แม้ช่วง 2 - 3 ปีมานี้ การขับเคลื่อนเรื่อง “สมรสเท่าเทียม” ของ LGBTQ+ จะมีกระแสหนักแน่นขึ้นมาก แต่ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เพราะจริงๆ มีการผลักดันกันอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 แล้ว ทั้งในแง่มุมของประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง หรือแม้แต่บุคลากรภาครัฐที่ร่วมร่างกฎหมาย พ.ร.บ. คู่ชีวิตมาหลายฉบับ เพื่อให้ทุกเพศได้จดทะเบียนสมรสและรับสิทธิในคู่สมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 63 เป็นอีกครั้งที่ทุกคนหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นดังหวัง เพราะร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิตและร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมป.พ.พ. ที่มติครม. เห็นชอบ ยังไม่ตอบโจทย์ความเท่าเทียมในทุกมิติ เกิดเป็นกระแส #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต สนั่นโซเชียล ทำให้วันนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่แสดงถึงความเท่าเทียมของทุกเพศอย่างแท้จริง ต้องกลับไปเป็นเพียงแค่ภาพร่างอีกครั้ง
ในระหว่างที่กระบวนการทางกฎหมายค่อยๆ เป็นไป (อย่างเชื่องช้า) EQ เลยอยากชวนทุกคนมาอัปเดตมุมมองของคู่รัก LGBTQ+ กันว่า ถ้ามีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นจริงจะทำให้ชีวิตพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไร และมีอะไรบ้างที่อยากเห็นควบคู่ไปกับการปรับแก้กฎหมายในครั้งนี้
โบ๊ท ณัฐพงศ์ - นิวเยียร์ กิตติวัฒน์ (@bbbothhh, @newyear_kitiwhut) คู่รักชื่อดังที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานานกว่า 9 ปี ได้แชร์ความคิดเห็นกับเราว่า การสมรสเท่าเทียมเท่าในความคิดของเขาคือการได้รับสิทธิ์ทุกอย่างเท่ากับทุกเพศอย่างเสมอภาค รวมไปถึงการถูกปฏิบัติทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้ว่าตอนนี้ทั้งคู่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากล่าช้าของกฎหมายฯ เพราะในแง่ของการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างการซื้อบ้านหรือทำธุรกิจ ยังอยู่ในจุดที่ต่างคนต่างทำเองได้ แต่ในเรื่องที่ยังไม่เกิดและคิดว่าสำคัญมากถ้าในอนาคตครอบครัวเหลือกันแค่ 2 คนคือ การตัดสินใจในเรื่องของการเข้าโรงพยาบาล การลดหย่อนภาษี และสิทธิอื่นๆ ที่พึงมี จึงคิดว่ายังไงกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ควรต้องเร่งทำให้เกิดขึ้น อย่าจำกัดให้คู่สมรสยังเป็นแค่ชายหญิง
“การแต่งงานคือการแสดงให้เห็นว่าคู่รักได้เป็นคู่ชีวิตกันอย่างแท้จริง ซึ่งหากมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมยอมรับให้ทุกเพศจดทะเบียนสมรสกันได้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว คิดว่าจะทำให้ชีวิตการแต่งงานของ LGBTQ+ สมบูรณ์ขึ้นอีก เพราะเมื่อกฎหมายพร้อม สังคมพร้อม นอกจากแต่งงานแล้วก็อาจขยับขยายไปถึงการมีลูกได้ง่ายขึ้น เพราะมั่นใจได้ว่าเด็กจะเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่กดดัน หรือถูกมองว่าแปลกแยก”
นอกจากนี้โบ๊ทนิวเยียร์ยังมองว่าความคิดและการกระทำของคนในสังคมควรต้องปรับเปลี่ยนไปพร้อมกัน หรือควรต้องปรับไประหว่างรอกฎหมาย เพื่อทำให้เกิดคำว่า ‘เท่าเทียม’ ขึ้นจริงๆ เพราะมองว่าถ้าคนในวงกว้างจิตใต้สำนึกดี มองคนเท่ากัน พอกฎหมายปรับแก้ได้แล้วทุกอย่างก็จะลงล็อกพอดีและใช้ได้จริง โดยที่ไม่มีข้อกังขาอะไรเกิดขึ้นตามมาอีก
