ตั้งแต่ที่ได้คลุกคลีกับโลกศิลปะไร้พรมแดนอย่าง NFT มาสักพัก เราคิดว่าการมีอยู่ของมันคือ “โอกาสสำคัญ” ที่ทำให้ได้เห็นอะไรใหม่ๆ ในวงการศิลปะบ้านเราเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ของช่องทางสร้างรายได้ใหม่ การสร้างชิ้นงานใหม่ และการนำเอางานเดิมมาปรุงแต่งเป็นงานใหม่ที่มีเสน่ห์มากขึ้น อย่างที่ ไผ่ - ธนสาร คณะเกษม เจ้าของนามปากกา PHAI TANASAN ได้ทำอยู่ คือการสร้างผลงานใหม่ที่ท้าทายขีดจำกัดของตัวเอง พร้อมทั้งนำบางส่วนของไดอารีภาพสเก็ตที่ไม่มีใครเคยเห็น หรือแม้แต่ตัวเองก็ไม่เคยย้อนกลับไปดูตลอด 10 ปี มาปัดฝุ่นและผสมผสานกันจนกลายเป็นคอลเลกชันดิจิทัลอาร์ตสไตล์พอตเทรตที่ถูกใจนักสะสมหลายคนทั่วโลก
รู้จักตัวตน PHAI TANASAN
“ผมเป็นผู้กำกับและครีเอทีฟทำงานด้านโปรดักชันครับ เวลาที่เสร็จจากงานหลักก็จะมาวาดรูปเล่นเป็นประจำอยู่แล้ว ถ้าช่วงที่งานไม่ยุ่งจะวาดภาพสีน้ำมันลงเฟรม หรือไปทำกราฟฟิตี้ตามที่ต่างๆ แต่ถ้าช่วงไหนที่งานยุ่งมากก็จะสเก็ตภาพแก้เครียด ทำแบบนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว เลยมีงานที่ไม่มีใครเห็นหรือแม้แต่ผมก็ไม่เคยย้อนกลับไปดูสต๊อกไว้เยอะมาก พอมีโอกาสก็ทำให้ย้อนนึกถึง และอยากลองภาพเหล่านั้นมาลองทำ NFT ดู ผสมผสานกับสร้างงานชิ้นใหม่ขึ้นมาด้วย”
คิดคอนเซ็ปต์ สร้างสตอรี่ให้ชิ้นงาน
นอกจากลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว แนวคิดของแต่คอลเลกชันก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ เพราะภายใต้ภาพพอตเทรตผู้หญิงที่ดูเหมือนไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากนัก กลับซ่อนอะไรบางอย่างเอาไว้ ทำให้ผลงานเป็นที่ถูกใจของใครหลายคน อีกทั้งยังสามารถขายได้เรื่อยๆ และราคาสูงด้วย
“ภาพวาดของผมแต่ละครั้งก็เหมือนการเขียนไดอารี่ เพราะมาจากเรื่องราวในชีวิตประจำวันบ้าง คนรอบตัวบ้าง หรือในหนังบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้นางแบบจริงที่เคยร่วมงานกันมาเป็นตัวละครหลัก พอมาเป็น NFT คอนเซ็ปต์หลักในงานก็เลยจะเป็นภาพพอตเทรตผู้หญิงที่มีสตอรี่ใส่เข้าไป อย่างคอลเลกชัน 50 Portrait Girls จะเป็นการเอางานที่วาดนางแบบทั้งในกระดาษและเฟรมมารวบรวมไว้ในชุดเดียว ส่วนคอลเลกชัน Pain girl ก็คือผู้หญิงที่เศร้าและเจ็บปวดในสถานการณ์ต่างๆ และคอลเลกชันใหม่ที่เพิ่งทำอย่าง Listen to me จะเป็นเรื่องราวของผู้หญิงที่ไม่ค่อยมีใครฟังเขา โดยเอาสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันมาร้อยเรียง เช่น เครื่องดนตรี หูฟัง เป็นต้น”
ปรับมุมมองเมื่ออยู่ในโลกใหม่
ในฐานะผู้ที่ลองทำ NFT ด้วยตัวเองและถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง คุณไผ่ได้แชร์เรื่องที่น่าสนใจไปถึงเพื่อนศิลปินที่อาจกำลังเจอปัญหาขายงานไม่ได้ คือ การปรับมุมมองที่ต้องเข้าใจและแยกระหว่างเรื่อง “การทำงานศิลปะ” กับการ “วางกลยุทธ์โปรโมทงาน” ออกจากกัน เพราะจะทำให้เห็นอะไรกว้างขึ้น เช่น ถ้าทำ NFT แล้วโพสต์แค่ในเฟซบุ๊ก มันก็จะมีแต่เพื่อนของเราเองที่เห็น แต่ถ้าเปลี่ยนไปโพสต์ในทวิตเตอร์ ก็จะกระจายการมองเห็นงานออกไปนอกเหนือจากประเทศไทยได้อีก เหมือนเป็นสถานที่ที่ไปเรียกให้คนมาดูงานของเราได้เป็นอย่างดี ถึงสุดท้ายจะขายไม่ได้ในทันที แต่อีกสักพักอาจมีคนมาซื้อเหมาย้อนก็ได้
“ถ้าศึกษาหาข้อมูลไปเรื่อยๆ จะทำให้เราเข้าใจถึงวิธีคิดของคนซื้อ เข้าใจระบบของ NFT และพอลงมือทำงานก็จะสนุกขึ้น เพราะเราจะรู้แล้วว่าหลังทำงานเสร็จจะต้องวาง Road map ยังไง ต้องทำยังไงให้ใครเห็นงาน และทำยังไงให้ขายได้”
