Culture

‘ยีน ณัฐดนัย’ ผู้ที่ทำให้เรารู้ว่าสกู๊ตเตอร์ไม่ได้มีแค่ไถขา

แต่กระโดดและเล่นท่าได้ด้วย

เราเชื่อว่าถ้าคุณไม่ใช่คอกีฬาเอ็กซ์ตรีม ก็คงไม่รู้หรอกว่า ‘สกู๊ตเตอร์’ (Scooter) ที่เคยใช้ขาไถชิลๆ ไปตามถนนสมัยยังเด็ก มันจะสามารถเอามา Jump หรือ Bunny Hop ได้ด้วย 

ความจริงเราเองก็เพิ่งรู้เมื่อไม่นานมานี้ เพราะบังเอิญเจอกลุ่ม Scooter Stunt Thailand บนเฟซบุ๊ก เลยได้โอกาสไปหาข้อมูลเพิ่มเติมว่ากีฬาเป็นอย่างไร จะน่าสนใจเหมือนที่เราคิดเอาไว้ไหม จนเจอกับคลิปของ ‘ยีน – ณัฐดนัย สุวรรณกูล’ (Natdanai Suwangoon) ที่สอนเล่นสกู๊ตเตอร์ท่าทางต่างๆ บนยูทูปมานานกว่า 2 ปี เราเลยคิด (เอาเอง) ว่า คนนี้แหละที่จะทำให้เรารู้จักสกู๊ตเตอร์ลักษณะนี้มากขึ้น เพราะยังไงแล้ว เปิดกูเกิลก็คงไม่สู้ได้คุยกับคนเล่นจริง รู้จริงใช่ไหมล่ะ 

ช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว เรากับยีนจึงนัดพูดคุยกันที่ ‘POPP Skatepark’ หนึ่งในพาร์คเพียงไม่กี่แห่งที่ให้ชาวสกู๊ตเตอร์เข้ามา join ได้

ความน่าสนใจของสกู๊ตเตอร์ในสายตาของ ‘ยีน ณัฐดนัย’

เริ่มบทสนทนาด้วยคำถามที่เราอยากรู้มากที่สุดก่อนเลย เพราะเท่าที่หาข้อมูลมา ก็รู้ว่ามันเข้าสู่ประเทศไทยมาสักพักแล้ว เพียงแต่ยังไม่แมสเท่ากีฬาเอ็กซ์ตรีมอื่นๆ เราได้ถามออกไปว่า ในเมื่อคนไม่ค่อยเล่น ทำไมยีนถึงเล่น และยังแชร์ความรู้กับคนอื่นอีก?

“เมื่อก่อนผมเล่นทั้งสเก็ตบอร์ดและจักรยาน BMX เลย แต่พอมีโอกาสได้ลองเล่นสกู๊ตเตอร์ ก็อยากเปลี่ยนมาปักหลักที่อันนี้ ไม่อยากเล่นอย่างอื่นแล้ว ผมยอมขายทุกอย่างทิ้ง เพื่อมาจริงจังกับมัน เพราะมันน่าสนใจมากครับ เหมือนเอาทักษะการทรงตัวบนแผ่นสเก็ตบอร์ดและการกระโดดของ BMX มารวมกันแบบ 2 in 1”

“นอกจากความสนุกแล้ว ผมว่ามันน่าสนใจตรงที่เราสามารถพามันไปได้ทุกที่ สมมติถ้าอยากไปไถเล่นชิลๆ ริมถนน บางครั้งล้อสเก็ตบอร์ดอาจทำไม่ได้ แต่ล้อสกู๊ตเตอร์เล่นได้ ผมชอบตรงที่มันเล่นคนเดียวได้ เพราะเวลาเราไปที่อื่นก็จะมีแต่อะไรเดิมๆ พอเราเล่นสกู๊ตเตอร์เลยกลายเป็นเล่นอยู่คนเดียว บางคนอาจจะมองว่าแปลก แต่ผมโอเค”

