เมื่อมีงานสำคัญนักการเมืองชายระดับผู้นำประเทศ มักจะถูกรายงานในเรื่องที่เขาทำ เขาพูด ในขณะเดียวกันหากผู้นำประเทศเป็นผู้หญิงหรือนักการเมืองหญิง มักจะมาพร้อมข่าวที่ว่าเธอสวมใส่อะไร ถ้าเธอแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่หรูหรา ก็จะถูกตีตราไปอีกแบบ ในขณะเดียวกันถ้าเธอแต่งตัวไม่สวย ก็จะถูกกระแนะกระแหนเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันมีผู้หญิงที่เป็นหัวหน้ารัฐ และ/หรือรัฐบาลเพียง 26 คน ใน 24 ประเทศ และถือเป็นหัวหน้ารัฐเพียง 10 ประเทศ และหัวหน้ารัฐบาลเพียง 13 ประเทศ การจะเข้ามาเป็นนักการเมืองหญิงว่ายากแล้ว แต่เมื่อได้เป็นแล้วอาจจะยากกว่า เพราะไม่ใช่เพียงแค่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินจากการทำงานในฐานะ ‘ผู้นำหญิง’ เพียงเท่านั้น แต่ยังถูกจับจ้องในทุกเรื่องที่อาจไม่เกี่ยวกับการทำงานด้วย ตั้งแต่เรื่องแฟชั่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ไปจนถึงแว่นตา
เมื่อการแต่งกายคือเครื่องมือทางการเมือง
เวลาเรากล่าวถึงเรื่องแฟชั่นและนักการเมืองหญิง ชื่อและตัวอย่างคลาสสิกที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาตลอดเวลาเลยก็คือ มาร์กาเร็ธ แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ หากใครได้ดูหนัง The Iron Lady ก็จะเห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองของมาร์กาเร็ธ แทตเชอร์ เริ่มต้นตั้งแต่วันแรกที่เธอเข้ารักตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งการเปลี่ยนเสียงพูดให้ทุ่มต่ำลง การเปลี่ยนทรงผมใหม่ และแน่นอนชุดสูทกระโปรงที่กลายเป็นตำนานและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับวงการแฟชั่นต่อมาจนถึงปัจจุบัน กับเสื้อสูทไหล่ตั้งเสริมฟองน้ำที่ทำให้ดูทรงพลัง (ที่เรียกว่า power suit) และกระโปรงทรงบ็อกซี่ที่ดูเป็นทางการ ในลุคบิสซิเนสวูแมน แต่มาพร้อมความขัดแย้งของเสื้อเชิ้ตผูกโบว์ที่คอ (ที่เรียกว่า pussy bow) และสร้อยคอมุกเพื่อสื่อสารว่านี่ไม่ใช่เพียงแค่คนมาปิดดีล (จากลุค Business) แต่เป็นผู้หญิงมาปิดดีล (จากการคอนทราสต์ด้วยลุคเฟมินีน)
รวมไปถึงชุดสูทสีน้ำเงินที่ทำให้เธอโดดเด่นและแตกต่างจากกนักการเมืองชายล้วนในวันเข้ารับตำแหน่งอีกด้วย
ชุดสูทสีน้ำเงินกลายเป็นสัญลักษณ์ของนักการเมืองหญิงอีกหลายคนในเวลาต่อมา ทั้งฮิลลารี คลินตัน, พอร์เทีย ซิมป์สัน-มิลลเลอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีจาไมก้า หรือเฮเลน คลาร์ก อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ หรือแม้แต่การพยายามฉีดตัวเองให้โดดเด่นด้วยโทนสีที่แตกต่างจากบรรดาสีของชุดสูทของนักการเมืองชาย อย่างแทนซู ซิลเลอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของตุรกี กับชุดสูทสีส้ม ท่ามกลางนักการเมืองชายในสูทสีดำและสีเทาเข้ม หรืออู๋ อี่ อดีตรองนายกประเทศจีน ที่ใส่ชุดสีน้ำเงินในการถ่ายรูปหมู่ร่วมกับนักการเมืองชายนานาประเทศที่มากในสูทสีดำทั้งหมด
