“สะเดิด” ความไทยที่ถูกนำมาเล่าเรื่องใหม่ผ่านศิลปะงานเรซิ่น

ศิลปะ เป็นเครื่องบำบัด เยียวยาจิตใจ ทั้งตัวผู้ชมและศิลปินเอง Resindrome โรคเสพติดเรซิ่น กับช่วงเวลากว่า 15 ปี ที่ “โนะ - พิจารณ์ วราหะ” ใช้เวลาอยู่ร่วมกับเรซิ่นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต รู้สึกเติมเต็มเมื่อได้อยู่ในห้วงของจินตนาการ กลายเป็นงานหล่อเรซิ่นน่ารัก สดใส สีสันสะดุดตา 

มันคือจริตของคนไทย

“เราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในเขตร้อนชื้น จริตคนไทยลึกๆ ก็คือสีที่มันฉูดฉาด ลูกทุ่ง เวทีลิเก แต่อยู่ๆ ก็มีคนไปตีความมันว่าเป็นสีไซคีเดลิค ซึ่งถ้ามองจริงๆ เราโตมากับสีพวกนี้เลย ความสะเดิดอะไรบางอย่าง ผมเริ่มต้นการทำงานนี้ด้วยความสะเดิดพวกนี้ เราต้องคำนึงถึงคู่สีไหม ในเมื่อผ้าขาวม้ายังไม่คู่สีเลย แต่มันคือความงาม ความไม่เป็นระเบียบบางอย่าง มันมีสเน่ห์ของมัน โดยที่คนรอบตัวไม่เห็นมันเลย”

ความสะเดิดบ่งบอกอะไรบ้าง

“มันคือความทะลึ่งบ่องใจในบางอย่าง”

Resindrome มันเหมือนการทดลองที่มาจากการตั้งโจยท์ง่ายๆ ว่า “What if” แล้วถ้าเอาสีทองแดงมาเจอกับเขียวนีออน ถ้าเรามองถึงความสวยงามแบบสากล คนทั่วไปก็คงไม่ได้คิดกันถึงคู่ที่เข้ากันไม่ได้เลยแบบนี้ มันควรจะเป็นคู่สีที่ลงตัวสิ แต่ไม่ใช่ในแบบที่คุณโนะมอง ฟังแล้วรู้สึกเหมือนได้เห็นว่าตัวเองก็กำลังถูกกรอบของความสวยงามแบบตายตัวตีเส้นให้ เพราะมันคือการมองผ่านและก้าวข้ามด้วยการตั้งคำถาม ทำไมจะทำไม่ได้?

สีสันจัดจ้านพวกที่เราเติบโตมากับมัน มองไปที่สีของเก้าอี้พลาสติก โต๊ะ ตะกร้าร้านยี่สิบบาท สีสันของมันไม่เคยที่จะลงตัวเลย แต่มันสะท้อนให้เห็นว่าในจริตของคนไทยเราคือ ความทะเล้น อารมณ์ขัน ความสนุกสนาน มันคือภาพของมนุษย์ป้าที่เต้นอยู่หน้าเวทีหมอลำ เราไม่ใช่คนที่นั่งฟังเสียงไม้ไผ่กระทบกัน วิถีเซนสงบเย็นอะไรแบบนั้น มันคือความสะเดิด

พอกลับมาคิดถึงชีวิตตัวเองและคนรอบข้าง เรากำลังถูกโลกใหม่บอกเราว่าสิ่งที่ดีคือโมเดิร์น เรียบ มินิมอล ด้วยสื่อหรือแบรนด์ต่างๆ ความเป็นคนไทยสีสันจัดจ้านฉูดฉาดเริ่มถูกพลิกให้มองว่าเป็นความไม่เข้ากัน ความไม่มีรสนิยม เพราะมันสะเดิดเกินไปที่จะดูดี แต่คุณโนะกำลังบอกเราผ่านงานศิลปะเรซิ่นว่า คุณสามารถเป็นใครแบบไหนก็ได้ คุณเป็นตัวเองได้ เพราะลึกๆ แล้วจริตของเราอาจจะโหยหาความเยอะสิ่งอยู่ก็ได้

