“ถ้าชอบรถคันไหนก็ซื้อ แต่ก่อนซื้อต้องมีความรู้ในรถที่จะซื้อด้วย ไม่ใช่ว่าไปซื้อมาแล้วเป็นทุกข์ ซื้อมาแล้วไม่ชอบ เราอยากให้เล่นรถแล้วมีความสุขไปกับมัน”
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในเรื่องของความเร็ว การแข่งรถ การเก็บสะสมรถ ย่อมคุ้นเคยกับชื่อ “เอส ระดับโลก” หรือชื่อจริงว่า คมสันต์ โหกลัด ว่าคนคนนี้ได้ฝากชื่อเสียงไว้หลากหลายรูปแบบไว้ในวงการคนเล่นรถของบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นการแข่งรถทั้งในรูปแบบของการแข่งควอเตอร์ไมล์ การแข่งเรซซิ่ง รวมไปถึงชื่อเสียงในการ Custom รถทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรถเก๋ง รถกระบะ รถตู้ รถมอเตอร์ไซค์ ที่ทำออกมาได้อย่างสมบูรณ์ตามสไตล์ “ระดับโลก Custom” ที่ไม่มีใครเหมือน
แต่สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย ลองมาทำความรู้จักแนวคิด และตัวตนของชายคนนี้จากบทสัมภาษณ์นี้กัน แล้วจะได้รู้ว่าแนวคิดของ “ตัวจริง” จากประสบการณ์ที่โชกโชนนั้นน่าสนใจมากขนาดไหน
จุดเริ่มต้นของความชื่นชอบในรถ
“ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กๆ เริ่มมาจากจักรยาน มอเตอร์ไซค์ จนมาถึงรถยนต์ ขยับมาตามอายุ ตอนเด็กๆ ผมเริ่มจากการทำรถ BMX ที่เอามาเปลี่ยนล้อ ทำนู่นทำนี่ไปเรื่อย แล้วเริ่มขยับมาที่มอเตอร์ไซค์ ซึ่งในช่วงวัยรุ่นที่ต้องมีทุกคน สำหรับการทำรถเพื่อออกไปขี่กับเพื่อนบนท้องถนน พออายุประมาณ 20 ปีก็ขยับมาที่รถยนต์ โดยเริ่มทำรถคันแรกเพื่อนำมาวิ่งคือ Honda City เครื่องเดิม 1500 cc เราก็ Set เทอร์โบเพิ่มเข้าไป ที่เรียกได้ว่าเป็นรถครู เริ่มเรียนรู้เรื่องรถยนต์จากรถคันนี้”
ความท้าทายบนสนามประลองความเร็ว
“เมื่อวิ่งถนนอยู่ได้ระยะหนึ่งก็ลองมาขับในสนามบ้าง เมื่อก่อนนั้นสนามยังมีน้อย ช่วงที่ทำ Honda city อยู่ก็เริ่มเอารถมาวิ่งที่สนาม MMC แถวปทุมธานี ซึ่งส่วนมากก็วิ่งควอเตอร์ไมล์ในรุ่นของรถบ้าน“
“การทำรถแข่งนั้นโดยส่วนตัวที่เป็นคนชอบความเร็ว และอยากลองทำอะไรที่มันเป็นความชอบของเราจริงๆ เมื่อก่อนตอนเริ่มแข่งควอเตอร์ไมล์นั้นจะทำรถเล็กคือรถ 4 สูบ ขับหน้า เครื่องไม่ใหญ่ คือเป็นรถที่พื้นฐานไม่แรงโดยธรรมชาติ แต่พอเราเอามาทำให้รถมันแรงเกินขีดจำกัดของรถได้ความสนุกมันอยู่ตรงนั้น การเอารถเล็กไปไล่รถใหญ่ได้นี่คือความสนุก เอารถที่ชื่อชั้นด้อยกว่าไปสู้กับรถที่เหนือกว่า”
“ถึงแม้จะไม่ได้ชนะ แต่แค่เข้าไปอยู่ใกล้ๆ เค้าได้ แปะตูดเค้าได้ แค่นี้ก็ชื่นใจแล้ว เพราะเราสามารถข้ามขีดจำกัดของรถเราได้แล้ว เราชอบอารมณ์ตรงนั้นมากกว่า”
