Culture

‘… เมืองไทย’ สารพัดฉายาชวนสงสัย สถานที่ท่องเที่ยวในไทย ทำไมต้องใช้ชื่อคนอื่น?

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเวลาเราเสิร์ชหาสถานที่ท่องเที่ยวในบ้านเราทีไร ถึงได้เจอชื่อแลนด์มาร์ก หรือชื่อเมืองในต่างประเทศปรากฏขึ้นมาอยู่เสมอ แต่ชื่อพวกนั้นมักจะถูกพ่วงท้ายด้วยคำว่า ‘เมืองไทย’ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น กุ้ยหลินเมืองไทย, ฟูจิเมืองไทย, สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย หรือจะเป็นมัลดีฟส์เมืองไทยก็ยังมี แล้วทำไมสถานที่ในไทยถึงต้องไปพึ่งพาชื่อชาวบ้านชาวช่องเขา เพราะแหล่งท่องเที่ยวบ้านเราไม่เป็นที่รู้จัก, เพราะมันเหมือนกันจริงๆ หรือเพราะอะไรกันแน่? วันนี้ EQ อยากชวนทุกคนมาตั้งคำถามพร้อมออกเดินทางไปด้วยกันว่า สารพัดแลนด์มาร์กต่างแดนที่พ่วงท้ายด้วย ‘เมืองไทย’ มันมีดีอย่างไร, มันจำเป็นจริงๆ ไหม หรือว่าตัวตนของเมืองไทยกำลังถูกกลืนกิน?

วังน้ำเขียว / น่าน / ปางอุ๋ง / สวนผึ้ง / สวิตเซอร์แลนด์
Photo Credit: Makalius / Traveloka / Britannica

เพราะแต่ละสถานที่ต้องมี ‘ภาพจำ’ ?

แน่นอนว่าสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ คือหนึ่งในตัวชูโรงด้านเศรษฐกิจของไทยมาแต่ไหนแต่ไร และ ‘กลยุทธ์’ การมอบฉายาให้สถานที่ต่างๆ นั้น มันก็คือ หนึ่งใน ‘แผนการตลาด’ ที่ทำให้คนทั่วไปสามารถเห็นภาพได้ง่ายๆ หรือสร้างภาพจำให้กับสถานที่ต่างๆ ว่า ไม่ต้องไปถึงต่างประเทศให้ยุ่งยาก บ้านเราก็มีที่ๆ ‘ฉันว่าคล้าย’ อยู่ด้วยนะ ซึ่งกลยุทธ์นี้แพร่หลายในวงการท่องเที่ยวของไทยมากๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เทรนด์การท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มบูม คนไทยเริ่มได้เห็นสถานที่สวยๆ วิวทิวทัศน์แบบที่ไม่เคยเจอ ความแปลกใหม่ทั้งธรรมชาติ บ้านเมือง และวัฒนธรรม ดังนั้นการจะดึงนักท่องเที่ยวกลับมาจึงต้องใช้การบอกว่า ไม่ต้องเสียเงิน เสียแรงไปถึงที่นั่น ก็สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบนั้นได้ เช่น ช่วงที่สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศแถบยุโรปได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวบ้านเรา ฟาร์มแกะ และ ‘สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย’ (หรือแม้แต่เวนิส และเมืองอื่นๆ ในยุโรป) จึงโผล่ไปตามแต่ละที่ๆ พอจะมีอากาศเย็นๆ ได้บ้าง เราจึงได้เห็นสิ่งปลูกสร้างแบบยุโรปผุดขึ้นมาเป็นเวิ้ง เป็นหมู่คอมมูนิตี้มอลล์ เป็นต้น ซึ่งการตลาดนี้ถือเป็นการใช้ความเป็นเมืองนอกมา ‘สร้างภาพจำ’ ให้กับสถานที่นั้นๆ ไปโดยปริยาย

