลยว่าด้วยความที่ทุกอย่างมันไปไวมากกว่าความคาดหวัง เพลงของเธอก็ออกไปสู่สายตาสาธารณชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างแพร่หลาย ซึ่งเธอเองก็ต้องต้องยอมรับถึงการแสดงความคิดเห็นในหลายๆ แง่มุม บ้างก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งชื่นชม บ้างก็เข้ามาแชร์ประสบการณ์ชีวิต บ้างก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นแบบอิหยังวะ แต่เธอก็รู้สึกอย่างน้อยสิ่งที่เธอได้ทำก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ให้คนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมกับสิ่งๆ เดียวกันและพูดคุยกันผ่านเพลงของเธอ
“ใน Music VDO ของหนูมีคนที่ไม่เข้าใจหลายๆ จุด ตรงช็อตกระโปรงสั้น พูดประมาณว่าหนูกำลังจะชักชวนให้คนใส่กระโปรงสั้นขนาดนี้เลยหรอ บางคนก็มา Comment Sexual Harassment นักแสดงของหนูด้วย ตอนหนูอ่านแล้วก็รู้สึกไม่โอเค เพราะเขาเป็นนักแสดง เขาทำตามที่หนูบอก ซึ่งจริงๆ Message ที่หนูจะสื่อมันไม่ใช่แบบนั้นเลยนะ หนูแค่อยากบอกว่าว่าสิ่งที่ครูพูดใส่เด็กอ่ะมันขนาดนั้นเลยหรอ คนด่าเด็กใส่กระโปรงสั้นไม่กี่มิลว่าเป็นกะหรี่ เป็นโสเภณี หนูจึงพยายามทำภาพให้เห็นเลยว่าสิ่งที่ครูด่าเด็กมันขนาดนั้นเลยหรอ ทั้งที่เด็กผิดแค่นี้เอง แล้วก็มีคนเยอะมากที่ไม่เข้าใจ ตัวหนูเองก็ไม่ได้คิดอยากตอบโต้อะไรเขาหรอก เพราะยังมีหลายๆ คนที่ออกมาอธิบายแทนให้ด้วย ซึ่งหนูก็รู้สึกว่างานทุกงานมันก็คงมีได้หลายมุมมองปล่อยให้เขามองและก็เข้าใจเองดีกว่าค่ะ”
เธอยังเล่าต่อให้ฟังถึงความยากลำบากในการทำงานธีสิสครั้งนี้ ทั้งการหาข้อมูล หรือการออกไปทำแบบสำรวจ เก็บข้อมูลจริงจากนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ซึ่งระยะเวลาในการทำธีสิสทั้งหมด 1 ปี เธอหมกมุ่นใช้เวลากับการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูล กินเวลานานถึง 6 เดือนนับว่าเป็นเวลาเกือบครึ่งหนึ่งของธีสิส กว่าจะได้ 1 ประโยคที่โดนใจแบบในเพลงอย่างที่เราเห็นได้นั้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย รวมถึงความยากของการเลือกแนวแพลงที่จะมาผูกกับเนื้อหาของกฎระเบียบโรงเรียนที่เธอต้องการจะตีแผ่มาสรรค์สร้างให้ดนตรีมันสนุกขึ้น ทั้งยังต้องคงข้อความที่อยากสื่อสารนั้นให้สามารถเชื่อมโยงกับเพลงได้อย่างลงตัว ระหว่างที่คิดไอเดียเธอก็พยายามเฟ้นหาเพลงที่ใกล้เคียงกับโรงเรียนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเพลง ก. เอ๋ย ก. ไก่ หรือ เพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี จนสุดท้ายก็มาจบที่เพลงโรงเรียนของเราน่าอยู่ เธอรู้สึกว่าเป็นเพลงที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เธอจะพูดมากที่สุด จึงปิ๊งไอเดียและเลือกเพลงนี้อย่างไม่ลังเลประกอบกับร้องทวนเนื้อเพลงให้ฟังอีกครั้ง “โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน…ใจดีตรงไหนวะ (หัวเราะ)” เธอหัวเราะให้กับเนื้อเพลงที่ไม่สมเหตุสมผล
“พอลลีนไปสัมภาษณ์คนมาเยอะมาก ไปหาประเด็นที่น่าสนใจ แล้วก็ได้ประเด็นของเรื่องกฎระเบียบที่มันไม่ได้สมเหตุสมผล การที่ครูใช้คำพูดที่ไม่ดีกับนักเรียนมา Judge นักเรียนแทนที่จะอธิบายเหตุผลดีๆ ให้นักเรียนฟัง ซึ่งพอลลีนก็ได้ลองไปเปิดโพล ปรากฏว่ามีคนเยอะมากที่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ขนาดพอลลีนเองยังเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้เลย”