ไม่เพียงแค่การเอาความเป็นผู้หญิงผ่านเสื้อผ้าไปต่อสู่กับโลกของชายเป็นใหญ่ในโลกของการเมืองเท่านั้น บางครั้งผู้นำหญิงยังต้องแบกความเป็นชาติ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ออกไปต่อสู้ผ่านเครื่องแต่งกายอีกด้วย โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า ‘การเมืองส่าหรี’ กับบรรดานักการหญิงจากอินเดีย ปากีสถาน เหมือนดังเช่น คาเลด้า เซีย อดีตนายกรัฐมนตรีบังคลาเทศที่เดินตรวจแถวทหารในพิธีสวนสนามในชุดส่าหรีสีขาวท่ามกลางผู้ชายในชุดทหารเต็มยศ
รวมไปถึงบรรดานักการเมืองหญิงที่มาพร้อมชุดประจำชาติ หรือชุดท้องถิ่น โดยเฉพาะนักการเมืองหญิงจากแอฟริกาอย่างเช่น เอเลน จอห์นสัน เซอร์รีฟ อดีตประธานาธิบดีประเทศลิเบีย หรือนักการเมืองหญิงจากลาตินเอมริกา ซึ่งมันคือเวทีการเมืองระดับโลกที่หญิงเหล่านี้ยืนหยัดถึงความเป็นชาติที่มีเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของตนเองที่สามารถปรากฏโฉมและมีความทัดเทียม บนเวทีที่มีความเป็นสากลที่เต็มไปด้วยชายหญิงใส่ชุดสูทแบบเป็นทางการได้
นักการเมืองหญิงกับแฟชั่นและแบรนด์เนม
ด้วยคุณค่าอุดมคติชุดเก่า ทำให้อะไรก็ตามที่มีความเป็นทางการ ต้องการความจริงจังขึงขัง มักจะถูกกีดกันออกจากสิ่งที่ถูกตีตราว่าไร้สาระ แฟชั่นในยุคหนึ่งก็เช่นเดียวกัน อย่างที่แอนนา วินทัวร์ เคยเล่าไว้ในสารคดี In Vogue : The Editor’s Eye ว่าช่วงยุค 80s แบรนด์เนมต่างๆ ต่างต้องการดาราฮอลลีวู้ดสวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมหรูหราปรากฏกายตามงานต่างๆ แต่ดาราฮอลลีวู้ดมักจะคิดว่าการเป็น ‘นักแสดงมืออาชีพ’ จะต้องไม่มีภาพลักษณ์เช่นนั้น เมื่อไม่สามารถหาดารามาทำหน้าที่ตรงนั้นได้ หวยจึงมาตกที่นางแบบของยุค ไม่ว่าจะเป็นนาโอมิ แคมป์เบล ลินดา อิวานเจลิสต้า คริสตี้ เทอลิงตัน สามนางแบบตัวท็อปแห่งยุคจนกลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ซูเปอร์โมเดล’ จนถึงทุกวันนี้
ความคิดเช่นนี้ก็ปรากฏในแวดวงการเมืองก็เช่นเดียวกัน
อันที่จริงแม้แต่มากาเร็ธ แทตเชอร์ เองก็ใช้แบรนด์เนมเกือบทั้งตั้ว ชุดสูทสีน้ำเงินตัวนั้นก็มาจากแบรนด์เก่าแก่ของอังกฤษ Aquascutum กระเป๋าใบเก่งจากแบรนด์ Launer นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ Salvatore Ferragamo อีกด้วย ทั้งกระเป๋าและรองเท้า แต่มากาเร็ธ แทตเชอร์ อาจจะไม่ถูกครหาในเรื่องนี้มากเท่าไร เพราะสิ่งที่เธอเลือกสวมใส่แม้จะเป็นแบรนด์เนม แต่มันไม่ได้ฉูดฉาดประกาศตัวเห็นควมเป็นแบรนด์อย่างชัดเจนมากนัก