แต่หากจะพูดว่ามันเป็นการสร้างภาพจำให้กับสถานที่ท่องเที่ยวบ้านเรา แล้วกลยุทธ์นี้จะสามารถชวนให้คนนึกถึงแลนด์มาร์กต่างๆ ในประเทศไทยได้จริงๆ ไหม? ตัวอย่างเช่น ‘สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย’ ชื่อนี้สำหรับบางคนก็นึกไปถึงอุทยานยอดฮิตหน้าหนาวอย่าง ‘ปางอุ๋ง’ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่กับบางคนก็นึกไปถึงรีสอร์ท และฟาร์มแกะใน ‘สวนผึ้ง’ จังหวัดราชบุรี รวมทั้งที่จังหวัดน่าน วังน้ำเขียว หรือแม้แต่ในจังหวัดอุทัยธานีก็มีรีสอร์ทที่เคลมชื่อนี้ไปด้วยเช่นกัน ในกรณีแบบนี้ เราควรจะมีภาพจำอย่างไร? แต่ที่หนักไปกว่านั้นคือ ‘มัลดีฟส์เมืองไทย’ ฉายาที่แพร่สะพัดไปแทบจะทั่วประเทศ ขอเพียงคุณมีที่พักยื่นลงไปในน้ำเท่านั้น แดนสวรรค์อย่างมัลดีฟส์ก็อยู่ไม่ไกลอีกต่อไป แต่เมื่อได้ไปสัมผัสแล้ว สิ่งที่เคลมว่าเหมือน ว่าใช่นั้นจะเหมือนต้นฉบับจริงๆ ไหม?

รีสอร์ทใน ต.เกาะพยาม จ.ระนอง / รีสอร์ทใน จ.กาญจนบุรี / รีสอร์ทในมัลดีฟส์
Photo Credit: Chillpainai / Tripgether / Maldiveslover

ที่ว่าเหมือน เหมือนจริงไหม?

การที่ชื่อของ ‘มัลดีฟส์’ ประเทศที่มีลักษณะเป็นหมู่เกาะปะการังมากมายในคาบสมุทรอินเดีย จะถูกนำมาโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวในแถบที่ติดทะเลของบ้านเรา ก็ยังพอเข้าใจได้ แต่บางครั้งเรากลับเจอว่า มัลดีฟส์ถูกโยงไว้กับแหล่งน้ำจืดอย่าง เขื่อน หรือแม่น้ำ ซึ่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการดึงกิมมิกของต่างประเทศมาใช้ ‘โยงไปเรื่อย’ มากไปเสียหน่อยหรือเปล่า?

อีกหนึ่งตัวอย่างของการโยงชื่อจากต่างบ้านต่างเมือง มาใช้เป็นกลยุทธ์โปรโมทการท่องเที่ยว ที่ดูจะไม่ค่อยเมกเซนส์เท่าไรนัก คงหนีไม่พ้น ‘ฟูจิเมืองเลย’ หรือ ‘ฟูจิเมืองไทย’ พูดถึงชื่อนี้ หลายๆ คนก็คงจะพอเข้าใจได้ว่า มันหมายถึง ‘ภูหอ’ ที่อยู่ในจังหวัดเลย แต่มันเทียบกันได้จริงๆ หรือ? เพราะถ้าเราดูดีๆ ‘ฟูจิ’ ที่คนพูดถึงกันนั้น คือชื่อเรียกของ ‘ภูเขาไฟ’ ที่ตั้งอยู่บนเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในแลนด์มาร์กที่เป็นภาพจำมากที่สุดของแดนปลาดิบ และภาพที่น่าจะอยู่ในหัวของใครหลายๆ คน ก็คงจะเป็นภาพของ ‘ภูเขาไฟทรงกรวย’ ที่ยอดเขาถูกปกคลุมด้วยหิมะจนขาวโพลน ตระหง่านอยู่เบื้องหลังทะเลสาบ และทะเลหมอกสีขาว แต่เมื่อพูดถึง ‘ภูหอ’ วนอุทยานใน ต.ภูหอ อ.ภูหลวง จ.เลย ภูเขาลูกนี้มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ต่างออกไปจากฟูจิอย่างสิ้นเชิง เพราะมันคือ ‘ภูเขายอดตัด’ หรือ ‘ภูเขารูปโต๊ะ’ ไม่ใช่ภูเขาทรงกรวยอย่างในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งลักษณะภูมิอากาศของบ้านเรา ก็ไม่มีทางที่ยอดภูเขาจะถูกปกคลุมด้วยหิมะได้อย่างภาพจำจากต้นแบบ ถึงเราจะไม่มีข้อกังขาใดๆ กับความงามของภูหอ แต่การเอาไปเทียบกับภูเขาไฟฟูจินั้น อาจจะดูพยายามมากไปสักนิด

แกรนด์แคนยอน หางดง จ.เชียงใหม่ / แกรนด์แคนยอนระนอง / ผาช่อ อุทยานแห่งชาติแม่วาง จ.เชียงใหม่ / แกรนด์แคนยอน
Photo Credit: The Post Stories / การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย / Wikipedia / Outside Online

มีบ้างไหมที่เรียกว่า ‘เหมือน’ ได้ โดยไม่ต้องพยายาม?

