Culture

Food (In)security: เมื่อภาครัฐ ทุนนิยม และอาหาร กลายเป็นกลไกที่ล้อกันไปสู่วันที่ ‘ไม่มั่นคง’

‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ คำอธิบายประเทศไทยที่ใครหลายๆ คนน่าจะเคยได้ยิน ถึงกิตติศัพท์ความเฟื่องฟูของผลผลิต และวิถีชีวิตเชิงเกษตรกรรมของคนไทย แต่ใครจะรู้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปประเทศเกษตรกรรมแห่งนี้ กลับค่อยๆ เดินถอยหลังสู่ความตกต่ำของภาคการเกษตร ซึ่งผลส่วนหนึ่งก็มาจากความเกี่ยวพันที่ซับซ้อนของนโยบายจากภาครัฐ และระบบทุนนิยม

ความถดถอยของระบบเกษตรกรรมไทยนั้นส่งผลต่อสภาวะ ’ความมั่นคงทางอาหาร‘ รวมไปถึงปัญหาการทำเกษตรกรรมแบบ Over Production ที่ทำให้ ‘ความหลากหลายทางชีวภาพของอาหาร’ ค่อยๆ ตายไป เราเลยอยากชวนทุกคนมาคุยกันถึง การเมือง และเรื่องปากท้อง ผ่านมุมมองของ ‘วัตถุดิบอาหาร’

Photo Credit: Earth.Org

‘ความมั่นคงด้านอาหาร’ ไม่ใช่คำศัพท์ใหม่ แต่เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงปี 1970 เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางอาหาร ซึ่งความมั่นคงทางอาหารหมายถึง ‘สภาวะที่คนทุกคน ในทุกขณะเวลาสามารถเข้าถึงทรัพยากรอาหารได้อย่างเพียงพอ มีประโยชน์ และปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในสังคม‘ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า การมีผลผลิตทางด้านอาหารที่ ‘มากเกิน‘ จะนับว่าเป็นความมั่นคง เพราะสุดท้ายแล้วการผลิตบางสิ่งบางอย่างมากเกินไป แม้จะดูเหมือนว่าเป็นเรื่องดีในตอนแรก แต่สุดท้ายมันจะกลายเป็นต้นตอของปัญหาที่ไม่รู้จบทั้งขยะอาหาร, ความไม่สมดุลของกลไกทางการตลาด และมันไม่ได้การันตีว่า คนในสังคมจะสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้จริงๆ

Photo Credit: ALL BIO

เมื่อนโยบายเอื้อให้เกิด ‘Mass Production’

ถ้าอย่างนั้นเราอาจจะต้องย้อนกลับมาดูให้ลึกขึ้น ถึงกลุ่มที่คนมองว่าเป็นผู้แก้ไขปัญหาอย่างภาครัฐ ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะกลายเป็นต้นทางของความไม่มั่นคงทางอาหารในครั้งนี้ หากลองสังเกตให้ดี นโยบายทางเศรษฐกิจ และการเกษตรของภาครัฐ จำนวนหนึ่ง มักจะถูกทำให้สอดคล้องไปกับระบอบ ‘ทุนนิยม’ และนั่นคือสิ่งที่กระตุ้นให้เกิด ‘Mass Production’

นโยบายหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นนโยบายสนับสนุน ’พืชเศรษฐกิจ’ และ ’สินค้าการเกษตรเพื่อการส่งออก’

ซึ่งนโยบายสนับสนุนสินค้าการเกษตรที่เป็นพืชเศรษฐกิจ และสินค้าส่งออกนั้น ทำให้ชาวบ้านร้านตลาดต่างพากันปลูกพืชที่ได้รับการสนับสนุนตามนโยบายของภาครัฐ ท้ายที่สุดแล้วพืชเหล่านั้นก็จะมีมากเกินความต้องการของตลาด นำไปสู่ราคาที่ค่อยๆ ตกต่ำลงเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะ นโยบายเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการตามระบอบทุนนิยม มากกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นไปตามสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีการสนับสนุนให้ ‘ฟ้าทะลายโจร’ เป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันในเกษตรกรหันไปปลูกฟ้าทะลายโจรเพื่อผลิตสินค้ากลุ่มยาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งก็เป็นการกระทำเพื่อตอบสนอง ‘ตลาด’ นั่นเอง

ข่าวเงินสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
Photo Credit: กรุงเทพธุรกิจ

อีกหนึ่งนโยบายที่รัฐให้การสนับสนุนเกษตรกรคือ ‘เงินสนับสนุน’ ซึ่งนโยบายนี้อาจดูเหมือนเป็นการอัดฉีดเกษตรกรให้มีรายได้ และสามารถใช้ชีวิตต่อไป แต่จริงๆ แล้วนี่คือการค่อยๆ ขุดหลุมฝังชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยลงไปช้าๆ เพราะท้ายที่สุด การสนับสนุนให้ชาวบ้าน ‘ปลูกได้’ ไม่ได้การันตีว่าชาวบ้านจะ ‘ขายได้’ ท้ายที่สุดมันก็จะเป็นวงจรสนับสนุนให้เกษตรกรรายใหญ่ที่มีพื้นที่มาก ผลิตได้มาก ได้รับเงินสนับสนุนมาก อีกทั้งเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกพืชไม่ได้มาตรฐาน เพราะไม่มีเงินทุนในการควบคุมคุณภาพการเพาะปลูก ก็จะขายสินค้าไม่ได้ราคา และหันหน้าหาสินค้าที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพการเพาะปลูกจากกลุ่มนายทุน

