Culture

‘Saima Food Master’ อาหารแอฟริกัน สูตรต้นตำรับของชาวมาลี ที่ถ่ายทอดมากว่า 30 ปี ในครอบครัวไทย - ปากีสถาน ย่านบางรัก

สัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้ไปชิมอาหารแอฟริกันสไตล์โฮมเมดจากครอบครัวไทย - ปากีสถาน ที่เปิดมานานกว่า 24 ปี ‘Saima Food Master’ ร้านอาหารเล็กๆ บรรยากาศเป็นกันเอง ในย่านบางรัก ซึ่งในวันนี้เราก็มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘แจน’ – ไซม่า มูฮัมหมัด ลูกสาววัย 25 ปี ของเจ้าของร้าน ที่จะมาช่วยพาเราเดินย้อนเส้นทางของร้านอาหารแห่งนี้ พร้อมเดินทางสำรวจวัฒนธรรมอาหารแอฟริกัน ที่บอกได้เลยว่า ต้องเปิดในลองชิมสักครั้ง แล้วประสบการณ์ด้านอาหารของคุณจะเปลี่ยนไป

เรื่องราวเริ่มขึ้นจากลูกค้าชาวมาลี

ไซม่าเริ่มเล่าให้เราฟังว่า ร้าน Saima Food Master เป็นร้านอาหารปากีสถาน - แอฟริกัน ที่เปิดขึ้นมาโดยคุณพ่อของเธอที่เป็นชาวปากีสถาน และฝีมือปรุงอาหารของคุณแม่ที่เป็นคนไทย ซึ่งก็ทำให้เราสงสัยว่า ครอบครัวไทย-ปากีสถาน ทำไมถึงขายอาหารสัญชาติแอฟริกัน ซึ่งไซม่าก็ย้อนเล่าที่มาที่ไปของสูตรอาหารแอฟริกันของที่ร้านว่า

“คุณพ่อเป็นคนปากีสถาน คุณแม่เป็นคนไทย ซึ่งคุณแม่เรียนจบเกี่ยวกับการทำอาหารมา แล้วคุณแม่ก็เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตอนแรกก็ทำงานทั่วไปก่อน จนกระทั่งน้องสาวของคุณแม่เขามีสามีเป็นคนปากีสถาน (ตอนนั้นคุณแม่ยังไม่ได้เจอพ่อ) แล้วแฟนของน้องสาวแม่หนูเขาเปิดร้านอาหารปากีสถาน ช่วงนั้นเขาก็เลยอยากให้แม่หนูไปเป็นแม่ครัวให้ คุณแม่ก็เลยเข้าไปเป็นแม่ครัวให้ ตอนแรกก็มีแค่ลูกค้าปากีสถาน กับอินเดีย แต่ด้วยความที่ย่านนี้ (บางรัก) จะเป็นย่านที่มีทั้งคนไทย คนจีน อินเดีย ปากีสถาน แอฟริกันอยู่ เพราะเป็นย่านที่เขาทำ Jewelry กัน ก็เริ่มมีคนแอฟริกันมากินเยอะขึ้น แล้วเขาอยากกินอาหารบ้านเขา เขาก็เลยบอกคุณแม่กับน้องสาวว่า ‘ไหนๆ คุณก็เปิดร้านอาหาร คุณสนใจทำอาหารแอฟริกันไหม? เดี๋ยวจะสอนสูตรให้’ เขาก็เลยเริ่มสอนสูตรให้ ซึ่งเขาเป็นชาวมาลี สูตรอาหารที่สอนก็เลยจะเป็นสูตรอาหารแอฟริกันตะวันตก” แจนเล่า

แต่แล้ววันหนึ่งร้านที่แม่ของแจนเป็นแม่ครัวอยู่ก็ต้องปิดตัวลงเซ่นพิษเศรษฐกิจ ทำให้แม่ของแจนต้องเลิกบทบาทแม่ครัว และไปทำงานอื่นๆ ในย่านนั้น จนได้พบกับพ่อของแจน