ใช่ว่าเมืองไทยจะมีแต่การตลาดที่โยงไปเรื่อยเปื่อยเท่านั้น เพราะก็มีบางแลนด์มาร์กในบ้านเราที่พอจะเชื่อมโยง และเห็นภาพใกล้เคียงกันได้ เช่น ‘แกรนด์แคนยอนเมืองไทย’ ชื่อนี้ถูกเอาไปโยงไว้กับ ‘แกรนด์แคนยอน’ หน้าผา และหุบเหวลึกในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่เกิดจากอิทธิพลของแม่น้ำโคโลราโด ซึ่งในบ้านเราเองก็มีหลายที่ๆ ถูกขนานนามด้วยฉายานี้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกที่ๆ จะใกล้เคียงกับสถานที่ต้นฉบับ เพราะส่วนหนึ่งของแกรนด์แคนยอนในเมืองไทย มักจะถูกใช้เรียกสถานที่ๆ เกิดจากมนุษย์สร้างขึ้น อย่าง ‘แกรนด์แคนยอนเชียงใหม่’ ก็เป็นบ่อดินที่เกิดจากการขุดหน้าดินขาย จนเป็นสภาพเว้าแหว่ง เมื่อมีฝนตกลงมาขังในพื้นที่ จึงทำให้ดูคล้ายแกรนด์แคนยอน หรือ ‘ระนองแคนยอน’ ที่เกิดจากการฉีดน้ำใส่ภูเขาหิน ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอดีต ซึ่งคงต้องเรียกว่ามันเป็นพื้นที่ๆ (บังเอิญ) กลายเป็นแคนยอนเพราะฝีมือมนุษย์ แต่เราก็มีแคนยอนธรรมชาติอย่าง ‘ผาช่อ’ ในอุทยานแห่งชาติแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ผาหินสูงที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติจากการกัดเซาะ และการก่อตัวของตะกอนแม่น้ำปิง เป็นเวลาหลายพันปี ถึงจะไม่ได้มีหน้าตาเหมือนแคนยอนจากฝั่งอเมริกาแบบเป๊ะๆ (เป็นผลจากลักษณะภูมิประเทศ การกัดเซาะของน้ำ และการสะสมของตะกอนดิน) แต่ก็นับว่าใกล้เคียงทั้งในแง่ของรูปแบบการเกิด และรูปร่างหน้าตา

อุโมงค์พญาเสือโคร่ง ต.แม่วิน จ.เชียงใหม่ / อุโมงค์ดอกซากุระ Izu Highland, Shizuoka
Photo Credit: Unseen Tour Thailand / Japan Web Magazine

อีกหนึ่งกิมมิกส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เรียกว่าเคลมได้ถูกต้อง คงต้องยกให้ ‘ซากุระเมืองไทย’ ที่มีจุดให้ชมอยู่หลายแห่งทั่วภาคเหนือ ทั้งเชียงใหม่ เลย แม่ฮ่องสอน และจังหวัดอื่นๆ จนกลายเป็นหนึ่งกิจกรรมยอดฮิตช่วงฤดูหนาว ที่คนต้องพากันไปเดินชม ถ่ายรูปดื่มด่ำบรรยากาศ และความงามของ ‘ต้นพญาเสือโคร่ง’ ต้นไม้ใหญ่ที่ออกดอกสีชมพูเต็มต้น สมชื่อ ‘ซากุระ’ ซึ่งต้นพญาเสือโคร่งนั้นก็เป็นต้นไม้ในสกุล Prunus เช่นเดียวกับต้นซากุระของญี่ปุ่น และต้นไม้ตระกูลเชอร์รีสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งจะเคลมว่าต้นพญาเสือโคร่งเป็นซากุระเมืองไทย ก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลย

