อย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อพูดถึง “เกาะพะงัน” ทีไร ทุกคนก็จะนึกถึงแต่ “ฟูลมูน ปาร์ตี้” แต่ถ้าเป็นสายปาร์ตี้ตัวจริงจะรู้ดีว่าพะงันนั้นไม่ได้มีดีแค่ฟูลมูน ปาร์ตี้เท่านั้น แต่มีปาร์ตี้เจ๋งๆ ซุกซ่อนอยู่เต็มเกาะ แถมยังตารางงานก็หมุนเวียนกันไปไม่มีซ้ำกันซักสัปดาห์ โดยในแต่ละปาร์ตี้จะมีเอกลักษณ์ความสนุกในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแนวเพลงที่เล่น การตกแต่ง ธีมโดยรวม โดยผู้จัดจะเต็มที่กับแสง สี เสียง ฉาก เวที ให้อลังการ ตื่นตาตื่นใจ ให้สมกับที่นักท่องเที่ยวที่อุตส่าห์ลงทุนเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมา
แต่หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด - 19 งานปาร์ตี้ใหญ่ๆ ที่เคยจัดแทบจะปิดตัวถาวร ทำให้ตอนนี้งานปาร์ตี้ไม่ใช่แม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกต่อไป แต่เรื่องนี้กลับไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจของ จิม - จอมจักร ภิญโญศิริกุล ทายาทธุรกิจ Tommy Resort รีสอร์ตที่อยู่คู่กับฟูลมูน ปาร์ตี้มาแสนนาน เขาเล่าว่า เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงของฟูลมูนปาร์ตี้มาตลอด 20 ปี ในช่วงที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาฟูลมูนปาร์ตี้ก็เริ่มลดน้อยถอยลงไปอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากเจอเหตุการณ์ที่กระทบการเดินทางขนาดนี้ จะทำให้ไม่เหลือนักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมอีก
“นักท่องเที่ยวที่มาฟูลมูนปาร์ตี้ช่วง 5- 10 ปีหลังมานี้ จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่แวะมาจากที่อื่นเดินทางมาที่นี่เพียง 2-3 วันเพื่อจุดประสงค์เดียวเท่านั้นคือปาร์ตี้ โดยที่ไม่ได้ใช้เวลาภายในเกาะทั้งๆ ที่เกาะมีอะไรอีกหลายอย่างที่ผมมองว่ามีคุณค่าแก่การใช้เวลา ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่งดงามหรือวิถีชีวิตที่มีรากเหง้ายาวนาน จนทำให้เกิดความคิดอยากชวนให้คนมาที่นี่เพื่อสัมผัสอะไรที่มันยั่งยืนกว่าที่ผ่านมา จึงกลายเป็นที่มาของงาน “Back to the Roots” คือการกลับไปสู่รากเหง้าของทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เช่น จากที่เคยเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในกระป๋องพลาสติกและปักหลอดพลาสติกลงไปหลายๆ อันเราก็เปลี่ยนมาเป็นเสิร์ฟเครื่องดื่มในแก้วที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ยังรวมไปถึงการให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น เมื่อวันลอยกระทงที่ผ่านมาซึ่งตรงกับคืนที่เราจัดปาร์ตี้ ผมได้จัดกิจกรรมชักชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมทำกระทงด้วยกัน เห็นหลายคนพาลูกหลานมาร่วมทำกระทงกันอย่างสนุกสนานแล้วรู้สึกมีความสุขมากจนทำให้เกิดกำลังใจที่จะสรรหากิจกรรมเชิงอนุรักษณ์แบบนี้ออกมาอีก”