“คุณพ่อเข้ามาทำงานที่ไทย และได้มาเจอกันกับคุณแม่ จนได้แต่งงานกัน ด้วยความที่สมัยนั้นยังไม่มีรายได้กันมากเลยต้องอาศัยอยู่อพาร์ตเมนต์ และทำงานรับจ้างไปเรื่อยๆ แต่พอเริ่มมีลูกคุณพ่อและคุณแม่เลยอยากทำงานที่มั่นคงขึ้น โชคดีว่าเจ้าของอพาร์ตเมนต์เป็นเพื่อนกับคุณแม่ เขาเลยให้ชั้นดาดฟ้าสำหรับทำอาหาร เพราะเหมือนบนดาดฟ้ามีส่วนที่เป็นครัวอยู่ เขาก็บอกว่า ทำอาหารขายเลย ทำบนดาดฟ้าได้เลย”

ร้านอาหารปากีสถาน - แอฟริกัน จึงเปิดขึ้นในย่านบางรักอีกครั้ง พร้อมกับเหล่าลูกค้าดั้งเดิมจากร้านเก่าที่คอยช่วยโปรโมทกันแบบปากต่อปาก จนพ่อและแม่ของแจนได้เงินทุนมาก้อนหนึ่งจึงได้เช่าตึกแถวต่อจากครอบครัวของน้องสาวแม่ของเธอ จนเป็น Saima Food Master อย่างที่เราได้เห็นกันในวันนี้

“ร้านนี้จดทะเบียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงตอนนี้ก็เปิดต่อเนื่องมายาวๆ เลย มันเกิดจากความที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเปิดอาหารแอฟริกัน แต่บังเอิญว่า ได้สูตรมาแล้วก็ทำขายไปเลยก็เลยทำยาวมาจนปัจจุบันเลย” แจนพูดถึงความบังเอิญที่ทำให้เกิดร้านอาหารปากีสถาน - แอฟริกันอายุ 24 ปีร้านนี้

ร้านอาหารที่เป็นเสมือนครอบครัว

เรามาถึงที่ร้านช่วง 16:00 น. ซึ่งก็มีลูกค้าผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าออกร้านอยู่เรื่อยๆ แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้เลยคือ บรรยากาศในร้านดูเป็นกันเองมากๆ คุณพ่อของแจนรับหน้าที่ต้อนรับลูกค้าที่เข้ามาในร้าน ราวกับทุกคนเป็นแขกที่แวะมาเยี่ยมเยียน ก่อนจะนั่งร่วมวงสนทนากับลูกค้าเหล่านั้น ราวกับเป็นสมาชิกในครอบครัว ซึ่งแจนก็อธิบายให้เราฟังว่า

“ถ้าพูดถึงผู้คนที่นี่จะมีหลากหลาย ด้วยความที่เราไม่ได้ขายแต่อาหารแอฟริกัน เราขายอาหารปากีสถานด้วย ก็จะมีแขกปากีฯ อัฟกานิสถาน อินเดีย รวมถึงลูกค้าคนไทยด้วย ลูกค้าคนแอฟริกันก็มีมาจากหลากหลายพื้นที่ พอเขามากินแล้วเห็นคนไทยนั่งกินอาหารบ้านเขา เขาก็แอบมอง แอบถามว่า 'คนไทยเขากินได้ไหม เขาอร่อยไหม' อะไรอย่างนี้ หรือแม่บ้านที่มีสามีต่างชาติ มีสามีแอฟริกัน เขาก็จะมาสั่งไปให้สามีกินด้วย” แจนเล่าถึงลูกค้าที่แวะเวียนมาในร้าน