Photo credit: CITYA.M., British Vogue
ซึ่งแตกต่างกันกับนักการเมืองหญิงอีกคน คือเมเดอลีน อัลไบรต์ ที่มักจะมาพร้อมชุดสูทสีสดสวยหรูจากแบรนด์ St. John และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ในการแต่งตัวของเธอที่ไม่เหมือนนักการเมืองหญิงคนไหนก็คือบรรดาเครื่องประดับที่เธอโหมประโคมมาทั้งตัว ทั้งเข็มกลัดซึ่งเป็นเหมือนสิ่งแทนตัวเธอ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล แหวน และส่วนมากมักจะเป็นเฉดสีทอง ซึ่งยิ่งทำให้ดูเตะตามากขึ้น และกลายเป็นที่พูดถึงอย่างมาก แต่เข็มกลัดทุกอันที่เธอเลือกสวมใส่นั้นเต็มไปด้วยการสื่อความหมายในวาระนั้นๆ เช่นเดียวกันกับเข็มกลัดรูปผึ้งที่เธอกลัดไว้บนเสื้อในวันที่พบกับผู้นำปาเลสไตน์ ยัสเซอร์ อาราฟัต ก็มีความหมายซึ่งเธอเล่าในภายหลังว่าเธออยากจะต่อยเบาๆ เหมือนผึ้งเพื่อเป็นการส่ง ‘สัญญาณ’ บางอย่างให้ ยัสเซอร์ อาราฟัต
และเมื่อเธอถูกถามมากๆ เข้าเรื่องการเป็นนักการเมืองแต่แต่งตัวเยอะแยะราวกับแฟชั่นเลิฟเวอร์ เธอก็ตอกกลับไปว่า “แค่เพราะว่าเราใส่ต่างหู ไม่ได้หมายความว่าเราคิดอะไรไม่ได้นะ”
ประเด็นคล้ายกันนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยเช่นเดียวกัน กับอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวของประเทศไทย ที่ออกตรวจปัญหาน้ำท่วมโดยสวมใส่รองเท้าบู๊ตลายตารางยี่ห้อ Burberry ที่กลายมาเป็นมีมและที่การวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียอย่างหนัก ว่าเธอกำลังจะไปช่วยเหลืองประชาชนจากภัยน้ำท่วม หรือไปเดินแฟชั่นวีคกันแน่ หรือแม้กระทั่งในวันเข้าทำงานที่สภาวันแรกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นักการเมืองหญิงอย่าง พรรณิการ์ วานิช มาพร้อมชุดไล่สีโทนขาวดำของแบรนด์ Poem จนเกิดเป็นดราม่า หรือมาดามเดียร์ ที่มักปรากฏกายพร้อมกระเป๋าแอร์เมส หรือการถูกถามว่าทาลิปสติกสีอะไร ยี่ห้อไหน
ซึ่งกลายเป็นว่านักการเมืองหญิงถูกรายงานว่าเป็น ‘สีสัน’ ซึ่งถูกนำไปใช้ทั้งทางบวกและทางลบ แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งนี้มักเกิดขึ้นกับนักการเมืองหญิงมากกว่า โดยที่นักการเมืองชายก็จะไม่ถูกถามหรือเป็นข่าวว่าใส่สูท รองเท้า เนคไท ยี่ห้ออะไร
อีกหนึ่งคนที่น่าจับตามองไม่แพ้กันเห็นจะเป็นใครไปไม่ได้กับแคนดิเดทนายกฯ จากทางฝั่งพรรคเพื่อไทย แพรทองธาร ชินวัตร ที่สไตล์การแต่งตัวของเธอนั้น เต็มไปด้วยความฉูดฉาดและสไตล์ที่ชัดเจน แต่ในช่วงหลังมากนี้โดยเฉพาะช่วงที่ก่อนจะทีการประกาศเป็นตัวแทนจากทางพรรคฯ เธอได้ปรับลุคให้ดูภูมิฐานและคลาสสิกมากยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามเลือกตั้ง
