สำหรับเด็ก Gen Z คนอื่นๆ อาจเติบโตมาด้วยการร่ำเรียนเป็นสิบปีในโรงเรียน แต่ ‘ชัย - ธวัชชัย เซี่ยงอึ่ง’ (Chai Thawatchai) เขาเติบโตมาด้วยการมีสเก็ตบอร์ดเป็น ‘ครู’ คนสำคัญในชีวิต
ปี ค.ศ. 2019 สื่อต่างเรียกเขาว่าดาวเด่นซีเกมส์ (The Southeast Asian Games) เพราะคว้าเหรียญทองแดงให้ทีมชาติไทยสำเร็จตั้งแต่ปีแรกที่ได้รับหน้าที่ แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเราไม่ได้หยุดอยู่แค่เหรียญรางวัล เพราะนอกจากฝีมือแล้ว เบื้องหลังของชัยคือการเติบโตมาเป็นอย่างดี แม้ไม่ตรงตามความคาดหวังของสังคม
เขาคือเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่คิดหันหลังให้การเรียนตั้งแต่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) เพื่อมาทุ่มเทชีวิตให้กับกีฬาที่ตัวเองรัก แน่นอนว่าจากสายตาของคนในครอบครัวก็ค่อนข้างที่จะทำใจได้ยาก และเพราะเป็นกีฬาสเก็ตบอร์ดที่ถูกหลายคนมองว่าเป็นความดิบ เถื่อน และคอมมูฯ แห่งการมั่วสุมด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่อยากปล่อยให้ทำแบบนั้น แต่ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของคนใกล้ตัว ชัยกลับเชื่อว่าตัวเองจะไม่เป็นแบบนั้น และสเก็ตบอร์ดจะทำให้เขาเติบโต จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อ และมุ่งหน้าสู่วิถีนักสเก็ตบอร์ด จนมีอาชีพ มีสังกัด มีสปอนเซอร์สนับสนุน และติดทีมชาติไทยในที่สุด
เมื่อมีโอกาสได้มารับผิดชอบคอลัมน์กีฬาของ EQ ชื่อของ ชัย ธวัชชัย จึงเป็นหนึ่งในลิสต์ของคนที่เราตั้งใจจะพูดคุยด้วยให้ได้สักครั้ง แต่ก่อนที่ทุกคนจะเริ่มอ่านบทความนี้กัน ขอเกริ่นสักนิดว่า ตลอดการสนทนา มันทำให้รับรู้ได้ว่าทุกสิ่งที่ประกอบกันเป็นชัยในวันนี้ ล้วนถูกหล่อหลอมมาจากสเก็ตบอร์ด และหวังว่าผู้อ่านจะรู้สึกเช่นเดียวกัน
การเดิมพันของ Skater
ชายหนุ่มอายุ 23 ปีคนนี้เล่าย้อนให้เราฟังว่า สัมผัสสเก็ตบอร์ดครั้งแรกตอนอายุ 10 ปี ด้วยการไปขอพี่ๆ ที่ไม่รู้จักเล่น สมัยยังอยู่จังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งเป็นบ้านเกิด ก่อนจะมีแผ่นบอร์ดมือสองเป็นของตัวเอง ชัยเริ่มก้าวสู่การแข่งขันตอนอายุ 12 ปี และหลังจากนั้นคือการตัดสินใจไม่เรียนต่อ เพื่อออกจากบ้าน และมาจริงจังกับสเก็ตบอร์ด จุดเปลี่ยนในตอนนั้นทำให้ชีวิตของชัยเหมือนกับนักสเก็ตฯ ที่เอาชีวิตมาเดิมพันอยู่บนแผ่นบอร์ด เพราะต้องยอมรับว่าการมีวุฒิ ม.3 นั้นไม่ค่อยจะเพียงพอกับการสมัครงานสมัยนี้ แต่เมื่อเลือกแล้วว่านี่คือชีวิตที่ต้องการ ก็ต้องเดินหน้าเต็มที่
“สมัยผมยังเด็กๆ สเก็ตบอร์ดยังไม่มีนักกีฬาทีมชาติ ผู้ใหญ่เขาเลยมองว่าคนที่เล่นสเก็ตเป็นกลุ่มคนเล่นยา กินเหล้า มีรอยสัก มันดูเถื่อน ตอนนั้นพ่อผมก็เป็น แต่พอเริ่มลงแข่งและได้รางวัล เขาถึงปล่อย ส่วนเรื่องการไม่เรียนต่อ ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้เป็นเด็กเรียนอยู่แล้ว ใครจะมองยังไงผมก็ไม่สนใจ เพราะเรารู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ ผมมีลิมิตของตัวเอง ไม่เล่นยาอยู่แล้ว”
