เมื่อปลายปีที่แล้วหลายคนคงได้เห็นกระแสความฮิตของซีรีส์วายแนว Suspense สุดเข้มข้นเรื่อง ‘พฤติการณ์ที่ตาย’ กันมาแล้ว กับพล็อตเรื่องที่แปลกใหม่ นับเป็นอีกขั้นของการพัฒนาวงการวาย ท่ามกลางซีรีส์ที่เต็มไปด้วยพล็อตเรื่องความรักใสๆ วัยมหา’ลัย และอีกเรื่องที่คาดว่าน่าจะพอผ่านสายตาใครหลายคนมาบ้างแล้วอย่าง Bite Me ส่งร้อน เสิร์ฟรัก ที่ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง Grab a Bite ซีรีส์วายสุดโรแมนติก กับเรื่องราวความรักแสนอบอุ่นละมุนหัวใจระหว่างเชฟหนุ่มกับไรเดอร์ส่งอาหารที่ช่างจะพอดีกับฉากหลังในยุคโควิดเสียเหลือเกิน
ซึ่งคอซีรีส์วายที่ไม่อาจจะไม่ได้อยู่ในวงการผลงานต้นฉบับด้านนิยายมากนัก อาจยังไม่ทราบว่าทั้งสองเรื่องนั้นถูกดัดแปลงมาจากนิยายของนักเขียนคนเดียวกัน นั่นก็คือ Sammon หรือ หมอแซม พญ. อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร วันนี้ EQ เลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักเขาและผลงานของเธอให้มากขึ้น ว่าทำอย่างถึงสร้างสรรค์นิยายออกมาได้สนุกสนานและจุดกระแสในสังคมได้ขนาดนี้
จุดเริ่มต้นของ Sammon
หมอแซมเริ่มเล่าให้เราฟังว่าเธอเขียนนิยายเรื่องแรกตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 5 เพราะตอนนั้นชอบอ่านหนังสือมาก ทั้งวรรณกรรมเยาวชน นิยายแฟนตาซี นิยายทั่วไป และการ์ตูนมังงะ พอเป็นผู้เสพเยอะเข้าก็นึกสนุกขึ้นมา อยากเป็นผู้สร้างดูบ้าง อยากจะสร้างโลกสักใบหนึ่ง แล้วมีคนมาอ่านและสนุกไปกับเธอด้วย ด้วยอุปกรณ์คู่กายคือสมุดของโรงเรียนและดินสอ แต่ก็ไม่เคยเขียนจบสักเรื่อง พอขี้เกียจก็เปลี่ยนเรื่องใหม่เรื่อยๆ เน้นเขียนเอาสนุก โดยตอนแรกเธอยังเขียนเป็นนิยายชายหญิงทั่วไปอยู่ แต่เมื่อโตขึ้นถึงค่อยขยับขยายออกมาเขียนนิยายวายด้วยนามปากกา Sammon อย่างทุกวันนี้
นิยายแบบไหนที่ถนัด
ตอนนี้เราเห็นนิยายของหมอแซมเริ่มมีหลากหลายแนว และในมุมมองนักอ่านก็คิดว่าแต่ละแนวนั้นก็ทำออกมาได้ดี แต่ถ้าพูดถึงแนวที่ถนัดและเขียนออกมาเยอะที่สุดล่ะก็ เธอบอกว่ายังเป็นนิยายวายที่มีตัวละครหลักเป็นเกย์ และอยู่ในประเภทสืบสวน สอบสวน ฆาตกรรม และการแพทย์ (Suspense) เป็นหลัก เช่น การวินิจฉัย (Diagnosis) การุณยฆาต (Euthanasia) ทริอาช (Triage) พฤติการณ์ที่ตาย (Manner of Death) อาชญพันธุกรรม (Q) ฯลฯ แต่ว่าช่วงหลังมานี้ได้เริ่มลองเขียนนิยายที่หลากหลายมากขึ้นแล้ว เช่น Grab a Bite ส่งร้อน เสิร์ฟรัก ที่เพิ่งนำไปทำซีรีส์ Bite Me
Diagnosis นิยายวายเรื่องแรกที่เขียนจบและได้ตีพิมพ์
“การวินิจฉัย (Diagnosis) เป็นนิยายที่เขียนขึ้นในช่วงที่กำลังเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 5 และได้อยู่แผนกจิตเวช เวลาได้ไปดูแลเคสคนไข้ก็รู้สึกว่ามีแรงบันดาลใจอยากจะสร้างสตอรี่ที่เกี่ยวข้องกับคนไข้ เพื่อให้คนอ่านเข้าใจว่าอาการป่วยที่เกิดขึ้นมาจากความผิดปกติของสมอง และด้วยความที่เป็นคนที่เสพงานวายอยู่ด้วย บวกกับกระแสซีรีส์วายกำลังเป็นที่นิยม เลยคิดว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะลองดู ตอนแรกแค่เขียนเก็บไว้ก่อน สุดท้ายก็รวบรวมความกล้าเอาลงในเว็บ Dek-D ช่วงที่เรียนอยู่ปี 6 ปรากฎว่าเพียงแค่ 2 อาทิตย์ สำนักพิมพ์ Hermit ก็ติดต่อมาขอซื้อลิขสิทธิ์ไปตีพิมพ์”
