Culture

Y2K: แฟชั่นกำลังกลับมา แต่จะเอา ‘ปัญหา’ กลับมาด้วยไหม?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เดี๋ยวนี้จะมองไปทางใด หรือเข้าโซเชียลเมื่อไร ก็จะเจอแต่คำว่า ‘Y2K’ เต็มไปหมด เทรนด์แฟชั่น Y2K ที่เคยฮอตฮิตเมื่อหลายปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หน้าผม ไปจนถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต วนกลับมาอยู่ในกระแส และครองใจวัยรุ่นอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าโลกแฟชั่นนั้นเป็น ‘วัฏจักร’ แฟชั่นที่เคยได้รับความนิยมเมื่อครั้งอดีต มีโอกาสที่จะกลับมาเฉิดฉายในยุคโซเชียลมีเดียได้ทั้งนั้น เหมือนกันกับแฟชั่น Y2K นั่นแหละ ทว่าการกลับมาของแฟชั่นที่ทำให้หลายคนหวนย้อนคิดถึงช่วงเวลาในอดีต ก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำ ‘ปัญหา’ ตามมาด้วยเช่นกัน วันนี้ EQ จะพาไปสำรวจโลกแห่ง Y2K แฟชั่นที่พาเราย้อนกลับไปในวันหวาน แต่ก็อาจจะไม่ได้หอมหวานเหมือนอย่างที่เราคิด 

Y2K แฟชั่นแห่งยุค 2000 

คำว่า Y2K มีที่มาที่ไปจากการย่อคำว่า Year 2000  ที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนผ่านของระบบคอมพิวเตอร์ ในช่วงปลายยุค 90’s เชื่อมต่อสู่ช่วงต้นปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจาก ‘โลกไร้อินเทอร์เน็ต’ สู่ ‘โลกไร้พรมแดน’ พร้อมด้วยเทคโนโลยีมากมายที่ถูกพัฒนาเพื่อทำให้ชีวิตของมนุษย์ง่ายขึ้น โดยแฟชั่น Y2K คือ เทรนด์แฟชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนั้น เกิดสไตล์การแต่งตัวที่ไร้ขีดจำกัด เน้นเสื้อผ้าสีสดใส และความแวววาวดูล้ำสมัย

https://www.youtube.com/watch?v=hHcyJPTTn9w

แม้จะเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ต้นกำเนิดของแฟชั่น Y2K อยู่ตรงไหน แต่ศิลปิน ‘Missy Elliot’ ก็ได้นำเอาแฟชั่นดังกล่าวมาใช้ในมิวสิควิดีโอเพลง ‘Supa Dupa Fly’ ของเธอในปี 1997 ซึ่งอย่างที่กล่าวไปว่า แฟชั่น Y2K ได้รับแรงบันดาลใจจากการเปลี่ยนผ่านของระบบเทคโนโลยี เพื่อดึงดูดสายตาให้ความรู้สึกล้ำสมัย มาจากโลกอนาคต เน้นเครื่องแต่งกายแวววาวคล้ายโลหะ อาจจะเป็นได้ทั้ง เครื่องประดับวิบวับ, กางเกงหนัง, อายแชโดว์สีเทา, แว่นกันแดดทรงแปลกตา หรือหูฟังครอบหู ขณะที่แบรนด์แฟชั่นอเมริกันอย่าง ‘Urban Outfitters’ ก็ช่วยทำให้เทรนด์แฟชั่น Y2K ได้รับความนิยมมากขึ้น ด้วยการทำงานกับดีไซน์เนอร์ชื่อดังหลายคน เพื่อออกแบบคอลเลกชั่นใหม่ที่ได้แรงบัลดาลใจจากเทรนด์ดังกล่าวในช่วงปี 2000 

Photo Credit: complex / Vogue Frace / The Culture Crypt / @2002.era / Popsugar / teenvogue / Vogue UK / Nylon / InStyle

เหล่าดารา นักร้องในยุคนั้นก็ร่วมขบวนแฟชั่น Y2K ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปินฮิปฮอปอย่าง Jay-Z, P Diddy, Nelly, Snoop Dog และ 50 Cent หรือศิลปินป็อป ‘ตัวแม่’ ทั้ง Destiny’s Child, Britney Spears, Beyoncé, Christina Aguilera, Paris Hilton และ Nicole Richie ที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้สร้างความนิยมให้กับแฟชั่น Y2K จนกลายเป็นเทรนด์แฟชั่นที่ทุกคนต้องตาม 