งานแฮนด์เมดก็คืองานศิลปะ 

งานแฮนด์เมดไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟค ไร้ตำหนิ ยกตัวอย่าง ถ้าของชิ้นนั้นออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม การเกิดรอยตำหนิมันคือความเสียหาย แต่ในการทำงานศิลปะมันคือเท็กซ์เจอร์ กับคนที่ชอบงานแฮนด์เมดจริงๆ เขาก็จะฉลองความผิดพลาดไปกับเรา

“ให้ความเป็นอาร์ตติส นำหน้าความเป็นธุรกิจ”

“ในวันที่โลกอนุญาตให้เราเป็นตัวเองมากขึ้นและยังนำมันมาใช้เป็นธุรกิจได้ด้วย เราก็ไม่จำเป็นต้องเอาใจใคร พอเราเริ่มหันมาเอาใจตลาดมากขึ้น ห้วงจินตนาการตรงนี้มันหายไป คือถ้าผมทำงานเสร็จแล้ว ผมให้เลยก็ยังได้ เพราะมันเสร็จแล้ว ผมจบกับมันไปแล้ว อยู่ที่คุณเลยว่าคุณจะให้ราคางานชิ้นนี้เท่าไร”

เหมือนกับว่าการทำงานเรซิ่นได้ดึงคุณโนะเข้าไปในห้วงของการอิ่มเอิมใจ บำบัดเยียวยา จนรู้สึกจบโดยสมบูรณ์ด้วยความอิ่มเต็ม ที่ถึงแม้จะต้องตั้งราคาก็ไม่รู้ว่าจะต้องกำหนดที่เท่าไร เพราะในใจของศิลปินเองก็ได้รับความจรรโลงใจจากการสร้างงานศิลปะไปแล้ว อยู่ที่ว่าคนชมงานจะให้คุณค่ากับงานชิ้นนี้มากแค่ไหน

ค้นพบอะไรบ้างไหมในช่วงสถานการณ์โควิด-19

“มีความสุขมากเลย ตอนนี้อาจจะต้องเช่าโกดังแล้ว หล่อไม้แขวนเสื้อ โต๊ะ เต็มบ้านไปหมด อยู่กับมันจนไม่รู้ตัวว่าหมดไปแล้วหนึ่งวัน”

ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่สู้ดี การทำงานศิลปะช่วยให้จิตใจได้หลบหลีกจากความเจ็บปวด ได้ทดลองและค้นพบตัวเองในแบบที่โลกก่อนหน้าให้เราไม่ได้ เพราะถูกสถานการณ์บังคับให้เราอยู่กับตัวเองมากขึ้น มันกลายเป็นจุดศูนย์รวมความหลงใหล ความชื่นชอบ ความคิดสร้างสรรค์สำหรับใครหลายคน

ในช่วงเวลาอย่างนี้ Resindrome ได้หยุดพักเพื่อให้ผู้คนได้หันไปจับจ่ายใช้สอยในด้านอื่นๆ ก่อนที่จะมาหยิบซื้อชิ้นงานศิลปะเพื่อความจรรโลงใจ คุณโนะกลับไปค้นหาความเป็นไปได้อื่นๆ อยู่กับมันจนได้เห็นความหลากหลายมิติด้วย “สะเดิด” จริตแบบคนไทย เป็นงานศิลปะที่ศิลปินใช้เวลาอยู่กับชิ้นงานจนได้ออกมาซึ่งผลงานที่เป็นตัวเองในรูปแบบใหม่ คิดว่าเราคงจะได้เห็นกันหลังจากสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น

ติดตามและชมผลงานเรซิ่นของโนะ พิจารณ์ ได้ที่

Facebook: Resindrome
Instagram: resindrome