แน่นอนว่าตลอดเวลายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา Saima Food Master ได้เปิดประตูต้อนรับแขกมากหน้าหลายตา หลากสัญชาติ หลากสีผิว แต่ทุกคนมาที่เนี่ยเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันคือ ‘การลิ้มรสอาหาร’ ที่ทำให้บางคนได้นึกถึงที่ๆ จากมา บางคนก็ได้ลองเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ตัวเอง ซึ่งไซม่าก็เล่าฟีดแบ็กจากลูกค้าให้เราฟังว่า

“หลายคนเขาก็บอกว่า รสชาติมันเหมือนที่กินที่บ้านเขาเลย ด้วยความที่สูตรมันมาจากมาลี หรือแอฟริกันตะวันตก บางคนที่เขาไม่ได้มาจากโซนนั้นก็จะมีฟีลลิ่งประมาณว่า มันไม่ค่อยเหมือนกับภาพจำของเขาเท่าไร แต่ว่าส่วนมากเขาจะบอกว่า เขากินแล้วเขานึกถึงของที่บ้านเขา บางคนเขามาจากประเทศเขา 20 - 30 ปีแล้วเขาไม่ได้กลับเลย เขาก็คิดถึงอาหารบ้านเขา ก็เหมือนคนไทยที่ไปไหนก็อยากกินอาหารไทยอะไรประมาณนี้

หลังๆ ก็จะมีคนไทยมาที่ร้านบ้าง เมื่อก่อนไม่มีเลย อาจจะเพราะมันไม่มีอินเทอร์เน็ตอะไรโปรโมท มันก็จะรู้จักแค่ในย่านนี้ หรือว่าปากต่อปากกัน คนไทยที่ผ่านมาเขาก็ไม่เก็ทว่า อาหารแอฟริกันคืออะไร ก็อาจไม่กล้ากิน แต่ตอนนี้โลกมันเปิดกว้างขึ้นมันก็มีหลายๆ คนที่เขาเปิดใจเริ่มกินแล้ว เหมือนเขาไปเห็นตามรีวิวต่างๆ เพราะว่าหลังๆ มาก็เริ่มมีคนมารีวิว มันก็เลยแพร่หลายมากขึ้น ตอนนี้ลูกค้าคนไทยจะอยู่ที่ประมาณ 20% แล้วก็อีก 80% จะเป็นต่างชาติ”

พอได้ฟังแจนเล่า เราก็เริ่มอยากรู้ว่า ถ้าให้เลือกสักคำมานิยามร้านอาหารเล็กๆ ร้านนี้ เธอจะเลือกคำว่าอะไร?

“ด้วยความที่ตรงนี้มันเปิดมานานแล้ว มันมีหลายคำมากที่อยู่ในตัวร้านอาหารนี้ มันมีทั้งครอบครัว, วัฒนธรรม, มิตรภาพ, ความหลากหลายทางเชื้อชาติ มันคือ ศูนย์รวมเลย อย่างคำว่า มิตรภาพ ทุกวันนี้คนที่สอนทำอาหารให้แม่หนู เวลาเขากลับมาไทย เขาก็จะมาหาเราที่ร้าน เดินเข้าไปในห้องครัวเลย แบบว่า ‘คุณทำอะไรกิน คุณยังทำอาหารที่ฉันสอนให้อยู่ไหม’ หรือล่าสุดก็มีคนหนึ่งมา เขาก็ไปกอดกับแม่หนูในห้องครัวเลยแบบ ‘คิดถึงนะ ฉันไม่ได้มานานแล้ว’ อะไรอย่างนี้”

“มันเป็นมิตรภาพดีๆ ของแบบนี้มันไม่เกี่ยวสีผิว หรือว่าคุณเป็นคนประเทศอะไร เราเป็นเพื่อนกันได้ค่ะ แล้วมันก็เป็นแบบนี้มาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา”

วัฒนธรรมแอฟริกัน กับสีสันแห่งการปรุงอาหาร

มากกว่า มิตรภาพ และความสุข อาหารแต่ละจานยังมีสิ่งสำคัญที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง นั่นก็คือ ‘วัฒนธรรม’ เราเลยขอให้ไซม่าอธิบายวัฒนธรรมอาหารของชาวแอฟริกันให้เราฟัง

