Culture

ปล่อยปลา โปรดสัตว์แต่ได้บาป? คนรุ่นใหม่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการปล่อยปลา

‘การปล่อยสัตว์’ (Animal Release) คือ ความเชื่อตามคติพุทธที่คนไทยหลายคนคุ้นเคยกันดีว่า ถ้าปล่อยปลาจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ความเชื่อนี้มีที่มาจากเรื่องเล่าของพุทธเถรวาทไทย ที่พูดถึงเณรรูปหนึ่งที่ชะตาชีวิตกำลังจะขาดภายใน 7 วัน แต่เมื่อเณรรูปนี้ได้ทำการโปรดสัตว์ในตลาดที่กำลังจะตายด้วยการนำมันไปปล่อยที่แม่น้ำ การปล่อยสัตว์นี้ช่วยให้เณรรูปนั้นมีชะตาชีวิตที่อายุยืนนานขึ้น ต่อมามันจึงกลายเป็นเรื่องที่ถูกบอกเล่าของชาวพุทธไทยที่เล่าต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ความหมายของการปล่อยสัตว์ในทุกวันนี้คือ การทำบุญครั้งใหญ่ด้วยการให้ชีวิต เมื่อให้ชีวิตโปรดสัตว์แล้ว ผู้ที่ทำบุญนั้นก็จะได้รับสิริมงคลดีๆ เข้ามาในชีวิต แต่ทว่าในปัจจุบันการปล่อยปลาโปรดสัตว์ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงปล่อยปลาทำบุญเพื่อความสบายใจเท่านั้น ในบทความนี้เราอยากจะชวนทุกคนมาสำรวจความเชื่อเรื่องการปล่อยปลา, ผลกระทบสิ่งแวดล้อม, ทางออกตรงกลางระหว่างความเชื่อ และสิ่งแวดล้อม ผ่านเสียงของคนรุ่นใหม่ นักเขียน และนักวิชาการที่อาจจะทำให้คุณมีมุมมองที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับการทำบุญปล่อยปลา

ไม่เห็นด้วย เพราะปล่อยไปก็มีโอกาสตายมากกว่ารอด 

เสียงของคนรุ่นใหม่ที่เราได้ไปสำรวจมา ชี้ให้เห็นว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการปล่อยปลา เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทำลายปลาในระบบนิเวศดั้งเดิม แถมปลาที่ปล่อยในแหล่งน้ำที่ไม่เหมาะสม มีโอกาสตายมากกว่ารอด ดังนั้นการไม่ปล่อยน่าจะดีกว่า อีกทั้งพวกเขายังกังวลว่า ปลาที่ถูกปล่อยไปแล้วจะถูกจับมาขายอีกครั้ง พร้อมชี้ให้เห็นว่าการทำบุญโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมก็มีอยู่หลายทางเลือก

เพราะเป็นความเชื่อ และความสบายใจ ก็สามารถปล่อยได้ (แต่ต้องมีความรู้)

คนที่เห็นด้วยกับการปล่อยปลา ทั้งที่เห็นเ้วยสุดตัว และเห็นด้วยเพียงบางส่วน แสดงความคิดเห็นไว้ว่า หากมันเป็นการแก้เคล็ดเพื่อความสบายใจ พวกเขาก็ยังอยากจะทำอยู่ พวกเขาไม่คิดว่าต้องกำจัดการปล่อยปลาให้หายไปทั้งหมด เพียงแต่อยากให้คนที่ปล่อยปลาศึกษาให้ดีว่า ปลาประเภทไหนปล่อยได้หรือไม่ได้ ควรปล่อยที่ไหนบ้าง เพราะการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมก็สำคัญ ซึ่งพวกเขาได้รับข้อมูลเหล่านี้มาเยอะ ทั้งจากการศึกษา และโลกโซเชียล ถ้าหากมันเป็นคำแนะนำจากพระ หรือหมอดูที่บอกให้แก้เคล็ดแล้วชีวิตจะดีขึ้น พวกเขาก็ยังเห็นด้วยกับการปล่อยปลาอยู่

การปล่อยปลาคือ ที่พึ่งทางจิตใจ และเสริมดวงเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น

การปล่อยปลาคือ การปล่อยเคราะห์ สิ่งที่ไม่ดีลงแม่น้ำ เป็นการทำบุญโปรดสัตว์ที่เชื่อมโยงกับศีล ที่ว่าด้วยการห้ามฆ่าสัตว์ และเป็นการต่อชะตาให้แก่ผู้ที่ทำได้ แต่ในบริบทของคติพุทธสมัยก่อน การจะปล่อยสัตว์ให้ได้บุญคือ การโปรดสัตว์ที่กำลังจะตายจึงจะได้บุญ แต่ในบริบทของยุคสมัยปัจจุบันที่มีธุรกิจการค้าขายปลา การทำบุญต่อชะตาจึงมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งการปล่อยปลาเป็นจำนวนมงคลตามวันเกิดเพื่อแก้เคล็ด เปลี่ยนดวงชะตาให้ร้ายกลายเป็นดี หรือการปล่อยปลาบางชนิดที่(ว่ากันว่า)จะช่วยเสริมดวงในเรื่องต่างๆ แก่ผู้ปล่อย เช่น ปลาราหู เพื่อสะเดาะเคราะห์ และปลาไหล ช่วยให้ชีวิตราบรื่น เป็นต้น