วัดความสำเร็จด้วยความสุข
แม้จะมีงานบางชิ้นที่เหลืออยู่ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้คุณไผ่เลิกสร้างสรรค์ผลงาน และกลับสร้างสรรค์งาน NFT ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราสงสัยว่าเขาใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จกันแน่ เพราะดูเหมือนว่าเรื่องเงินคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญแล้ว ซึ่งเจ้าตัวบอกกับเราว่า คิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าถ้าขายไม่ได้ก็จะไม่ซีเรียส เพราะถ้าเราทำงานเยอะก็เหมือนเอางานไปแขวนในแกลอรี่เยอะขึ้น ไม่ได้มีอะไรเสียหาย เพราะปกติเขาวาดในกระดาษทุกวันอยู่แล้ว แค่ไม่ได้เอามาจัดแสดง ตัวชี้วัดความสำเร็จเลยมีแค่ความสุขในการทำงาน ส่วนการขายงานได้เป็นผลพลอยได้
“ผมอาจจะไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงที่สุด แต่ผมมองว่าคนที่ทำงานได้ตลอด ทำได้เยอะ และตอนทำมีความสุขด้วย คนนั้นคือคนที่ชนะที่สุด”
ราคาขึ้นอยู่กับจุดยืน
“ศิลปินทุกคนมีความเชื่อ มีวิธีคิดไม่เหมือนกัน ผมมองว่าราคาขึ้นอยู่กับความชัดเจนในจุดยืนและสไตล์ของตัวเอง จะตั้งราคาขายเท่าไหร่ก็ได้ เพราะที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของคุณเองที่ต้องไปหากลยุทธ์ดึงคนให้มาสนใจและซื้องาน”
NFT กับการทลายกรอบแบบเดิม
คุณไผ่แชร์ความคิดให้เราฟังต่อว่า ภาพวาดจริงก็ยังคงมีเสน่ห์ในแง่ขนาดของภาพและการจับต้องได้ ที่ทำให้คนมีพลังเมื่อได้เห็น แต่สำหรับ NFT นั้นเขาคิดว่ามันช่วยทลายกรอบอะไรหลายอย่าง เพราะที่นี่ทุกคนเท่ากัน ไม่มีคำว่ารุ่นใหญ่รุ่นเล็ก ใครก็มีโอกาสขายงานได้ไม่ต่างกัน ลูกค้าจะเลือกซื้องานจากความชอบและดู Road map เป็นหลักว่างานชิ้นนั้นๆ จะไปทำกำไรต่อได้ไหม
แต่ความน่าสนใจที่อยากให้เห็นในอนาคตคือ การที่วงการศิลปะไทยทั้งหมด ทั้งแกลลอรี่ ศิลปิน และนักสะสม เข้ามาเล่น NFT ด้วยกัน คิดว่ามันน่าจะสนุกขึ้น เพราะคนที่มีงานอยู่ในแกลอรี่ก็จะมี NFT เป็นของตัวเอง ส่วนคนที่ดังในโลก NFT แต่ในชีวิตจริงอาจจะยังไม่ได้มีชื่อเสียง ก็จะมีโอกาสได้มาแขวนงานในแกลอรี่บ้าง ในขณะที่นักสะสมไทยก็จะมีงานศิลป์ให้ได้สะสมมากขึ้น เป็นผลดีกับทุกฝ่าย
ผลงานสุดประทับใจ
จริงๆ ผมชอบงานทุกชิ้นของตัวเอง แต่ถ้าให้เลือกก็จะเป็น BATTLE OF A FOX ชิ้นงานสีน้ำมันที่ลงขายใน Foundation ได้ในราคา 0.5 ETH เป็นภาพรองเท้าสเก็ต มีผู้หญิง และจิ้งจอก ซึ่งเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วตอนอยู่แกลอรี่มันขายไม่ได้ แต่ตัดสินใจหยิบมาตกแต่งเพิ่มนิดหน่อย เพราะคิดว่าจิ้งจอกมันก็ลิงค์กับ Metamask (e-wallet ของเหรียญ Ethereum) พอดี
ส่วนอีกงานคือ NYAN PRINCESS ที่เป็นภาพเคลื่อนไหวของเจ้าหญิงและสายรุ้ง ได้แรงบันดาลใจจากมีมในตำนานอย่าง NYAN CAT เป็นชิ้นงานที่ได้ลองเล่นกับความเป็น NFT มากขึ้น เพราะปกติงานเราเป็นสีน้ำมันเป็น Drawing บนกระดาษ แต่พอมาอยู่บนนี้แล้วมันขยับได้ ผมก็รู้สึกว่างานของตัวเองพัฒนาขึ้น สนุกมากครับ ปิดการขายไปที่ 0.3 ETH แต่ปัจจุบันราคา 2nd sale ไปถึง 3 ETH
นี่คือความน่าสนใจของ NFT by PHAI TANASAN ที่เราได้สัมผัสและนำมาฝากกัน ซึ่งแน่นอนว่าผลงานจะยังไม่สิ้นสุดแค่เท่านี้ เพราะคุณไผ่ยอมรับว่ายังมีงานอีกมากที่อยากลองทำและตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ โดยเฉพาะคอลเลคชันใหม่ที่ต่อยอดจากงานเดิมได้ และไม่จำกัดอยู่แค่การวาดรูป
ติดตามและอัพเดทผลงานทุกคอลเลกชันได้ที่ Phai Tanasan, phai_tanasan, https://linktr.ee/phai_tanasan