Culture

Absorbing The Senses of Patisseries: เสพขนมอบ แลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจที่ ‘Sauvage’ ร้านขนมอบที่พิเศษด้วยจริตของอาร์ตแกลเลอรี่

หลายๆ คนน่าจะมีโอกาสได้เห็นขนมจากร้าน ‘Sauvage’ ร้านขนมอบที่เพิ่งเปิดใหม่ได้เพียง 3  เดือน ในซอยแจ้งวัฒนะ 10 ที่ตอนนี้กำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียล ทว่าวันนี้เราอยากชวนทุกคนมาเปิดมุมมองของขนมหวานจากร้านนี้ว่า ขนมที่ทุกคนเห็นว่าเป็นกระแสอยู่นั้น แท้จริงแล้วมันทำหน้าที่เล่าเรื่องราว และความตั้งใจของคนทำ ผ่านความเป็นธรรมชาติที่ไม่แต่งเติมอะไรจนเกินจำเป็น แต่กลับมอบความรู้สึกพิเศษได้ ผ่านการพูดคุยกับของสองแม่ลูกเจ้าของร้าน คุณแอม – จุลพัทธ เทพตระการพร หรือ Mr.Chou และคุณอ้อม – วิชชุลดา สวัสดิ์บุรี

จุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายขนมหวานในฐานะลูกค้าคนหนึ่งในกรุงปารีส

“จะพูดว่าผมมีต่อมรับรสที่เหมาะกับขนมมาตั้งแต่แรกก็ได้ครับ” แอมเกริ่นถึงจุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายขนมหวานให้เราฟัง ก่อนจะเสริมว่าเขามีความสุขกับการได้ทานขนมหวานเสมอ

“ผมย้ายไปอยู่ปารีสในปี 2011 ประสบการณ์ของร้านขนมที่นั่นต่างออกไปจากที่ผมเคยรู้จักโดยสิ้นเชิง มันคืออีกระดับหนึ่งเลยครับ ทั้งในด้านสุนทรียะ รสชาติ และขั้นตอนการทำ ตอนนั้นโซเชียลมีเดียยังไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ การที่จะหาขขนมอร่อยๆ ทานสักชิ้นหนึ่งคุณต้องมีเวลาวางแผน ผมยังจำความสุขตอนที่ได้เดินเข้าไปในร้าน Pierre Hermé แล้วซึมซับบรรยากาศตรงนั้นได้อยู่เลย การได้เห็นขนมหวานทุกชิ้นถูกจัดเรียงอย่างเพอร์เฟกต์ พนักงานที่เข้ามาต้อนรับ กลิ่นหอมที่อบอวลในร้าน ทุกความทรงจำนั้นสร้างความประทับใจให้ผมมาก มันไม่ใช่แค่ว่าขนมหวานพวกนั้นรสชาติดีแค่ไหน แต่มันรวมไปถึงประสบการณ์ทั้งหมดทุกรูปแบบเลยครับ” มิสเตอร์ชูเล่าย้อนความทรงจำให้เราฟัง

พูดได้ว่าเส้นทางของผมเริ่มต้นขึ้นจากการเป็นลูกค้าที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนรู้ว่าตัวเองชอบอะไรแบบไหนจริงๆ และต้องการที่จะสร้างประสบการณ์นั้นขึ้นมาอีกครั้งในแบบของตัวเอง เพื่อให้คนอื่นๆ ได้สัมผัสบ้าง

คุณแอมพาเราย้อนความทรงจำกลับสู่จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขารักการทำขนม และมันคือจุดเปลี่ยนทำให้เขาผันตัวจากสายวิชาการ สู่เส้นทางการทำขนมหวานด้วยแพชชั่น

“ผมใช้เวลา 6 ปี ไปกับการเรียนในฝรั่งเศส เริ่มจากการเป็นนักศึกษาสาขาวรรณกรรมฝรั่งเศส ก่อนที่จะต่อปริญญาโทด้านกฏหมายสิทธิมนุษยชน ตอนนั้นผมรู้สึกชัดเจนทีเดียวว่า เส้นทางของผมจะไปสุดที่สายวิชาการ อาจจะเป็นนักวิจัย หรือไม่ก็อาจารย์ ไม่ช้าผมพบข้อพิจารณาสำคัญของตัวผมว่า ผมต้องการบรรลุสิ่งที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และวัดผลได้ ซึ่งชีวิตในแวดวงวิชาการคงรายล้อมไปด้วยเรื่องนามธรรม จะมีแค่ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ที่สนใจ ที่เข้าใจ และคงจะเข้าถึงคนส่วนใหญ่ไม่ได้ด้วยเช่นกัน”