Euthanasia คือเรื่องที่อยากให้อ่านมากที่สุด
สำหรับเรื่องที่เขียนแล้วอยากให้คนอ่านมากที่สุด เธอยกให้เรื่องการุณยฆาต เพราะเป็นเรื่องที่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีเขียนไปจากเดิมเยอะมาก และที่สำคัญยังใช้เวลาเขียนนานที่สุด
“ปกติแซมจะเขียนนิยายแบบขับเคลื่อนด้วยเนื้อเรื่อง (Story Driven) เป็นหลัก ที่จะต้องมีอะไรสักอย่างเกิดขึ้นก่อนแล้วเรื่องถึงจะดำเนินไป แต่สิ่งที่ขาดตอนนั้นคือการขับเคลื่อนจากภายในจิตใจของตัวละครที่เหตุการณ์อาจจะทำให้เปลี่ยนภายหลัง (Character Driven) แต่ในเรื่องนี้จะขับเคลื่อน 2 อย่างนี้ไปด้วยกัน เป็นเรื่องที่แซมละเมียดในการเขียนมากขึ้น และทำการบ้านเยอะในการหาข้อมูลเพิ่มเติมทั้งในแง่ของแพทย์และตำรวจ”
จากทริลเลอร์ สู่ Grab a Bite นิยายฟีลกู๊ดเรื่องแรก
มันเริ่มต้นมาจากการชอบดูรายการทำอาหารทั้งของไทยและต่างชาติ และชอบเรื่องราวของคนที่มีแบ็คกราวด์ต่างกันแต่มีฝันเดียวกัน เลยอยากเก็บคอนเซ็ปท์นี้มาเขียน แต่ถ้าเอามาใส่ในแนวถนัดที่มีคนฆ่ากันตายก็คงไม่เหมาะ เลยคิดว่าชิ้นนี้ต้องเป็นแนวฟีลกู๊ด ซึ่งตอนแรกแค่เขียนลงในทวิตเตอร์เป็นเธรดสั้นๆ ต่อกันโดยใช้ #เชฟฉุดใจนายส่งอาหาร แต่หลายคนก็เชียร์ให้เขียนเป็นเรื่องยาว เลยต้องพยายามใส่ความโรแมนติกเข้าไป จนได้ออกมาเป็นนิยายยาวได้ในที่สุด
ความรู้สึกในวันที่สาววายมอง Manner of Death เป็นจุดเปลี่ยน
ตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงวันนี้ ซีรีส์พฤติการณ์ที่ตาย ยังคงเป็นที่พูดถึงในฐานะซีรีส์วายน้ำดีสำหรับสาววายไทยและต่างชาติ จนมีชื่อเข้าชิงรางวัลซีรีส์ ออริจินัล ยอดเยี่ยม (สายดิจิทัล) ในเวทีเอเชี่ยน เทเลวิชั่น อวอร์ด ครั้งที่ 26 เราอยากทราบว่ากระแสนิยมที่มากมายขนาดนี้ทำให้หมอแซมรู้สึกอย่างไรบ้าง
“รู้สึกภูมิใจที่ผลงานของถูกพูดถึงว่าเป็นความแปลกใหม่ในวงการวาย แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าคนที่เขียนนิยายแนวเดียวกับแซมยังอีกเยอะที่อาจจะยังไม่ถูกมองเห็น แค่แซมเป็นผู้โชคดีที่มีผู้จัดเขามองเห็นแล้วหยิบเรื่องนี้ไป อาจมองว่าแซมเป็นหนึ่งในตัวแทนของนักเขียนนิยายวายฝั่งสืบสวน สอบสวน ที่ออกมาสื่อสารว่าเรื่องแนวนี้มีคนสนใจก็ได้”
เขียนหลายเรื่องต่อกัน ทำอย่างไรใรไม่ให้ตัน
อาการสมองตัน คิดงานไม่ออก หรือ Writer’s Block มักจะเกิดขึ้นกับนักเขียนที่ต้องเขียนงานหลายชิ้นต่อเนื่องกัน ซึ่งหมอแซมก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่เธอมองว่า Block เกิดจาก Input ไม่มากพอ ต้องแก้ด้วยการไปหาแรงบันดาลใจ เช่น วางงานของตัวเองลงแล้วไปเสพงานของคนอื่น เปิดดูซีรีส์ที่ตรงกับงานที่กำลังเขียนอยู่ ออกไปเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานให้สมองแล่น อย่างเธอชอบบรรยากาศที่เคลื่อนไหวและมีเสียงอยู่ตลอดเวลาเลยมักจะหัวแล่นในร้านกาแฟ
เทคนิคบาลานซ์วิชาการและความสนุก
