Poor Things: ชนชั้นสังคม, การตื่นตัวทางเพศของผู้หญิง และ Mental health
“เราต้องเจอกับโลกในทุกแง่มุม ไม่ใช่แค่ในแง่ดี แต่ในความตกต่ำ ความน่ากลัว ความโศกเศร้า สิ่งเหล่านั้นมันทำให้เราคือเรา ทำให้พวกเราเป็นคนที่มีคุณค่า ไม่ใช่เด็กตาดำๆ มันจะทำให้เรารู้ทันโลก และเมื่อเรารู้ทันโลก โลกมันจะเป็นของเรา”
คำพูดของตัวละคร Swiney (Kathryn Hunter) เจ้าของซ่องพูดไว้ในภาพยนตร์ที่กระแสมาแรงมากอย่างเรื่อง Poor Things ที่เข้าชิง และได้รับรางวัลมากมายจากเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก โดยภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานเรื่องล่าสุดจากผู้กำกับ Yorgos Lanthimos ที่หลายคนอาจจะรู้จักจาก The Favorite (2018), The Lobster (2015) และอื่นๆ ที่ต่างก็เป็นหนังการันตีงานคราฟท์ด้านการกำกับที่มีสไตล์ และมีความหลากหลายในเวลาเดียวกัน จะสังเกตได้จากงานที่ผ่านมาของเขาจะมีการเล่าเรื่องหรือสถานการณ์ ช่วงเวลา วิธีการเล่าที่แตกต่างกันออกไป แต่ถ้าใครที่รักในการชมภาพยนตร์ก็อาจจะมองออกถึงรายละเอียดเล็กๆ ที่เหมือนกันของงานผู้กำกับคนนี้ และ Poor Things ก็ยังรักษาเสน่ห์ตรงนั้นไว้ได้อย่างดี
Poor Things เล่าเรื่องของ Bella (Emma Stone) หญิงสาวที่มีท่าทาง การพูด การเดิน และการเรียนรู้ที่ไม่ปกติ กับเจ้าของบ้านที่มีชื่อว่าพระเจ้า Godwin (Williem Dafoe) ก่อนที่ Bella จะต้องออกเดินทางเผชิญโลกกว้างอันแสนประหลาด และต้องเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับเซ็กส์ มนุษย์ และสังคมด้วยตัวเธอเอง
Poor things นำเสนอเรื่องหลักอยู่ 3 เรื่องนั่นคือ Mental Health, ความเป็นผู้หญิง, ความเพิกเฉยของชนชั้นในสังคม เลยขอแตกประเด็นออกมาดังนี้ (อาจจะมีสปอยล์นะจ๊ะ)
ความไม่ปกติ ที่ปกติ
หนึ่งในสิ่งที่ Poor things เป็นที่พูดถึงคือการที่หนังพูดถึงเรื่องสุขภาพจิต แต่ถึงแม้ตัว Bella จะเป็นที่จับตามองด้วยอาการความ “ผิดปกติ” ที่เธอมี หรือหลายคนมองว่าตัวละครของเธอมีการแฝงความเป็นออทิสติกเอาไว้ (Autistic Codded) ที่อาจจะจริงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ที่รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยที่ตอนต้นเรื่องอาการของ Bella จะชวนให้ผู้ชมมาหัวเราะกับท่าทาง และการพูดของเธอ เพราะเธอดู “ประหลาด” ในสายตาของตัวละครอื่น และในสายตาของผู้ชมเองด้วย แต่ในช่วงท้ายเรื่องมันคือการกระทำ และแนวคิดของ Bella ที่ชวนให้ผู้ชมมาหัวเราะร่วมกันไปกับเธอ ซึ่งสามารถเทียบได้กับกลุ่มผู้ที่มีอาการ ออทิสติก ที่มักจะถูกหัวเราะเยาะเวลาพวกเขาแสดงอาการที่สังคมมองว่า “ไม่ปกติ” แต่เมื่อพวกเขาโชว์ให้เห็นถึงความเก่ง หรือความสามารถที่แค่เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป ก็จะมีเสียงปรบมือให้เหมือนพวกเขาเป็นเด็กเพิ่งหัดเดิน ตรงกับ Bella ที่ถูกนำสมองของเด็กเข้ามาใส่ในหัวของเธอ