ขับเคลื่อนด้วย Wheel
เมื่อถามถึงแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เขายอมเสี่ยงไปกับสเก็ตบอร์ดถึงขนาดนั้น ชัยบอกว่า “ผมแค่ชอบสเก็ตบอร์ดมากกว่าอย่างอื่น” ก็แค่ชอบเลยไม่อยากปล่อยผ่าน ต้องทำให้ดีที่สุด
Deck ที่คอยประคับประครอง
หลังจากไม่เรียนต่อ ชัยก็ยึดเอาสเก็ตบอร์ดมาเลี้ยงดูตัวเอง และยังส่งเงินบางส่วนให้กับที่บ้านด้วยการเป็นพนักงานร้านขายสเก็ตบอร์ด ควบคู่ไปกับการเล่นสเก็ตบอร์ด โดยเริ่มแรกอยู่ทีม ‘KANONG’ ที่พัทยา และพอปิดตัวลง ก็ย้ายมาอยู่กับทีม ‘Dreg Skateboards’ ในจังหวัดนนทบุรีจนถึงตอนนี้ ซึ่งระหว่างทาง ชัยได้เรียนรู้จากทั้ง 2 ทีมมาเยอะมาก ทั้งการฝึกซ้อม การให้คำแนะนำในการใช้ชีวิต และประสบการณ์ที่สั่งสมจากรายการแข่งขัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนทำให้ติดทีมชาติ และมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน
“ผมโชคดีตรงที่มีพี่ๆ ให้โอกาส เราอยู่กันแบบครอบครัว โดยที่ผมมีพี่ทุกคนคอยช่วยซัพพอร์ตทุกเรื่อง เขาสอนถึงเรื่องที่ว่าถ้ามีเงินแล้วควรทำอะไรต่อ ไม่ควรใช้สุรุ่ยสุร่าย หรือตอนที่ผมเริ่มท้อ เขาก็จะบอกว่าไม่เป็นไร ยังมีโอกาสหน้า ก็เลยกลายมาเป็นตัวผมในทุกวันนี้ ผมไม่ลืมบุญคุณแน่นอน” ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรามองว่าเป็นเสมือน deck หรือแผ่นบอร์ดที่คอยประคองให้ชัยได้ค่อยๆ เติบโตมาเป็นอย่างดี แม้จะต้องอยู่ห่างครอบครัว และไม่มีวุฒิปริญญาหรือสังคมการศึกษามารองรับ
This is Truck
ถ้าพี่ๆ ในทีมของชัยเปรียบได้กับ deck ความรักในสเก็ตบอร์ดของเขาก็คงเปรียบเป็น truck ที่ยึดให้ตัวเองยังคงอยู่บนเส้นทางของนักสเก็ตฯ ได้โดยที่ไม่ล้มหมดท่าไปเสียก่อน เพราะถึงแม้จะเจอคนดีๆ ในช่วงรอยต่อของชีวิต ทั้งการบาดเจ็บจนต้องพักนาน การไม่เรียนต่อ การแข่งแพ้แบบเละเทะ หรือการที่ทีมเก่าปิดตัว เขาก็ต้องก้าวผ่านทุกอย่างนั้นมาด้วยตัวเอง
“ถามว่าเคยท้อหรือหมดไฟไหม ต้องเคยมีอยู่แล้ว แต่ผมผ่านมันมาได้เพราะว่าใจรักสเก็ตบอร์ดด้วย ก็เลยเต็มที่กับมัน แล้วก็คิดว่าชีวิตทุกคนต้องมีขึ้นมีลง เลยผ่านช่วงยากๆ มาได้” ชัยกล่าว
ผลตอบแทนจากการเดิมพัน
“อย่างแรกคือรายได้ มีเงินเดือน มีเบี้ยเลี้ยงทีมชาติ มีสปอนเซอร์ พออยู่ได้ครับ มีรายการหนึ่งที่จีน น่าจะก่อนซีเกมส์ 2019 มันเป็นรายการที่ผมได้ที่ 1 แล้วได้จับเงินแสนเป็นครั้งแรก ตอนนั้นได้มาประมาณ 105,000 บาท ซึ่งเยอะมากสำหรับผม มันก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมเริ่มต่อยอดไปทำธุรกิจเล็กๆ เปิดร้านขาย grip tape กับรุ่นพี่”