การกลับมาของ Y2K ปี 2023 

แฟชั่น Y2K กลับมาอีกครั้งในยุคนี้ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Instagram หรือ TikTok ล้วนแล้วแต่มีการแชร์ภาพถ่าย และวิดีโอแฟชั่นไลฟ์สไตล์แบบ Y2K ให้เห็นจนชินตา ขณะที่เหล่าคนมีอายุ หรือ Gen Y ทั้งหลาย อาจจะรู้สึกได้หวนกลับไปในวันวานยังหวานอยู่ ช่วงที่กำลังเป็นวัยรุ่นเริ่มแต่งตัว อยากแชทกับเพื่อนสักทีก็ต้องต้องต่ออินเทอร์เน็ตจากสายโทรศัพท์ และเปิดเพลงจาก Winamp ฟัง เหล่าเด็กรุ่นใหม่ชาว Gen Z ต่างก็รู้สึกว้าวกับเสน่ห์แบบยุคเก่าที่แปลกตา และไม่เหมือนใคร เช่นเดียวกับคนดัง หรือดาราที่นำเทรนด์แฟชั่นนี้กลับมาอยู่ในหน้าจอ (โทรศัพท์) อีกครั้ง เช่น NewJeans เป็นต้น 

Photo Credit: sportskeeda / @newjeans_official

แฟชั่นมักเป็นภาพสะท้อนคุณค่าของสังคมในช่วงเวลานั้นๆ แฟชั่น Y2K ก็เช่นกัน มันเป็นการแสดงให้เห็นการต่อรอง ต่อสู้กับประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสังคม ซึ่งการกลับมาของแฟชั่น Y2K ในยุคนี้ก็สะท้อนให้เห็นการฟื้นตัวต่อประเด็นเรื่อง ‘ทัศนคติเชิงบวกต่อเรื่องเพศ (Sex positivity)’ สอดคล้องกับแนวคิดของสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 4 ที่ให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลายมากขึ้น ผู้หญิงเลือกได้ว่า จะแต่งตัวอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องกังวลต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบข้าง ประเด็นเรื่องความมั่นใจ และภูมิใจในร่างกายของตัวเอง (Body positivity) ถูกทำความเข้าใจอย่างแพร่หลายในหมู่คน Gen Z และเจนอื่นของสังคมตอนนี้ ทำให้ผู้หญิงมีสิทธิ์มีเสียง และสามารถสนุกกับการแต่งตัวตามแฟชั่นอย่างไรก็ได้ 

Photo Credit: teenvogue

นอกจากนี้ ความแตกต่างของแฟชั่น Y2K ยุคนี้กับยุคก่อนยังหมายรวมถึง การนำเสนอภาพแฟชั่นของสื่อ ซึ่งภาพเด็กสาวในเสื้อผ้าชิ้นเล็กแบบ Y2K ในสมัยก่อน มักถูกฉายภาพด้วยมุมมองแบบผู้ชาย (Male gaze) เช่นเดียวกับเหล่าเอเจนซี่ที่มักจะเป็นผู้ชายเป็นหลัก ทั้งหมดนี้ถูกเปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดีย ที่คอนเทนต์มากมายมักถูกสร้างขึ้นโดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิง นั่นทำให้การกลับมาของแฟชั่น Y2K เป็นมากกว่าการคิดถึงวัยเยาว์ในอดีต แต่เป็นการเสริมอำนาจ (Empowerment) ให้กับผู้หญิงทุกคน ทุกไซส์ และทุกชาติพันธุ์ ทุกคนสวยงามในแบบของตัวเองได้ และไม่จำเป็นต้องทำตามทัศนคติเก่าๆ ของสังคมที่กำหนดว่าผู้หญิงสวยต้องเป็นอย่างไร 

Y2K กับ “ปัญหา” ที่อาจตามมา

แม้แฟชั่น Y2K จะกลับมาอีกครั้งในยุคที่คนในสังคมมีความเข้าใจมากขึ้นเรื่องรูปร่างที่หลากหลาย แต่ก็มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลต่อประเด็นเรื่อง ‘อาการกลัวคนอ้วน’ (Fatphobic) และปัญหาเรื่องพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในช่วงที่แฟชั่น Y2K ได้รับความนิยมเมื่อครั้งอดีต โดยวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า ในช่วงปี 1999 - 2000 และปี 2008 - 2009 การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติในสหรัฐอเมริกา มีเพิ่มมากขึ้นถึง 24 เปอร์เซ็นต์ 

