Culture

‘Precious Plastic Bangkok’ คอมมูนิตี้ที่บอกว่า ‘พลาสติกมีค่า’ แต่อย่าเพิ่มปริมาณขยะดีกว่า เพื่อโลกของเราทุกคน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรามองเห็นความพยายามของหลายภาคส่วนที่จะร่วมด้วยช่วยกันแก้ไข ‘ปัญหาขยะ’ ที่กำลังจะสร้างปัญหาให้กับคนในสังคมมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่การรณรงค์ลด - ละ - เลิก การใช้พลาสติก Single-use และหันมาใช้ ‘ถุงผ้า’ หรือการงดแจกถุงพลาสติกในซูเปอร์มาร์เก็ต และขอร้องให้ผู้บริโภค ‘พกถุงผ้า’ มาใส่สินค้าของตัวเอง

แม้จะมองเห็นคนมากมายเริ่มตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนมากขึ้น และหันมาใส่ใจดูแลโลกใบนี้มากแค่ไหน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงื่อนไขชีวิตและความจำเป็นที่จะต้องใช้พลาสติกของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป ดังนั้นการใช้ชีวิตให้ปลอดขยะคงเป็นเรื่องยากสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่จำเป็นมากกว่าคงเป็นคำถามที่ว่า ‘แล้วเราจะจัดการขยะพลาสติกอย่างไร’ และ Precious Plastic Bangkok มีคำตอบให้กับคำถามนั้น

จุดเริ่มต้นจากชายหนุ่มชาวดัตช์

“Precious Plastic เริ่มต้นจาก Dave Hakkens (เดฟ ฮักเกนส์)​ ในปี 2013 เขาเป็นคนเนเธอร์แลนด์ แล้วก็กำลังเรียนปริญญาตรีเกี่ยวกับการออกแบบและวิศวกรรม ซึ่งพอถึงตอนที่ต้องทำโปรเจกต์จบ เขาก็สนใจปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นบนโลก เขาก็เลยออกแบบเครื่องจักรที่สามารถนำพลาสติกเก่ามารีไซเคิล (Recycle) อัพไซเคิล (Upcycle) ให้กลายเป็นชิ้นงานใหม่ๆ ซึ่งมีทั้งหมดด้วยกัน 4 เครื่อง” คุณม็อบ Community Manager แห่ง Precious Plastic Bangkok เริ่มต้นเล่า

พิมพ์เขียว (Blueprint) ของเครื่องรีไซเคิลทั้ง 4 แบบที่เดฟได้ออกแบบ ถูกอัพโหลดลงบนอินเทอร์เน็ต เพื่อให้คนที่สนใจสามารถเข้ามาดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรีๆ พร้อมกับมีวิดีโออธิบายขั้นตอนการผลิตเจ้าเครื่องจักรเหล่านี้อย่างละเอียด

“ปัญหาหลักของขยะพลาสติกคือมนุษย์บนโลกใช้มันเยอะเกินไป ใช้อย่างฟุ่มเฟือย คือพลาสติกมีข้อดีนั่นคือมันทนทานมากๆ แต่ก็เป็นข้อเสียของพวกเราที่เป็นคนใช้ และเมื่อพลาสติกทนทานมากๆ มันก็เลยไม่ย่อยสลาย หรือใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย ดังนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดคือการ ลด ละ เลิก การใช้พลาสติก หรืออะไรที่ลด ละ เลิก ไม่ได้ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล อัพไซเคิล”

พลาสติกที่มีค่า

“การรีไซเคิลก็คือสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันอยู่แล้ว นั่นคือการเอาพลาสติกที่ใช้แล้ว เอาไปส่งหรือขาย เพื่อให้เขานำไปใช้กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งบางครั้งก็เป็นแค่การเอากลับมาใช้ใหม่เฉยๆ ในขณะที่อัพไซเคิล หรือการทำให้พลาสติกเกิดการหมุนเวียนวงจร จากนั้นก็นำไปเพิ่มมูลค่า ซึ่งตัวเครื่องจักรที่เราทำ ทำให้คนทั่วไปสามารถเอาขยะพลาสติกมาใช้กับเครื่องเหล่านี้ นำมาบด แล้วก็ขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อขายหรือใช้สอยในครัวเรือนเองได้”