เมื่อบนยอดพีระมิดของความหลากหลายกลายเป็น ‘นายทุน’

สินค้าการเกษตรที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่เหล่าเกษตรกรต้องเผชิญ เพราะอีกหนึ่งสิ่งที่การปลูกพืชพันธุ์ตามระบอบทุนนิยมทำให้เกิดขึ้นคือ ปัญหาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ

Photo Credit: เกษตรสัญจร

เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันก่อนเลย หากเรามองอาหารการกินที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ เราจะเห็นวัตถุดิบหน้าตาเดิมๆ พืชผักที่เป็นองค์ประกอบในจานอาหารก็คงหนีไม่พ้น ผักชี แตงกวา คะน้า มะเขือเทศ สิ่งที่เราเจออยู่ซ้ำๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือ พืชผักที่เหล่านายทุนผลิตเมล็ดพันธุ์ออกมาขาย และกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ ผักสวนครัวเหล่านี้หาง่าย ปลูกง่าย (เพราะการปรับปรุงสายพันธุ์) และมันกลายเป็นตัวกำหนดความหลากหลายของวัตถุดิบอาหาร ซึ่งระบบเศรษฐกิจในบ้านเราเองก็เอื้อให้เหล่าผู้ผลิตทำแบบนั้น

มากไปกว่านั้นเมื่อการปลูกพืชแบบ Mass Production แพร่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ที่สามารถทำการเกษตรได้ มันก็ทำให้พืชท้องถิ่น และวิถีทางการเกษตรในแบบที่เคยเป็นมาจากอดีตค่อยๆ หายไป เพื่อตอบสนองตลาดที่มีเหล่านายทุนนั่งอยู่บนยอดพีระมิด พืชที่เคยหลากหลายจากการหมุนเวียนปลูกตามฤดูกาลของแต่ละท้องที่ ถูกแทนด้วยพืชที่(ถูกทำให้)เป็นสินค้าตลาด ปลูกที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ กลืนกินความหลากหลายของพืชพันธุ์ไปทีละน้อย

Photo Credit: Greenpeace

เมื่อรายย่อยทยอยหายไป และรายใหญ่กำลัง ‘ผูกขาด’

ไม่เพียงแต่เกษตรกรที่ปลูกพืชผักเท่านั้นที่เผชิญปัญหามากมาย เพราะในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ต่างๆ ณ ปัจจุบัน เหล่าผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีเพียงไม่กี่เจ้า ก็กลายเป็นกลุ่มที่ผูกขาดตลาด และครองส่วนแบ่งทางการตลาดไปเกือบจะทั้งหมด เนื่องจากภาครัฐไม่มีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย และแก้ปัญหาการผูกขาดตลาด

ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ปีกต้องเผชิญกับปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการผลิตเนื้อไก่ และไข่ไก่ ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่เริ่มเข้ามาครองตลาด เนื่องจากมีเงินทุนที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ในขณะที่เกษตรกรรายเล็กๆ ค่อยๆ หายไปจากตลาด เช่นเดียวกับในวันที่โรคระบาดในหมูแพร่กระจายจนทำให้เกษตรกรผู้ผลิตเนื้อหมูต้องทยอยปิดตัวไป ส่งให้นายทุนรายใหญ่มีพื้นที่ในตลาดเพิ่มขึ้น

จากที่ยกตัวอย่างมา บางคนอาจจะมองว่าประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคงทางอาหาร แต่เราอยากให้ลองมองว่า ในวันนี้เราอาจจะยังเข้าถึงเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้ง่าย และมีการควบคุมราคา แต่ถ้าหากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ถูกผูกขาดโดยผู้ผลิตไม่กี่รายในวันที่เกิดวิกฤตอาหาร อำนาจในการควบคุมราคาจะอยู่ในมือของคนแค่จำนวนหนึ่งเท่านั้น และเมื่อถึงวันนั้น ทุกคนจะสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ได้อย่างทั่วถึงจริงหรือไม่ (ซึ่งจริงๆ ทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงอาหารได้อย่างทั่วถึง)

Photo Credit: Citigroup

ท้ายที่สุดแล้วนี่คือเรื่องการเมืองที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของเราโดยตรง บางคนอาจจะมองข้ามประเด็นนี้ไป เพราะเราคือผู้บริโภคลำดับท้ายสุดของวงจรนี้ แต่หากมองไปถึงความไม่มั่นคง และปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าการเกษตรทั้งหลาย เราอาจกำลังค่อยๆ ก้าวถอยหลังสู่วิกฤต และนี่คือหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ใช่แค่อัดฉีดเงินสนับสนุน แต่ต้องควบคุมคุณภาพสินค้า ความหลากหลายของสินค้า และสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ภายใต้ระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ผลิตได้แต่ขายไม่ได้, ผลิตมากจนเกินความต้องการจนขายไม่ได้ราคา, ผลิตสินค้าซ้ำๆ ตามความต้องการของระบอบทุนนิยม จนความหลากหลายของสินค้าหายไป

ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่การเมืองที่สัญญากับเราว่า จะสร้างความมั่นคงในชีวิตให้เรา กำลังจูงมือเราไปเจอกับความไม่มั่นคงในสักวันหนึ่ง นี่คือปัญหาที่ขมวดเป็นปมเละเทะมาอย่างยาวนานในสังคมไทย และเป็นปัญหาที่รอวันสางปมนี้ให้ได้ในสักวัน

อ้างอิง

The 101

Thaipublica

The Active

The Active

กรุงเทพธุรกิจ

ประชาไทย

สยามรัฐ

ไทยรัฐ