“สุดสัปดาห์หนึ่งตอนที่ผมเรียนปริญญาโทอยู่ ผมตัดสินใจอบ Madeleines ให้ครอบครัวโฮสต์ที่ไปอาศัยอยู่ด้วยทาน พวกเขามีเตาอบที่ดีมากๆ ของ Gagganau ซึ่งอยู่ในบ้านนั้นมากว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งมันก็เพียงพอที่จะทำให้ผมอยากลองใช้มันอบอะไรสักอย่าง ตอนแรกๆ ที่ลองทำก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษหรอกครับ แต่มันก็ทำให้ผมอยากพัฒนาฝีมือการทำขนมไปเรื่อยๆ แล้วหลังจากนั้นผมก็ทำขนมเป็นประจำ 2 เดือนผ่านไป ผมเริ่มเข้าคลาสทำขนมระยะสั้นเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม แล้วในท้ายที่สุดก็ตัดสินใจลงทะเบียนเรียนทำขนมหลักสูตร 1 ปี” มิสเตอร์ชูเล่า

เมื่อแพชชั่นถูกขยายกลายเป็นร้านขนม

ใครจะเชื่อว่าร้านขนมที่ถูกถ่ายทอดจากแพชชั่นของคนทำขนมแห่งนี้ จะมีจุดเริ่มต้นจากออร์เดอร์ใน ‘Instagram’ คุณแอมเริ่มพาเราเดินทางผ่านจุดเริ่มต้นของร้าน Sauvage ที่ย้อนกลับไปในปี 2020 หลังจากเรียนจบ และกลับมาเมืองไทย การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ทุกคนต้อง Work From Home คุณแอมทำขนมที่บ้าน และโพสต์ภาพลงใน Instagram (misterchou.bkk) เรื่อยๆ จนกระทั่งมีคนทักเข้ามาขอซื้อขนมเหล่านั้น

“ผมตัดสินใจรับออร์เดอร์ของเขา และเขาออร์เดอร์เยอะมากเพื่อเอาไปแบ่งเพื่อนๆ ผมคิดว่าทุกคนน่าจะมีความสุขกับขนมที่ผมทำ เพราะหลังจากนั้นก็เริ่มมีออร์เดอร์เข้ามาเรื่อยๆ” คุณแอมเล่าก่อนเสริมว่า “หลังจากออร์เดอร์ครั้งแรกนั้น ผมก็ทำขนมให้ลูกค้าต่อมาเรื่อยๆ ประมาณ 2 ปี ในช่วงนั้นขนมทั้งหมดถูกทำในห้องครัวในบ้านครับ เป็นครัวปกติเลย ไม่ได้มีอุปกรณ์ครบครันอะไร จนมันถึงจุดที่ผมเริ่มติดขัดในการทำออร์เดอร์ที่เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ คุณแม่ก็ไม่ได้ใช้ครัวเลยมาหลายปีแล้ว พวกเราเลยคุยกัน ตัดสินใจว่าต้องมีพื้นที่สำหรับการทำงานของผม”

จากแผนการขยับขยายว่าจะต่อเติมโรงรถเดิม เป็นครัวใหม่ให้มิสเตอร์ชูใช้ทำขนมแบบส่งจากร้าน โดยไม่มีที่นั่งทานในร้าน แต่เมื่อเริ่มสั่งอุปกรณ์ต่างๆ กลับทำให้แผนเปลี่ยนจนไม่เหลือเค้าเดิม

“เราทั้งสองคน ไม่มีใครมีพื้นฐานด้านธุรกิจเลยค่ะ การเลือกอุปกรณ์ต่างๆ การออกแบบพื้นที่ และเครื่องไม้เครื่องมือ ทั้งมาตรฐาน และบรรทัดฐานของงานระบบ มาจากความฝันของนักทำขนมล้วนๆ กว่าจะรู้ตัว เราก็มีครัว และส่วนสำหรับพนักงานที่รวมกันแล้วใหญ่กว่าหน้าร้านถึงสามเท่า และสเปซในฝันนี้ จะมีคนทำงานเพียงคนเดียวไม่ได้" คุณอ้อมอธิบาย