เพราะพลาสติกถูกมองว่าเป็นขยะที่ไม่มีมูลค่า เช่นเดียวกับเป็นขยะที่ใช้เวลาย่อยสลายนาน Precious Plastic จึงต้องการที่จะนำเอาขยะเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ ด้วยการเพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างรายได้ สร้างคอมมูนิตี้ และสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับชื่อของโปรเจกต์อย่าง Precious Plastic หรือ ‘พลาสติกที่มีค่า’

“พอ Precious Plastic เปิดเว็บไซต์ให้เป็นการแบ่งปันข้อมูลความรู้ที่คนทั่วโลกสามารถเข้ามาโหลดไปใช้ได้ มันจึงกลายเป็นการสร้างคอมมูนิตี้และกระจายตัวไปทั่วโลก ทุกคนเข้ามาโหลดพิมพ์เขียวของเครื่องจักร จากนั้นก็กลับไปสร้างคอมมูนิตี้ในประเทศของตัวเอง แล้วก็ติดต่อสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงกับ Precious Plastic Global และประเทศต่างๆ ที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ พูดคุยกัน”

คอมมูนิตี้ในประเทศไทย

แม้ว่า Precious Plastic Bangkok จะไม่ใช่ Precious Plastic เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย แต่คุณม็อบระบุว่า Precious Plastic Bangkok มุ่งเน้นการทำงานเชิงสังคม และต้องการผลลัพธ์ทางสังคม มากกว่าการทำธุรกิจที่ใช้ขยะพลาสติกเป็นปัจจัยสำคัญ พร้อมกันสร้างคอมมูนิตี้ในชุมชนต่างๆ ที่ทางทีมงานลงพื้นที่ไปทำงานร่วมด้วย โดยปัจจุบัน Precious Plastic Bangkok ทำงานร่วมกับ 10 ชุมชนทั่วประเทศ

“รูปแบบการทำงานของเราคือ เราจะเอาเครื่องจักรไปให้ชุมชนฟรี แล้วก็สนับสนุนทุนในการจัดตั้งโรงรีไซเคิล และชุดความรู้ที่จำเป็นต่อการอัพไซเคิลขยะพลาสติก เพื่อให้ชาวบ้านได้มีความรู้และพื้นที่ในการทำงาน และมีเครื่องจักรในการรีไซเคิลอัพไซเคิลพลาสติก แล้วก็ช่วยเก็บกู้ขยะ”

“หนึ่งเราได้สร้างความตระหนักให้คนในชุมชน และสองคือทำให้ชุมชนมีรายได้ แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าตลาดตรงนี้ยังไม่ใหญ่มาก มันจึงยังทำรายได้ได้ไม่มากนัก แต่ถ้าเราผสมผสานตัวเม็ดเงินกับผลลัพธ์ทางสังคม ส่วนตัวก็รู้สึกว่ามันค่อนข้างคุ้มค่า เพราะอย่างน้อยชุมชนหรือคนในพื้นที่ก็ได้เห็นว่า ขยะพลาสติกไม่จำเป็นต้องทิ้งหรือเอาไปขายซาเล้งอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำมาทำประโยชน์ได้ แล้วก็สร้างเม็ดเงินได้ด้วย”