“อาหารของบ้านเขาก็จะใช้วัตถุดิบอะไรก็แล้วแต่ที่เขาปลูกได้ในพื้นที่ของเขา รวมทั้งบ้านเขาจะมีน้ำมันอันหนึ่งเรียกว่า ‘Red Palm Oil’ จะเป็นน้ำมันปาล์มสีแดงที่เขาจะใช้ในการประกอบอาหารอยู่เสมอ อย่างแกงกระเจี๊ยบ เขาก็จะเอากระเจี๊ยบไปปั่นให้ละเอียดแล้วก็ใส่น้ำมันนี้ลงไป ด้วยความที่อาหารจากธรรมชาติสีมันก็จะจืดๆ แต่พอมาเจอน้ำมันแดง ในแกงของเขามันเลยมีสีสันที่น่ากินมากขึ้น แต่ว่าเขาจะใส่ในปริมาณที่เยอะมาก ในส่วนของเนื้อสัตว์ก็จะตามท้องถิ่นของเขาเลย มีปลา มีไก่ มีอะไรเขาก็ใช้กิน บางแกงของเขาก็ใส่ทุกอย่างเลยนะ เครื่องใน กุ้ง เนื้อวัว ไก่ ใส่รวมไปแบบนั้นเลย ส่วนคาร์โบไฮเดรตหลัก เขาจะกินแป้งชนิดหนึ่ง เรียกว่า ‘Fufu’ (ฟูฟู) ทำจากแป้งมัน สามารถทำจากแป้งมันสำปะหลังก็ได้ กล้วย มัน เผือก คือใช้ได้ทุกอย่างเลย หรือว่าแป้งซาโมลิน่าก็ได้ อย่างของที่ร้านเราก็จะใช้เป็นซาโมลิน่าในการทำ แล้วก็บางครั้งก็จะมีเป็นแป้งข้าวโพดบ้าง บาร์เลบ้าง หมุนเวียนไปตามวัตถุดิบที่เรามี”

“สำหรับหนูมันเป็นอาหารที่มาจากธรรมชาติจริงๆ มันแสดงให้เห็นถึงภูมิหลัง พื้นหลัง วัฒนธรรม รากเหง้าเก่าแก่ของเขาว่า เขามันเป็นมาอย่างไร วัตถุดิบบ้านเขามีอะไรบ้าง แล้วไม่ใช่ว่าทุกคนจะเรียกอาหารชนิดเดียวกันด้วยชื่อเดียวกัน บางทีเวลาลูกค้าจากมาลีมากินเขาก็จะเข้าใจอาหารในร้านเรา แต่บางทีลูกค้ามาจากมาดากัสการ์บ้าง โซนอื่นบ้าง เขาอาจจะมีชื่อเรียกอาหารในเมนูของเราต่างออกไป เราก็เลยได้เห็นความหลากหลาย” แจนเล่า

“บางคนเขาบอกว่า ที่บ้านเขาไม่ใช่แบบนี้นะ ของโซนบ้านเขาใช้วัตถุดิบอีกแบบหนึ่ง บางทีเขาซื้อแป้งของเขามาให้เราลองทำให้เขากินด้วย มันก็โชว์ให้เห็นความหลากหลายของวัฒนธรรม”

“บางคนเขาก็ยังไม่ค่อยเปิดใจ แล้วก็อีกอย่างคือ เราไม่ใช่คนแอฟริกันแท้ แล้วเรามาทำอาหารแอฟริกัน เขาจะมีแบบ ‘เหมือนจริงหรือเปล่า ใช่หรือเปล่า ออริจินอลไหม’ อะไรประมาณนั้น ก็คงต้องบอกตรงๆ เลยว่า มันก็อาจจะไม่ได้เหมือน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำให้เหมือนที่สุดเท่าที่จะเหมือนได้แล้ว เพราะว่าเราใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศไทย แต่ว่าตอนนี้มันก็มีร้านขายวัตถุดิบที่นำเข้าจากแอฟริกาจริงๆ แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนต้นฉบับมากขึ้น ใกล้มากขึ้น” แจนอธิบายถึงความยากในการเปิดร้านอาหารจากวัฒนธรรมที่คนทั่วไปไม่คุ้นเคย