กลยุทธ์การตั้งฉายาเปรียบเทียบสถานที่ท่องเที่ยวกับแลนด์มาร์กในต่างบ้านต่างเมือง ไม่ได้มีเพียงแค่ในเมืองไทยเท่านั้น เพราะหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็มีเช่นกัน อย่างเช่น ‘Paris’ เมืองหลวงแห่งแฟชั่น ก็ถูกเอาไปขนานนามเมืองต่างๆ อีกเป็นสิบเมือง จนเกิดฉายา ‘Paris of The West’ ที่ใช้เรียกเมือง บัวโนสไอเรสของอาร์เจนตินา, ซินซินนาติ เดนเวอร์ ซานฟรานซิสโก และดีทรอยต์ในอเมริกา, เมอริด้าในเม็กซิโก และมอนทรีออล แคนาดา นอกจากนี้ยังมี Paris of The East, The North และ The South อีกด้วย หรือจะเป็นเมือง Khajjiar และ Jaipur ที่ได้ชื่อว่าเป็น ’สวิตเซอร์แลนด์ และปารีสของอินเดีย’ รวมไปถึงประเทศจีนซึ่งนับว่าเป็นเจ้าของกลยุทธ์นี้เลยก็ว่าได้ เพราะแลนด์มาร์กสวยๆ จากทั่วโลก แทบจะถูกจำลองไปรวมอยู่ที่นั่นหมดแล้ว ในสหรัฐอเมริกาเอง ก็ยังมีการใช้กลยุทธ์นี้เพื่อเรียกนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ เขตการปกครอง Ouray ในรัฐโคโลราโด ที่ใช้ฉายาว่า ‘Switzerland of USA’ ซึ่งดูเหมือนว่า ปารีส และสวิตเซอร์แลนด์จะเป็นสถานที่ยอดนิยมในการตั้งฉายาโปรโมทการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก แต่การใช้ฉายานี้ จะเป็นการสร้างภาพจำ หรือการทำลายความเป็นตัวตนของสถานที่นั้นๆ กันแน่?

ตำนานพื้นบ้านพญาช้าง นางผมหอม
Photo Credit: Global Holiday TH / ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนหนองบัว

‘สร้างภาพจำ’ หรือ ‘ทำลายตัวตน’ ?

สิ่งน่าสนใจที่เราอยากชวนทุกคนมาคิดไปด้วยกันคือ เราจำเป็นต้องเคลม หรือหยิบยืมกิมมิกจากที่อื่นๆ มาสร้างภาพจำให้กับสถานที่ท่องเที่ยวของเราจริงๆ ไหม? ในเมื่อบางสถานที่ก็แทบจะไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงกันเลยเสียด้วยซ้ำ การที่เราเอาภาพของแลนด์มาร์กต่างประเทศมาแปะติดไว้ กำลังทำให้ตัวตนของสถานที่นั้นๆ หายไปหรือไม่? ยกตัวอย่างเช่น ภูหอ ที่นอกจากจะไม่คล้ายภูเขาไฟฟูจิแล้ว ที่นั่นยังมีตำนานเมืองอย่างเรื่อง ‘พญาช้าง และนางผมหอม’ ซึ่งสามารถหยิบมาสร้างเป็นกิมมิกได้ และสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นกลยุทธ์โปรโมทการท่องเที่ยวได้ อย่างโมเดลของประเทศญี่ปุ่น ที่หยิบนิทานพื้นบ้านมาเล่าใหม่ในรูปแบบของสินค้า พิพิธภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยว โดยไม่ต้องเกาะอยู่กับความเฟื่องฟู หรือชื่อเสียงของที่เที่ยวเมืองนอกเลย

เขื่อนรัชชประภา (กุ้ยหลินเมืองไทย) / แม่น้ำหลีเจียง กุ้ยหลิน
Photo Credit: Fastbatt / klook