การทำรถต้องให้ใจ 1000%
“ตั้งแต่เริ่มทำรถในสมัยวัยรุ่นเรียกได้ว่าแทบจะกินนอนอยู่ในอู่เลย อยู่อู่รถมากกว่าอยู่บ้าน ตื่นขึ้นมาก็ไปอู่ ทำรถยันดึกดื่นข้ามวันข้ามคืน อยู่กับรถไม่ไปไหนเลย“
“ตั้งแต่สมัยที่ทำ Honda City นั้นก็เริ่มทำรถกับ Noi Eleven ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอู่ทำรถที่มีชื่อเสียงมาก เราโชคดีที่พี่ๆ ในอู่เค้าเอ็นดูเรา ทำให้เราได้อะไรหลายๆ อย่างติดตัวมา ความรู้ วิชาต่างๆ เกี่ยวกับการทำรถที่ติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ก็ได้ว่าจากที่นี่
นักสะสมรถตัวจริง
“การสะสมรถก็สะสมมาเรื่อยๆ ตามจังหวะ และโอกาส ในช่วงวัยรุ่นก็เริ่มจากเก็บรถมอเตอร์ไซค์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Vespa, MZ พวกรถอังกฤษเล็กๆ แล้วก็ขยับมาเป็นรถโฟล์คเต่า โฟล์คตู้ แล้วก็มาเป็นรถอเมริกัน ซึ่งเราก็เก็บตามกำลังที่มี เพราะเมื่อก่อนราคาแค่หลักหมื่นยังไม่สูงเหมือนตอนนี้ คือสะสมมาเรื่อยๆ ตามกำลัง และตามจังหวะ”
“ในตอนแรกยังไม่ได้ว่าจะเป็นคนที่สะสมรถ แค่เป็นคนที่ชอบรถ เราเห็นรถคันไหนแล้วชอบถ้ามีกำลังพอก็ซื้อขับไป สะสมไป พอขับไปซักพักรู้สึกว่าอิ่มกับรถคันนั้นแล้วก็ขายออกไป หารถคันใหม่เข้ามาแทน ขอแลกบ้างอะไรบ้าง เพิ่มเงินให้เค้าบ้าง เรียกว่าซื้อมาขายไป ในปัจจุบันรถที่สะสมอยู่ก็มีค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์ รถอเมริกัน รถโฟล์ค รถญี่ปุ่นยุค 90”
แนวคิดในการเก็บสะสมรถเพื่อเพิ่มมูลค่า
“สิ่งที่จำเป็นในการเล่นรถ หรือสะสมรถในอันดับแรกคือการหาความรู้เกี่ยวกับรถที่เราอยากได้ก่อน เมื่อก่อนเราก็เปิดหนังสือดู พอเริ่มมีอินเตอร์เน็ตก็เปิดดูในนั้น การจะซื้อรถต้องศึกษาก่อน เพราะการที่เราซื้อมาโดยไม่รู้จักมันดีพอบางครั้งเราอาจจะผิดหวังกับรถคันนั้นก็ได้ ในตอนนี้ราคารถค่อนข้างสูงมากกว่าสมัยก่อนเยอะมาก ถือว่าโชคดีที่เราสามารถซื้อไว้ได้ตอนที่ยังไม่แพง
“ยกตัวอย่างเช่นรถตู้โฟล์คหน้าวี เมื่อก่อนซื้อมาคันละ 70,000 บาท ขายไปได้ 120,000 บาท ซึ่งตอนนั้นดีใจมากกำไรครึ่งแสน เงินที่ได้ก็เอาไปดาวน์ Nissan Silvia เพื่อเอาไปทำรถซิ่ง แต่เมื่อไม่นานมานี้ประมาณ 3 – 4 ปีที่แล้วไปซื้อโฟล์คหน้าวีมา 650,000 บาท ซึ่งราคาในปัจจุบันตอนนี้ต้องล้านกว่าบาท ราคาไปไกลมาก การเข้ามาเล่นรถเก่าในตอนนี้เรียกได้ว่าต้องมีเงินพอสมควรเนื่องจากราคาสูง ค่าซ่อมแพง“
วัยเปลี่ยนรถเปลี่ยน
