Culture

‘ลิปสติกสีแดง’ สวย ทรงพลัง และยังใช้เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง

Photo credit: Coveteur

ในช่วงที่กระแสการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางการเมืองในประเทศไทยกำลังร้อนแรง หลายๆ คนคงจะเคยเห็นเยาวชนผูกโบว์สีขาวไว้ที่ผมหรือกระเป๋านักเรียน เพื่อแสดงถึงอุดมการณ์ว่าจะไม่ยอมตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม แต่รู้หรือไม่ว่าในอดีตจนถึงปัจจุบัน การแสดงจุดยืนในลักษณะนี้ก็ยังมีอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือการทา ‘ลิปสติกสีแดง’ เพื่อบอกผู้ที่มองเห็นว่า “ฉันต่อต้านความไม่เท่าเทียมและความรุนแรงทางเพศ รวมถึงเผด็จการ”

สีแดงเป็นสีที่มีหลากหลายความหมายในเชิงจิตวิทยามาตั้งแต่ไหนแต่ไร มันสื่อได้ทั้งความโรแมนติก ความรุ่มร้อน ความกล้าหาญ ความอันตราย เซ็กซ์ สงคราม เลือด ไฟ ฯลฯ และที่สำคัญคือ สีนี้เปี่ยมไปด้วย ‘พลัง’ หลายๆ คนคงสังเกตได้จากการที่ผ้าคลุมของราชวงศ์จนไปถึงซูเปอร์แมนต่างก็เป็นสีแดง ตัวร้ายอย่าง ‘ครูเอลล่า เดอ วิล’ (Cruella de Vil) เองก็สวมใส่ถุงมือและเสื้อโค้ทสีแดงสด ดูเผินๆ อาจจะไม่มีอะไร แต่การใช้สีแดงในหลายๆ ครั้งก็มีนัยยะสำคัญแฝงอยู่ด้วย กับการสร้างบุคลิกให้กับผู้สวมใส่ให้ดูน่าเกรงขามทั้งที่โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

Photo credit: Wikimedia Commons / DC / Entertainment.ie

เมื่อสีนี้กลายเป็นเฉดลิปสติกและทาลงบนริมฝีปาก แน่นอนว่าความหมายของมันก็ไม่ได้เปลี่ยนไป ถึงแม้ว่าหลายๆ ครั้งผู้หญิงจะถูกมองว่าเซ็กซี่และเฟียร์สเมื่อทาลิปสติกสีแดง เมื่อเปลี่ยนบริบทมาเป็นการทาลิปฯ เฉดนี้ในม็อบเพื่อการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียม สีแดงที่ร้อนแรงก็ได้กลายเป็นสีแห่งพลังและการต่อต้านของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรี 

บทบาททางการเมืองและการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิต่างๆ 

(ภาพสีของขบวนการสตรีซัฟฟราเจ็ตต์ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1912) Photo credit: Insider

ในหนึ่งเหตุการณ์บนหน้าประวัติศาสตร์อย่างขบวนการเรียกร้องสิทธิเลือกต้ังของสตรี ‘ซัฟฟราเจ็ตต์’ (Suffragette) ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1912 ลิปสติกสีแดงก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ เมื่อ ‘อลิซาเบธ อาร์เดน’ (Elizabeth Ardern) เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางและน้ำหอมเลื่องชื่อ แจกลิปสติกสีแดงให้กับเหล่าผู้หญิงที่มาร่วมเดินขบวนนี้ในนิวยอร์กด้วยจุดยืนของเธอที่สนับสนุนสิทธิสตรี แกนนำของขบวนอย่าง ‘อลิซาเบธ เคดี้ สแตนตัน’ (Elizabeth Cady Stanton) และ ‘ชาร์ล็อตต์ เพอร์กินส์ กิลแมน’ (Charlotte Perkins Gilman) ก็ได้ผุดไอเดีย นำลิปสติกสีแดงขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ของซัฟฟราเจ็ตต์ เพราะสีแดงบนริมฝีปากได้สร้างความตกตะลึงให้กับผู้ชาย ด้วยความที่การแต่งหน้าทาปากในยุคนั้นถือว่าไม่สุภาพเป็นอย่างมาก ลิปสติกเฉดนี้จึงได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านและเสรีภาพในเวลาต่อมา แถมยังสร้างคอนเซ็ปต์ของ ‘ผู้หญิงโมเดิร์น’ ในยุคนั้นขึ้นมาอีกด้วย