จุดนี้เองที่ทำให้คุณอ้อม คุณแม่ของคุณแอม ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้ก่อตั้ง Sauvage และดูแลการบริหารจัดการ พร้อมด้วยอีกหนึ่งคนสำคัญที่เข้ามามีส่วนร่วม และทำให้ Sauvage เดินทางถึงจุดนี้ได้ก็คือ ปราง เลิศทวีวิทย์ Strategist และ Curator ของ Sauvage ซึ่งเธอได้เล่าให้เราฟังว่า

“เริ่มต้นด้วยศาสตร์ แต่จบด้วยศิลป์ มองศิลปะในรูปแบบของขนม มองคนทำในฐานะศิลปิน Sauvage เป็นโปรเจกต์ที่พิเศษ วัตถุประสงค์หลักคือ เป็นพื้นที่แห่งการทำงานที่มีความหมาย ปรัชญาการทำขนมในแบบของ Mr.Chou ในฐานะผู้ก่อตั้ง เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ถึงอย่างนั้นร้านต้องมั่นคงยั่งยืนได้โดยไม่ต้องยอมปรับตัวลดทอนความจริงจังของการทำขนมให้เข้ากับปัจจัยเชิงธุรกิจ ฮาร์ดแวร์คือ สถานที่ที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เรามีกำลังจะสร้างขึ้นมาได้ ซอฟต์แวร์ หรือระบบปฏิบัติการนั่นคือ วัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) ของ Sauvage

ในฐานะ Brand Strategist และ Experience Designer เราทราบดีว่าผู้คนอยากเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับประสบการณ์ที่มีความหมาย ซึ่งจะทำให้เขาเป็นคนที่รุ่มรวยยิ่งขึ้น สังเกตได้จากความเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่คนมักแสดงตัวตนผ่านสิ่งของจากแบรนด์ต่างๆ ที่ตนเลือกใช้ ในขณะนี้คนเราเริ่มหันมาลงทุนกับประสบการณ์ต่างๆ ที่จะสร้างอัตลักษณ์ที่มีความหมายกับตน

ขนมของ Sauvage นั้น ต้องใช้ทักษะ ความประณีต และเวลาในการทำที่สูง ขนมของทางร้านจึงมีเพียง 7-8 รายการในช่วงเวลาหนึ่งๆ บางครั้งอาจมีขนมใหม่ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเสิร์ฟให้ลูกค้าทดลองชิมด้วย ผู้คนที่รักในขนมถูกดึงดูดเข้ามาพบกัน มาเสพ หรือมาทำงานด้วยกัน มาค้นพบรสชาติใหม่ๆ ด้วยกัน ไม่ใช่เป็นธุรกิจในลักษณะ Top-Down แบบพีระมิด ที่มีเชฟที่เก่งชี้นำทุกอย่าง แต่ทุกคนที่มาทานขนมของเราเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสรรค์ได้” ปรางอธิบาย

‘Artist-run Gallery’ คือคำที่ปรางใช้อธิบายภาพของ Sauvage ให้เราเข้าใจมากขึ้น ซึ่งปรางเล่าว่า “เรามองว่า Sauvage เป็นเหมือนกับแกลเลอรี่เล็กๆ ที่มีศิลปินเป็นเจ้าของ คนที่ชอบเสพงานสไตล์นี้ก็ถูกดึงดูดเข้ามา ในขณะเดียวกันมันก็มีพื้นที่เหลือมากมายให้นักทำขนมอื่นๆที่แชร์คุณค่า และความหมายในแนวทางของงานลักษณะเดียวกันมาแสดงงานร่วมกันได้ เราหวังว่า Sauvage จะเป็นที่ๆ เปิดตัวขนมให้คนรู้จักเชฟที่มีความสามารถคนอื่นๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ได้มาหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ร่วมกันกับเรา ไม่ว่าจะในฐานะ Guest Chef หรือ Artist in Residence"