เมื่อเราเห็นว่าฟูลมูนปาร์ตี้รูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อ “Back to the Roots” ที่ผ่านมาทั้งสองครั้งมีเด็กเล็กๆ เข้าร่วมด้วยจึงทำให้เกิดคำถามว่า กลุ่มเป้าหมายของเขาคือใครกันแน่ จิมให้คำตอบที่สร้างความแปลกใจให้กับเราเป็นอย่างมาก
“เราไม่จำกัดเพศและวัยของนักท่องเที่ยวครับ เพราะเราต้องการความหลากหลายกว่าฟูลมูนปาร์ตี้ในยุคก่อนโควิด สิ่งสำคัญที่พวกเราพยายามทำให้เกิดขึ้นคือพยายามสร้างสรรค์กิจกรรมที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอยากใช้เวลาอยู่บนเกาะมากกว่า 2-3 วัน เรารื้อฟื้นบรรยากาศอันปลั๊กแบบในยุคแรก ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่มาเยือนที่นี่เมื่อ 30-40 ปีก่อน ดื่มด่ำความงามของหาดริ้น ตกกลางคืนก็พากันเล่นดนตรีกันเงียบๆ ภายใต้แสงจันทร์ เราจึงไม่ใช้ลำโพงหรือไฟนีออนเพื่อให้ทุกคนได้ซึบซับรับความรู้สึกของการอยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง ผมได้แต่หวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ สรรหากิจกรรมดีๆ เพื่อสร้างการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนให้กับชุมชน ในขณะเดียวกันก็อนุรักษ์ทั้งสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมชาวบ้านไปพร้อมกันครับ”
ในด้านของเจ้าของโรงแรม Phangan Bayshore Resort และร้านอาหาร Sand&Tan ของคุณ ณัฐกิตติ์ ลิบประภากร ที่มีโลเคชั่นตั้งอยู่ ณ หาดริ้น ก็มีความเห็นที่ไม่แตกต่างกัน ที่ว่าฟูลมูนปาร์ตี้ถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาให้เข้ากับความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่อาจจะไม่ใช่กลุ่มเดิมในช่วงก่อนโควิด
“ถ้ามองในเชิงธุรกิจแล้วยังไงก็ไม่ยั่งยืน เพราะการที่เจ้าของกิจการลงทุนตั้งเวทีหน้าหาดหวังจะขายแอลกอฮอล์ แต่ในความจริงแล้วนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ลงเรือ แวะซื้อเหล้าที่ 7-11 มาเข้างานฟรี หรือไม่ก็เมามาตั้งแต่ก่อนเข้างานแล้ว ไม่ก็ซื้อเบียร์เพียงขวดสองขวดเต้นกันยาวไปถึงเช้า ยิ่งในช่วงหลังมีแผงเหล่าจากประเทศเพื่อบ้านมาตัดราคาไปอีก ยังไม่รวมเหล้าปลอมที่ระบาดไปทั่วหาด สุดท้ายเจ้าของกิจการแทบไม่ได้อะไรเลย จริงอยู่ที่คืนวันงานปาร์ตี้อาจจะมีรายได้เยอะ แต่เรื่องของความยั่งยืนมันไม่มีเลย คนเกาะพะงันไม่ได้อะไรเลยนอกจากต้องมาเก็บขยะ แถมยังได้รับผลกระทบเรื่องชื่อเสียงอีกด้วยเวลามีอาชญากรรมเกิดขึ้นมา ผมจึงคิดว่าทางเจ้าของกิจการควรมาใส่ใจเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มันดูดีมีมาตรฐานโดยไม่ต้องหวังพึ่งรายได้จากฟูลมูนปาร์ตี้น่าจะเป็นทิศทางที่ดีกว่าหลังจากประเทศเปิดอีกครั้ง”