Photo credit: Per Purr

“ไม่มีสัญลักษณ์ไหนที่จะสมบูรณ์แบบต่อขบวนการซัฟฟราเจ็ตต์มากไปกว่าลิปสติกสีแดงอีกแล้ว ไม่ใช่แค่เพราะมันทรงพลัง แต่มันคือความเป็นผู้หญิง” – ‘ราเชล เฟลเดอร์’ (Rachel Felder) ผู้เขียนหนังสือ ‘Red Lipstick: An Ode to a Beauty Icon’

พอมาถึงยุคสงครามโลกครั้งที่สองในช่วงปี ค.ศ. 1939-1945 ลิปสติกสีแดงก็ได้กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง จากการที่ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ (Adolf Hitler) ผู้นำพรรคนาซีเกลียดลิปสติกมาก เพราะเขาเป็นมังสวิรัติและได้รับแรงบันดาลใจมาจากอารยธรรมอารยันที่ผู้หญิงต้องดู ‘บริสุทธ์’ อยู่เสมอ ในยุคที่นาซีเป็นใหญ่ในประเทศเยอรมนี ภาพลักษณ์ของผู้หญิงเยอรมันในอุดมคติจึงต้องมีความสะอาดและไม่มีเครื่องสำอางใดๆ อยู่บนใบหน้า โดยเฉพาะเครื่องสำอางอย่างลิปสติกที่ทำมาจากไขมันสัตว์ที่ฮิตเลอร์เกลียดเป็นอย่างยิ่ง

Photo credit: Duke Digital Repository / IRK Magazine / Shirley Fashion / xoVain

ความเกลียดชังลิปสติกของฮิตเลอร์ได้จุดไอเดียฝั่งสัมพันธมิตรในการสนับสนุนให้ผู้หญิงทาลิปสติกสีแดงเพื่อแสดงความแข็งแกร่ง ต่อต้านเผด็จการ และผลักดันให้เหล่าสตรีออกมารับใช้ชาติด้วยการทำงานเป็นช้างเท้าหน้าแทนผู้ชายที่ออกไปรบในต่างแดน สื่อและแบรนด์สินค้าความงามต่างๆ ในตอนนั้นก็ได้ออกใบปลิวโฆษณามากมาย ตั้งแต่ “Keep Your Beauty on Duty!” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงหญิงสาวปากแดงในชุดทหาร โปรโมตให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงออกมาทำงาน ดูสวย ทันสมัย เป็นที่นิยม เหล่าแบรนด์อย่าง Elizabeth Arden, Bésame และ Tussy ก็ได้ผลิตลิปสติกสีแดงโดยตั้งชื่อว่า Montezuma Red, Victory Red, Fighting Red ฯลฯ ที่สื่อถึงชัยชนะและการต่อสู้ เป็นการเสริมสร้างพลังความกล้าให้กับผู้สวมใส่ และหากมองผ่านเลนส์ชนชั้นผู้นำของประเทศ การใช้ลิปสติกสีแดงบนสื่อทางอ้อมเช่นนี้ อีกนัยหนึ่งก็อาจเป็นการกระตุ้นผู้หญิงให้มีความสำนึกรักในประเทศชาติได้อีกด้วย

Photo credit: Newsspeak

เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยไป ลิปสติกสีแดงก็ได้ถูกใช้เพื่อแสดงจุดยืนมากยิ่งขึ้น ในปี ค.ศ. 2012 แคมเปญ ‘Red My Lips’ (พ้องเสียงกับประโยค read my lips แปลว่า อ่านปากฉัน) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นจากความคิดของ ‘ดาเนียล แทนซิโน่’ (Danielle Tansino) หญิงสาวผู้ผ่านประสบการณ์การข่มขืนและถูกปฏิเสธการฟ้องร้อง เธอสร้างแคมเปญนี้เพื่อกระจายความตระหนักแก่สังคมในเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศ โดยผู้ที่เข้าร่วมทั้งชายและหญิงต้องทาลิปสติกสีแดงตลอดเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนแห่งการตระหนักรู้ด้านการคุกคามทางเพศ (Sexual Assault Awareness Month) เหตุผลที่ต้องเป็นลิปสติกสีแดง ก็เพราะผู้หญิงที่ทาลิปสติกเฉดนี้มักจะถูกมองว่า ‘ยั่วยวน’ ซึ่งผู้กระทำส่วนมากจะนำความน่าดึงดูดมาอ้างว่าตนทำไปเพราะอีกฝ่าย ‘อ่อย’ ก่อน และเป็นการโทษเหยื่อไปโดยปริยาย ซึ่ง Red My Lips ต้องการที่จะลบชุดความคิดนั้น ดาเนียลกล่าวว่าการใช้ลิปสติกสีแดงในแคมเปญของเธอ “เป็นวิธีที่ปลอดภัยในการสร้างความตระหนัก สร้างความสามัคคี แสดงการสนับสนุนต่อเหยื่อ และต่อต้านความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการข่มขืนและการกล่าวโทษเหยื่อ”