Photo Credit: In The Know

นักวิจารณ์แฟชั่นหลายคนชี้ว่า แฟชั่น Y2K ในยุคก่อน ถูกออกแบบมาให้กับผู้หญิงผิวขาว รูปร่างผอม หน้าท้องแบนราบ ต้นขาห่าง และผมบลอนด์ ซึ่งหลอมรวมเป็นองค์ประกอบสำคัญของความงามแบบ Y2K ซึ่งแน่นอนว่าแฟชั่นดังกล่าวให้ประโยชน์กับผู้หญิงบางกลุ่ม และส่งผลกระทบต่อผู้หญิงจำนวนมาก ไม่เพียงเท่านั้น แฟชั่น Y2K ยังไม่ออกแบบเสื้อผ้าไซส์ใหญ่อีกด้วย นั่นทำให้ผู้หญิงที่มีรูปร่างไม่ตรงกับแฟชั่นนี้ถูกกีดกันออกจากเทรนด์ฮิตในช่วงเวลานั้น สร้างให้เกิดปัญหาการลดน้ำหนักที่ไม่ถูกต้องในหมู่เด็กสาว โดย ‘Angela Benedict’ บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดังในยูทูบ ได้ออกมาสะท้อนปัญหาของแฟชั่น Y2K ในยุค 2000 ว่าถูกสร้างขึ้นในลักษณะที่ทำให้ร่างกายดูบิดเบี้ยว ขณะที่ ‘Jessica Blair’ นางแบบ และติ๊กต่อกเกอร์ ก็ออกมาพูดถึงปัญหาของแฟชั่น Y2K ว่าเป็นแฟชั่นที่เมินเฉยต่อรูปร่างที่หลากหลายของผู้หญิง ถึงขั้นกีดกันคนอ้วนออกจากวงการแฟชั่นเลยทีเดียว

Photo Credit: Jessica Blair

ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นระหว่างที่แฟชั่น Y2K ได้รับความนิยมในอดีต กลายเป็น ‘ข้อกังวล’ ที่คนในโลกแฟชั่นหยิบยกมาพูดถึง แน่นอนว่า คนที่มีรูปร่างใหญ่ก็สามารถดูดีได้ในมินิสเกิร์ต เสื้อครอบท็อป และทุกคนก็สามารถเปิดเผยเรือนร่างของตัวเองได้หากมีความมั่นใจ แต่สไตล์การแต่งตัว และเสื้อผ้าที่ไม่ได้ถูกออกแบบสำหรับทุกคนนี้เอง ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาให้เด็กผู้หญิงที่อยากตามเทรนด์ เลือกที่จะ ‘อด’ เพื่อจะได้ ‘อวด’ ร่างกายในแบบแฟชั่น Y2K ที่ผ่านมา

แน่นอนว่าในยุคโซเชียลมีเดีย การสร้างความเข้าใจเรื่องรูปร่างที่หลากหลายมีมากขึ้น สังคมเปิดรับรูปร่างของผู้หญิงที่แตกต่าง และความสวยก็ถูกนิยามให้ความหมายที่หลากหลายกว่าเดิม จึงทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ยึดติดอยู่กับภาพลักษณ์ความงามรูปแบบเดียวอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ดาบมีสองคมฉันใด แฟชั่น Y2K ก็มีทั้งข้อดี และข้อเสียฉันนั้น สิ่งสำคัญมากที่สุดคือ การสร้างความเข้าใจให้กับเด็กผู้หญิงที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นหญิงสาวผู้ติดตามโลกแฟชั่น การตระหนักว่า อะไรคือปัญหาของเทรนด์แฟชั่นที่เคยได้รับความนิยมในอดีต และพยายามไม่นำปัญหานั้นกลับมา ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เราทุกคนยังต้องให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจ เพื่อสร้างโลกแฟชั่นที่สวยงาม และเปิดรับทุกคน ทุกเพศ ทุกสถานะ ทุกรูปร่าง และทุกชาติพันธุ์อย่างแท้จริง 

อ้างอิง

Cracum
Harper’s Bazaar
Art & Object
Centennial
Zhao Y, Encinosa W. An Update on Hospitalizations for Eating Disorders, 1999 to 2009
byrdie
Sarakadee
IAMSNKRS