เธอพูดถึงเหตุการณ์ฝังใจตอนสมัยที่เรียนอยู่โรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่งให้เราฟังว่าภายในโรงเรียนมีเรื่องกฎระเบียบที่ตีกรอบชีวิตความเป็นอยู่ของเราอยู่ บางครั้งก็ดูจะลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลด้วยซ้ำ เธอพูดถึงเหตุการณ์จากคนรอบตัว อาทิ คุณครูตัดผมนักเรียน การดีดสายเสื้อใน นักเรียนใส่กระโปรงสั้น หรือถุงเท้าข้อสั้น แต่กลับโดนต่อว่าด้วยคำพูดที่รุนแรงเกินเหตุ สิ่งนี้ทำให้เธอล้วนเห็นถึงปัญหาที่ยังไม่เคยมีใครหยิบยกประโยคขึ้นมาพูด และไม่ค่อยมีคนออกมาเลยสักครั้ง
“หนูเคยโดนครูพูดเรื่องใส่ถุงเท้าข้อสั้น แล้วครูก็พูดกับหนูว่า…ใส่ถุงเท้าข้อสั้นจะไปอ่อยผู้ชายหรอ” หลังจากนั้นไม่นานพอลลีนก็ย้ายไปเรียนที่ประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่ ม.1 เป็นเวลานานกว่าหลายปีที่ไม่ได้เข้าไปที่โรงเรียนหญิงล้วนนั้นอีก จนกระทั่งได้มีโอกาสทำธีสิสและต้องไปสัมภาษณ์รุ่นน้องเพื่อเก็บข้อมูล”
“เฮ้ย ! ตอนนี้โรงเรียนเป็นไงบ้าง มีปัญหาอะไรบ้างหรือเปล่า แล้วก็เพิ่งมารู้ว่า อู้หูววว ผ่านไปเป็น 10 ปีโรงเรียนมันไม่พัฒนาเลยหรอวะ (หัวเราะ) ทุกอย่างมันยังเหมือนเดิมอยู่อีกหรอ ครูคนเดิมก็ยังอยู่ Mindset แบบเดิมก็ยังอยู่ มันไม่ได้มีอะไรที่พัฒนาเลย หนูก็แค่รู้สึกว่า”
“การศึกษาไทยมันยังมีการปิดกั้นหรือตีกรอบให้นักเรียนมากเกินไป ต้องเป็นแบบที่ค่านิยม หรือสังคมอยากให้เป็น แต่จริงๆ แล้วมันควรที่จะเปิดกว้างมากกว่านี้ ความชอบของคน อาชีพของคนมันกว้างมากๆ แต่โรงเรียนก็ยังตีกรอบให้มันเล็กมากๆ ให้เด็กได้เป็นในแค่ที่พ่อแม่ผู้ใหญ่อยากให้เป็นแค่นั้นเอง”
“ถ้าจะบอกว่าครูเป็นแม่พิมพ์ของชาติจะว่าอย่างนั้นก็ใช่นะคะ แต่มันเป็นได้ทั้งสองทาง ทางนึงคือเด็กเชื่อครูมากๆ ครูสอนอะไรมาเด็กก็ฟัง แต่เด็กยุคนี้เขาไม่ได้ฟังและพยักหน้าอย่างเดียว เขาฟังแล้วเขาคิดตาม คิดตามแล้วก็สะท้อนกลับ ไม่โอเคอะไรเขาก็ถาม เขางงอะไรเขาก็ถาม บางครั้งมันอาจจะกลายเป็นว่าครูเป็นแม่พิมพ์มาแล้ว แต่เด็กก็สามารถเลือกที่จะปฏิเสธสิ่งนั้นได้ มันกลายเป็นว่าทั้งสองบทบาทสวนกลับเข้าหากันก็ได้นะคะ หนูว่าสำหรับยุคนี้ครูเป็นแม่พิมพ์อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดแล้วอ่ะ สำหรับหนูเองนะ หนูว่าครูต่างหากที่เป็นคนสร้างแม่พิมพ์มากกว่า แล้วเด็กเหล่านั้นก็จะกลายเป็นแม่พิมพ์ต่อไป”
เมื่อถามถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับชาแนลนี้ว่าจะมีผลงานอื่นๆ ให้ได้เชยชมอีกไหม พอลลีนก็ยังยืนยันว่าถ้ามีโอกาสก็ยังอยากที่จะกลับมาสร้างผลงานอีก แต่เพียงตอนนี้อาจจะอยู่ในช่วงพัก และให้เวลากับตัวเองก่อน รวมถึงเธอเองก็ยังอยากที่จะนำเสนอข้อมูล และตีแผ่สังคมออกมาในเรื่องอื่นๆ อีกด้วย เธอยังทิ้งท้ายไว้ให้เราอีกว่า
“จริงๆ หนูรู้สึกว่าหลายๆ อย่างที่ทำออกมามันควรจะต้องสะท้อนอะไรบางอย่างออกมาอยู่แล้ว อย่างหนูเองก็รู้สึกว่าเรามีชาแนล ในการเป็นสื่อได้แล้ว มีพื้นที่ของเราแล้ว เราก็ควรที่จะได้เป็นกระบอกเสียง นั่นคือสิ่งที่ควรทำค่ะ”
ติดตามชาแนลของพอลลีนได้ที่ โรงเรียน เขาว่าน่าอยู่