เสฟศิลป์อย่าง "สันติ" ผ่านอักษรไทย สไตล์ "Calligraffiti"

คงไม่มีใครไม่รู้จัก "ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก" แต่ครั้งนี้ "ตัวอักษรไทย" กำลังถูกถ่ายทอดเรื่องราวครั้งใหม่ ผ่าน "งานศิลปะ" ที่ถูกสรรสร้างผ่านเอกลักษณ์ของสตรีอาร์ททิส ที่มีชื่อ "สันติ" อีกหนึ่งศิลปินที่น่าจับตามอง

แชมป์  ธนิสร เลิศวิมล วัย 28 ปี เจ้าของผลงาน "สันติ" เขานิยามงานตัวเองว่า "Calligraffiti" การเขียนอักษรวิจิตรบนกำแพง โดยใช้แปรงหรือสเปรย์ ถ่ายทอดงานศิลปะออกมาเป็นตัวอักษรภาษาไทย ซึ่งทำมามานานกว่า 9 ปี เราไปทำความรู้จักศิลปะที่น่าสนใจสิ่งนี้ไปพร้อมๆ กัน

ตัวอักษรไทยคือจุดเริ่มต้น

"ศิลปะคือของเล่นในชีวิตประจำวันของผมตั้งแต่จำความได้ ผมชอบเรื่องตัวหนังสือครับ ชอบศิลปะของตัวอักษรมาก่อน เติบโตมาในยุคที่มีงานสตรีทอาร์ต กราฟฟิตี้ ฮิปฮอป พอคุยกับตัวเองและรู้ว่าจริงๆ เราถนัด "การทำตัวอักษร" มากที่สุด การเขียน การวาดเกี่ยวกับตัวอักษร เรามีความรู้ มีข้อมูล จึงเริ่มศึกษา ค้นคว้าให้มากขึ้น ในวันที่ผมเรียนเพาะช่าง ก็คิดว่าจะทำยังไงให้ต่างจากคนอื่น จึงนิยามตัวเองว่า "สันติ" ในการสร้างงานสตรีท พอโตมาผมเลยมองว่า ความแตกต่าง คือ การสร้างสิ่งใหม่ เราเลยยึดทางนี้มาตลอดเลย" 

"Calligraffi แปลเป็นภาษาไทยคือ การคัดลายมือ หรือ การเขียนอักษรวิจิตร ส่วนมากจะอยู่ในกระดาษ กรอบรูป เป็นการประดิษฐ์ตัวอักษรสวยๆ แต่ผมอยากจะต่าง เลยนำสิ่งนี้ไปอยู่บนกำแพง”

“ในเมืองนอกก็มีคนทำแบบนี้เหมือนกัน ผมอาจจะเป็นคนแรกๆ ในบ้านเราที่ทำ พอมันสาธารณะมาก ๆ ใครจะวิจารณ์ยังไงก็ได้ คนเห็นเยอะ เลยหาคอนเซปท์เพื่อไว้พรีเซนท์งานตัวเอง โดยจับคาแรกเตอร์ของตัวอักษรอาหรับและตัวอักษรอังกฤษเข้ามา ศึกษาถึงแก่นแล้วค่อยทำ เพราะค่อนข้างซีเรียสกับงานบนกำแพงริมถนน ด้วยความที่มันเป็นแกลลอรี่สาธารณะ"

สันติ กับ สตรีทอาร์ต

"เสน่ห์ของสตรีทมันคือความสนุกในการทำงานด้วยพื้นที่ มันอาจจะดูเหมือนสิ่งผิดกฎหมายหน่อยๆ มันต้องใช้ความดื้อ และมันก็เป็นอีกเรื่องที่หลายๆ คนยังไม่ค่อยเข้าใจว่า ทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร ซื้อสีมาเอง ต้องไปเสี่ยง ต้องไปตากแดด ซึ่งผมมองว่าพวกนี้ มันคือเสน่ห์ ผมเริ่มทำงานสตรีทอาร์ตแบบหนักๆ ตอนปี 2017 ครับ 4 ปีแล้วที่อยู่บนกำแพง"


"ก่อนหน้านั้นทำในกระดาษ ในเฟรม อยู่บนผิวหนังคน ไปจับเครื่องสัก สักตัวหนังสือบนหนังคน เปลี่ยนไปแกะสลักไม้ เราพยายามเอาตัวหนังสือไปอยู่ในทุก ๆ อย่าง ทุกๆ ที่ให้ได้ เพื่อจะหาทางที่ทำให้ไม่เหมือน ซึ่งต้องมีทักษะการเรียนรู้ เหมือนเอาตัวเองไปฟูมฟัก ผม represent ตัวเองด้วยตัวหนังสือไทย ทั้งชื่อและผลงาน มันจะมีช่วงที่ผมเรียนจบมหาลัย แล้วไปทำงานประจำ 3 ปี แล้วออกจากงานประจำเพื่อไปเรียนวิทยาลัยในวัง ตำแหน่ง Typography Designer เป็นนักออกแบบอักษร เราไปเรียนเพื่ออยากได้ความเป็นไทยในตัวอักษรให้มากที่สุด ตอนทำตัวหนังสืออาหรับก็ไปหาโต๊ะอิหม่าม ไปมัสยิด ไปนั่งให้เขาเขียนเขาสอนจริง ๆ" 