สิ่งที่ทำให้ Sauvage พิเศษจนสัมผัสได้คือ การได้ทานขนมที่พีถีพิถันภายใต้บรรยากาศสบายๆ ซึ่งปรางก็เล่าให้เราฟังต่อว่า “โฟกัสของ Sauvage คือ ‘ความรักขนม’ ที่ร้านเป็นบรรยากาศสบายๆ เหมือนบ้าน ไม่ได้มีความเกร็งของการต้องแต่งตัวสวยไปโรงแรมหรู ไวน์ที่ดีคือ ไวน์ที่เราชอบ เราไม่ได้ต้องพยายามชอบไวน์ที่แพงถึงจะเรียกว่าดื่มเป็น เราอยากให้ที่ร้านเป็นที่ๆ คนรู้สึกสนุกที่จะแวะมาเปิดกว้างอัพเดตอะไรใหม่ๆ เสมอ”

แน่นอนว่า การทำกิจการสักหนึ่งอย่างล้วนต้องมีบททดสอบ และความท้าทาย ซึ่งบนเส้นทางการสร้าง Sauvage ของมิสเตอร์ชูก็เจอเช่นกัน “ความท้าทายที่เราเจอระหว่างทางมีเยอะมากครับ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือบุคลากรของเรา สำหรับตัวผม ความท้าทายหลัก ไม่ใช่ด้านความคิดสร้างสรรค์ แต่มันคือการจัดกำลังในการทำงานให้เสร็จวันต่อวัน เพื่อตอบสนองความต้องการที่มากขึ้นเมื่อเราเป็นที่รู้จักในวงกว้าง นี่คือการปรับตัวที่ยิ่งใหญ่สำหรับผม จากการที่เคยทำงานคนเดียว”

ความท้าทายที่สำคัญที่สุดสำหรับผมอาจจะเป็นการอยู่เคียงข้างทีมของผม เมกชัวร์ว่าทุกคนมีความสุขกับงานที่ทำ

เสน่ห์ที่ไม่ปรุงแต่งในแบบของ ‘Sauvage’

ในร้านขนมบรรยากาศอบอุ่นที่มีขนมอบกลิ่นหอมฟุ้งเรียงรายอยู่ในตู้กระจก ที่ทำให้เรารับรู้ได้ว่า ขนมเหล่านั้นถูกถ่ายทอดออกมาด้วยแพชชั่นจริงๆ จนเราต้องถามคุณแอมว่า สำหรับเขาแล้ว ขนมหวานคืออะไร?

“ขนมหวานเป็นเวกเตอร์ของการแสดงออกถึงตัวตน เมื่อคนทำขนมอบเค้ก เขาไม่ได้แค่ผสมแป้ง น้ำตาล และไข่ ในอีกทางหนึ่งเขาก็แชร์ตัวตน และคุณค่าของเขาให้กับลูกค้า ซึ่งขนมหวานเหล่านั้นก็คือสื่อกลางที่พวกเขาใช้ในการแสดงออก” มิสเตอร์ชูตอบก่อนจะอธิบายต่อว่า “มันคือการมาเจอกันของวิทยาศาสตร์ และหัตถศิลป์ เป็นสิ่งที่เกิดจากความสงสัย และความต้องการของคนทำขนมที่อยากจะอบอะไรสักอย่างออกมา”

“สิ่งที่ดีมากๆ ของการทำขนมคือ การที่ได้เจอผู้คน และการมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา การได้รู้จักพวกเขามากขึ้นทีละนิด แล้วก็ได้ฟังความคิดเห็นของพวกเขาเพื่อพัฒนางานของเราด้วย” แอมเล่า ก่อนอธิบายถึงเสน่ห์ของการทำขนมต่อว่า “งานครัวมันมีความเป็นมนุษย์อยู่เยอะครับ ซึ่งมันไม่สามารถแทนที่ด้วยอุปกรณ์ หรือเครื่องจักรได้ เราอาจจะมีสูตรอาหารที่เพอร์เฟกต์มากอยู่ตรงหน้า แต่ในความเพอร์เฟกต์นั้น ก็ยังต้องการสัญชาตญาณของมนุษย์ในตัวเรา ร่วมกับการคำนวณ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมที่สุด”

แล้วเสน่ห์ที่ทำให้ขนมของ Sauvage แตกต่างออกไปคืออะไร?

