“Please Knock”
ทันทีที่เราไปถึงร้านสีน้ำเงินสดใสหน้าตาเหมือนคาเฟ่สุดน่ารัก เราก็พบป้ายที่แปะไว้บนบานประตูสีขาวว่าให้ ‘เคาะประตู’ และทันทีที่เคาะประตู ‘วี’ – วีรี ยมจินดา และ ‘โอ๊ค’ – กรณัฏฐ ธรรมอำนวยสุข สองเจ้าของร้าน ‘Skål Sober Bar & Concept Store’ ก็เปิดประตู และต้อนรับเราเข้าสู่บาร์เครื่องดื่มเล็กๆ ในบรรยากาศสบายๆ ยามบ่าย
ใช่ คุณอ่านไม่ผิด บาร์ยามบ่าย
วันนี้ EQ อยากพาทุกคนไปทำความรู้จัก ‘Sober Bar’ เทรนด์การดื่ม และการสังสรรค์แบบไร้แอลกอฮอล์ ค็อกเทลไม่มีแอลกอฮอล์ใช่ม็อกเทลไหม ทำไมเราต้องไม่เมา แล้วถ้าไม่เมาจะสนุกได้อย่างไร เดี๋ยวเราจะให้ประสบการณ์ที่ Skål Sober Bar แห่งนี้เป็นคำตอบให้ทุกคน ถ้าพร้อมแล้วก็ “Skål!”
“บางทีเรานั่งคุยกันด้วยน้ำเปล่านี่แหละ คุยกันเพลินๆ แล้วอยู่ๆ ก็เอาน้ำเปล่ามาชนแก้วกัน นั่นคือ ที่มาของชื่อร้าน Skål เป็นภาษาสวีดิช แปลว่า Cheers หรือ Kampai เราเลยเห็นภาพว่ามันมีคนที่ไม่ต้องการดื่มแอลกอฮอล์ แต่อยากเอ็นจอยแบบนี้ มากกว่าพวกอิตาเลี่ยนโซดา หรือว่าม็อกเทล”
จุดเริ่มต้นของ Skål กับคอมมูนิตี้ของคนไม่ชอบเมา แต่อยากเข้าสังคม
โอ๊คเล่าให้เราฟังว่า เขาและวีตั้งใจทำร้านนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นคอมมูนิตี้ ที่เรียกว่า ‘Sober Curious’ หรือ ‘Mindful Drinker’ ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับคนที่ไม่ชอบดื่มแอลกอฮอล์, ไม่ชอบเอฟเฟ็กต์ของแอลกอฮอล์ และไม่ชอบรายล้อมด้วยคนเมา
“ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของสุขภาพ หรือเรื่องมายด์เซ็ต เดี๋ยวนี้มันมีครับ คนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือบางคนก็แพ้โดยไม่ได้ตั้งใจ” โอ๊คกล่าวก่อนจะบอกว่า ในปี 2011 ตัวเขาเองก็เกิดอาการแพ้แอลกอฮอล์อย่างหนักขึ้นมาทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งมันทำให้เขารู้สึกว่า ไม่ควรดื่ม หรือแตะต้องแอลกอฮอล์อีก “ทุกวันนี้ถามว่าชิมได้ไหม ก็ชิมได้นิดหน่อย”
“เราก็พยายามนะ เราก็สังสรรค์กับเพื่อนนิดๆ หน่อยๆ แต่เราดื่มได้น้อยมาก ก็คือ เป็นไอ้อ่อนของทีม (หัวเราะ) แต่ว่าเราก็ต้องเซฟตัวเอง”
เป็นเรื่องธรรมดาที่พอไม่สามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้แล้ว คนเราก็ย่อมมองหาสิ่งทดแทน หรือเติมเต็มส่วนที่ขาดไป
“บางครั้งคนเขาก็จะเลือกดื่มกาแฟกับชา ซึ่งมันทำหน้าที่เป็น Routine drink หรือเป็น Booster ที่ให้เอฟเฟกต์เรื่องการรีแล็กซ์ หรือการตื่น เรียกว่าเป็น Energy drink” โอ๊คอธิบาย
แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่โอ๊คมองว่า สังคมของคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ยังขาดอยู่ นั่นก็คือ ‘Socialize Drink’ เขายกตัวอย่างให้เราฟังว่า การดื่มชา หรือกาแฟกันเป็นกลุ่มอาจจะสนุกก็จริง แต่ก็ไม่มีใครยกแก้วชา หรือกาแฟมาชนกัน “อย่าง High tea เขาก็ไม่ชนแก้วกันใช่ไหมครับ เพราะเดี๋ยวแก้วมันจะเสีย (หัวเราะ)”