ถ้าไม่เดินทางสายศิลป์ ก็ไม่มีศลปินที่ชื่อสันติ

"ตอนนั้นทุกคนจะมีนามปากกา หลายๆ คนจะใช้ภาษาอังกฤษ เพราะตอนนั้นเป็นช่วงสมัยนิยม อยากต่างเลยคิดเป็นภาษาไทย สันติเป็นภาษาไทย งานที่ทำออกมากเป็นภาษาไทยไปด้วยเลย เคยไปอ่านหนังสือเจอฝรั่งเขียนว่า มันอาจจะไม่มีใครเขียนภาษาอังกฤษได้ดี เท่าคนที่ใช้ภาษาอังกฤษมาตั้งแต่แรก ผมก็เลยมองว่า คงไม่มีใครเขียนภาษาไทยได้ดีเท่าคนไทยเหมือนกัน ถ้างั้นก็ทำงานเป็นภาษาไทย แต่จะทำออกมายังไงให้มันไม่ไท้ไทย

 งานส่วนใหญ่ที่ทำก็จะเป็นแนวเสียดสี เลยยึดคอนเซปท์หลักคือ การเสียดสี การทำอะไรให้ตรงข้าม ทำไม่เหมือนคนอื่น ในเมื่อตัวเราไม่มีความสันติอยู่แล้ว เราก็เสียดสีด้วยชื่อตัวเองก่อนเลย"

"เคยมีความคิดที่อยากจะไปเป็นทนาย อยากเป็นวิศวะ แต่เริ่มล็อคตัวเองว่าจะไปทางศิลปะ ต้องมั่นใจ ต้องแน่วแน่ ชัดเจนและยาว ๆ "ความสุข" คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันไปทางศิลปะ ผมใช้ความสุขเป็นเกณฑ์ เพราะมีความสุขกับการทำงานศิลปะมากกว่า แล้วผมก็ชัดเจนกับมัน ชัดเจนกับคนอื่น ชัดเจนกับตัวเองมากๆ 

“ใครถามผมก็กล้าตอบว่าชอบศิลปะ และพยายามทำให้เป็นรูปธรรม ให้คนอื่นเห็นว่าสิ่งที่เราชอบไม่ได้ไร้สาระ ตอนนั้นหนีไม่พ้นคำว่า "ศิลปินไส้แห้ง" แต่เราก็ต้องพยายามพิสูจน์ใจตัวเอง พิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่า มันอยู่ได้ มันเอาตัวรอดได้"

สตรีทอาร์ทเหมือนการแสดงสด 

"งาน 90 % ผมจะไม่ค่อยสเก็ตครับ จะเป็นลักษณะ Performance หน้างานมากกว่า ผมเล็งกำแพงนี้ไว้แล้ว 1 อาทิตย์ ว่างเดี๋ยวมาทำ มีสีเท่าไหร่ พอจะไปซื้อสีไหนมาเพิ่มได้บ้าง ก็ซื้อมาแล้วก็ไปยืนหน้ากำแพงมองๆ ณ ฟิวตรงนั้นมันจะบอกเองว่า เราควรจะเขียนคำว่าอะไร มันจะบอกเองว่าเราควรทำประมาณไหน และมากที่สุดคือ ณ ช่วงเวลานั้นมันจะบอกเองว่าประสบการณ์คุณมากน้อยแค่ไหน เพราะมันคืองานสด งานเราจะมีบริบทและโมเมนท์ ณ ตอนนั้นเข้าไปด้วยครับ 

“ถ้าเป็นงานของตัวเองจะพยายามจบงานให้ได้ภายในวันนั้น ผมถูกปลูกฝังมาแบบนี้ ถ้าไม่เสร็จก็อย่าไปหันหลังจนกว่าจะเสร็จ แต่ไม่ว่างานจะเสร็จไม่เสร็จมันก็โดนจับอยู่แล้ว ไหนๆ จะโดนจับก็ขอทำให้งานเสร็จก่อน เคยมีเหตุการณ์ต่อรองกับตำรวจแบบนี้"

"สันติ" งานศิลปะไทยแท้ร่วมสมัย

"ถ้าผมพูดถึงสำเพ็ง ตัวหนังสืออาจมีความเป็นอินเดีย หรือ เป็นคำพูด วลี ของคนแถวนั้น เป็นตัวหนังสือไทยที่ไม่ได้ไทยจ๋าและไม่มีความเขอะเขินมาก สันติคือตัวหนังสือไทยที่ไม่เชย ด้วยลายเส้น ลักษณะตัวหนังสือที่เป็นเอกลักษณ์ แล้วก็หัวใจ ใจแข็ง ๆ เปลี่ยนผมยาก เปลี่ยนไม่ได้ ค่อนข้างอีโก้สูง เรื่องความเชื่อมั่นในตนเอง ผมเชื่อว่า สิ่งที่ผมตัดสินใจทำมันถูกแล้ว ติชมรับฟังได้ไม่มีปัญหา แต่จะมาให้เปลี่ยนหรือปรับก็ไม่ทำ เพราะผมอยากเป็นผม"

