Pssyppl. ศิลปินที่สะท้อนอารมณ์และสังคม

ในขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองถูกปิดกั้นเสรีภาพ และการพูดถึง เหล่าศิลปินมากหน้าหลายตาจึงต้องมีวิธีการถ่ายทอดเรื่องราวบ้านเมืองที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ EQ ไม่รอช้าที่จะต่อสายตรงไปยัง PSSYPPL นามปากกาที่เป็นเหมือนรหัสลับของศิลปินบนโลกโซเชียลมีเดียในอินสตาแกรม เขาเป็นผู้ที่จรดลายเส้นเรื่องเล่าและเหตุการณ์ของบ้านเมืองไว้ด้วยภาพแบบ digital paint และวันนี้ EQ มีโอกาสได้เข้าไปถอดรหัสลับนามปากกาของเขาที่แอบแฝงความลึกลับเอาไว้ เราจะพามารู้จักกับ “ม่อน” เจ้าของ Instagram (@pssyppl) ผู้ซึ่งสรรค์สร้างเรื่องราวที่ช่วยขยี้และคลี่ปมของสถานการณ์บ้านเมืองเอาไว้ได้จบและครบในภาพเดียว 

จุดประกายรหัสลับแบบฉบับ Pssyppl.

เรื่องราวของม่อนเริ่มมาจากการทำแฟนเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นเพจแนวดราม่าที่ต้องคอยทำเพื่อตอบสนองสายดราม่าอยู่ตลอดเวลา ม่อนเริ่มสาธยายให้เราฟังแล้วว่าในช่วงแรกๆ ที่มีโอกาสได้เข้ามาทำ และเริ่มเรียนรู้กับมัน เขายอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่สนุก และใหม่สำหรับตัวเขา ประจวบเหมาะกับเรื่องราวที่ต้องทำเสิร์ฟให้แฟนเพจในแต่ละวันสามารถเข้าถึงผู้คนได้เป็นอย่างดี ทำให้การเกิดปฏิสัมพันธ์กันบนโซเชียลเพิ่มขึ้น แต่เนื้อหาที่ถูกผลิตออกมาส่วนใหญ่ก็มีเพียงจุดประสงค์เดียวคือผลิตตามความต้องการของผู้ที่เสพงาน จนในที่สุดม่อนก็ตัดสินใจเลิกราจากวงการแฟนเพจเฟซบุ๊ก และก้าวเข้าสู่หนทาง @pssyppl บนโลกอินสตาแกรมพื้นที่ใหม่ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการในเรื่องของการถ่ายทอดอารมณ์และชิ้นงานในแบบของตัวเอง โดยม่อนเริ่มทำ Pssyppl. มาตั้งแต่ช่วงธีสิสปริญญาตรี  แต่ก่อนหน้านี้เคยถูกถ่ายทอดเรื่องราวของเพศมาก่อน  ก่อนที่จะเข้าสู่การสะท้อนภาพวาดผ่านการเมือง นั่นจึงเป็นที่มาของรหัสลับอย่าง Pssyppl. หรือเป็นคำที่ถูกทอนมาจาก Pussy People นั่นเอง (รหัสลับแบบไม่ลับอีกต่อไป)

แปลงอารมณ์ให้เป็นงานศิลปะ

  “ม่อน” เป็นผู้ที่เลือกจะถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกกับสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ให้แปรเปลี่ยนเป็นงานชิ้นเอก และยกระดับมูลค่าให้กับอารมณ์ของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งลายเส้น สัญญะ และการใช้สี ต่างมีความหมายที่แยบยลผ่านเนื้องานของเรา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ถูกบันทึกความทรงจำด้วยรูปภาพวาดของเขา ไม่ใช่แค่ถ่ายทอดอารมณ์เพื่อให้อารมณ์ที่มีต่อเรื่องราวนั้นจบไปเพียงอย่างเดียว แต่กลับสะท้อนเหตุการณ์บ้านเมืองเอาไว้ถึงหลายต่อหลายเหตุการณ์ 

“ถ้ามุมมองส่วนตัวมันคือ การเอาอารมณ์โกรธ เศร้า และความเสียใจที่มันขุ่นมัวในใจให้สอดแทรกเข้าไปอยู่ในงานนั่นแหละ เรารู้สึกว่ามันเป็น Therapy ประมาณหนึ่งในเวลาที่เรารู้สึกไม่ดี แล้วเราก็ย้ายมันไปไว้ที่งาน สุดท้ายมันก็ทำให้เราก็รู้สึกดีขึ้น แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งที่เราเลือกจะ Publish งานออกไป เพื่อที่เราอยากให้คนอื่นเข้ามารู้สึกร่วมกัน”

สำหรับม่อนแล้วการเลือกที่จะวาดเรื่องราวที่รับรู้และเข้าใจออกไปนั้น อาจไม่ใช่แค่รู้สึกแล้วก็แสดงฝีมือด้วยการวาดออกมาได้เลย แต่ก่อนจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นภาพเหล่านั้นแล้ว มันกลับผ่านกระบวนการของการหาข้อมูลอย่างละเอียดยิบ ถี่ถ้วน เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่ม่อนกำลังเริ่มรู้สึกและเข้าใจนั้น เป็นข้อเท็จจริงของแง่มุมในสังคม และประสมประสานผ่านการใส่ความคิดเห็นในแบบของเรา

