การเลือกตั้งหมุนเวียนเข้าใกล้ทุกขณะ นักการเมือง และพรรคการเมืองผู้มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดนโยบาย และทิศทางของการเมืองไทย ต่างขนนโยบายมากมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศดีขึ้นออกมาหาเสียง ท่ามกลางเกมการเมืองครั้งใหม่ที่เข้มข้น สิ่งหนึ่งที่ยังดำรงอยู่ควบคู่กับการเลือกตั้งอย่างปฏิเสธไม่ได้คือ ‘การซื้อสิทธิขายเสียง’ แต่ใช่ว่าการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นปีศาจของประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว ที่ทำให้การเมือง และสังคมไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงไปไหน
“เงินไม่ได้เป็นปัจจัยที่เพียงพอ ที่บันดาลให้ใครคนหนึ่งได้รับการเลือกตั้งเสมอไป … ชาวบ้านส่วนใหญ่คำนึงถึงระยะยาวมากกว่าการรับอามิสจ้างในช่วงหาเสียง แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่รับเงิน” – เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (นักวิชาการ และนักการเมือง)
หลายครั้งที่ชนชั้นกลาง หรือคนเมืองมักมองว่า การซื้อสิทธิขายเสียงเป็นปัญหาหลักเพียงอย่างเดียวที่บ่อนทำลายประชาธิปไตย และการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชนบทเป็นส่วนใหญ่ จากการมองว่า คนชนบทมีผู้ทรงอิทธิพลท้องถิ่นครอบงำทางความคิด และถูกชักจูงได้ง่าย ปราศจากความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตัวเอง และระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นเหตุผลในการสร้างความชอบธรรมให้แก่ชนชั้นกลาง หรือคนเมืองบางส่วนว่า เสียงของคนชนบทไม่เท่ากับเสียงของคนเมือง
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีงานศึกษาที่พยายามทำความเข้าใจว่า ‘การซื้อสิทธิขายเสียง’ ไม่ใช่แค่การแลกเปลี่ยนเงินกับคะแนนเสียงเหมือนการซื้อขายสินค้าทั่วไป แต่เป็นการใช้เงินเพื่อแลกเสียงที่มีบริบท และเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมเข้ามาร่วมด้วย
เงินไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้ง
“เงินไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้ง มานุษยวิทยาเมืองของการซื้อเสียง” ส่วนหนึ่งในบทความของ ยุกติ มุกดาวิจิตร (2555) ได้กล่าวถึงการซื้อเสียงในพื้นที่ชนบทไว้ว่า เงินที่ใช้ซื้อเสียงไม่ได้หมายความว่า ชาวบ้านจะตีราคาสิทธิ หรืออำนาจอธิปไตยของตัวเองด้วยเงินจำนวนไม่มาก เงินที่นำมาซื้อเสียงมีความสัมพันธ์กับวิถีประชาธิปไตยของชุมชน
‘เงินเป็นสินน้ำใจ’ ที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ และคุณค่าของชาวบ้าน บางครั้งชาวบ้านเกิดความลังเลในการเลือกนักการเมือง เงินที่หัวคะแนนซื้อเพื่อให้เลือกนักการเมืองฝ่ายตนเป็นเสมือนมูลค่าแห่งความเคารพนับถือ, ‘เงินไม่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยตัวเอง’ เงินต้องอาศัยความศรัทธาต่อบุคคลของชาวบ้านร่วมด้วย ผู้ที่เป็นหัวคะแนนของนักการเมืองย่อมรู้อยู่แล้วว่า ชาวบ้านคนไหนมีท่าทีไม่เลือกนักการเมืองฝ่ายตน กลุ่มหัวคะแนนก็จะไม่แจกเงินบ้านนั้น เพราะถึงชาวบ้านจะรับเงินไป พวกเขาก็จะไม่เลือก และเป็นการเสียเงินเปล่า และ ‘เงินไม่ได้มีคุณค่าไปกว่าความสัมพันธ์ทางสังคมของเครือญาติ และพรรคพวกในชุมชน’ หลายครั้งเมื่อเครือญาติ หรือพรรคพวกมีแนวโน้มไม่ชอบนักการเมืองคนหนึ่ง แม้นักการเมืองคนนั้นจะให้เงินเพื่อเลือกตน บุคคลนั้นก็มีแนวโน้มที่จะไม่เลือกสูง หรือถ้าเครือญาติ และพรรคพวกชอบนักการเมืองคนไหน บางครั้งเงินอาจเป็นปัจจัยรองในการเลือกนักการเมืองคนนั้น ความเป็นกลุ่มก้อน (unitary) ของผู้คนในชนบทสามารถกำหนดความคิดให้ผู้คนไปทางเดียวกันได้ มากกว่าการให้เงินเพียงครั้งเดียว