“ในช่วงหลังที่ไม่ได้แข่งรถก็เริ่มหันมาสนใจเรื่องการท่องเที่ยว เข้าป่า รถที่ได้มาในตอนหลังส่วนมากจะเป็นรถ Off Road 4x4 เพราะเรามองว่าการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้มีเสน่ห์ มีความสวยงามของธรรมชาติ อีกทั้งการขับรถ 4x4 เป็นเรื่องที่แปลกใหม่สำหรับเรา วิชาที่เรามีอยู่ในการขับรถแข่งไม่ว่าจะเป็นควอเตอร์ไมล์ หรือเซอร์กิตไม่สามารถนำมาใช้กับรถ 4x4 ได้เลย เราต้องมาหัดใหม่ทั้งหมดซึ่งนั่นคือรูปแบบหนึ่งของความท้าทายที่เราชอบ เราต้องมาเริ่มต้นที่ท่าทางในการนั่ง วิธีการจับพวงมาลัย การ Set up รถ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด”
“ในตอนนี้คือมีครอบครัว มีลูก แต่เรายังชอบการขับรถท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ชอบขับรถไปตั้งแคมป์ ก็เลยทำรถ Camper มาเพื่อที่เราสามารถจะได้ไปเที่ยวพร้อมๆ กันทั้งครอบครัว เพราะว่าลูกยังเล็กจะได้นอนสบายๆ ชีวิตครอบครัวกับความชอบเรื่องรถ เรื่องเที่ยวต้องไปด้วยกันให้ได้ เพราะว่าถ้าลูกไปไม่ได้ ลูกไปแล้วไม่สบาย เราก็ไปไม่ได้ ดังนั้นเราต้องทำให้ลูกไปกับเราได้”
ที่มาของคำว่า “ระดับโลก”
“คำว่า “ระดับโลก” นั้นมาจากการแซวกัน ล้อเล่นกันระหว่างเล่นเกมในของกลุ่มเพื่อนๆ จากนั้นพอตอนเราทำรถเพื่อลงแข่งเพื่อนก็ทำสติ๊กเกอร์ระดับโลกมาแปะให้ที่หน้ากระจกรถของเรา พิธีกรในสนามเห็นก็เรียก จนสุดท้ายกลายเป็นชื่อที่คนรู้จักเราว่า “เอส ระดับโลก”
การทำรถในสไตล์ระดับโลก
“เรียกว่าส่วนมากจะเป็นการทำลายรถมากกว่า เราเป็นคนที่ชอบในแบบไม่เหมือนใคร ชอบทำรถตามใจตัวเอง อย่างเช่นรถเก๋งถ้าจะเอามาทำต้องเตี้ยแบบว่าขับไม่ได้ ถ้ายกสูงก็ต้องสูงเลยใส่ยาง 40 นิ้วไปเลย โดยที่เราไม่ได้สนใจว่าคนอื่นจะมองเราทำรถสุดหรือไม่สุด แต่รถทุกคันที่ทำคือเราชอบของเราแบบนี้”
“มีรุ่นพี่สอนมาว่าการทำรถเนี่ยให้เรามายืนดูรถ เดินมองรอบรถ ถ้าเราชอบมันไม่มีข้อติดก็คือโอเค แต่ถ้าเรายังขัดใจ หรือว่ายังไม่ชอบมันก็คงจะหวังให้ใครมาชอบรถคันนั้นไม่ได้”
“เพราะว่าตัวเราเองยังมีส่วนที่ติดใจ หรือไม่ชอบในรถคันนั้นอยู่ ซึ่งสิ่งที่ทำได้คือรื้อใหม่ ทำเพิ่ม ทำทุกอย่างจนกว่าเราจะชอบรถคันนั้นโดยไม่มีข้อติดใจอะไรอีก”
สิ่งที่อยากฝากถึงเพื่อนพี่น้องร่วมวงการ
สำหรับเรานะแนวความคิดง่ายๆ เลยคือชอบก็ซื้อ แต่ก่อนซื้อต้องมีความรู้ในรถที่จะซื้อด้วย ไม่ใช่ว่าไปซื้อมาแล้วเป็นทุกข์ ซื้อมาแล้วไม่ชอบ เราอยากให้เล่นรถแล้วมีความสุขไปกับมัน ขับแล้วมีความสุข มีเพื่อน มีกลุ่ม ไม่ใช่จะเล่นรถได้รถมาแล้วเครียด ไม่มีความสุข