"การต่อสู้กับความคิดของผู้ชมมากกว่า เพราะ ณ เวลาการทำงานจริงๆ เราพร้อมลุยไปแล้ว ผมมองว่า คนที่ไม่ชอบมันเป็นเรื่องธรรมดา สตรีทอาร์ตมันอยู่ริมถนน มันมีคนที่ไม่ได้เป็นอาร์ตไปยุ่งเหมือนกัน ทั้งติดป้ายโฆษณา เขียนด่ากัน เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ ตัวเราเองที่มีส่วนร่วมกับพื้นที่ตรงนั้น อาจต้องหาจุดยืนของเราที่ชัดเจนว่าเราจะทำอะไร แต่เราก็อย่าเอาบรรทัดฐานของความสวยความไม่สวยของเราไปวัดกับคนอื่น คำว่าสวยของแต่ละคนมันไม่เท่ากันครับ เปิดใจ ให้โอกาส อย่าเอาบรรทัดฐานของตัวเองไปวัดกับคนหมู่มาก"

ผลงานที่ประทับใจ

"ผลงานที่ร้อยเอ็ดครับ ช่วงปี 2019 ตอนนั้นได้เชิญไปเป็นศิลปินสตรีทอาร์ตที่ร้อยเอ็ด มันจะมีคลองเส้นหนึ่งในร้อยเอ็ดไว้คอยระบายน้ำเสีย เขาก็ไปปรับทัศนียภาพรอบๆ คลอง เราได้เป็นศิลปินคนหนึ่งที่ถูกเชิญไป แต่ที่ประทับใจเพราะ มันเป็นการทำงานบนน้ำ ทำขอบตลิ่งคลอง เอานั่งร้านไปตั้งบนน้ำแล้วยืนอยู่บนนั่งร้าน แล้วก็พ่นๆ งานนั้นเป็นงานที่ผมออกต่างจังหวัดแรกๆ เลย แล้วชิ้นงานใหญ่มาก ยาว 10 เมตร ทำคนเดียว ด้วยดีไซน์ที่ตั้งใจทำ ภาพจบเป็นเหมือนที่คิดก็รู้สึกพอใจ" 

"สันติ" ให้อะไร?

"ทำให้ผมรู้สึกมีตัวตนครับ ผมชื่อแชมป์ สันติก็ไม่ได้ชื่อจริง เป็นคำ ๆ หนึ่งที่สร้างมันขึ้นมา แล้วใช้ศิลปะแทนรูปธรรม จนวันหนึ่งหลายๆ คนรู้จักสันติ คนไปงานแกลลอรี่ งานนิทรรศการศิลปะ ผมไปสวัสดีเขา ไปเจอศิลปินหลายคน เขาไม่รู้ว่าผมเป็นใคร พอเขาเห็นจากลายเส้น จากสติ๊กเกอร์ เขาก็รู้เองว่านี่คือสันติ เขารู้จักสันติแต่ไม่รู้จักแชมป์ ผมเลยรู้สึกว่าคนมีเนื้อหนัง มันจับต้องได้อยู่แล้ว การแต่งกาย หน้าตา มันบอกอยู่แล้ว แต่ศิลปะมันเป็นการสร้างสิ่งๆ หนึ่งที่ไม่มีตัวตนให้มีตัวตนขึ้นมาได้ และพาเราไปสู่จุดอื่นๆ ด้วย ทำให้เจอเพื่อนใหม่ ๆ ได้ไปท่องเที่ยว มีสังคม มีงาน มีเงิน ความสุขมันมีอยู่แล้ว"

อยากขับเคลื่อนตัวอักษรไทย ให้คนไทยรู้จักมากกว่านี้

"อยากจัดงานมีทติ้งการเขียนหนังสือ อาจเอานักเขียนทั่วประเทศมารวมกัน ใครที่สนใจมาดูกันได้ เรามีอุปกรณ์ มีความรู้ มีนักเขียนจริงๆ มาให้ดู เพราะน้อยคนมากที่จะเจอคนออกแบบตัวหนังสือ อยากทำให้วงการตัวหนังสือบ้านเรามันไปอีก พอยิ่งชอบและยิ่งศึกษาตัวหนังสือมากๆ ก็ยิ่งรู้ลึก มีหลายเรื่องเกี่ยวกับตัวหนังสือไทยที่คนไทยยังไม่รู้ ประเทศโดยรอบของเรา ไม่ได้มีทุกประเทศที่มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง และในภาษาพูดของตัวเองก็ไม่ได้มีตัวหนังสือเป็นของตัวเอง แต่ประเทศไทยมีทั้งตัวหนังสือ มีภาษาเขียน ซึ่งตัวเราก็ไม่สามารถหลีกออกจากสิ่งนี้ได้ เพราะทุกอย่างในชีวิตเราเกี่ยวพันกับตัวหนังสือหมด