จากเสื้อผ้าสู่ถุงผ้า เมื่อมุมมองต่อผู้หญิงกับการเมืองเปลี่ยนไป
ในบรรดานักกการเมืองที่ถูกยกเอาเรื่องแฟชั่นการแต่งกายมาเป็นหัวข้อในการวิพากษ์วิจารณ์ (ทั้งดีและลบ) หนึ่งในนั้นก็คือ อังเกลา แมร์เกิล อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 18 ปี โดยคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ดีไซเนอร์ชื่อดังผู้ล่วงลับเคยกล่าวถึงแมร์เกิล ไว้ว่า
“เธอน่าจะใส่ผ้าสีสันน้อยลงหน่อย และหาคนที่ตัดเย็บกางเกงของเธอให้ดีกว่านี้ เพราะกางเกงที่เธอใส่ดูตัดเย็บไม่ค่อยดี”
นั่นเป็นเพราะอังเกลา แมร์เกิล มักสวมใส่ชุดสูทสองชิ้น บางครั้งเสื้อกับกางเกงก็สีเดียวกัน บางครั้งเสื้อจะเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ (แดง เขียวอ่อน ส้มอ่อน ม่วง) แต่กางเกงเป็นกางเกงสีดำตัวเดิม และส่วนมากรองเท้าก็จะเป็นคู่เดิม
แต่แน่นอนว่าแมร์เคิล โนสนโนแคร์ในเรื่องการแต่งกายของเธอ เธอปรากฏกายในลุคเดียวกันนี้ทั้งในการทำงานในประเทศ และในการพบผู้นำทุกประเทศในต่างประเทศตลอด 18 ปี ในการทำงานของเธอ เรื่องที่ทำให้เธอเป็นที่สนใจในโซเชียลมีเดีย กลับไม่ใช่เรื่องการแต่งกาย แต่เป็นเรื่องการใช้ชีวิตอันแสดธรรมดาของเธอ แม้ว่าตนเองจะเป็นผู้นำประเทศ ทั้งการไปซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อของมาทำกับข้าวเอง ต่อคิวเพื่อจ่ายเงินเหมือนกับประชาชนคนธรรมดา ทำงานบ้านเอง อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์เดิมตั้งแต่ก่อนที่เธอจะได้เป็นนายกฯ
เช่นเดียวกันกับนายกฯ หญิงแห่งนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น ที่คนมักกล่าวถึงเธอในเรื่องการทำงานการแก้ปัญหาต่างๆ ในฐานะนายกรัฐมนตรีมากกว่าเรื่องการแต่งตัวของเธอ ที่มาในลุคที่เรียบง่ายกึ่งทางการ หากจะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายที่มีคนพูดถึงจาซินดา อาร์เดิร์น ก็คงจะเป็นเรื่องกระเป๋าผ้าที่เธอมักถือไปไหนต่อไหนด้วย หรือหากงานที่เป็นทางการหน่อย อย่างการไปพบผู้นำประเทศต่างๆ เธอก็จะใช้กระเป๋าหนังขนาดใหญ่ที่เห็นได้ทุกงาน ทุกปี ใบเดิม ไม่เปลี่ยน
Photo credit: nzherald
จะเห็นได้ว่ามุมมองเรื่องผู้หญิงในการเมืองเริ่มจะเปลี่ยนมาสู่การงาน หรือสิ่งที่พวกเธอทำ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นใหม่มากกว่าจะโฟกัสไปที่พวกเธอแต่งกายอย่างไร ใส่แบรนด์อะไร ดูดีไหม เหมือนที่ผ่านๆ มา เช่นเดียวกันกับที่ผู้หญิงในการเมืองก็ไม่จำเป็นต้องแสดงออกเป็นสัญญะผ่านทางเสื้อผ้าการแต่งกายอีกต่อไป แต่การกระทำนั่นแหละที่จะสามารถบ่งบอกได้ดีและตรงไปตรงมาที่สุด