เรื่องแรกคือการปฏิบัติต่อ LGBTQ+ แม้ตอนนี้สังคมจะเปิดกว้างมากขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตการทำงานในวงการบันเทิง การที่คนช่วยกันเรียกร้องสิทธิกันมากขึ้น หรือการคัมเอาท์ที่มากกว่าเดิม แต่ทั้งสองคนรู้สึกว่าเวลาคู่รักที่มีชื่อเสียงออกไปไหน คนส่วนใหญ่มักยอมรับมากกว่าเมื่อเทียบกับคู่ที่ไม่มีชื่อเสียง หลายครั้งที่คนเหล่านั้นได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างไป เลยคิดว่าเรื่องนี้ก็สำคัญไม่แพ้กฎหมาย สังคมควรทำให้เท่ากันและสิทธิ์ทุกคู่อย่างเสมอภาคจะได้ไม่เกิด Bullying, Cyber bully เหมือนที่ผ่านมา หรือเกิดเหตุที่ร้ายแรงกว่านั้น เช่น โรคซึมเศร้าจากสายตาที่กดดันของสังคม
“อยากให้มองและปฏิบัติกับทุกคนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง โดยไม่มีเพศมาระบุ คือมองให้ถึงเนื้อแท้หรือคุณค่าข้างใน เพื่อให้อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขและไม่ต้องแบ่งแยกเพราะ LGBTQ+ เท่ากับมนุษย์ เรื่องเพศสภาพมันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต รวมทั้งอยากให้เปิดใจรับฟังคิดเห็นของกันและกันทั้งในแง่ของกฎหมายและการใช้ชีวิต แล้วจะเห็นว่าพวกเราไม่ได้แปลกหรือแตกต่าง และเป็นคนดีได้”
อย่าตีกรอบว่าคู่รัก LGBTQ+ จะไม่ยืนยาวเหมือนชายหญิง ในอดีตโบ๊ทและนิวเยียร์เคยถูกหลายคนมองว่าคบกันเพื่อโปรโมท คบเพื่อกระแส ไม่นานก็เลิกกัน เพราะคู่รักชายชายที่เปิดตัวสมัยนั้นมีน้อยมาก แต่สุดท้ายก็คบกันมาได้อย่างมั่นคงกว่า 9 ปี โดยเชื่อว่าสมัยนี้ก็อาจมีคนคิดแบบนี้อยู่
ปรับระบบการศึกษา อยากพยายามสอดแทรกเข้าไปในบทเรียนและสื่อการเรียนการสอนว่า ‘เพศ’ ไม่ได้มีจำกัดอยู่แค่ชายหญิง แต่ยังมีเพศทางเลือกด้วย เพื่อให้เด็กได้ซึมซับและเกิดการเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่าง ส่วนคุณครูเองก็ควรเป็นผู้นำที่ดี มีความทันสมัย เข้าใจความต่าง เข้าใจเด็ก ไม่ล้อเลียน หรือสร้างปมในใจให้เด็ก
“ตอนนี้สังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแล้ว คนรุ่นใหม่ยอมรับ LGBTQ+ กันมากขึ้น ส่วนสำคัญก็มาจากการขับเคลื่อนที่ทุกคนกำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นชุมนุม เรียกร้องผ่านโซเชียลมีเดีย หรือการที่อินฟลูเอนเซอร์ทำคอนเทนท์ต่างๆ ลงยูทูป เช่นที่เราทำ ที่ถึงแม้จะไม่ได้เจาะลึกถึงการผลักดันกฎหมายโดยตรง แต่อย่างน้อยก็ทำให้สังคมได้เห็นว่าเรามีตัวตน มีความรักที่ยั่งยืนได้ และเติบโตได้อย่างดีโดยไม่เบียดเบียนใคร แต่ยังไงก็ยังหวังว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เท่าเทียมจริงๆ จะเกิดขึ้นได้ เพื่อทำให้ชีวิตคู่ของหลายคนคอมพลีทมากขึ้น”
ด้านคุณบี (นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งกล่าวว่า เห็นด้วยกับหลายเรื่องที่โบ๊ทนิวเยียร์แชร์ เพราะเจอด้วยตนเองมาแล้ว เช่น โดนล้อเลียน และถูกสังคมตีกรอบเรื่องความรักที่ไม่ยืนยาวว่านานไปก็ต้องกลับไปคบกันแบบชายหญิง จึงมองว่าก่อนกฎหมายจะชัดเจน คนในสังคมควรปรับความคิดและทัศนคติก่อน ส่วนเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ล่าช้า มีผลมากต่อการใช้ชีวิตคู่ โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการของบริษัท ที่ให้แค่คู่สมรสตามกฎหมาย (ช-ญ) ได้สิทธิ์เท่านั้น ทั้งๆ ที่ เป็นสิ่งที่ครอบครัวของพนักงานทุกคนควรจะได้รับ “ส่วนตัวแล้วอยากให้มีทั้ง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และปรับแก้ป.พ.พ.ให้มันไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อทำให้โอกาสในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น การทำธุรกรรมทางการเงิน การเซ็นยินยอมทางการแพทย์ การเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ฯลฯ เพราะเรามองว่าเรื่องพวกนี้แทบจะเป็นสถานการณ์ที่ต้องพบตลอดการมีชีวิตอยู่แล้ว และเราเองก็ต้องการมีคู่ชีวิตที่ใช้ชีวิตร่วมกันเหมือนชายหญิงทั่วไป”