ดังนั้นภาพของเครื่องดื่มสำหรับการเข้าสังคมจึงมาอยู่ที่ค็อกเทล และไวน์ โอ๊คเล่าให้เราฟังว่า ช่วงแรกๆ ของการทำร้าน เขาลองทำค็อกเทลชนิดต่างๆ ออกมาขาย รวมทั้ง Non-alcoholic gin และ Non-alcoholic tequila ด้วย ซึ่งเมนูค็อกเทลต่างๆ ผ่านการผสม และคิดมาอย่างดีแล้วว่า เหล่านักดื่มจะเข้าใจมันได้ไม่ยาก สั่งแล้วดื่มจบที่บาร์ ในขณะที่จิน และเตกิล่าซึ่งถูกผลิตออกมาเป็นสารตั้งต้น ไม่ใช่สิ่งที่คนจะเปิดดื่มทั้งขวดที่บาร์ จะให้ซื้อไปไว้ที่บ้านก็ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะกับนักดื่มทั่วไป เพราะพวกเขาชงเครื่องดื่มไม่เป็น
ดังนั้นไวน์จึงเป็นตัวเลือกที่โอ๊คทำออกมาขายให้กับเหล่านักดื่มที่อยากดื่มที่บ้าน เนื่องจากเขาผ่านการเรียนด้านนี้มาโดยตรง การันตีด้วยประกาศนียบัตร ‘Wine Sommerlier Certification WSET Level 2 Award in Wine & Spirit’ จาก Scandinavian Wine Academy และ ‘Master of Mixology Certification’ จาก Stockholm BarAkademi
ภาพของบาร์ไวน์จึงเริ่มชัดขึ้นในความคิดของโอ๊ค เพราะมันคือ เครื่องดื่มสำหรับการเข้าสังคมที่สามารถเปิดดื่มแล้วจบที่ร้านก็ได้ หรือจะซื้อกลับไปดื่มต่อที่บ้านก็ได้ ต่างจากค็อกเทลที่ต้องดื่มให้จบที่ร้านเท่านั้น
“เวลาเราพูดถึงค็อกเทลมันก็คือ การดื่มเพื่อ socialize เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เวลาไปนั่งหน้าบาร์ ถ้าไม่ไปคนเดียว เขาก็ไปกันสองคน นั่งคุยไปเรื่อยๆ แต่ใน Wine bar มันไปเป็นกลุ่ม เปิดหนึ่งขวดนั่งกัน 3-4 คนเสียส่วนใหญ่ แล้วเขาสามารถชนแก้วกันได้” โอ๊คเสริมให้เราเข้าใจเหตุผลของการทำบาร์ไวน์มากขึ้น
แต่ก็ใช่ว่าการทำไวน์ออกมาขายจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขา “ผมใช้เวลาบอกกับตัวเองอยู่เป็นปีเลยนะว่า ทำยังไงให้สิ่งที่เรียกว่า ‘ไวน์’ ไม่ใช่แค่องุ่น เราเลย ปลดล็อกตัวเองขึ้นมาว่าต้องมองไวน์เป็น process ไม่ใช่ product” โอ๊คกล่าวก่อนจะอธิบายให้เราฟังว่า ปกติพอพูดถึงไวน์คนจะนึกถึงภาพของเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักองุ่น แต่การจะทำ Non-alcoholic wine นั้นต้องล้างภาพองุ่นหมักออกไป (ซึ่งเขาใช้เวลาอยู่เป็นปีเลย) และมองไวน์เป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่ได้จากกระบวนการหมักแทน ซึ่งวิธีคิดนี้ทำให้ไวน์ของ Skål มีสัมผัสอันซับซ้อน
“เราลองศึกษาว่าอะไรบ้างที่ให้อโรม่าเพราะ คนส่วนใหญ่เวลาชิมไวน์ก็ต้องดมกลิ่น ดูสี” โอ๊คเสริมก่อนเล่าต่อว่า “ตอนแรกเรามีแค่ไวน์ขาว กับโรเซ่ บางคนได้ลองก็ถามว่าทำไมกลิ่นไม่เหมือนไวน์เลย เราก็จะบอกว่า มันไม่มีอะไรเกี่ยวกับองุ่นเลยครับ เราใช้ King of Aroma นั่นก็คือ ชากับสมุนไพร พวก botanics ต่างๆ ซึ่งในไวน์แต่ละตัวจะมีสมุนไพรประมาณ 15 อย่าง”
ตั้งแต่นั้น Skål Sober Bar จึงกลายเป็นพื้นที่สำหรับเข้าสังคมของคนไม่ชอบเมา ที่มาพร้อม Socialize Drink อย่างค็อกเทลอร่อยๆ พร้อมเสิร์ฟ และไวน์ที่จะซื้อไปสังสรรค์ที่ไหนก็ได้แบบไร้แอลกอฮอล์
สัมผัสที่คุ้นเคยในแบบไร้แอลกอฮอล์
แน่นอนว่านอกจากไวน์ไม่มีแอลกอฮอล์แล้ว ที่นี่ก็ยังมีค็อกเทลไม่มีแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน
‘ค็อกเทลไร้แอลกอฮอล์’ ครั้งแรกที่เราได้ยินก็เกิดความสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า มันคือม็อกเทลหรือเปล่า? แล้วถ้าไม่ใช่มันต่างกันอย่างไร?