อีกหนึ่งชื่อที่หลายคนคุ้นหูคงจะเป็น ‘กุ้ยหลินเมืองไทย’ อีกภาพจำที่ทำให้ ‘เขื่อนรัชชประภา’ โด่งดัง และมีผู้คนเข้าไปชมความงามของภูเขาหินที่โอบล้อมด้วยแผ่นน้ำ แต่ภาพจำนั้นกลับค่อยๆ กลืนกินตัวตนของมันไป และชื่อจริงๆ ของสถานที่นั้นกลับเป็นที่รู้จักน้อยกว่าฉายาไปเสียแล้ว เทียบกับ ’หมู่บ้านรักไทย’ ในแม่ฮ่องสอน หมู่บ้านของชาวจีนยูนนานที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย ซึ่งมีทั้งวัฒนธรรมร่วมอย่างสิ่งปลูกสร้าง อาหาร และผู้คนอยู่ตรงนั้น แต่ก็ไม่ได้มีการขนานนามว่าเป็น ‘ยูนนานเมืองไทย’ เพื่อจะเรียกผู้คนให้มาท่องเที่ยวแต่อย่างใด แต่ก็ยังได้รับความนิยม และเป็นที่รู้จักอยู่ดี ดังนั้นก็เป็นสิ่งที่น่าคิดว่า จริงๆ แล้วเราควรจะทิ้งเรื่องราวของสถานที่หนึ่งไว้ข้างหลัง แล้วสร้างกิมมิกใหม่ด้วยการเป็นเงาของเมืองนอกจริงหรือ?

ผลสุดท้ายจะได้ หรือจะเสีย?

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า กลยุทธ์นี้ได้ผลจริง และมันไม่ได้เวิร์กแค่กับคนไทย แต่ในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติเองก็ยังใช้ฉายาเหล่านั้นเป็นคำค้นหาบนเสิร์ชเอนจินต่างๆ อย่าง Google หรือ Yahoo! และเมื่อกลยุทธ์นี้สามารถดึงนักท่องเที่ยวมาได้ มันก็ย่อมส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องอาชีพ และเม็ดเงินในพื้นที่โดยรอบแหล่งท่องเที่ยวนั้น ชาวบ้าน หรือธุรกิจโลคัลก็จะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย เพราะยิ่งมีคนเข้าไปท่องเที่ยว และใช้ชีวิตมากเท่าไร เศรษฐกิจก็ยิ่งก้าวไปได้มากขึ้นเท่านั้น แต่มันจะดีจริงๆ หรือได้แค่ฉาบฉวยกันแน่?

หากมองในอีกมุมหนึ่ง การที่แหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งบูมขึ้นมา มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น มีคนแวะเวียนเข้าไปมากขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่จะมีบางคนอยากจะหยิบฉวยเอาโอกาสที่เกิดขึ้นมาแล้ว กอบโกยให้ได้มากที่สุด ทำให้ไม่แปลกเลยที่สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตต่างๆ จะรายล้อมไปด้วยอาหาร สิ่งอุปโภคบริโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ราคาสูงกว่าปกติ สิ่งที่ตามมาในท้ายที่สุดก็คือ ความนิยมที่ถดถอยลง และการพังทลายของธุรกิจโดยรอบแบบเป็นทอดๆ

Photo Credit: DW

พูดถึงการพังทลาย การมีคนเข้าไปเที่ยวในสถานที่แห่งหนึ่งมากๆ เราย่อมได้เห็นพฤติกรรมบางอย่างที่ทำลายสภาพแวดล้อมให้เสียหาย (แม้จะมีกฎระเบียบ หรือแม้แต่กฎหมายห้ามไว้แล้วก็ตาม) ซึ่งการปั่นกระแสการท่องเที่ยวขึ้นมา ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืน สุดท้ายเมื่อหมดความงาม หมดความสนใจ ก็เหลือไว้เพียงสถานที่ และธุรกิจที่ค่อยๆ พังลง ยังไม่รวมถึงการที่นายทุนพยายามเข้าไปกอบโกย สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อตามใจนักท่องเที่ยว จนสุดท้ายก็ไปเบียดเบียนชุมชนท้องถิ่น และธรรมชาติ

ท้ายที่สุดแล้วทุกกลยุทธ์ ทุกแผนการตลาดมีทั้งข้อดี และข้อเสียของมันทั้งนั้น อยู่ที่ว่าคนที่หยิบมาใช้จะเข้าใจถึงผลของมันอย่างรอบด้านแค่ไหน และคนที่กำลังถูกเชื้อเชิญด้วยการตลาดนั้นๆ จะรู้เท่าทันมันเพียงใด การมีคนเข้าไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของคำว่า ‘รับผิดชอบ’ ด้วยเช่นกัน และมันไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบของทุกๆ ฝ่าย ทั้งคนที่ทำการตลาดกับการท่องเที่ยว คนที่ทำธุรกิจในพื้นที่ (ไม่ว่าจะภาครัฐ หรือเอกชน) รวมไปถึงนักท่องเที่ยวด้วย