หลากรสชาติในบรรยากาศเป็นกันเอง

คุยกันได้สักพักหนึ่งแจนก็เริ่มยกอาหารมาเสิร์ฟให้เราได้ลองชิมกัน ซึ่งเป็น 6 เมนูที่แจนอยากแนะนำให้ทุกคนที่อยากสัมผัสประสบการณ์อาหารแอฟริกันเป็นครั้งแรก

เริ่มกันที่ ‘Saka saka’ (220 บาท) แกงผักโขมสไตล์แอฟริกัน ที่ได้จากการนำผักโขมไปผัดกับเครื่องเทศต่างๆ ผสมกับ Red Palm Oil จนออกมาสีสันน่ารับประทาน ซึ่งในจานนี้แจนเลือกเสิร์ฟมาเป็นเนื้อวัวนุ่มๆ ซึ่งนับว่าเป็นเมนูเปิดที่รับประทานง่าย รสชาติดี และใครที่ชอบทาน ‘กานาฉ่าย’ น่าจะชอบเมนูนี้  เพราะรสชาติ และรสสัมผัสใกล้เคียงกันมาก

เมนูต่อมา ‘Super Ganja’ หรือ ‘Okro’ (100 บาท) แกงกระเจี๊ยบแบบแอฟริกันที่ใช้กระเจี๊ยบบดละเอียดผัดผสมกับ Red Palm Oil เครื่องเทศ และมะเขือเทศเข้มข้น ที่ทำให้แกงมีรสออกเปรี้ยวเล็กๆ (ซึ่งใครที่ชอบรสเผ็ดก็สามารถเพิ่มพริกได้อีกด้วย) เมนูนี้จะเป็นเมนูที่ทานยากขึ้นมาอีกสักหน่อย เนื่องจากกระเจี๊ยบเป็นพืชที่มียางค่อนข้างเยอะ ทำให้เนื้อสัมผัสของแกงเป็นยางข้น และมีความหนืด แต่หากใครที่เข้าใจเท็กซ์เจอร์ของกระเจี๊ยบต้องลองจานนี้ เพราะรสชาติของแกงอร่อยกลมกล่อมมากๆ เมนูนี้แจนเลือกเสิร์ฟแบบไม่ผสมเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ทานมังสวิรัติ

อีกหนึ่งเมนูแกงที่เราอยากแนะนำก็คือ ‘Tigayee’ (200 บาท) แกงถั่วลิสงรสเข้มข้น หอมมันจาก Peanut Butter ผสมกับเครื่องเทศเล็กน้อย และน้ำมันปาล์มสีแดง ทำให้รสชาติหอมมันนวลๆ ซึ่งแจนบอกเราว่าอาจเป็นเมนูที่ไม่ค่อยถูกปากคนไทย (แต่ส่วนตัวผู้เขียนชอบแกงถ้วยนี้มากที่สุด) แต่เมนูนี้เป็นเมนูที่ลูกค้าชาวแอฟริกันทุกคนต้องสั่ง เพราะรสชาติใกล้เคียงกับต้นฉบับของแอฟริกันแท้ๆ ที่สุด โดยจานนี้แจนเลือกเสิร์ฟเป็นเนื้อไก่

เมนูถัดมาคือ ‘ปลาทอดราดด้วยหัวหอมผัดสไตล์แอฟริกัน’ (220 บาท) ปลานิลที่นำมาทอดจนกรอบ ราดด้วยหัวหอมผัดเพื่อเพิ่มรสชาติ และรสสัมผัสให้กับจานนี้ ซึ่งเมนูนี้นับว่าเป็นเมนูที่เสริมรสชาติ และเพิ่มมิติให้กับอาหารมื้อนี้ได้ดีมากๆ