อีกทั้งในปัจจุบันการปล่อยปลายังมาพร้อมกับบทสวดโดยเฉพาะ เพื่อช่วยเสริมดวงให้ผู้ปล่อยปลาได้มู ได้ผลบุญ ได้สิริมงคลในเรื่องที่พวกเขาต้องการด้วย ธุรกิจการปล่อยปลาส่วนใหญ่เติบโตได้ เพราะมีการผสมผสานความเชื่อเรื่องการมูเตลู แก้เคล็ด พลังของการทำธุรกิจแบรนดิ้ง และคติพุทธรวมเข้าด้วยกัน

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยปลา

‘ธนพล เลิศเกียรติดำรง’ ผู้เขียนบทความ ‘ทำบุญปล่อยปลา และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม’ เล่าให้เราฟังถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของการปล่อยปลาไว้ว่า

“คนปล่อยจะไม่ค่อยรู้ว่า ปลาที่ปล่อยเป็นปลาเอเลี่ยน หรือต่างถิ่น และไม่รู้ว่ามันจะส่งผลต่อระบบนิเวศของปลาที่อยู่อาศัยดั้งเดิมอย่างไรบ้าง ตามหลักก็คือ ถ้าปลาที่ปล่อย ส่วนใหญ่ปล่อยไปมันก็อาจจะไม่รอด แต่ถ้าปล่อยไปแล้วปลามันรอด เรากำลังเพิ่มสัดส่วนของมันให้เพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ ถ้าปล่อยตูม 1,000 ตัว มันก็จะทำให้ระบบนิเวศไม่สมดุลแล้ว เป็นปัญหา overpopulation ถ้าปลานั้นเป็นตัวกินเนื้อ ปลาตัวนั้นก็จะไปกินปลาเล็กแถวนั้น จนปลาดั้งเดิมไม่เหลือ หากเรามีผู้บริโภคมากจนเกินไป ก็จะส่งผลให้ผู้ผลิตมีไม่เพียงพอ นั่นหมายถึง ปริมาณอาหารไม่เพียงพอจนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ เมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นกินสิ่งมีชีวิตอื่นจนหมด”

หากปล่อยปลาไปแล้วมันไม่รอดมันจะยังได้บุญอยู่หรือเปล่า

นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา ‘จตุรงค์ จงอาษา’ ได้เปรียบเทียบปัญหาการปล่อยปลาว่า เป็นเหมือนเรื่องการบริจาคของที่มากเกินไป หรือที่ไม่จำเป็น มันเป็นการสร้างความเดือดร้อนที่เอาความสบายใจเป็นที่ตั้งไว้ก่อน โดยไม่สนใจผลกระทบของการกระทำซึ่งอาจจะเป็นการสร้างความเดือดร้อน จนเป็นบาปมากกว่าเจตนาดีในการทำบุญ ตอนตั้งตนได้เขาจึงอยากเตือนให้ทุกคนคิดให้รอบคอบก่อนจะทำบุญว่า

“บุญไม่บุญมันไม่ใช่เรื่องที่เอาแต่ใจเราได้ บุญมันต้องไม่สร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่น การทำกุศลอะไร ถ้าจะสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านชาวช่อง มันไม่ได้บุญหรอกนะโดยหลักการ”

“ถ้าถามว่าควรเลิกปล่อยปลาเลยไหม ผมก็คิดว่า เลิกก็คงเลิกไม่ได้ เพราะมันมีปลาบางสายพันธุ์ในระบบนิเวศที่มาจากการปล่อยอยู่ แต่เราต้องมาคิดกันว่า เราต้องบาลานซ์ ปล่อยเพื่อบุญ หรือปล่อยเพื่อมันขาดแคลน ก็อยากให้ปล่อยอยู่ แต่ปล่อยแบบมีหลักการ เหตุผล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่าทางออกของเรื่องนี้คือ การจัดมีตติ้ง เอานักวิชาการประมงมามีตติ้งกับพระ กับคนขาย ปลาอะไรขายได้ไม่ได้ ขายให้เหมาะกับแม่น้ำ มันต้องมีการเวิร์กช็อป หรือไกด์บุ๊กให้ความรู้”

ทางออกของการปล่อยปลาในประเทศไทย

ธนพล เลิศเกียรติดำรง ได้เสนอกับเราว่า การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องเริ่มจากการหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ทางสิ่งแวดล้อมในระดับการศึกษาเบื้องต้น สร้างความรู้ทางนิเวศเพื่อให้คนทั่วไปตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปล่อยปลา เพราะปัญหาในประเทศไทยคือ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

"ญี่ปุ่นมีทำเนียบการปล่อยปลาเพื่อเป็นแหล่งอาหาร ปลาแซลมอน ปลาไหล เพื่อเป็นแหล่งอาหารในอนาคต แต่ปล่อยส่วนมากปลาที่ปล่อยไปก็ไม่รอด ในไต้หวัน ในจีนเขานำเข้าเต่าจากข้างนอก ทำให้บ้านเขามีเต่าเอเลี่ยนเต็มไปหมด จีนก็เลยออกกฎหมายร่วมกันห้ามปล่อยปลาเอเลี่ยน พวกเขามีการควบคุมห้ามปล่อยปลาต่างถิ่นเคร่งครัดมากเลย ถ้าถามว่าในไทยทางออกคืออะไร สำหรับเราประเทศไทยมันมีแหล่งน้ำเยอะ มันปล่อยได้หลายที่ เลยควบคุมยาก ผมคิดว่า ถ้าเราไปนำเสนอมุมมองใหม่ในระบบการศึกษาเบื้องต้น แนะนำ ให้ความรู้กับคนทั่วไป ให้พวกเขาเปลี่ยนมุมมองเรื่องการปล่อยปลาว่า มันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร มันก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้เรื่องการปล่อยปลาในไทยดีขึ้นได้"

อ้างอิง

SAC - ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
Sanook
The Matter