ความต่างจากสกู๊ตเตอร์ที่เคยเล่นตอนเด็กๆ

“สกู๊ตเตอร์ที่เราเล่นตอนเด็ก ส่วนใหญ่จะออกแบบมาให้เชื่อมต่อกันเป็นชิ้นเดียว ถ้าพังก็จบ เขาจะไม่นิยมเปลี่ยนอะไหล่กัน แต่สกู๊ตเตอร์สำหรับเล่นแบบเอ็กซ์ตรีม ท่าทางจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ สตั้นท์ (Stunt) สำหรับเล่นท่าโดยเฉพาะ และสตรีท (Street) ที่เล่นกับพวกอุปกรณ์ เหล็ก บล็อก เนินต่างๆ ซึ่งทั้งสองแบบจะมีความแข็งแรงกว่าสกู๊ตเตอร์ที่ใช้เล่นทั่วๆ ไป มีทั้งทำจากอลูมิเนียม และไทเทเนียม ส่วนอะไหล่ทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นล้อ แผ่น นอต จะสามารถเปลี่ยนได้หมดเลย”

เมื่อใจรักก็ต้องเริ่มฝึกเอง

ในเมื่อคอมมูนิตี้คนเล่นสกู๊ตเตอร์ในไทยยังไม่ได้ใหญ่มาก และคนสอนก็ไม่ได้หาง่ายขนาดนั้น ยีนฝึกฝนอย่างไร?

“เรียนรู้จากยูทูปส่วนหนึ่ง และมั่วด้วยส่วนหนึ่ง (หัวเราะ) เพราะผมไม่เก่งภาษาอังกฤษเลย แต่คลิปที่สอนส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง ผมจะดูคลิปที่เขาสอนให้พอรู้ว่ามันต้องทำยังไง แล้วมาลองมั่วดู จับทุกอย่างมารวมกันทีละสเต็ปจนออกมาเป็นท่านั้นๆ ได้ บวกกับไปขอคำแนะนำจากพี่ๆ ที่เขาเล่นอยู่ก่อนแล้วด้วยครับ มีคนที่เก่งกว่าผมเยอะมาก”

ความยากของสกู๊ตเตอร์ที่เป็นกีฬาเอ็กซ์สตรีม

“ยากตรงที่มันไม่ได้ปลอดภัยเท่าสเก็ตบอร์ด อย่างเวลา Jump หรือ Bunny Hop กับสเก็ตบอร์ด เราก็จะหนีแผ่นบอร์ดพ้น แต่กับสกู๊ตเตอร์ บางทีเราหนีแผ่นพ้นนะ แต่หนีช่วงแฮนด์ไม่พ้น ค่อนข้างน่ากลัวครับ แต่มันก็เหมือนกีฬาเอ็กซ์ตรีมอื่นๆ ที่น่ากลัว แต่ก็สนุกมาก ถ้าเรารู้ว่าเล่นแบบไหนแล้วเจ็บ ก็แค่หลบซะ พยายามฝึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ชินเอง เพราะสกู๊ตเตอร์มันเป็นอะไรที่ถ้าทำได้แล้วก็จะได้เลย”

“อีกอย่างคือคลิปสอนที่ทำโดยคนไทยยังมีน้อย การที่จะเรียนรู้เลยไม่ง่าย ผมเลยจะพยายามเรียนรู้ท่าใหม่ๆ และทำคลิปสอนอย่างต่อเนื่อง อัปโหลดทุกอาทิตย์ เพื่อให้คนที่กำลังฝึกได้ประโยชน์ไปด้วย”

หัวใจของการเล่นสกู๊ตเตอร์

“ผมว่าหัวใจคือ ‘อุปกรณ์’ ครับ อุปกรณ์ต้องมาเป็นที่หนึ่ง ไม่จำเป็นว่าต้องราคาแพงนะครับ แต่หมายถึงความเหมาะสมกับผู้เล่น เพราะตอนที่เริ่มเล่นใหม่ๆ ผมเริ่มด้วยสกู๊ตเตอร์มือสอง มันทำให้รู้ว่าถ้าอุปกรณ์ไม่โอเค ก็เล่นต่อไม่ได้ วิธีการเลือก อย่างเช่น ‘แผ่นบอร์ด’ ต้องเลือกให้สมดุลกับขนาดเท้า เพื่อให้ยืนได้เต็มแผ่น หรือเลือกให้เข้ากับการเล่น ถ้าเล่นแบบพาร์ค (Park) ที่ต้องปีนแลมป์ ก็ต้องใช้แผ่นเล็กและเบากว่าปกติ เพื่อให้ง่ายกับการต่อท่า หรือถ้าเล่นแบบสตรีท ต้องใช้แผ่นเหลี่ยม เพื่อให้ยึดเกาะกับอุปกรณ์ได้ดี ส่วน ‘ความสูงของแฮนด์’ ก็ขึ้นอยู่กับส่วนสูงและความถนัด ถ้าสูงเกินหรือต่ำเกินก็เล่นลำบาก ควรลองเล่นแล้วเลือกระดับที่ตัวเองถนัดที่สุด อย่างผมสูง 168 ซม. แฮนด์จะอยู่ประมาณสะดือ”