จากการตามอ่านนิยายวายของ Sammon มาหลายเรื่อง สิ่งสำคัญที่ทำให้นักอ่านชื่นชอบคือการที่เนื้อเรื่องมีการสอดแทรกสาระความรู้ด้านการแพทย์แขนงต่างๆ ที่เธอได้สัมผัสมาโดยตรงในผลงานทุกชิ้น เช่น เวชศาสตร์ครอบครัวในเรื่องการุณยฆาต เวชศาสตร์ฉุกเฉินกับเรื่องทริอาช จิตเวชในเรื่องการวินิจฉัย นิติเวชเรื่องพฤติการที่ตาย อาชญพันธุกรรมกับวิทยาศาสตร์การแพทย์และ SCI-FI ฯลฯ ที่ไม่ผิดเพี้ยนไปจากเรื่องจริงลงไปได้อย่างแยบยล จนไม่รู้สึกว่ามันเยอะหรือเข้าใจยาก ซึ่งเธอบอกกับเราว่าเทคนิคอยู่ที่การพยายามถามตัวเองว่านักอ่านจำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง อาจไม่จำเป็นต้องใช้ศัพท์เทคนิคให้พร่ำเพรื่อ แค่ใช้เพื่อเสริมบรรยากาศของเนื้อเรื่องให้ดูสมจริงก็เพียงพอ
แล้ว NC สำคัญไหมกับนิยายวาย
“ถ้า NC นั้นมีเพื่อขับเคลื่อนเนื้อเรื่อง ก็จำเป็นต้องมี แต่ที่สำคัญต้องระวังในเรื่องการสื่อสารอย่าให้การมีฉาก NC มันสร้างความเข้าใจผิดอะไรในตัวตน LGBTQ+ ”
นิยายวาย LGBTQ+ และการขับเคลื่อนสังคม
“ในความรู้สึกของแซม นิยายหรือคอนเทนต์วายมันไม่ใช่เครื่องหลักในการขับเคลื่อนสังคม เพราะการจะเปลี่ยนอะไรสักอย่างในสังคมมันต้องใช้หลายปัจจัย แต่ถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีพลัง เพราะวันนี้มันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว ถ้าผู้ผลิตคอนเทนต์พูดหรือทำอะไรลงไป มันจะถูกขยายไปในวงกว้างแน่นอน”
ตอนนี้นิยายวายแพร่หลายสู่สังคมมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องแอบอ่าน ต้องปริ้นท์มาเก็บ หรือส่งอีเมลเพื่อขออ่านฉาก NC จากนักเขียนอีกต่อไปแล้ว แต่ถ้าถามว่ามันทำให้ความคิดของคนในสังคมยอมรับ LGBTQ+ มากขึ้นไหม คงตอบไม่ได้ เพราะเธอมองว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความวายขึ้นมาอยู่บนดินได้ เป็นเรื่องของการตลาดมากกว่า ดังนั้นผู้ผลิตคอนเทนต์ควรต้องพึงระลึกในใจไว้ว่ากำลังหยิบยืมตัวตนของ LGBTQ+ มาใช้ ต้องเคารพเขาและทำให้ผลงานของตัวเองกระบอกเสียงอย่างหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมจริงๆ
สำหรับหมอแซมเอง เมื่อได้เรียนรู้ใน LGBTQ+ มากขึ้น และรู้ว่าคอนเทนต์วายมันทรงพลังต่อสังคม เธอก็ได้นำมาปรับใช้กับงานเขียนของตัวเองทันที อย่างบางประเด็นที่ไม่เคยคิดหรืออาจจะมองข้ามไป เช่น การตบจูบที่เห็นในละครมาตั้งแต่เด็กจนมองว่าเป็นเรื่องปกติ แล้วไม่รู้ว่าไม่ควรเผยแพร่ต่อ ดังนั้นงานในช่วงแรกของเธอจึงมีสิ่งที่ “บ้ง” เหล่านี้อยู่ แต่พอเวลาผ่านไป พลวัตทางสังคมเริ่มเปลี่ยน เธอก็จะระมัดระวังมากขึ้น สิ่งไหนที่ไม่ดีจะไม่ส่งต่อ แล้วหาวิธีจัดการงานในอดีต อย่างการคุยกับบก. ว่าขอปรับปรุงแก้ไข เพื่อรับผิดชอบในสิ่งที่เราเคยไม่รู้ในอดีต
เผลอแป๊บเดียวการพูดคุยกับ Sammon ก็ผ่านไปเกือบ 1 ชั่วโมงแล้ว ถึงเวลาต้องบอกลา ซึ่งในช่วงท้ายนี้เธอแอบสปอยไว้ว่า กำลังจะมีโปรเจกต์นิยายดราม่าเรื่องแรกให้ได้ติดตามกัน และเร็วๆ นี้จะมีนิยายที่ถูกนำไปทำซีรีส์อีกคือทริอาช โดยทีวีธันเดอร์เจ้าเดียวกันกับพฤติการณ์ที่ตาย และเรื่อง Make a wish ที่ได้ลงมือเขียนบทเองด้วย อยากให้ทุกคนรอติดตามกัน
ติดตามและอัปเดตผลงาน Sammon ทั้งหมดได้ที่
Twitter: @sammon_scene
IG: sammonscene