“ม็อกเทลไม่มีแอลกอฮอล์ก็จริง แต่เราเคยทานม็อกเทลที่ขมไหมครับ”
โอ๊คตอบความสงสัยของเราด้วยคำถามก่อนจะอธิบายต่อว่า ค็อกเทลจะมีลักษณะเฉพาะในตัวเองที่เป็นสัมผัสแรกของการดื่มซึ่งได้จากแอลกอฮอล์ สัมผัสเหล่านั้นอาจจะเป็นความรู้สึกบาดคอ ความขม หรือความรู้สึกอื่นๆ ก็ได้ และสาเหตุที่เรียกว่า ‘Sober Cocktail’ เป็นเพราะว่า ในเครื่องดื่มเหล่านี้สามารถให้สัมผัสของกลิ่นจากการหมัก, ความขม, ความบาดคอ หรือความแสบร้อนลำคอได้เช่นเดียวกับแอลกอฮอล์ทั่วไปเลยทีเดียว
“Social + Non-alcoholic + Complexity ก็เป็น Sober Culture แล้ว ส่วนโบนัสคือ Wellness ทั้งได้ดื่ม ได้สนุก ได้ Health benefit ด้วย แล้วทำไมจะไม่ดื่ม”
โอ๊คเล่าให้เราฟังอีกว่า เขาเพิ่งเข้าร่วมวัฒนธรรม Sober Curious เมื่อ 5-6 ปีก่อนเนื่องจากอาการแพ้แอลกอฮอล์ ทำให้เขาหันไปดื่มชา และกาแฟอย่างหนักแทน "มันก็สนุกนะ แต่ยังไม่สนุกพอ เพราะเรารู้สึกว่าทุกอย่างมันมีลิมิตของมัน” โอ๊คเล่าก่อนบอกเราต่อว่า บางคนไม่ดื่มกาแฟเพราะ กลัวนอนไม่หลับ หรือใจสั่น บางคนก็กลัวน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเกิดเป็นข้อจำกัดในการดื่ม แต่เครื่องดื่ม Non-alcoholic นั้น นอกจากจะไม่มีแอลกอฮอล์แล้ว น้ำตาล และแคลอรี่ยังต่ำอีกด้วย (เนื่องจากเป็นการใช้ยีสต์ธรรมชาติในการย่อยสลายน้ำตาลจนเกิดเป็นกระบวนการหมัก) ลิมิตในการดื่มที่หลายคนกังวลก็หายไป ทำให้ดื่มได้เรื่อยๆ หลายๆ แก้ว ทั้งยังได้ประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นของแถมจากการสังสรรค์อีกด้วย
ไม่ต้องเมา เราก็จอยกันได้
หลังจากคุยกับโอ๊คมาได้สักพักหนึ่ง เราก็เริ่มสงสัยว่า เมื่อไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่เมา แล้วเราจะสนุกกับบาร์ และบรรยากาศการสังสรรค์ได้จริงหรือ?
โอ๊คชวนเรามองไปรอบๆ ตัว ในบาร์เล็กๆ แห่งนี้ แสงไฟสลัว เสียงเพลงที่ถูกเปิดคลออยู่ตลอดเวลา ทำให้เรารู้สึกเหมือนหลุดไปอยู่กับบรรยากาศของบาร์แห่งนี้จริงๆ ซึ่งโอ๊คย้ำกับเราว่า ไม่ว่าจะมานั่งดื่มในช่วงเวลาใดของวัน บรรยากาศภายในร้านก็จะเป็นอย่างนี้เสมอ แต่ความสนุกสนานของผู้คนที่เข้ามาล่ะ เป็นอย่างไรบ้าง?