“ในขนมหวานมีน้ำตาล และน้ำตาลก็ไม่ดีต่อสุขภาพ ขนมหวานจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการตามใจตัวเอง ซึ่งผมมองว่า การปล่อยตัวเองแบบนั้นจะต้องไม่ทำลายสุขภาพ

ในความรู้สึกของผม ขนมหวานส่วนใหญ่มักจะหวานเกินไป และขาดมิติของรสชาติ ผมใช้น้ำตาลไม่ขัดสี พยายามไม่ใช้วัตถุดิบสังเคราะห์ในขนมของผม รวมถึงไม่ค่อยพึ่งแม่พิมพ์ซิลิโคนเพื่อควบคุมขนมให้มีรูปทรงที่ตื่นตา ซึ่งผมพยายามทำให้ขนมของผมมีหน้าตาตรงไปตรงมา แต่มีมิติทั้งในรสชาติ และเทกซ์เจอร์ ที่ถูกปรับมาอย่างละเอียดอ่อน ขนมของเรามีขั้นตอนที่เยอะมาก แต่หากเราตัดรายละเอียดบางอย่างออกไป ผลลัพธ์​ก็จะเปลี่ยนไป" มิสเตอร์ชูตอบ

Vanilla, Bourbon & Grand Marnier Flan

มิสเตอร์ชูให้ความสำคัญกับรสชาติของขนมเป็นหลัก เพราะฉะนั้นรสชาติของขนมจาก Sauvage จึงมาก่อนหน้าตาของขนมเสมอ

“ในการออกแบบขนมของแอม แอมจะเริ่มจากรสชาติก่อน นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขา ความสวยขึ้นอยู่กับสายตาคนมอง ลายหิน เปลือกไม้ ใบไม้ สวยงามได้ตามที่มันเป็น หลายๆ คนชื่นชมความงามตามธรรมชาติของขนมของ Sauvage ว่ามันสะท้อนขั้นตอนการทำที่ผสานงานฝีมือกับ Food Chemistry ที่กำหนดโดยธรรมชาติ” คุณอ้อมเล่า

‘Classic with a twist’ คงเป็นหนึ่งในคำอธิบายที่เรารู้สึกว่าเข้ากับวิธีคิดของคุณแอมมากที่สุด เช่นเดียวกับประโยคที่ประตูทางเข้าร้านอย่าง 'Art is never finished.'

“ในการทำขนมผมมักจะเอาขนมแบบคลาสสิกเป็นจุดเริ่มต้น การเรียนรู้ขั้นตอนการทำสิ่งที่เรียกได้ว่า เป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนมาก ผ่านกาลเวลามายาวนาน ทำให้ผมหลุดไปในโลกส่วนตัวกับการทดลองได้เป็นเดือนๆ เลย ในขณะเดียวกันมิติของยุคสมัยใหม่ที่ผมเสริมในขนมตัวนั้นได้คือ การทดลองเทคนิค และการจับคู่รสชาติของวัตถุดิบที่หาได้ในสถานที่นี้ บวกกับความเป็นตัวตนของ Mr.Chou มันอาจจะออกมาดีหรือไม่ดี หรือ 'น่าสนใจ' ซึ่งผมก็ดีใจที่เมื่อมี Sauvage ผมแค่เดินออกจากครัวมา ก็มีลูกค้าที่น่ารักช่วยชิม และให้ความเห็นแล้วครับ

ถ้าผมจะลองทำเลม่อนทาร์ตของ Sauvage ผมอาจจะใส่คาโมมายล์ลงไปนิดๆ หรือใส่รสสัมผัสเล็กๆ ของมะขามเข้าไปในเค้กช็อกโกแลต มันคือความอยากทดลอง

‘Art is never finished’ เป็นโควทของ Da Vinci ประโยคที่สมบูรณ์คือ Art is never finished, only abandoned. ถ้าเราหยุดทำต่อ และคิดว่ามันเสร็จแล้ว มันก็เสร็จแล้ว ขนมที่ผมทำเป็นขนมที่ผมทำต่อมา และหลังจากผมก็จะมีคนทำต่อไป” มิสเตอร์ชูกล่าว