เครื่องเคียงเป็นอีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งแจนเลือกเสิร์ฟเป็น ‘Plantain’ (100 บาท) กล้วยทอดสไตล์แอฟริกัน ทำจากกล้วยงาช้าง และนิยมทานเป็นเครื่องเคียงคู่กับปลาทอด ให้ฟีลลิ่งเหมือน Fish & Chip ในแบบของชาวแอฟริกัน

และที่ขาดไม่ได้ก็คือ คาร์บหลักที่ทานคู่กัน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก ‘Fufu’ (80 บาท) แป้งที่กวนให้ข้นหนืดจนสามารถปั้นเป็นก้อนได้ ซึ่งทางร้านใช้แป้งซาโมลิน่าเพื่อให้ไม่หนักท้องจนเกินไป (บางครั้งอาจจะทำจากข้าวบาร์เลย์ตามแต่วัตถุดิบที่หาได้)

ทั้งหมดที่เสิร์ฟมาในวันนี้ แจนแนะนำให้เราลองทานแกง 1 อย่าง ปลาทอด กล้วยทอด และ Fufu เข้าไปในคำเดียว ซึ่งพอเราได้ลองแล้ว บอกได้เลยว่า อร่อยจริงๆ ปลาทอดช่วยเพิ่มเท็กเจอร์ให้กับการกินได้ดีมาก ในขณะที่หัวหอมผัดที่ราดมาก็ช่วยเสริมกลิ่น และรสให้กับแกง รสชาติอมเปรี้ยวเล็กๆ ของกล้วยทอดก็ช่วยเสริมมิติในการกินได้เป็นอย่างดี บอกได้เลยว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่อยากให้ทุกคนได้เปิดใจลองสักครั้งหนึ่ง

FYI: เมนูแกงทั้งหมดสามารถเลือกเนื้อสัตว์ได้ทั้ง ปลา กุ้ง แกะ เนื้อวัว ไก่ และมังสวิรัติ

Fun Facts:

  • วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวแอฟริกันจะใช้มือในการทานอาหาร รวมถึงไม่มีวัฒนธรรมการ Sharing หรืออาหารจานกลางแบบบ้านเรา แกง ปลาทอด กล้วยทอด และคาร์บ จะถูกเสิร์ฟมาในจานเดียว (แต่ที่ Saima Food Master เสิร์ฟแบบจานกลาง เป็นเพราะได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมการ Share อาหารแบบคนไทยนั่นเอง)
  • เบสน้ำสต๊อกที่ใช้ในการทำอาหารแอฟริกัน สามารถใช้เนื้อสัตว์ชนิดใดก็ได้ที่หาได้ ไม่ว่าจะเป็น วัว ไก่ แกะ ปลา กุ้ง หรืออาหารทะเลอื่นๆ รวมไปถึงผักด้วย ซึ่งร้าน Saima Food Master ใช้เป็นน้ำสต๊อกผัก เพื่อให้ลูกค้าที่ทานมังสวิรัติทานได้ด้วย
  • Saima Food Master ก็ใช้เฉพาะ ‘ปลานิล’ เท่านั้นในการประกอบอาหารเมนูปลา เนื่องจากชาวแอฟริกันก็รับประทานปลานิลเหมือนกับคนไทย และปลานิลยังเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาอีกด้วย

Saima Food Master

293/30 ซอยกำจายเอี่ยมสุรีย์ ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์

เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500 (Google Map)

ร้านเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 13.30 - 21.30 น.

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมของร้าน Saima Food Master ได้ที่

Facebook: Saima Food Master

Instagram: saima.food.master

เบอร์โทร: 02-235-1329

และแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารออนไลน์ต่างๆ