วันนี้ EQ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 'เปิ้ล ปรินดา' อดีตพนักงานออฟฟิศ ดีกรีปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจ มักถูกตั้งคำถามจากคนรุ่นเก่า ต่อเส้นทางชีวิตที่ยากจะเข้าใจ ภายใต้ ‘มรสุมชีวิตแม่เลี้ยงเดี่ยว’ พลิกผันจากการพนักงานออฟฟิศ กลายมาเป็นพนักงานกวาดถนน (ลูกจ้างชั่วคราว) บนท้องถนนเขตพญาไทอันวุ่นวาย ที่ซุกซ่อนเรื่องราวการดิ้นรนของคนงานแม่เลี้ยงเดี่ยว หอบหิ้วลูกน้อยออกมาทำงานตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง จนกระทั่งเลิกงานตอนแดดแผดความร้อนส่องตรงกลางหัว เบื้องหลังคำตอบที่ถ่ายทอดชีวิต บนเงื่อนไขทางสังคมที่บีบให้เหลือทางเลือกไม่มากนัก คือ ฉากสะท้อนไปถึงภาพสวัสดิการของคนงาน และครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่ถูกละเลย
ฟ้าผ่าเปรี้ยง! ‘ลูก’ คือ จุดพลิกผันของชีวิต
ต้องออกจากงานประจำมา เพราะเรื่องลูกนี่แหละ เพราะเราไม่มีใครคอยซับพอร์ตดูแลได้ ก็คือตัวคนเดียวเลยจริงๆ เราจะพึ่งฝั่งพ่อเขาก็ไม่ได้ ฝั่งแม่เราก็เป็นครั้งคราว ก็เลยหาจุดที่มั่นคงให้กับลูกมากกว่า
จุดเปลี่ยนที่ออกจากงานประจำ เป็นช่วงเลิกลากับสามี และลูกกำลังเริ่มเข้าเรียนเนิร์สเซอรี
การที่ต้องไปรับ-ส่งลูก กระทบต่อการทำงาน ทำงานได้ไม่เต็มที่จึงตัดสินใจลาออก ลาออกมาไปขับรถส่งอาหาร
หอบลูกออกมาทำงาน ฝ่าลม ฝน เผชิญมรสุมชีวิตอันมืดมน
ช่วงแรกลำบากแบบสุดๆ ช่วงแรกมีปัญหากับพ่อของน้องอยู่แล้วได้สักพัก ตั้งแต่น้องขวบกว่า ต้องกระเตงลูกออกไปทำงานด้วย ตอนขับรถส่งอาหารเราก็สงสารเขานะ แต่เราจะฝากใครก็จะมีปัญหา มันก็จะมีแช็ตมาพูดว่า ลูกร้องไห้ นู่นนี่นั่นเราต้องมารับนะ มันก็เลยกังวล ทำงานไม่ได้ คือเราอยากจะหมดปัญหาเรื่องกังวลกับลูก แรกๆ เหนื่อยมาก หลังจากนั้นก็ไม่ฝากแล้ว ก็กระเตงลูกออกมาเลย
มีคนถามว่าเอาลูกออกมาทำงานทำไม ทำไมต้องเอาลูกออกมานู่นนี่นั่น ตอนนั้นเราก็รู้สึกไม่ดีนะ เราร้องไห้ พี่เป็นโรคซึมเศร้าด้วยนะหลังคลอดน้อง แต่ตอนนี้รักษาอยู่ พี่ก็เครียดเหมือนกันที่คนมาพูดแบบนี้ แบบเราไม่อยากอยู่แล้ว เราเหนื่อย ทำไมชีวิตเราต้องมาเหนื่อยขนาดนี้ ต้องมานั่งนับเศษตังค์กับลูก มองไปทางไหนไม่ได้ มันมืดหมดเลย
จับไม้กวาดเผชิญหน้ากับคุณค่าของสังคม
ช่วงโควิดรู้จักพี่คนหนึ่ง จึงถามว่าตอนนี้ที่เขตมีรับสมัครงานอะไรบ้างไหม ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ข้างบนทั่วไปยังไม่เปิดรับ มีแต่ตำแหน่งพนักงานกวาด พนักงานเก็บขยะ ตัดสินใจลอง ดูจากการจัดการเวลา เข้างานตี 5 เลิกบ่ายโมง ช่วงแรกที่ไปทำไม่ค่อยลงตัวกับการไปรับส่งลูก พอทำไปก็เริ่มลงตัว