บันทึกเหตุการณ์ที่ได้สัมผัสหรือรับรู้

“ศิลปะกลายเป็นศาสนาไปแล้ว เพราะมันอยู่ในทุกๆ จุดของชีวิตไปแล้ว ไม่ว่าจะลุกจะเดินจะนั่ง ทุกอย่างมันต้องผ่านการดีไซน์ และสุดท้ายคือมันสามารถใช้เป็นอาวุธได้”

ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยที่ถูกปิดกั้นและไม่สามารถเข้าถึงในบางเรื่องได้ หนึ่งในเครื่องมือ หรืออาวุธสำคัญในความหมายม่อนก็คงหนีไม่พ้นที่จะใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องแทนได้ ไม่ว่าจะพูด หรือเขียนอะไรก็ได้ที่ทำให้มันเกิดการสื่อสารขึ้น แต่ตัวของม่อนเองนั้นก็เลือกที่จะหยิบยกการใช้ลายเส้นในการวาด เพื่อบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ที่ได้สัมผัสและรับรู้ในแบบฉบับของเขา พร้อมกับถ่ายทอดอารมณ์ในสิ่งที่คิดออกไป ส่วนงานที่ถูกออกสู่สายตาของผู้คน จะถูกตีความเป็นสิ่งใดก็สุดแต่วิจารณญาณของแต่ละคนจะเห็นควร 

“จริงๆ แล้วอยากให้งานมันเป็นปลายเปิด อยากให้คนแปลในมุมมองของตัวเอง ไม่ได้มี Concept ตายตัว”

มีคนชมชอบก็ต้องมีคนไม่ชมชอบ

เนื่องจากงานถูกปล่อยออกสู่สาธารณชน ดังนั้น การที่จะมีคนเข้ามาให้ต่าง วิจารณ์ในแง่ลบ และให้กำลังใจในแง่บวก สำหรับตัวม่อนเองคิดว่าสิ่งนั้นมันเป็นเรื่องปกติ การที่เขาเลือกปล่อยให้งานชิ้นหนึ่งออกไป เหมือนเป็นการเตรียมใจไว้ส่วนหนึ่งแล้วว่าการได้รับความคิดเห็นเหล่านั้นมาถือเป็นสิ่งที่ดี 

“งานศิลปะมันจะสามารถพัฒนาได้ มันต้องถูกพัฒนาผ่านตัวเองและคนดู ถ้าเราไม่กล้าเอาออกมาให้ภายนอกเห็น งานของเรามันก็จะมีแต่มุมมองของเราอย่างเดียว ถ้าเราได้รับการวิจารณ์มา ครั้งหน้าจะได้รู้ว่างานชิ้นต่อไปเราควรแก้ไขมันอย่างไร”

ม่อนบอกว่าผลงานชิ้นที่ชอบมากที่สุด คือ The fall เป็นรูปที่มีคนนั่งอยู่บนเก้าอี้ และโครงสร้างเก้าอี้ทั้งหมดก็ประกอบไปด้วยคนจำนวนมาก หรือประชาชน มันเป็นการแสดงถึงความพึ่งพาอาศัยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าหากวันหนึ่งเกิดมีการแตกเสียงออกจากกัน ทุกคนไม่ได้ไปทิศทางเดียวกัน คนบนเก้าอี้ก็เริ่มสั่นคลอน  เพราะขาเก้าอี้เริ่มไม่มั่นคง นั่นจึงเป็นผลงานที่ม่อนรู้สึกว่าเรียบง่ายแต่มีหลายนัยยะที่แอบซ่อนอยู่

ทุกครั้งที่มีเกิดเหตุการณ์บ้านเมืองอะไรบางอย่าง ม่อนจะค่อยๆ เก็บความทรงจำ ความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์เหล่านั้น และปิ๊งไอเดียสำหรับเริ่มงานชิ้นถัดไปเสมอ บางครั้งรูปก็ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทันที บ่อยครั้งที่เก็บความคิดและความรู้สึกที่มีต่อเรื่องนั้นแล้วนำมาวาดทีหลังก็มี ถึงแม้เหตุการณ์ที่อาจจะผ่านไปแล้ว แต่ความหมายและนัยยะของรูปก็ยังคงอยู่ นี่อาจจะเป็นเสน่ห์บางอย่างที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไร ภาพก็ยังสามารถเล่าเรื่องได้ดีในแบบของมัน อย่างเช่นเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม หรือเหตุการณ์วกวนของบ้านเมือง ม่อนก็ยังเป็นบุคคลหนึ่งที่ยังคงตีแผ่เรื่องราวของสังคมเก็บไว้ใน Pssyppl. ตามความสัตย์จริงอยู่ดี 

เพราะสำหรับม่อนแล้วศิลปะถือเป็นอาวุธที่สามารถแสดงออกได้แบบไม่จำกัด