คำแนะนำถึงชาวสกู๊ตเตอร์หน้าใหม่

  • การเล่นสกู๊ตเตอร์แรกๆ ยังไม่จำเป็นต้องกระโดด เอาแค่ไถขาให้ชัวร์ก่อนก็พอ เพราะด้วยขนาดและวงเลี้ยว จะทำให้ด้านหน้ามันไวมาก ถ้าคนเล่นยังไถขาได้ไม่คล่อง พอขึ้นไปยืนปุ๊บก็จะตกใจ มือสั่น และล้มได้ 
  • มือใหม่ต้องเซฟไว้ก่อน อย่าลืมหมวกกันน็อก สนับศอก สนับเข่า
  • อย่าซื้อสกู๊ตเตอร์จนกว่าจะได้ลองเล่นว่าเหมาะกับตัวเองไหม จะได้เล่นได้นานๆ เพราะอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้คุณเล่นไม่ได้ ท้อใจ และเลิกเล่นได้ง่ายๆ

การเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น ในฐานะคนที่ทั้งเล่นและสอนสกู๊ตเตอร์

“ผมอยากให้สกู๊ตเตอร์เท่าเทียมกับกีฬาอื่น มีรายการแข่งขันจริงจัง มีสปอนเซอร์รายใหญ่เข้ามาสนับสนุน เพราะที่ผ่านมามีจัดงานไปแล้วประมาณ 2-3 ครั้ง แต่เป็นการมามีตติ้งกันมากกว่าแข่ง แต่เมื่อปีที่แล้วมีงานชิงแชมป์ประเทศไทยที่กกท.จัด สกู๊ตเตอร์ก็เลยได้เข้าไปเป็นในหนึ่งกีฬาทดลองด้วย ยอมรับเลยว่าพอมีการแข่งขันระดับประเทศขึ้นมา มันทำให้คนเล่นกีฬานี้มีกำลังใจมากขึ้น มีเป้าหมายชัดเจนขึ้นว่าเล่นไปเพื่ออะไร ไม่ใช่แค่สนุกไปวันๆ อีกแล้ว”

“แล้วก็มีเรื่องสนามครับ ผมอยากให้ทุกสถานที่รองรับการเล่นสกู๊ตเตอร์ เพราะตอนนี้คนส่วนใหญ่ยังมองว่าสกู๊ตเตอร์เป็นกีฬารุนแรง จะทำให้อุปกรณ์เสียหาย เขาก็จะไม่ให้ใช้สนาม แต่จริงๆ แล้วมันไม่ต่างจากสเก็ตบอร์ดเลยครับ”

สำหรับชาวสกู๊ตเตอร์ที่อยากประลองฝีมือ หรือใครก็ตามที่อยากไปสัมผัสความน่าสนใจของสกู๊ตเตอร์ด้วยตาของตัวเอง ยีน ณัฐดนัยฝากมาว่า หลังจากหน้าฝนหมดไป ชมรมมนุษย์ติดล้อจะจัดการแข่งขันรวมกีฬาที่มีล้อหลายประเภท รวมถึงสกู๊ตเตอร์ด้วย ติดตามข่าวสารไว้ให้ดี ห้ามพลาดเลยล่ะ

ติดตาม ‘ยีน ณัฐดนัย’ ได้ที่

YouTube: Youtube Go scooter / Youtube Natnai Good 

ทดลองเล่น พร้อมซื้ออุปกรณ์สกู๊ตเตอร์เจ๋งๆ ได้ที่ DING Shop