“แรกๆ เลยนะ คนเขาจะมองว่าทำไมกวาดถนน มองว่าเป็นงานลงมานิดหนึ่ง แต่พอได้เข้าไปทำ ก็สัมผัสว่า งานมันไม่มีงานต่ำ งานสูง มันเหมือนกันหมด เพราะว่าเราเป็นคนเหมือนกันหมดทุกคน”
ภูมิใจในอาชีพนี้นะ ภูมิใจในตัวเอง และอาชีพนี้ เพราะเราได้ดูแลความสะอาดบ้านเมืองของเรา เหมือนเราเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ที่ให้คนได้เดินไปเดินมา ได้ใช้พื้นที่อย่างสะดวกสบาย แล้วเราก็ภูมิใจ แล้วก็โอเคในงานที่เราทำตอนนี้
คนรุ่นก่อน รุ่นเก่า ก็จะบอกว่าทำไมจบป.ตรี มาแล้วถึงทำงานกวาดถนน ทำไมถึงมาเลือกงานที่ใช้กำลัง ใช้แรงงาน ทำไมไม่ไปนั่งห้องแอร์ มันก็มีเยอะ แต่พี่รู้สึกว่า เราไม่จำเป็นต้องมานั่งอธิบาย เพราะถ้ามาอธิบายเหตุผล เราก็ต้องอธิบายกันหมด
“เพียงแค่ว่าเรารู้ตัวเองก็พอ เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ชีวิตมันเป็นของเราไง"
งานแต่ละอย่างมันมีเทคนิคของมันเช่น เรื่องเล็กน้อยอย่าง ไม้กวาด ถ้าคนไม่เคยมาสัมผัสงานกวาดก็จะไม่รู้ว่า พนักงานกวาดต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง รูปแบบไม้กวาดเป็นอย่างไร กวาดแรกๆ ก็อาจจะยังทำไม่เป็น ด้วยความที่เราอยู่ไปทุกวัน ทำไปทุกวันก็จะชิน แล้วเราก็จะทำเป็น
ความเสี่ยงในชีวิตของ ‘คนทำงานริมถนน’
บริเวณพื้นที่กวาด จะเป็นถนนใหญ่แยกราชเทวี ซึ่งมันจะเป็นที่ที่ผู้คนสัญจรตั้งแต่เช้า ก็จะมีไฟติดส่องสว่าง ก็จะไม่ค่อยเสี่ยงเท่าไร ที่จะมีเสี่ยงก็คือ รถ เพราะตอนเช้าๆ เส้นตรงนั้นรถวิ่งเร็วมาก เวลาที่กวาดเราต้องกวาดทั้งบริเวณฟุตพาท และข้างล่างฟุตพาท ก็จะมีความเสี่ยงเรื่องนี้
แต่ถ้าเป็นพื้นที่ของเพื่อนๆ ก็จะเป็นเรื่องคนเร่ร่อน เพื่อนร่วมงานกวาดในซอยค่อนข้างมืด ในซอยก็จะค่อนข้างเปลี่ยว เพื่อนคนนี้เขากวาดไปข้างหน้าไม่ได้มองหลัง เขาโดนคนเร่ร่อนฟาดสลบไปเลย ไปฟื้นอีกทีที่โรงพยาบาลเลย
“สมมติว่าโดนรถชน ถ้าคนนั้นเป็นพนักงานประจำก็จะได้เงินชดเชยเยอะ ประมาณ 30 เท่าของเงินเดือน แต่พนักงานชั่วคราวจะไม่ได้เลย ทำงานเหมือนกันนะ ไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลย (หัวเราะแห้ง)”
ตอนแรกของพวกเรา(พนักงานชั่วคราว) ไม่ได้ประกันอุบัติเหตุเลย แต่พอได้ผู้ว่าชัชชาติเข้ามา ผู้ว่าจับทำประกันให้พนักงานกวาดทุกคน พนักงงานเก็บขยะ พนักงานที่เป็นลูกจ้างในวงการแบบนี้หมดทุกคนเลย
ทุกฟันเฟืองสำคัญ มองแรงงาน(ไม่)ล่องหน
เจอผู้ว่าชัชชาติเมื่อปี 64 ช่วงตุลา ครั้งแรกที่เจอคือ แกมาวิ่งกับพรรคพวก แล้วก็มาเจอเรา