Caramel Miso Flan

เราขอให้มิสเตอร์ชูแนะนำขนมที่ถ้ามาในร้านแล้วต้องห้ามพลาด ซึ่งเจ้าตัวก็แนะนำเมนูที่ขายดีที่สุดให้เราได้รู้จัก นั่นก็คือ ‘Miso Caramel Flan’ ขนมที่ประกอบด้วย Puff Pastry กรอบๆ ฉ่ำด้วยคาราเมล ล้อมรอบคัสตาร์ดคาราเมลรสละมุน ราดทับด้วย ‘Miso Caramel’ คาราเมลหวานหอมที่ทวิสต์ด้วยรสเค็มเล็กๆ ของมิโซะ ช่วยเพิ่มสัมผัสพิเศษบางอย่างในแบบของ Sauvage ได้เป็นอย่างดี

Kouign Amann

“เราค่อนข้างเป็นที่รู้จักในเรื่องของแป้ง และ Puff Pastry ไม่ว่าจะเป็น Flan, Kouign Amann หรือ Millefeuille ต่างก็เป็นซิกเนเจอร์ของเราค่ะ” คุณอ้อมบอกกับเรา

Banoffee Millefeuille (Banana Cream & Caramel)

การเปิดโอกาสให้ทุกความสร้างสรรค์

นอกจากผลงานการรังสรรค์ขนมจะมาจากมิสเตอร์ชูในฐานะ Executive Chef แล้ว อีกหนึ่งความพิเศษคือ Sauvage เปิดโอกาสให้เชฟในทีมได้คิด และสร้างสรรค์ขนมใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยเช่นกัน

“Sauvage เป็นแพลตฟอร์มที่เราตั้งใจจะให้เป็นที่ๆ คนรักการทำขนมมาร่วมกันทำงาน เปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์ ทดลองและค้นหาสิ่งใหม่ๆ ด้วยกัน ซึ่งสิ่งนี้จะดึงดูดคนที่อยากเสพขนมโดยธรรมชาติของแพลตฟอร์มเอง ขนมในร้าน เช่น Banoffee Millefeuille ก็เป็นชิ้นที่เกิดขึ้นบนพื้นที่สร้างสรรค์ของเมนู Millefeuille ในร้าน” ปรางอธิบาย

Crunchy Cube

"ตั้งแต่เปิดร้านในเดือนสิงหาคม เรามีเมนู Pandan Millefeuille และ Vanilla Millefeuille วันหนึ่งเราคุยกันกับเชฟเบนซ์ว่า แม่ชอบ Banoffee นะ เขาก็ไปทำครีมมาใช้คู่กับแป้ง Millefeuille ของเรา อร่อยเลย ทำครั้งที่ 2 ก็ผ่านเลย” คุณอ้อมเสริม ก่อนเล่าต่ออย่างมีความสุขว่า “อย่างเชฟโอมเก่งมากเรื่องแป้ง เขาคิดเมนูที่ชื่อ ‘Crunchy Cube’ เขาเอาแป้ง Kouign Amann มาตัดเป็นลูกเต๋าเล็กๆ เอาไปใส่ใน Ring อบออกมา อร่อยมาก (หัวเราะ) เราก็จะบอกคนที่มาซื้อว่านี่เป็นครีเอชั่นของเชฟโอมนะ เราก็อยากจะสร้างโปรไฟล์ให้เขา”

"Mr.Chou คือ Artist in Residence คนแรกของ Sauvage ค่ะ ศิลปินทุกคนไม่ได้จะต้องเป็นนักธุรกิจที่ดี เมื่อต้องเป็นนักธุรกิจ มันก็อาจจำเป็นต้องแลกกับเวลาทำขนมที่น้อยลง และมีปัจจัยความกลัวด้านต่างๆ เพิ่มเข้ามา ซึ่งอาจจะทำให้สูญเสียอิสรภาพทางความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความกล้าในการทดลองสิ่งใหม่ๆ เราคิดว่า มี Pastry Chef หลายคนที่อาจจะมีข้อจำกัดเดียวกันนี้ Sauvage จึงพยายามจะเป็นทรัพยากรที่ช่วยเสริม และซัพพอร์ตให้นักสร้างสรรค์เหล่านี้ทำงานได้ง่ายขึ้นได้ เช่นเดียวกับการมีอยู่ของแกลลอรี่ ที่ช่วย Represent ศิลปิน เพิ่ม Public Recognition รวมถึงบริหารจัดการการขายที่ศิลปินอาจไม่ถนัด พร้อมด้วยการคอนเน็กศิลปินให้กับนักสะสมศิลปะ ในกรณีของเราก็คือการโชว์เคสขนมดีๆให้กับกลุ่มลูกค้าที่รักร้าน Sauvage นั่นเอง” ปรางสรุปอีกครั้ง