“เราแฮปปี้มากที่ร้านนี้ทำให้เราได้เห็นภาพที่เราอาจไม่ค่อยได้เห็น เช่น คนมุสลิมมานั่งชนแก้วกัน, คุณแม่เพิ่งไปรับลูกสาวคอซองม.ต้น มานั่งชนแก้วด้วยกันที่นี่ แล้วเขาแฮปปี้มาก หรือแม่ลูกอ่อน ลูกคลานเต็มไปหมด (หัวเราะ) แต่แม่ลูกอ่อนนั่งชนแก้วไวน์กัน มันแฮปปี้มาก เพราะเขามา socialize กันแบบ Non-alcoholic” โอ๊คเล่า
โอ๊คบอกกับเราว่า บรรยากาศที่เกิดขึ้นในบาร์แห่งนี้ เขาไม่ใช่คนที่สร้างมันขึ้นมา แต่เป็นลูกค้าต่างหากที่สร้างชีวิต และความสนุกสนานในบาร์ เขาเพียงแค่จัดแสงไฟ และเสียงเพลงเตรียมไว้เท่านั้น
‘Connecting the dots’ คือ คำที่โอ๊คใช้บรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในบาร์แห่งนี้ เนื่องจากทุกๆ วันที่ลูกค้าเข้ามาที่ร้าน ก็มักจะเป็นผู้คนมากหน้าหลายตาจากต่างที่ แยกกันมา 3-4 กลุ่มต่อรอบ และสิ่งที่เกิดขึ้นทุกครั้งก็คือ เหล่าคนแปลกหน้าในบาร์แห่งนี้ กลับกลายเป็นเพื่อนร่วมวงสนทนาวงใหญ่ ที่มีโอ๊คเป็นคนคอยหยอดประเด็น ชวนพวกเขาคุย ให้เกิดบทสนทนาตามประสาคนมีสติ และ ‘ไม่เมา’
“สักพักหนึ่งเราก็คุยกันหมด แล้วหลังจากนั้นเก้าอี้ทุกตัวในร้านก็หันหน้าเข้าหากัน เขาเข้ามาเขาก็ได้สนุก ได้พูดคุยด้วยบทสนทนาที่ intellectual และเป็นประสบการณ์ของพวกเขาเอง ซึ่งคนเมาคุยแบบนี้ไม่ได้นะ”
นี่คือข้อพิสูจน์ว่า การเข้าสังคมโดยไม่ต้องมึนเมาก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องดื่มแอลกอฮอล์เลย
เปิดพื้นที่ของเหล่า Sober Drinker
นอกจากความสนุกของการดื่มไปคุยไปของชาว Sober Drinker แล้ว โอ๊คยังชวนให้เราคิดถึงโอกาส และความเป็นไปได้ของการสร้างวัฒนธรรมเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ ที่จะเป็นทางเลือกใหม่ของการพักผ่อน และสังสรรค์ ซึ่งโอ๊คบอกกับเราว่าเขาอยากสร้างให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ของวัฒนธรรมการดื่มในไทย
“อย่างพนักงานออฟฟิศที่เป็นลูกค้าเรา เขาเคยถ่ายรูปส่งมา มี MacBook, ถังไวน์, แก้วไวน์ และขวดไวน์ แล้วก็นั่งทำงานกราฟิกดีไซน์อยู่ในออฟฟิศ แล้วก็โดนบอสแย่งดื่ม เขาไม่ต้องดื่มกาแฟตลอดเวลาอีกแล้ว ทุกอย่างมัน appreciate ได้”
“ลองจินตนาการว่า เวลา 11:00 - 16:00 น. ร้านกาแฟใหญ่ๆ ที่เขาสามารถแบ่งพื้นที่ร้านให้เกิดโซนสำหรับ Sober Drinker ได้ หรือสถานที่ใดก็ตามสามารถเปิดบาร์ตอนกลางวันแบบนี้ได้ มี Afternoon Jazz Bar มีดีเจมาเปิดตอนกลางวัน ไม่ต้องมีแอลกอฮอล์ ถ้าเราทำงานออฟฟิศใกล้ๆ ตรงนั้น เราจะไม่อยากไปหรือ?” โอ๊คเล่าถึงภาพความเป็นไปได้ของวัฒนธรรม Sober Curious ที่จะหลอมรวมเข้ากับพื้นที่ต่างๆ ทั้งคาเฟ่ ร้านกาแฟ และบาร์แอลกอฮอล์ เพื่อสร้างพื้นที่ในการสังสรรค์ร่วมกันในสังคม
“ทุกวันนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสนุกกับการดื่มด่ำรสชาติของแอลกอฮอล์ แต่คนสนุกกับการทำคอนเทนต์ การพูดคุย การมีสถานที่ให้พวกเขาได้ผ่อนคลายระหว่างวัน ไม่ต้องอดทนไปจนถึงเวลาเลิกงาน เพราะบางคนทำงานหนักมาก 17:00 - 18:00 น. จะให้ออกไปต่อก็ไม่ไหวแล้ว ไหนจะรถติดอีก” โอ๊คเสริม
โอ๊คยังบอกกับเราอีกด้วยว่า ในกรุงเทพฯ มีคนอยู่เป็นสิบล้านคน ถ้าเทียบสัดส่วนกันจริงๆ แล้ว อย่างไรเขาก็ยังเชื่อว่ามีคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เยอะกว่าคนที่ดื่มแอลกอฮอล์มาก ซึ่งหากมีร้าน หรือพื้นที่ให้พวกเขาในจำนวนเท่าๆ กับร้านแอลกอฮอล์ คนก็จะได้ออกมาสนุกกับ Sober Culture มากขึ้น ซึ่งนี่คือ สิ่งที่เขามองเห็นจากวัฒนธรรมการดื่ม จนนำมาสู่การสร้างคอมมูนิตี้ทางเลือกของคนที่ไม่อยากเมา หรือไม่อยากดื่มหนักๆ
นอกจากการเป็นพื้นที่ในการผ่อนคลาย และทางเลือกของเหล่านักดื่มแล้ว โอ๊คยังเล่าถึงกลุ่มลูกค้าประจำอีกหนึ่งกลุ่มให้เราฟัง นั่นก็คือ ‘กลุ่ม AA’ (Alcoholic Anonymous) หรือผู้ที่อยากเลิกสุรา ที่มักจะแวะมาเยี่ยมเยือน พูดคุยกับโอ๊คอยู่เสมอ และเลือกใช้ Non-alcoholic Drink เพื่อช่วยลดความอยากสุรา
“เพราะคนพวกนี้เขาแค่คิดว่า มันก็มาจากการหมักเหมือนกันนะ เหมือนมันเป็น ปรากฏการณ์ยาหลอก (Placebo effect) ไปแล้ว”
‘มั่ว’ xologist ความสร้างสรรค์ไร้ขอบเขตที่ใครๆ ก็เป็นได้
โอ๊คมองว่า ‘Mixologist’ คือ วิชาชีพ เป็นสิ่งที่ต้องการทักษะ ต้องรู้จักทฤษฎีในการผสมเครื่องดื่ม ในขณะที่ ‘มั่วxologist’ คือ การเปิดใจ ลองทำ ลองเล่นในสิ่งที่เราอยากลอง เพื่อตามหาผลลัพธ์ที่ใช่ที่สุดสำหรับเรา
“ทุกคนมีเทสต์ที่ต่างกัน มีการรับรู้ต่างกัน ต่อให้เราเป็น Mixologist ที่เก่งขนาดไหน ถ้าเขาไม่ชอบสิ่งที่เราใส่ลงไป เราก็ทำให้เขาชอบไม่ได้ ดังนั้นทุกคนเป็น มั่วxologist และพยายามหาบาลานซ์ที่ชอบได้” โอ๊คบอกเราว่า เขาเชื่อเรื่องการเอาวัตถุดิบมาใช้ไม่ว่าจะเป็นทรัฟเฟิล หรือปลาร้า ก็สามารถเอามาทำเป็นค็อกเทลได้ เพียงแต่เราต้องรู้จักหาสมดุลให้กับมัน เหมือนกับผลไม้บางอย่างที่ดูเข้าใจง่าย น่ากิน แต่พอเอามาผสมรวมกันแล้วอาจจะหวานเจี๊ยบจนกินไม่ได้ก็มีให้เห็นอยู่ ดังนั้นไม่ว่าวัตถุดิบจะเป็นอะไร แค่บาลานซ์ให้ถูกใจเราก็พอ
“มันก็เหมือนเพลง หรืองานศิลปะนั่นแหละ อยู่บ้านเฉยๆ ก็ลองได้ ไม่ต้องทำเป็นอาชีพ แค่ทำเป็น hobby เล็กๆ เป็นความสุขของเรา