ก็พูดคุยกันก่อนปกติ พอมาเจอลูกชายนอนอยู่ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น ‘เห้ย ทำไมถึงเอาลูกมานอนที่นี่’ พอคนได้เห็นเราเล่าเรื่องราวต่างๆ ไปแล้ว คนก็รู้สึกอยากช่วยเหลืออะไรอย่างนี้
แต่ไม่มีมาบริจาคอะไรอย่างนี้นะ พี่ไม่ได้เปิดตรงนั้น เราแค่ทำงานไปเรื่อยๆ นะ ถ้าใครสนใจอยากจะช่วยเหลือก็ซื้อของได้ จ้างงานได้
หลังจากนั้นผู้ว่าแกก็น่ารัก มาติดตามต่อว่าเป็นอย่างไร ดีขึ้นไหม แม้เราก็ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวนะ
‘ฟ้าเริ่มสว่าง’ เงยหน้ารับโอกาสเดินตามความฝัน
ผู้ใหญ่ใจดีแกก็เป็นแฟนคลับของผู้ว่าชัชชาติอยู่แล้ว พอแกได้เห็นไลฟ์แล้วแกมาตามหาเรา
ตอนแรกก็คือ มาขอจ่ายค่าเทอมให้ลูกชาย ค่อยยังชั่วเนอะ มีคนมาซับพอร์ต เราพอเขาได้เห็นว่า เราเรียนจบป.ตรีมา แกก็รู้สึกว่าทำไมไม่เรียนต่อ เราตอบกลับว่าหนูก็อยากกลับไปเรียน แต่ไม่สะดวกเรื่องเงิน อยากให้ลูกมากกว่า เขาบอกไม่เกี่ยวหรอก ถ้าอยากให้ลูกได้ดีตัวเราต้องดีให้ได้ก่อน เราต้องพัฒนาตัวเราให้ได้ก่อน มันก็เลยทำให้เราฉุกคิด
เขาก็เลยบอกว่าลองไปสมัครดูก่อน มีการสอบสัมภาษณ์เบื้องต้น แล้วก็บอกพอสอบสัมภาษณ์ผ่านก็เรียนเลย สรุปผ่านก็เรียนเลย (หัวเราะ) ก็ต้องขอบคุณท่านทั้งสอง แต่ว่าเขาไม่ให้เอ่ยนาม เขาบอกแค่นี้แหละ มันอยู่ในจุดที่มาพอดี เราก็ต้องรับเอาไว้
“ทุกคนมันมีความฝันน่ะถูกต้องแล้ว อย่างเรามีความฝันนะ คืออยากเรียนต่อ แต่ติดตรงที่ว่าเราไม่มีเงิน ไม่มีทุน ทุกคนรู้ใช่ไหมว่าเรื่องเรียนต่อ ถ้าไม่ใช่คนหัวดีมากๆ แล้วได้ทุน เราต้องจ่ายเอง แล้วค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง มันเป็นช่วงจังหวะชีวิต เป็นโอกาสที่ดีมีคนหยิบยื่นช่วยเหลือตรงนี้ เราก็เลยรีบคว้าโอกาสมาไว้ก่อน”
มีลูกแล้วเราก็ยังทำตามความฝันได้ มันไม่เกี่ยวกับลูก มันเกี่ยวกับตัวเรามากกว่า มันไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้นะ จริงๆ
ความหวังใหม่ พัฒนาระบบเพื่อฟังเสียงของ 'คนงาน'
เรียนต่อเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคล พัฒนาองค์กร เพราะเดี๋ยวตอนทำธีสิสก็ต้องมาทำวิจัยในนี้ ในองค์เรานี่แหละ เลือกมาเรียนต่อสาขานี้ เพราะเราทำงานตรงนี้ เราได้เห็นปัญหาของพนักงานด้วยกัน คนงานกวาดด้วยกัน ปัญหาของการสื่อสารระดับคนงานกับหัวหน้า เรารู้สึกว่า ทำไมเขายังบริหารจัดการไม่ค่อยโอเค เช่น เวลามีปัญหาในพื้นที่เรา เราแจ้งไปแล้วเขาเพิกเฉย ทั้งๆ ที่เขามีอำนาจในการสั่งการแต่เขาไม่ทำ ก็เลยอยากไปเรียนต่อเพื่อจะเอาสิ่งตรงนี้กลับมาใช้ในองค์กรของเรา เพราะว่าเราก็ยังอยู่ตรงนี้แหละ แต่อาจจะไม่ได้กวาดแล้ว ได้เปลี่ยนหน้าที่การงาน อาจจะได้ขยับขยายขึ้นข้างบน เราก็อยากจะใช้ประสบการณ์ที่เราทำงานมา เอามาใช้พัฒนาองค์กรเราให้ดีขึ้นนะ ไม่ใช่แง่ลบลง