อนาคตวงการขนมหวานผ่านมุมมองของ Mr.Chou

เราได้รู้จักเส้นทาง และแพชชั่นของคุณแอมมาจนถึงจุดนี้แล้ว เราก็คงไม่พลาดที่จะให้เจ้าตัวบอกเล่ามุมมองที่มีต่อวัฒนธรรมขนมหวานให้เราได้ฟัง

“ผมคิดว่าคัลเจอร์ขนมหวานในประเทศไทยเปลี่ยนไปมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ขนมหวานเคยเป็นสิ่งพิเศษตบท้ายมื้ออาหาร และรสชาติ หรือความชอบของเราที่มีต่อขนมหวานก็ถูกตีกรอบด้วยอาหารที่เราทานในแต่ละวัน ซึ่งพื้นฐานของอาหารไทยคือ Comfort Food ขนมไทยจึงออกมาเรียบง่าย แต่อร่อย

ในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียมีผลกระทบกับวัฒนธรรมขนมหวานมากขึ้น ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย ทุกวันนี้ขนมหวานมักจะโฟกัสไปที่การใช้ ‘วัตถุดิบราคาแพงในกระแส’ และผู้คนก็มองหาขนมหวานที่เตะตา ถ่ายรูปสวย ขนมหลายอย่างเป็นกระแส ดีต่อยอดไลค์ และอายุสั้น สำหรับผม ขนมที่ผมใช้เวลาสามปีในการพัฒนา ผมอยากให้มันอยู่ยาวๆ นะ อยากให้มีคนกลับมาทานซ้ำเรื่อยๆ ครับ" มิสเตอร์ชูพูดพร้อมอมยิ้ม

แล้วแบบนี้คุณแอมคาดหวังให้ซีนของขนมหวานในบ้านเราเติบโตไปอย่างไร?

“ก่อนหน้านี้มันยากมากนะครับ ที่จะหาครัวซองต์ดีๆ ในประเทศไทย แต่ทุกวันนี้มันมีขายอยู่เยอะมาก ผมคาดว่าซีนของขนมหวานในบ้านเราจะพัฒนาไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถจะเข้ามาอยู่ในวงการขนมมากขึ้น พร้อมกับความน่าตื่นเต้นของไอเดีย และมุมมองใหม่ๆ ในงานขนม”

Sauvage เป็นมากกว่าร้านขายขนม พื้นที่ของเรารอคนที่ตั้งใจทำขนมมาร่วมทีม หรือมาสร้างสรรค์ขนมร่วมกับเรา และรอต้อนรับคนที่รักขนมในปรัชญาเดียวกันมาเสพขนมของเรา

ก่อนจากกันเราขอให้คุณแอมอัพเดตแพลนในอนาคตของ Sauvage ให้เราฟังซึ่งเจ้าตัวก็บอกว่า "เราแพลนกันไว้ว่าจะเพิ่มจุดขายขนมในเมืองสักที่ เพราะร้านเราอยู่ในซอยเล็กๆ ซึ่งไม่สะดวกในการเดินทางนัก แล้วก็จะมีไลน์สินค้าที่เรียกว่า ‘Sauvage At Home’ ให้แฟนๆ ของเราได้มีติดบ้าน และทำขนมง่ายๆ อบใหม่ๆ ด้วยตัวเองได้ครับ”

Sauvage

99/395 ซอยแจ้งวัฒนะ 10 แยก 3 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 (Google Map)
เปิดให้บริการทุกวันพุธ - วันอาทิตย์
ตั้งแต่เวลา 11.00 - 17.00 น.
โทร. 095-493-5083 (แนะนำให้จองขนมล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน ทาง Instagram หรือ Line)

ติดตามอัพเดตจากร้าน Sauvage และจองขนมล่วงหน้าได้ที่

Instagram: sauvagebkk
Line ID: @sauvagebkk