ดาบสองคมของการจัดการพลาสติก

“ตัวโปรเจกต์ Precious Plastic Bangkok ทำงานด้วยการเอาเครื่องจักรไปให้ชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนเปลี่ยนแปลงจากขยะพลาสติก ให้เป็น Precious Plastic หรือเพิ่มมูลค่าให้มัน ทีนี้คนก็จะมาโฟกัสที่การอัพไซเคิล ซึ่งพวกเราก็คุยกันตลอดว่าตัวโปรเจกต์นี้จะไปกระตุ้นให้คนยิ่งใช้ขยะพลาสติกหรือเปล่า เพราะเขาเห็นแล้วว่ามันมีทางไปต่อ แต่สิ่งสำคัญของการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกคือเราต้องลดการใช้ไง มันจึงค่อนข้างเป็นดาบสองคมเหมือนกัน และเป็นความท้าทายของโปรเจกต์เลย”

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นความท้าทายที่ทีมงานต้องจัดการ แต่ Precious Plastic Bangkok ก็ยังคงทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องขยะพลาสติกและการลดใช้พลาสติก ควบคู่ไปกับการพยายามเก็บกู้ขยะพลาสติกที่อาจตกหล่นจากวงจรการจัดการขยะให้ได้มากที่สุด

“วิธีที่เราทำได้ดีที่สุดคือการสร้างความตระหนัก และย้ำกับชุมชนว่าการที่เราอัพไซเคิลขยะได้ ไม่ได้แปลว่าเราต้องไปสร้างขยะเพิ่มนะ นอกจากนี้ กระบวนการอัพไซเคิลไม่ใช่แค่การรับฝาขวดน้ำมาบด แล้วเอาใส่เครื่องขึ้นรูปเท่านั้น แต่มันยังมีกระบวนการคัดแยกประเภทของพลาสติกและคัดแยกสี ซึ่งตรงนี้แหละที่ทำให้ชุมชนค่อยๆ ซึมซับว่าการคัดแยกขยะมีประโยชน์อย่างไร ซึ่งเราก็หวังว่าคนในชุมชนที่เราได้ร่วมงานด้วยจะตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ”

การทำงานเชิงความคิดที่ยังต้องทำต่อ

“จุดที่ยากที่สุดและเป็นจุดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ก็คือการลดใช้ เพราะพลาสติกไม่ได้เป็นปัญหาหรือมีข้อเสียเลย พลาสติกมีประโยชน์มากด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ผิดก็คือพฤติกรรมของมนุษย์ที่ใช้พลาสติกอย่างฟุ่มเฟือย ดังนั้น วิธีการที่จะแก้ปัญหานี้ได้ก็คือการใช้พลาสติกให้เหมาะสม ใช้ให้พอดี ใช้เท่าที่จำเป็น ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ทำยากเหมือนกัน เพราะเงื่อนไขในชีวิตแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน”

แน่นอนว่าหนทางการทำงานของ Precious Plastic ยังอีกยาวไกลมาก แต่ทีมงานก็คาดหวังว่าสักวันหนึ่ง สังคมจะไม่ต้องมีทีมงาน Precious Plastic อีกต่อไป เพราะคนในสังคมรู้และเข้าใจกระบวนการในการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเป้าหมายระยะยาวที่ทีมงานอยากให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ เป้าหมายระยะสั้นของ Precious Plastic Bangkok คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนที่พวกเขาร่วมงานด้วย รู้จักสร้างคอมมูนิตี้และเครือข่ายชุมชนให้กับตัวเอง

“เรามี 10 ชุมชนที่เราร่วมงานด้วย ซึ่งเราร่วมกันทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าออริจินัลของชุมชนนั้นๆ ก็คือถอดอัตลักษณ์ของชุมชน แล้วก็แปลงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนที่มีเครื่องจักรสามารถทำได้ และเราก็อยากให้ทุกคนเห็นงานของเรา เห็นงานของชุมชนที่ร่วมทำงาน ว่านี่คือความพยายามของคนที่ต่อสู้กับปัญหาขยะพลาสติก แล้วก็อยากให้สังคมดีขึ้น มาช่วยกันอุดหนุนสินค้าอัพไซเคิลรีไซเคิลกัน” คุณม็อบฝากปิดท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ Precious Plastic Bangkok ได้ที่

Facebook: Precious Plastic Bangkok

Instagram: preciousplasticbkk

Website: Precious Plastic Bangkok