อีกงานศึกษาที่กล่าวถึงการการเลือกตั้งในพื้นที่ชนบทไทย ของ Andrew Walker, Katherine Bowie, Yoshinori Nishizaki และ Danial Arghiros (2008) แสดงให้เห็นว่า แม้ผู้คนในชนบทไม่ได้ฉลาดเฉียบแหลม หรือจบการศึกษาระดับสูง แต่ผู้คนในชนบทมีวิธีคิดที่ตั้งอยู่กับหลักตรรกะเหตุผลที่ซับซ้อน และลุ่มลึก ต่างจากกลุ่มที่คิดว่า ตัวเองเป็นปัญญาชนยัดเยียดว่า พวกเขาไร้การศึกษา ไม่ฉลาดเทียบเท่าพวกตน นำอคติของตัวเองในการตัดสิน และอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น มองภาพคนชนบทว่าโง่ จน และถูกชักจูงได้ภายใต้อำนาจของเงิน ต่างจากตัวเองที่เข้าใจหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง มีวิจารณญาณทางการเมือง เป็นปัจเจกบุคคลที่ไม่คำนึงถึงความผูกพัน และสินบนใดๆ
Photo Credit: Thairath / Khaosod
ประชาธิปไตยชาวบ้าน ประชาธิปไตยคนเมือง
ผลการศึกษาส่วนหนึ่งแสดงให้เห็นว่า คนชนบทมีวิธีคิดที่ตั้งอยู่บนหลักตรรกะเหตุผล คือ ‘การทำงานของเงินยึดโยงด้วยสายสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับนักการเมือง’ พวกเขาค้นพบว่า การแจกเงินโดยไม่สร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง และแนบแน่น ทำให้นักการเมืองคนนั้นล้มเหลวในการเลือกตั้งได้ และการทำความเข้าใจการซื้อเสียงของคนพื้นที่ชนบท ต้องเข้าใจว่า ชาวบ้านมีรัฐธรรมนูญฉบับของตนเอง เสมือนรัฐธรรมนูญท้องถิ่น ที่เป็นกรอบกว้างๆ กำกับพฤติกรรมทางการเมืองสำหรับผู้คนในพื้นที่ชนบท ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญของประเทศที่เป็นลายลักษณ์อักษร
ตัวอย่างรัฐธรรมนูญท้องถิ่น เช่น ชาวบ้านมักเลือกผู้สมัครจากท้องถิ่นเดียวกันมากกว่าคนต่างถิ่น และคาดหวังให้ผู้สมัครเมื่อได้รับการคัดเลือกเป็น ส.ส. แล้ว จะสามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้จริง และเห็นเชิงประจักษ์ แม้จะไม่สามารถทำได้ครบทุกประการก็ตาม เป็นต้น ถ้าผู้สมัครได้รับตำแหน่งทางการเมืองแล้ว แต่สร้างความผิดหวังให้กับชาวบ้าน แน่นอนว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น ชาวบ้านก็จะมีแนวโน้มไม่เลือกซ้ำอีก แม้นักการเมืองจะให้เงินเพื่อซื้อเสียงก็ตาม
ภายใต้เงินตราที่ใช้ในการซื้อเสียง ชาวบ้านมีอำนาจ และสิทธิในการตัดสินใจเลือก ไม่ใช่การถูกครอบงำด้วยอำนาจของนักการเมืองเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากการนึกคิด และตรรกะเหตุผล เพียงแค่ประชาธิปไตยของชุมชนอาจแตกต่าง กับประชาธิปไตยตามที่คนเมืองเข้าใจกัน บางครั้งเงินอาจเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยให้อำนาจ และความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายไหลเวียน และบรรจบกันอย่างราบรื่น อย่าตัดสิน หรือมองว่า คนชนบทที่รับเงินเพื่อซื้อเสียงเป็นตัวร้ายที่ขัดขวางระบอบประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
อ้างอิง
ประจักษ์ ก้องกีรติ. 2552. “นิทานสอนใจว่าด้วยความโง่ จน เจ็บ ของผู้เลือกตั้งชนบท: มายาคติและอคติของนักรัฐศาสตร์ไทย” ฟ้าเดียวกัน 6(4): 140-155
ยุกติ มุกดาวิจิตร. 2555. “เงินไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้ง: มานุษยวิทยาการเมืองของการซื้อเสียง”. ในการเมืองของราษฎรไทยยุค (หลัง) ทักษิณ, ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 29-51