เราเรียกแทนตัวเองว่า 'คนงาน' เราจะรู้สึกว่า เราเข้าไม่ถึงระดับปฏิบัติการ ผู้บริหาร เวลาผู้บริหารลงพื้นที่มาตรวจ เราก็สงสัยว่า ทำไมเราถึงต้องไปกลัว ทำไมเราจะเข้าไปหา เข้าถึงไม่ได้ กลายเป็นว่า พี่เป็นจุดที่ทำให้เขาเห็นว่า เราสามารถเข้าถึงได้นะ เราก็จะเข้าไปบอกปัญหาแบบที่เราเจอให้เขาฟัง เพราะเราพูดผ่านหัวหน้าไปแล้วเขาไม่แก้ไขไง เราก็เลยรู้สึกว่า เราไม่อยากให้คนงานกวาดมากลัวผู้บริหาร กลัวหัวหน้า อยากให้เขาพูดคุยเป็นกันเอง มันจะได้ทำงานเต็มที่ สิ่งที่อยากเรียนไปเพราะเรื่องนี้แหละค่ะ
มองไปไกลกว่าความช่วยเหลือ มองหาสวัสดิการซัพพอร์ตคนงานแม่เลี้ยงเดี่ยว
อยากให้มีศูนย์ดูแลเด็ก มันไม่ใช่เราคนเดียวที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มันมีอีกหลายคนที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่เพียงแค่ว่า เราเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ไม่มีใครมาช่วยเลี้ยงลูกได้ ถ้าอย่างของคนอื่น อาจจะยังมีตา ยาย ปู่ ย่า ประมาณนี้ อยากให้มีเซ็นเตอร์เป็นศูนย์ดูแลเด็กขึ้นมาแค่นี้เอง
ถ้าในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยว ทุกองค์กรหน่วยงาน มีศูนย์ตรงนี้เข้ามาคอยช่วยเหลือ ให้มันเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดเลย ทั่วทุกบริษัท องค์กร ถ้ามันมีตรงนี้นะ ตัวของแม่เลี้ยงเดี่ยวเขาก็อาจจะหายกังวลได้ในระดับหนึ่ง
สุดท้ายแล้วการมีลูกเป็นทั้ง ‘บททดสอบ’ และ ‘รางวัล’
ทุกคนมันจะมีจุดที่เป็นที่ยึดเหนี่ยว บางที คือ พ่อ แม่ บ้าน เป็นที่ยึดเหนี่ยว แต่สำหรับพี่มองว่า ลูกเป็นตัวยึดเหนี่ยวสำหรับเรา ที่ทำให้เราต้องผ่านแต่ละอย่างไปได้
"ลูกเป็นตัวทดสอบเลยนะ แล้วต้องขอบคุณด้วยที่ทำให้เราแกร่งได้ขนาดนี้ เป็นหญิงเหล็กได้ขนาดนี้"
เราต้องผ่านไปได้อยู่แล้ว ถ้าเราไม่เก่งเราไม่อยู่มาได้ขนาดนี้ เราไม่อยู่เลี้ยงลูกได้ขนาดนี้ ทุกคนมีความอดทน และมีความเก่งในตัวเองเยอะ ให้ใช้สิ่งเหล่านั้นในตัวเราเองออกมา แล้วทุกอย่างก็จะผ่านไปได้ด้วยดี ทุกคนทำได้ เชื่อ เพียงแค่มันอยู่ที่จิตใจ ก็อยากจะให้กำลังใจนะคะว่า อย่างน้อยเราแม่เลี้ยงเดี่ยวเหมือนกัน เราก็ต้องสู้ไปด้วยกัน เราจะต้องไปรอดูการเจริญเติบโตของลูกในอนาคตข้างหน้า แล้วเราก็จะต้องภูมิใจว่า เราเก่งขนาดไหนที่ทำให้ลูกไปถึงจุดนั้น