น้ำฝน คณิตตา พนักงานออฟฟิศ อายุ 30 ปี เปิดเผยกับเราว่า ใช้ชีวิตอยู่กับคู่รักมาสักพักแล้ว แต่แต่งงานให้ถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้ จึงไม่ได้รับสิทธิเท่าช-ญ อย่างสวัสดิการบริษัท การทำธุรกรรม เป็นต้น เพราะยังไม่ถูกมองว่าเป็นคู่สามีภรรยากันอย่างแท้จริง ซึ่งตัวเขาเองคิดว่าไม่ควรต้องมีกฎหมายสมรสแยกแต่ควรจะปรับกฎหมายเดิมให้รองรับทุกเพศ เพราะการแบ่งแยกกฎหมายก็ถือว่าไม่เท่าเทียมแล้ว และควรให้มันเกิดขึ้นได้จริงสักที “กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะทำให้ชีวิตคู่ของ LGBTQ+ ดีขึ้น และเป็นที่ยอมรับจากสังคมในทุกแง่มุม เพราะสังคมเคารพกฎหมายเหมือนสิ่งศักสิทธิ์ แต่ถ้าปรับกฎหมายทั้งมันยากเกินก็ค่อยๆ ปรับไปทีละจุด เช่น อนุญาติให้จดทะเบียนสมรสและมีสิทธิในสวัสดิการต่างๆ ได้ก่อน แล้วค่อยปรับเพิ่ม จนทุกเพศได้ใช้ชีวิตในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน”
ช๊อป ดนุสรณ์ และคู่รักที่รับราชการทั้งคู่ กล่าวว่า การไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมสักทีทำให้ใช้ชีวิตลำบาก มีครั้งหนึ่งเคยวางแผนซื้อบ้านด้วยกันแต่ค้ำให้กันก็ไม่ได้ เลยต้องล้มแผนการซื้อบ้านไปก่อน ถ้าหากมีกฎหมายฯจะทำให้ชีวิตของทั้งคู่ดีขึ้นได้ อย่างน้อยก็ทำการทำธุรกรรมต่างๆ และเบิกใช้สวัสดิการของคู่สมรสได้ตามปกติเหมือนคู่สมรสช-ญ นอกจากนั้นอยากให้คนในสังคมปรับความคิดจากข้อกำหนด (ที่ตั้งขึ้นเอง) ด้วย เช่น มองว่าผู้ชายต้องเป็นทหาร ผู้หญิงต้องเป็นพยาบาล “ทัศนคติสำคัญกว่าข้อกฎหมาย หากเรามีความคิดและทัศนคติที่ดี มองว่าทุกเพศเป็นปกติชนทั่วไปและยินดีกับทุกความรัก ทุกอย่างก็จะดีไปด้วย มันอาจจะเป็นเรื่องง่ายที่เข้าใจยาก แต่เข้าใจได้ ถ้าใจเราเปิดรับ”
ด้านคุณแทม (นามสมมติ) เปิดเผยว่าอยากให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้น เพราะเชื่อว่ามันจะทำให้ชีวิตคู่ของ LGBTQ+ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มสิทธิในการจัดการเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคู่สมรส ช่วยเพิ่มคุณค่าในด้านจิตใจ ทั้งต่อบุคคลนั้นเอง ครอบครัว และสังคมในวงกว้าง “การปรับกฎหมายถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำให้สังคมส่วนใหญ่รับรู้ และเกิดการยอมรับได้มากขึ้น เพราะแม้ว่าสังคมปัจจุบันเริ่มเปิดรับมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่ 100% เราอยากให้อยู่ร่วมกันแบบมองข้ามเรื่องเพศ เพราะทุกคนคือมนุษย์ และมีคุณค่าในตัวเอง”
มุมมองของคู่รัก LGBTQ+ ทั้ง 5 สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมาย #สมรสเท่าเทียม คือหนึ่งในความสำคัญของชีวิตคู่ ทุกคนยังคงรอคอยวันที่ฉบับสมบูรณ์มันชัดเจนและบังคับใช้ได้จริง ส่วนเราในฐานะผู้เขียนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความเท่าเทียมที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในเร็ววัน เพื่อให้การต่อสู้ที่ยาวนานของทุกคนสิ้นสุดลงสักที