“ก่อนหน้านี้เวลาที่มีการจัดฟูลมูนปาร์ตี้ผมต้องใช้บุคลากรโรงแรมเป็นจำนวนมากในการดูแลความเรียบร้อยรอบโรงแรม รวมทั้งต้องเผชิญปัญหาเสียงดังและลูกค้าขอเช็คเอ้าท์ ซึ่งเป็นผลพวงจากบาร์หน้าหาดเปิดเกินมาตรฐานของกฏหมายนอกเหนือช่วงเวลาเปิด Full Moon Party ทุกวันนี้ผมจึงมีความสุขมากกว่า ที่แต่ละร้านเลือกจัดอีเว้นท์เล็กๆ หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ทุกอาทิตย์ เพื่อให้แต่ละเจ้ามีเงินหมุนเวียนคอยหาสิ่งใหม่ๆ มานำเสนอให้แก่ลูกค้าที่มีคุณภาพ ผมมองว่ามันยั่งยืนกว่าที่จะมารออีเว้นท์ใหญ่ๆ ที่จัดเพียงเดือนละครั้ง ที่สำคัญการที่มีคนน้อยลงมันทำให้เราไม่ต้องมาคอยกังวลในเรื่องความเสียหายในเชิงทรัพยากร เพราะการที่คนนับพันมารวมตัวกันที่ชายหาดในคืนๆ หนึ่ง มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่สูงมาก ซึ่งความจริงข้อนี้ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงสักเท่าไหร่”
“ทุกวันนี้ทางร้านอาหาร Sand & Tan ของโรงแรมเปลี่ยนมาใช้หลอดมันสำปะหลังแทนหลอดพลาสติก และเลิกใช้พลาสติกในร้าน รวมทั้งทำปุ๋ยอินทรีย์เองจากเศษอาหารเพื่อปลูกผักบางส่วนที่ใช้ในร้าน ในส่วนของตัวโรงแรมเราได้เริ่มพัฒนาระบบการกำจัดน้ำเสียและอบรมให้ความรู้กับพนักงานในเรื่องสิ่งแวดล้อมและเซตระบบการแยกขยะ ซึ่งนอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของโรงแรมอีกด้วย”
ทุกวันอาทิตย์ที่ร้านอาหารสุดเก๋ Sand & Tan เราจะเห็นดีเจหน้าใส เมย์ - ชูชีวา ชีพชนม์ แจกความสดใสให้แก่แขกเหรื่อที่มาใช้บริการในร้านอาหารด้วยเสียงเพลงจากเทิร์นเทเบิ้ล เมย์มีคุณลุงอยู่พะงันเลยมาทุกปีตั้งแต่เด็กและรู้สึกผูกพันเหมือนบ้านหลังที่สอง จนตัดสินใจย้ายออกจากกรุงเทพช่วงโควิดต้นปี 2020 จนถึงปัจจุบัน สาเหตุทีติดใจคือนอกจากความงามของธรรมชาติแล้ว ยังเป็นมิตรภาพจากผู้คนที่เธอรู้สึกว่า “เจ๋ง”
“ที่นี่เป็นเกาะที่มีคนที่มีความสามารถมารวมตัวกันเยอะมาก อย่างในสายดีเจเมย์ได้พบปะคนเก่งๆ หลายคนที่ได้กลายมาเป็นอาจารย์ของเมย์ หรือศิลปินที่มีชื่อเสียงและไม่มีชื่อเสียงในสื่อแต่ผลงานมีเอกลักษณ์ และเป็นบรรยากาศของเกาะมากๆ เมย์คิดว่านี่น่าจะเป็นเสน่ห์ที่แท้จริงของเกาะพะงัน”
เมย์มีส่วนสำคัญในการปรับปรุงภาพลักษณ์ปาร์ตี้ในหาดริ้นเนื่องจากเธอได้มีโอกาสร่วมงานกับหลายคน เราจึงขอให้เธอลองอธิบายคร่าวๆ ว่าถ้าเราจะไปเที่ยวหาดริ้นคราวนี้ เราจะได้ฟีลไหนบ้าง
“งาน Back to the Roots จะเน้นการกลับคืนสู่บรรยากาศเก่าๆ เป็นพะงันในยุคคลาสสิค เปิดเพลงแนว Progressive, House, Techno, Melodic House ที่เข้ากับบบรยากาศของหาด เน้นความใกล้ชิดได้บรรยากาศอบอุ่นรอบกองไฟ ส่วนที่ Sand & Tan จะเน้นเปิดแนว House, Funky, Disco, Hiphop, Oldschool พอโยกได้ บรรยากาศจะออกแนวชิลๆ ให้ฟีลมาจิบเครื่องดื่มในร้านดีๆ ชมวิวทะเล ในขณะที่ร้าน House of Sanskara ของพี่ Mark Panya Wienands จะออกแนว Psychedelic ทั้งการตกแต่งด้วยงานศิลปะสไตล์นี้และเทคนิคการแต่งไฟที่ให้บรรยากาศเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในงานเทศกาลดนตรีดีๆ สักแห่ง แต่ที่ทุกร้านเน้นเหมือนกันหมดคือ มุ่งมั่นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและหาไอเดียกิจกรรมใหม่ๆ ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังทรัพย์และรสนิยมเพื่อให้พวกเขาได้เกี่ยวกับช่วงเวลาดีๆ ที่เกาะในระยะยาวค่ะ”
เมย์กำลังจะมีร้านของตัวเองด้วยนะ เป็น