แต่นั่นก็เป็นหนึ่งในการตีความที่ถือว่าน่าสนใจ แต่การนำเสนอด้าน Mental Health ไม่ได้จบแค่ตัวของ Bella แต่กับตัวละครอื่นด้วย อย่างตัวพระเจ้า (Godwin) ที่ตามชื่อมีอาการเห็นตัวเองว่าเป็นพระเจ้า (God Complex) เป็นเจ้าของบ้านก็มีธีมของการเล่นเป็นพระเจ้า นำสัตว์ และมนุษย์มาดัดแปลง อ้างอิงว่าเพื่อการศึกษาทำให้เขาถือตัวเองอยู่สูงกว่าคนอื่น ตัวละคร Duncan (Mark Ruffalo) เองแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า Narcissist หรือการเป็นคนหลงตัวเอง และมีแนวคิดเชิงชายเป็นใหญ่อยู่ด้วย
การเป็นผู้หญิงในสังคมที่ล้มเหลวต่อผู้หญิง
นอกจากเรื่อง Mental Health แล้วตัวละครของ Bella เองยังสามารถเทียบได้กับการเติบโตของผู้หญิงในโลกที่ไม่อำนวยต่อเพศของเธอ การถูกมองว่าเป็นสิ่งของที่จะทำอะไร หรือจะนำชีวิตเธอไปอย่างไรในทิศทางไหนก็ได้จากตัวละครชายแทบจะทุกคนในเรื่อง แต่ที่เด่นชัดที่สุดคือการที่ตัวละครของ Bella ค้นพบความรู้สึกทางเพศของตัวเอง และไม่กลัวที่จะพูดถึงมัน ทำให้เกิดการปฏิกิริยาจากตัวละครชายที่ต่างกันออกไป ชายหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ที่ไม่ควรพูดถึง อีกชายมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องฉวยโอกาสไว้เพื่อประโยชน์ กับความสุขของตัวเอง และสังคมมองว่าผู้หญิงพูดถึงเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย ทั้งที่ตัว Bella เองไม่เคยคิดแม้แต่นิดเดียวว่ามันเป็นเรื่องน่าปิดบัง หนำซ้ำยิ่งนานเข้า Bella ยิ่งเรียนรู้ว่ามันไม่ใช่ความผิดของเธอที่เธอมองเซ็กส์ในเชิงบวก แต่มันคือสังคมต่างหากที่ตีสองหน้า รักการมีเซ็กส์เหมือนเธอ แต่ไม่มีใครกล้าพูดถึงมัน
การทำงานของชนชั้น และความเพิกเฉยทางสังคม
อีกหนึ่งธีมสำคัญของ Poor Things คือการพูดถึงชนชั้นในสังคม ในขณะที่ Bella จะถูก “เลี้ยง” ในบ้านที่มีเงินทอง ทุกอย่างสะดวกสบายโดยไม่ต้องมีเรื่องให้กังวล แม้แต่ตอนที่เธอออกไปเจอโลก เธอก็ออกไปกับชายที่มีฐานะทางการเงิน และสังคมที่ดี จนกระทั่งการเดินทางของเธอนำไปสู่การพบเห็นความยากลำบากทั้งสำหรับตัวเอง และคนอื่น การเห็นความเพิกเฉยของสังคมต่อผู้ที่ด่อยกว่า ที่เป็นเหมือนกันจุดเปลี่ยน (Breaking point) ของตัว Bella รวมถึงการที่เธอใช้ร่างกายของเธอ และความรักในเซ็กส์ของเธอเพื่อเอาตัวรอดยามลำบาก แต่กลับถูกมองว่าเธอเอาศักดิ์ศรีไปแลกเงิน แม้แต่ตัว Duncan เองที่รักในเซ็กส์กับตัว Bella ก็มองเธอในภาพที่ไม่ดี
“ชีวิตเลียนแบบงานศิลป์ มากกว่างานศิลป์เรียนแบบชีวิตซะอีก”
“Life imitates art far more than art imitates life”
- Oscar Wilde, The Decay of Lying
นี่เป็นแค่ส่วนหลักๆ 3 ส่วนของสิ่งที่ Poor Things พูดถึงในภาพยนตร์ แต่ตัวหนังเองยังมีรายละเอียดอีกมากที่เราไม่ได้พูดถึงทั้งอีกมาก ทั้งการพัฒนาแนวคิดของสังคมในกลุ่มผู้ที่ถูกกดขี่ ความลื่นไหลทางเพศ รูปแบบความสัมพันธ์และผลกระทบต่อคนในกลุ่มนั้นๆ ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็สามารถดึงเอาแนวคิดบางอย่างออกมาจากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับมันหรือไม่ก็ตาม