“ต่อไปคือประสบการณ์ ตอนเด็กเราแค่อยากแข่งสเก็ตบอร์ดเพื่อที่จะได้เงินมาเลี้ยงดูตัวเอง แต่พอแข่งเรื่อยๆ และได้ไปเปิดหูเปิดตาที่ต่างประเทศ เป้าหมายก็เปลี่ยนไปเป็นต้องได้อันดับไม่เกิน TOP 5 ในทุกรายการ เรื่องแบบนี้ถ้าไม่ได้เล่นสเก็ตบอร์ดก็ไม่น่าจะได้เจอ เพราะแค่ต่างจังหวัดผมยังไม่ค่อยจะได้ไปเลย รู้สึกว่าคิดถูกแล้วที่ไม่เรียนต่อ เพื่อมาเต็มที่กับมัน”
ความฝันที่อยากเป็น
แม้ว่าตอนนี้ชัยจะได้เป็นนักกีฬาอาชีพของวงการคนหนึ่งแล้ว แต่เขาเล่าว่าความฝันสูงสุดที่ท้าทายให้ต้องเก่งขึ้น เพื่อทำมันให้ได้คือ การเป็นโปรสเก็ตบอร์ดที่ทำวิดีโอลงยูทูป
“ใจจริงผมอยากเป็นโปรสเก็ตบอร์ดแล้วทำวีดีโอมากกว่าที่จะมาเป็นนักกีฬา เพราะผมคิดว่ามันพิสูจน์ฝีมือมากกว่า การแข่งขันจะเน้นการเล่นท่าที่ชัวร์กับอุปกรณ์ แต่การทำวิดีโอจะเล่นท่าที่เป็นไปได้ยาก หรือเอาท่าง่ายมากระโดดบันได 15 ขั้น มันไปด้วยกันได้กับการเป็นนักกีฬา เพราะเวลานักกีฬาไปแข่งประเทศนู้นประเทศนี้ ก็จะได้คอนแทค หรือบางทีก็อาจได้สปอนเซอร์กลับมา ตอนนี้ผมก็ทำวิดีโอไปด้วย แต่ยังน้อย เพราะมาเก็บตัวนักกีฬา
https://www.youtube.com/watch?v=L1xtSFH1UYw
ความฝันที่อยากไปให้ถึง
“ลีกนานาชาติ Street League Skateboarding (SLS) เพราะว่ารายการนั้นใหญ่มาก มีแต่คนเก่งๆ ซึ่งถ้าเขาไม่เปิดก็จะต้องใช้ระบบเชิญไปแข่ง และ The Berrics ในอเมริกา เป็นสนามที่คนเล่นสเก็ตบอร์ดต้องอยากไปสักครั้งในชีวิต กำลังรอดูว่าเก็บตัวทีมชาติแล้วจะมีโอกาสได้ไปไหม ผมพยายามบอกกับโค้ชอยู่บ่อยๆ ว่าถ้ามีแพลนได้ไป ก็อยากให้มีชื่อผมอยู่ในนั้นด้วยนะ (หัวเราะ)”
สิ่งที่ถ้าเปลี่ยนได้จะทำให้ Skater ไทยไปไกลกว่านี้
“คิดว่าเป็นเรื่องความพร้อมของสนามซ้อมครับ ไม่ใช่ว่าพวกเราเรื่องมากนะ แต่ทุกการแข่งขันในต่างประเทศ เขาจะเปลี่ยนรูปแบบสนามไปเรื่อยๆ แต่สนามที่ทีมชาติไทยซ้อมมีอยู่แค่ที่เดียว ซึ่งมันก็หลายปีแล้วที่เป็นแพทเทิร์นเดิม พอไปแข่งแล้วเจอแพทเทิร์นใหม่ก็ปรับตัวยาก บางครั้งผู้ใหญ่อาจมองว่ามันใช้งบประมาณสูงเกินไปในการเปลี่ยนสนามครั้งหนึ่ง แต่ถ้าทำแล้วมันคุ้มที่จะฝึกนักกีฬา ผมว่าก็น่าลองนะ”
“อย่างญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่นักกีฬาเล่นเก่งมาก สู้ไม่ได้เลย นั่นเพราะสนามเขาพร้อม การแข่งขันก็เยอะ มาตรฐานสูง พอทุกอย่างมาบวกกัน นักกีฬาเขาก็เลย level up ขึ้นเรื่อยๆ รายการ SLS (Street League Skateboarding) ล่าสุดทีมญี่ปุ่นก็ได้ที่ 1 อีกแล้ว”
สิ่งที่อยากฝากถึงคนที่จะเริ่มเล่นสเก็ตบอร์ด
“ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก แค่อย่าอายเวลาหัดอะไรใหม่ๆ ถ้ามาสนามแล้วเจอแต่คนเก่ง ก็เล่นริมสนามก็ได้ หรือถ้าที่ไหนมีสอนก็ลองไปสอบถามดู แต่ถ้าอยากขายของหน่อย ผมก็จะบอกว่าที่ Dreg Skateboards มีสอน มาลองได้”
ติดตาม ‘ชัย ธวัชชัย’ ได้ที่
Facebook: Chai Thawatchai
Instagram: chai_dreg
ผลงานคลิปวิดีโอที่ผ่านมา: DREG Present Welcome To The Team "CHAI THAWATCHAI" / Dreg skateboards | เสือหมอบแมวเซา (2022)