(แคมเปญ #IAM) - (การประท้วง #SoyPicoRojo) Photo credit: Brand South Africa / La Prensa

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีและเสรีภาพที่ใช้ลิปสติกสีแดง เช่น แคมเปญ #IAM ที่สนับสนุนให้ผู้ชายออกมาทาปากแดงเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการทำร้ายผู้หญิงและเด็ก รวมถึงการประท้วงในประเทศนิการากัว ปี ค.ศ. 2018 ที่ทั้งชายและหญิงต่างโพสต์รูปตัวเองทาลิปสติกสีแดงในแฮชแท็ก #SoyPicoRojo เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และต่อต้านรัฐเผด็จการของ ‘ดาเนียล ออร์เทก้า’ (Daniel Ortega) โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการใช้ลิปสติกสีแดงเป็นสัญลักษณ์ในการท้าทายรัฐบาลของนักเคลื่อนไหว ‘มารเล็น ชอว์’ (Marlén Chow)

นักการเมืองหญิงกับการแสดงอำนาจผ่านลิปสติกสีแดง

(อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ) - (ช่อ – พรรณิการ์ วานิช) - (มาร์กาเร็ต แทตเชอร์)
Photo credit: Daily Mail / RTL / Post Today

เชื่อว่าสำหรับผู้ที่มีบทบาทสำคัญในรัฐสภา แทบจะทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขาทำล้วนเกี่ยวข้องกับการเมือง แม้กระทั่งในการแต่งหน้าแต่งตัวก็ตาม ‘มาร์กาเร็ต แทตเชอร์’ (Margeret Thatcher) สตรีเหล็กอดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ‘อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ’ (Alexandria Ocasio-Cortez) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา และ ‘ช่อ – พรรณิการ์ วานิช’ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า พวกเธอมักจะปรากฏตัวในลุคริมฝีปากแดงอยู่บ่อยครั้ง และอย่างที่รู้กันว่าสีแดงนั้นสื่อถึงพลังอำนาจได้อย่างชัดเจน เป็นไปได้ว่าการทาลิปสติกสีแดงของนักการเมืองหญิงเหล่านี้ อาจจะเพื่อเพิ่มความจริงจังและเคร่งขรึมให้กับรูปลักษณ์ สร้างบุคลิกที่ดูน่าเชื่อถือ โดยยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์ของสตรีเพศ

สำหรับโอคาซิโอ-คอร์เตซ เธอเคยได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเบื้องหลังการทาลิปสติกสีแดงเป็นประจำเอาไว้ว่า “หนึ่งในเหตุผลที่ฉันเริ่มทาลิปสติกสีแดง ก็เพราะว่าตอนที่อยู่ในช่วงการเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรก และยังไม่มีใครรู้จักฉันสักเท่าไหร่ เราต้องทำให้แน่ใจว่าประชาชนได้รับการรับฟัง ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ฉันนึกขึ้นได้ระหว่างที่วิ่งไปมา (เพื่อหาเสียง) นั้น บางครั้ง ทางที่เยี่ยมที่สุดที่จะทำให้ดูดีได้ก็คือการมีริมฝีปากเด่นชัด” นอกจากนี้ โอคาซิโอ-คอร์เตซยังเสริมอีกด้วยว่าริมฝีปากสีแดงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมละติน เธอจึงจะทาลิปสติกสีแดงเมื่อต้องการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง

แน่นอนว่าการทาลิปสติกสีแดง ไม่เพียงแค่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจเท่านั้น แต่มันยังแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของการยืนหยัดเพื่อสิทธิ ผ่านการแสดงออกที่เสรี เป็นสันติวิธี และไม่แบ่งแยกเพศ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เครื่องสำอางไม่ได้ถูกผูกไว้กับเพศใดเพศหนึ่ง แม้ว่าบางครั้ง ลิปสติกสีแดงจะยังถูกมองว่าไม่สุภาพอยู่บ้าง มันก็จะยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งพลัง ความมั่นใจ และการต่อต้านอย่างสันติที่สดใสงดงามอยู่เสมอ

อ้างอิง

CNN

Medium

IRK Magazine

Allure

The Tico Times

Cosmopolitan